PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2559

นักวิชาการศาสนา ชี้ 84 สนช. ชงแก้กม.สงฆ์ ตอกย้ำปวศ.ขัดแย้ง “ธรรมยุติ-มหานิกาย”

“อจ.ศาสนา” ชี้ “สภาลากตั้ง” ชงแก้กม.สงฆ์ มุกเดิมช่วงยึดอำนาจ ตอกย้ำประวัติศาสตร์ขัดแย้ง “ธรรมยุติ-มหานิกาย”
เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม นายทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านศาสนาและสังคม กล่าวถึง การผลักดันแก้ไข พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คณะสงฆ์ พ.ศ.2535 มาตารา 7 การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ว่า ตามฉบับ 2535 เป็นการใช้ระบบคิดแบบข้าราชการคือ สถาปนาพระสังฆราช ตามสมณศักดิ์สูง ที่ผ่านมาเรายังไม่เคยมีการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชตามฉบับนี้ การเสนอแก้ไขของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองฯ จึงกลับไปเหมือน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ฉบับ 2505 ในแง่ดีจะทำให้รัฐ โดยอำนาจของพระมหากษัตริย์ เข้ามาถ่วงดุลอำนาจของคณะสงฆ์ อันเป็นเคล็ดลับที่ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมากว่า 2,000 ปี ที่อำนาจรัฐภายใต้การนำของพระมหากษัตริย์ในช่วงนั้น คือผู้ทำนุบำรุงพุทธศาสนามาโดยตลอด แต่ขณะเดียวกันก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงการต่อต้านจากพระที่สนับสนุน สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ที่จะมองว่า การแก้ไขลักษณะนี้ คือ การกลั่นแกล้งตัวบุคคล
“แนวทางของสนช.จะช่วยแก้วิกฤติการตั้งสมเด็จพระสังฆราชในระยะสั้น แต่ระยะยาวปัญหาเดิมจะยังไม่จบ ถ้าจะให้ดีควรกลับไปใช้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2484 ที่มีการวางหลักการประชาธิปไตยเอาไว้ แบ่งโครงสร้างสงฆ์ วางหลักถ่วงดุลอำนาจไว้ชัดเจน และหากเราสังเกตจะพบว่า การแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับสงฆ์ จะเกิดขึ้นในช่วงที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แล้วมักอาศัยอำนาจช่วงนี้ ใช้สภาที่มาจากการแต่งตั้งแก้กฎหมายแบบสายฟ้าแลบ ไม่ว่าจะเป็นปี 2505 หรือ 2535 ต่างจากฉบับ 2484 ที่ผลักดันโดยแนวคิดของคณะราษฎร แม้จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม นายกฯในขณะนั้นจะเป็นทหาร แต่ก็ยังมาจากการเลือกตั้งตามกติกา” นักวิชาการศาสนากล่าว
ด้าน นายสุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการและคอลัมนิสต์ด้านศาสนา กล่าวว่า ตามที่มหาเถรสมาคม (มส.) เสนอชื่อ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ที่มีสมณศักดิ์สูงสุด ตามพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2535 แต่ติดขัดเรื่องคดีความ จึงมองว่า สนช.เสนอแก้กฎหมายนี้ เพื่อต้องการแก้ปัญหาการตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ให้ได้ กรณีนี้ทำให้พระต้องเริ่มทบทวนตัวเองว่า ระบบที่เป็นอยู่ ไม่ได้ ทำให้มีอิสระในตัวเอง เพราะต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจรัฐ ตั้งแต่มีกฎหมายคณะสงฆ์ฉบับแรก ส่งผลให้ความขัดแย้งภายใต้องค์กรสงฆ์ที่ผ่านมา ต้องไปตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายอนุรักษ์นิยม หนทางเดียวที่จะแก้ปัญหานี้ได้คือ แยกศาสนาออกจากรัฐ โดยเริ่มตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ไม่ต้องสถาปนาศาสนาใดศาสหนึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ มีตัวอย่างคือ ประเทศอินเดีย


“ผลกระทบที่จะตามคือ พระส่วนใหญ่อาจจะรู้สึกไม่พอใจ แต่คงจะเรียกร้องอะไรตอนนี้ไม่ได้มาก เพราะวัดพระธรรมกาย และศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ก็ติดอยู่หลายคดี คงไม่มีพลังต่อรอง และด้วยลักษณะของรัฐบาลคสช.ก็มักดำเนินการโดยไม่สนใจอะไร คิดว่าคุมได้ ก็จะใช้อำนาจมากขึ้น สำหรับกรณีนี้คงมีการประเมินแล้วว่าเอาอยู่ แต่เมื่อประเทศกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยอีกครั้ง ความขัดแย้งที่ซ่อนอยู่ จะปรากฎขึ้นอีกครั้ง นอกจากนี้ ยังสะท้อนความขัดแย้ง ระหว่างสายธรรมยุติ กับ มหานิกาย อีกครั้ง เมื่อสายมหานิกาย ซึ่งมีจำนวนมาก แล้วที่ผ่านมาก็มีสมเด็จพระสังฆราชน้อยกว่าธรรมยุติที่มีน้อยกว่า พอกำลังจะได้ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช ก็ต้องเจอกับการแก้กฎหมาย” นายสุรพศ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น: