
ยอมรับว่าการเลือกตั้งแบบใหม่ มุ่งให้ประชาชน “เลือกคน” และหันหลังให้กับหลักการ “พรรคเลือกคน ประชาชนเลือกพรรค” ที่มีการรณรงค์มาหลายทศวรรษเพื่อแก้ปัญหารัฐบาลไร้เสถียรภาพ ไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากพอจัดตั้งรัฐบาล จึงต้องตั้งรัฐบาลผสมหลายพรรค กลายเป็นรัฐบาลร้อยพ่อพันแม่ที่อ่อนแอที่เกิดขึ้นในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 16
สาเหตุสำคัญเพราะคนไทยเมื่อหลายทศวรรษก่อน ส่วนใหญ่เลือก ส.ส.ในแบบ “เลือกคน” ที่หยิบยกผลประโยชน์และมาจากพรรคเล็กพรรคน้อย บางคนไม่สังกัดพรรค จึงได้มาซึ่งรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ จึงแก้ไขด้วยการสร้างระบบพรรคที่เข้มแข็ง รัฐธรรมนูญ 2521 ถึงกับให้เลือกตั้ง ส.ส.รวมเขตทั้งจังหวัด และให้เลือกทั้งพวง แต่ระบบนี้ยังไม่ได้บังคับใช้
การปกครองประชาธิปไตยระบบรัฐสภาที่มีรัฐบาลที่มั่นคง สามารถบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพจะต้องมีระบบพรรคที่เข้มแข็ง จัดตั้งรัฐบาลได้พรรคเดียว หรือรัฐบาลผสมน้อยพรรค ประเทศไทยเริ่มจะประสบความสำเร็จ หลังใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ที่เป็นระบบ “เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ” บังคับให้ “เลือกพรรค” กับคน และใช้เบอร์เดียวกันทั้งประเทศ
การเลือกตั้งที่มี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรค และใช้หมายเลขเดียวทั่วประเทศ ทำให้การเมืองไทยค่อยๆก้าวสู่ระบบสองพรรคใหญ่ แม้จะมีพรรคกลางและพรรคเล็กอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มากเกินไป แต่ขณะนี้ กรธ. กำลังจะนำการเมืองไทยกลับสู่ยุคที่เน้นการ “เลือกคน” รัฐบาลผสมร้อยพ่อพันแม่ที่ขาดความเป็นเอกภาพ ขาดความมั่นคง จนบริหารประเทศไม่ได้
ซํ้าเติมด้วยการเลือกตั้ง “ระบบจัดสรรปันส่วนผสม” ที่นักวิชาการเชื่อว่าจะทำให้ไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมาก จึงน่าสงสัยว่าเราต้องการรัฐบาลที่อ่อนแอใช่หรือไม่? ไม่ต้องการให้พรรคเข้มแข็ง เพราะกลัวว่าจะซํ้ารอยปัญหาในอดีต อันที่จริงเรามีกลไกป้องกันและปราบปรามพร้อมสรรพ ทั้งศาลและองค์กรอิสระต่างๆ เช่น ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ
ขอแต่เพียงต้องให้เป็นอิสระจริง ไม่ให้การเมืองไม่ว่าจะในรูปแบบใดๆ เข้าแทรกแซงหรือครอบงำ มีความซื่อสัตย์และความกล้าหาญที่จะบังคับใช้กฎหมายอย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมา ไม่ว่านักการเมืองหรือพรรคการเมืองจะใหญ่แค่ไหน รับรองว่าต้องจบอย่างไม่สวยแน่ ถ้ายังยืนยันที่จะใช้อำนาจฉ้อฉล ขณะนี้ศาลก็กำลังทำหน้าที่อยู่.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น