PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ถึงตรงนี้จะสกัดอยู่หรือ

ถึงตรงนี้จะสกัดอยู่หรือ


ยังดีที่พลาดพลั้งแล้วยังรู้จักเบรก
ตามปรากฏการณ์ที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. แสดงการขอโทษต่อกรณีที่พูดจากระโชกโฮกฮากใส่ตัวแทนชาวประมงที่ร้องเรียนระหว่างการลงพื้นที่ จ.ปัตตานี
ก่อนหน้านี้ก็เป็น “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม ที่ออกมาขอโทษในสิ่งที่พูดกระทบจิตใจครอบครัวนักเรียนเตรียมทหารที่เสียชีวิต
2 ช็อตติดๆที่เห็นถึงอาการ “สะดุ้งกระแส” ของผู้กุมอำนาจสูงสุดใน คสช.
ผลจากการจุดไฟ ก่อหัวเชื้อชนวนต่อต้านรัฐบาลโดยไม่จำเป็น
ที่แน่ๆคำขอโทษ เสียใจ แสดงให้เห็นว่า ผู้นำทหารมี “เกียร์ถอย” ยังไงก็ไม่เสี่ยงเดินหน้าตกเหว
และความ “ยืดหยุ่น” นี่แหละคือคุณสมบัติดีสุดของผู้นำทางการเมือง โดยสถานการณ์ต่อเนื่องกับการที่ “นายกฯลุงตู่” ได้พูดออกตัวกรณีการปรับ ครม. ตั้งนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา เข้ามาเป็น รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา
ไม่เกี่ยวกับ “บิ๊กดีล” ทางการเมือง
ตามท้องเรื่องที่มีการเชื่อมโยงสถานการณ์จากการประชุม ครม.สัญจรที่จังหวัดสุพรรณบุรี ที่มีการเปิดให้แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา นำโดย “ลูกท็อป” นายวราวุธ ศิลปอาชา ลูกชายของ นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ล่วงลับ ได้เข้าร่วมต้อนรับคณะผู้นำรัฐบาล คสช.
เป็นช็อตแรกๆของการโอภาปราศรัยระหว่าง “นายกฯลุงตู่” กับนักการเมืองอาชีพ
ภาพมันสอดคล้องเป็นทำนองเดียวกัน กรณีของนายวีระศักดิ์ที่เป็นคนของพรรคการเมืองเข้ามานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีร่วมวง ครม.อำนาจพิเศษ ยากจะหาเหตุผลอื่นอธิบายให้คนเข้าใจได้
นอกจากออปชั่นที่ตกลงกันในทางยุทธศาสตร์เลือกตั้ง
เรื่องของเรื่อง มันจะแค่ลีลาตีกรรเชียงของ “นายกฯลุงตู่” หรือเจ้าตัวอาจไม่รู้จริงๆ เพราะมีหน้าที่แค่รับบท “ผู้นำ” ช่วงเปลี่ยนผ่าน ตามหมากเกมอำนาจที่ล็อกโปรแกรมไว้ในบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ
ส่วนคนที่รับบทในการดีลเบื้องหลัง เป็น “ความลับทางทหาร” ที่รู้กันทั่วทั้งวงการ
ขุนทหารคนดังทั้งบิ๊ก “ด” และบิ๊ก “จ” ที่เริ่มต่อสายเจรจาพาทีกับบิ๊กเนมการเมืองป้อมค่ายต่างๆขอร้องกันแบบเข้มๆเป็นทำนองให้ “เว้นวรรค” สนามแข่งขันทางการเมืองปกติไว้สักสมัย
มาช่วยกันทำให้การเปลี่ยนผ่านประเทศสำเร็จเสร็จสิ้นก่อน
เพราะตอนนี้ยังลูกผีลูกคน ขืนยังเป็นรูปแบบเก่าภายใต้พวกหน้าเดิมๆ ความขัดแย้งยังแฝงอยู่ทุกจุด ปล่อยไฟเขียวเลือกตั้งไปก็เสี่ยงกลับมาวุ่นวายเหมือนเดิม
โอกาส “เสียของ” ทหารอาจต้องปฏิวัติซ้ำแล้วซ้ำอีก
ทางออกมีแค่ช่องเดียว ต้องแชร์กันระหว่างนักการเมืองกับทหาร ตามฟอร์มหนีไม่พ้นสูตรประชาธิปไตยครึ่งใบ นักเลือกตั้งในสภาช่วยกันเปิดทาง “นายกฯคนนอก”
แบบที่ประชาธิปัตย์กับเพื่อไทยก็อ่านออก มวยเก๋าอย่างนายจาตุรนต์ ฉายแสง กับนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ถึงได้จุดพลุยุชาวบ้านให้ช่วยกันสกัดเส้นทาง “ลุงตู่” เซ็ตซีโร่ คสช.
แต่นั่นก็แค่การเพ้อฝันในเชิงทฤษฎีที่โคตรยากในเชิงปฏิบัติ
ที่แน่ๆสถานการณ์จริงยามนี้ มีชื่อพรรคชื่อใหม่ๆอย่างพรรครวมพลังชาติไทยที่เคลื่อนไหวเจาะฐานในภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง พร้อมๆกับการที่หน่วยความมั่นคงทำโพลสำรวจถี่ยิบ
โดยเฉพาะชื่อที่สะดุดหู พรรค “กิจประชารัฐ”
นั่นก็เพราะเป็นยี่ห้อที่รัฐบาล “นายกฯลุงตู่” และทีมงานของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ชูธงนโยบายมาตลอด 2 ปี
เป็นยี่ห้อที่ออกมาตีตลาดประชานิยมของระบอบ “ทักษิณ”
ตีกินแต้มมาอย่างต่อเนื่อง กับสารพัดมาตรการที่อัดฉีดน้ำเลี้ยง ช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะบัตรประชารัฐสวัสดิการที่เข้ายึดฐานคนจนกว่า 14 ล้านทั่วประเทศ
ยังมีพรรคตัวประกอบที่ประกาศเปิดตัวไปก่อนหน้านี้ อย่างพรรคประชาชนปฏิรูป ของนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ประกาศชูธงชัดเจนสนับสนุน “ลุงตู่” เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ยาวช่วงเปลี่ยนผ่าน
หรือพรรคทวงคืนผืนป่าประเทศไทย ภายใต้การนำของ “อธิบดีเอี้ยง” นายดำรงค์ พิเดช อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่ยังไม่ประกาศหนุนใคร แต่ชัดเจนกับนโยบายตามชื่อพรรค
คึกคัก รองรับสูตรรัฐบาลผสม รวมแต้มหนุน “ลุงตู่”.
ทีมข่าวการเมือง

วันพุธที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ไม่เกี่ยวกับ "ม็อบ"ใต้

ไม่เกี่ยวกับ "ม็อบ"ใต้
"บิ๊กป้อม" แจง ครม.แค่ต่ออายุ "พรบ.ความมั่นคงฯ" ไม่เกี่ยว ออกมา ปราบม็อบโรงไฟฟ้า ซึ่งเป็น พรบ.ที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่ของใหม่ แต่จะหมดอายุ30พย.นี้ จึงต่ออายุ อีก1 ปี ในการดูแลความสงบใน 4อำเภอ จ.สงขลา และ อ.แม่ลาน ปัตตานี ไม่ได้ออกมา เพื่อคุมพื้นที่เริ่อง สร้างโรงไฟฟ้า หรือม็อบ
ส่วนแกนนำ ผู้ชุมนุมนั้น พลเอกประวิตร ตอนนี้อยู่ในขั้นศาลแล้ว เพราะความผิด เรื่องการใช้ความรุนแรงกับจนท. กีดขวางจราจร นี่ไม่ได้ใช้พรบ.การชุมนุม ตอนนี้เป็นเรื่องศาล เพราะเราใช้กม.ปกติ ไม่ได้ใช้กม.การเมือง
ส่วนจะรอมชอมได้หรือไม่นั้น ต้องไปพูดกับศาล เพราะเป็นขั้นตอนการพิจารณาของศาลแล้ว และ จนท.ตำรวจ
เมื่อถามว่า อาจนำเรื่องนี้ ไปจุดประเด็นโจมตีรัฐบาล หรือไม่นั้น พลเอกประวิตร คิดว่า ไม่ เพราะเราไม่ได้ใช้พรบ.การชุมนุม และก่อนหน้านี้ ก็บอกผู้ชุมนุม แล้วว่า อย่าไป อย่าเข้ามา แค่ส่งหนังสือมา พอ แต่นี่เข้าไปใกล้ที่พักนายกฯ จะเข้าไปได้ยังไง
ส่วนการที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เรียกร้องให้ปล่อยตัวนั้น. พลเอกประวิตร กล่าวว่า ไม่เกี่ยวข้องกับ สิทธิมนุษยชน เพราะเขาทำผิดกม. ถ่าทุกคนไม่ทำตามกม. บ้านเมือง จะอยู่ได้อย่างไร เพราะเป็นเรื่องกม.การขัดขวางการทำงานของ จนท. กีดขวางการจราจร
แต่เชื่อว่า ไม่มีการเมืองอยู่เบื้องหลัง ไม่มี ไม่มี และจะไม่กระทบภาพลักษณ์ของรัฐบาล -คสช.เพราะ จนท. ทำตามกระบวนการยุติธรรม ไม่ได้ทำตามคำสั่งใคร
และไม่กลัวว่า จนท.วางยา รัฐบาล "ไม่มี ไม่กลัว" เพราะเราไม่ได้ใช้ พรบ.การชุมนุม
ส่วนคนในพื้นที่ จะรวมพลังกดดัน รัฐบาลนั้น จะกดัันได้ยังไง เพราะเราทำตามกม.
ไม่อย่างนั้น ก็ไปกดดันทางศาลสิ
ทั้งนี้ ต้องการทำให้เป็นนคดีตัวอย่าง สำหรับการชุมนุมอื่นๆด้วยว่า ทุกคนต้องทำงานภายใต้กม.เดียวกัน

"บิ๊กป้อม" ไม่รอมชอม "ม็อบ โรงไฟฟ้า"

"บิ๊กป้อม" ไม่รอมชอม "ม็อบ โรงไฟฟ้า" ส่งขึ้นศาลแล้ว ยันยึดกม. เหตุทำรุนแรงกับจนท. ไม่เกี่ยวสิทธิมนุษยชน ไม่กลัววางยา โจมตีรัฐบาล ไม่กระทบภาพลักษณ์ รัฐบาล
แจงครม.แค่ต่ออายุ "พรบ.ความมั่นคงฯ4อำเภอ ชายแดนใต้. ไม่เกี่ยวกับ "ม็อบ"ใต้
"บิ๊กป้อม" พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมชี้แจง ครม.แค่ต่ออายุ "พรบ.ความมั่นคงฯ" ไม่เกี่ยว ออกมา ปราบม็อบโรงไฟฟ้า ซึ่งเป็น พรบ.ที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่ของใหม่ แต่จะหมดอายุ30พย.นี้ จึงต่ออายุ อีก1 ปี ในการดูแลความสงบใน 4อำเภอ จ.สงขลา และ อ.แม่ลาน ปัตตานี ไม่ได้ออกมา เพื่อคุมพื้นที่เริ่อง สร้างโรงไฟฟ้า หรือม็อบ
ส่วนแกนนำ ผู้ชุมนุมนั้น พลเอกประวิตร ตอนนี้อยู่ในขั้นศาลแล้ว เพราะความผิด เรื่องการใช้ความรุนแรงกับจนท. กีดขวางจราจร นี่ไม่ได้ใช้พรบ.การชุมนุม ตอนนี้เป็นเรื่องศาล เพราะเราใช้กม.ปกติ ไม่ได้ใช้กม.การเมือง
ส่วนจะรอมชอมได้หรือไม่นั้น ต้องไปพูดกับศาล เพราะเป็นขั้นตอนการพิจารณาของศาลแล้ว และ จนท.ตำรวจ
เมื่อถามว่า อาจนำเรื่องนี้ ไปจุดประเด็นโจมตีรัฐบาล หรือไม่นั้น พลเอกประวิตร คิดว่า ไม่ เพราะเราไม่ได้ใช้พรบ.การชุมนุม และก่อนหน้านี้ ก็บอกผู้ชุมนุม แล้วว่า อย่าไป อย่าเข้ามา แค่ส่งหนังสือมา พอ แต่นี่เข้าไปใกล้ที่พักนายกฯ จะเข้าไปได้ยังไง
ส่วนการที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เรียกร้องให้ปล่อยตัวนั้น. พลเอกประวิตร กล่าวว่า ไม่เกี่ยวข้องกับ สิทธิมนุษยชน เพราะเขาทำผิดกม. ถ้าทุกคนไม่ทำตามกม. บ้านเมือง จะอยู่ได้อย่างไร เพราะเป็นเรื่องกม.การขัดขวางการทำงานของ จนท. กีดขวางการจราจร
แต่เชื่อว่า ไม่มีการเมืองอยู่เบื้องหลัง ไม่มี ไม่มี และจะไม่กระทบภาพลักษณ์ของรัฐบาล -คสช.เพราะ จนท. ทำตามกระบวนการยุติธรรม ไม่ได้ทำตามคำสั่งใคร
และไม่กลัวว่า จนท.วางยา รัฐบาล "ไม่มี ไม่กลัว" เพราะเราไม่ได้ใช้ พรบ.การชุมนุม
ส่วนคนในพื้นที่ จะรวมพลังกดดัน รัฐบาลนั้น จะกดดันได้ยังไง เพราะเราทำตามกม.
ไม่อย่างนั้น ก็ไปกดดันทางศาลสิ
ทั้งนี้ ต้องการทำให้เป็นคดีตัวอย่าง สำหรับการชุมนุมอื่นๆด้วยว่า ทุกคนต้องทำงานภายใต้กม.เดียวกัน

"บิ๊กป้อม" เมิน พรรคประชาธิปัตย์-เพื่อไทย จับมือ สกัด บิ๊กตู่-คสช.

"บิ๊กป้อม" เมิน พรรคประชาธิปัตย์-เพื่อไทย จับมือ สกัด บิ๊กตู่-คสช. ชี้ อยากจับมือกัน ก็ให้เขาจับไป อยากจับก็จับไป เราก็ทำงาน เราไม่เกี่ยวนี่ เราไม่ใช่นักการเมือง ยันไม่ใช่ คู่แข่ง ปชป.-เพื่อไทย" ปัด ตั้งพรรคทหาร
พลเอกประวิตร กล่าวถึงการที่พรรคประชาธิปัตย์-เพื่อไทย อาจจับมือกันเพื่แสกัด บิ๊กตู่-คสช. ว่า อยากจับมือกัน ก็ให้เขาจับไป อยากจับก็จับไป เราก็ทำงาน เราไม่เกี่ยวนี่ เราไม่ใช่นักการเมือง
เมื่อถามว่า เป็นการสะท้อนว่า 2 พรรค มอง คสช.เป็นคู่แข่ง หรือไม่ พลเอกประวิตร กล่าวว่า ไม่รู้ๆ เพราะทหารยังไม่ได้ทำอะไรเลย จะมาเป็นคู่แข่งอะไร
ส่วนที่มีข่าวว่า ท่านจะตั้งพรรคทหารนั้น พลเอกประวิตร กล่าวว่า ใครลือ สื่อลือเหรอ
ส่วนกรณีที่ นายอเนก เหล่าธรรมทัศน์ระบุว่า ปชช. ต้องการให้ ทหารเข้ามาแก้ปัญหา แค่ระยะหนึ่ง ไม่ได้ต้องการ ให้ ทหารอยู่ยาว นั้น พลเอกประวิตร ไม่ตอบ แต่ให้ไปถาม นายอเนก เอง

ทำไมต้องต่ออายุ พรบ.มั่นคงชายแดนใต้

ทำไมต้องต่ออายุ พรบ.มั่นคงชายแดนใต้
"กอ.รมน."แจง ต่ออายุ "พรบ.ความมั่นคง ฯ"4 อำเภอ สงขลา-แม่ลาน ปัตตานี แก้ไฟใต้ ตั้งแต่ปี2552 ส่วน ปัตตานี ยะลานราธิวาส ใช้ "พรก.ฉุกเฉิน"/ยัน ไม่เกี่ยว ม็อบต้านโรงไฟฟ้าเทพา วอนอย่าเชื่อมโยงกัน

พล.ต.พีรวัชฌ์ แสงทอง โฆษกกอ.รมน. กล่าวถึงกรณีประกาศ พื้นที่ปรากฎเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตามพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ2551 ในพื้นที่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี กับ อ.จะนะ อ.นาทีวี อ.เทพา และอ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ว่า มีการใช้กฎหมาย มาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2552 ซึ่งกฎหมายนี้มีอายุ 1 ปี และจะสิ้นสุดวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 ดังนั้นจึงต้องขอต่ออายุ เพื่อขยายเวลาเป็นช่วงๆ
โดยกอ.รมน.เสนอต่อคณะรัฐมนตรี จากนั้น พิจารณาอนุมัติขึ้นมา ให้ขยายเวลาตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2560 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561
ส่วนเหตุผลนั้น เพื่อรักษาความปลอดภัย การดูแลความเรียบร้อยในพื้นที่ให้สภาวะแวดล้อมในการประกอบอาชีพของประชาชนได้อย่างสันติสุข
พล.ต.พีรวัชฌ์ กล่าวว่า การประกาศต่ออายุกฎหมายฉบับนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องม็อบต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน อ.เทพา แต่อย่างใด เพราะเรื่องนั้นเป็นการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐตามปกติ หากใครผิดก็ว่าไปตามผิด ซึ่งไมได้เกี่ยวข้องกับกฎหมายนี้
อีกทั้งการประกาศใช้กฎหมายนี้ สอดคล้องนโยบายการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขออย่าให้ไปเชื่อมโยงกับเรื่องม็อบ จะทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิด
ต่อข้อถามที่ว่ามีการต้องข้อสังเกต หากมีการชุมนุมในพื้นที่ 5 อ. จะใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ กับผู้ชุมนุม ได้หรือไม่ พล.ต.พีรวัชฌ์ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหา จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีกฎหมายพิเศษ 3 ฉบับ คือ1. กฎอัยการศึก ซึ่งเวลานี้ไม่ได้มีใช้ใน3 จังหวัดใช้แดนภาคใต้แล้ว
2. พ.ร.ก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ใช้อยู่ใน3 จ.ใต้
และ3. พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ ที่ใช้ในอำเภอแม่ลาน ปัตตานี และ4 อำเภอของ สงขลา
ซึ่งทั้ง 5 อำเภอ เป็นพื้นที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น แต่เจ้าหน้าที่รัฐสามารถควบคุมเหตุการณ์ได้ ดังนั้นจึงบังคับใช้กฎหมายความมั่นคง เพื่ออำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่รัฐ แก้ไขปัญหา ไม่ให้ขยายปัญหาความมั่นคงออกนอกพื้นที่
"ขอให้เข้าใจว่ากฎหมาย ที่มีไว้เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะ พื้นที่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี และพื้นที่ อ.จะนะ , อ.เทพา , อ.นาทวี และ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ในพื้นที่ 5 อำเภอนี้ เป็นพื้นที่ที่ยังคงปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และเป็นพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถแก้ไขและควบคุมสถานการณ์ได้ระดับหนึ่ง
จึงได้มีประกาศกำหนดพื้นที่ความมั่นคง ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวได้มีประกาศกำหนดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ในการประกาศมีการกำหนดเป็นระยะเวลา 1 ปี
เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติงาน รวมทั้งการบริหารจัดการรักษาความสงบและความปลอดภัยให้มีเอกภาพและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ยังคงต้องกำหนดมาตรการป้องกันไว้เช่นเดิม เพื่อให้สามารถดำรงไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ มีสภาวะแวดล้อมสังคมที่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ประกอบอาชีพได้อย่างปกติสุข และเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถ อำนวยการ และยุติหรือแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นให้ได้โดยเร็ว
ส่วนการเกิดเหตุการณ์เมื่อ 27 พ.ย.60 กรณีกลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าเทพานั้น เป็นการดำเนินการตามกระบวนการกฎหมายปกติของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่เกี่ยวข้องกับการประกาศฉบับนี้ อย่าได้นำมาเชื่อมโยงกันซึ่งจะทำให้สังคมเข้าใจผิดและนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมได้
จึงขอชี้แจงให้ประชาชนรับทราบถึงเจตนารมณ์ของการประกาศฉบับนี้ มีขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามนโยบายการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้สังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความปลอดภัย ปราศจากเงื่อนไขความรุนแรง และมีกระบวนการเสริมสร้างสันติสุขอย่างยั่งยืน
ส่วนเหตุการณ์ม็อบ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จะดำเนินการตามกฎหมายปกติของพนักงานสอบสวน ดังนั้นอย่านำมาเชื่อมโยงกัน เพราะไม่เกี่ยวข้องกัน

9.00 INDEX : ‘ความหมาย’ ฉัตรชัย สาริกัลยะ จากมุมของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา

9.00 INDEX : ‘ความหมาย’ ฉัตรชัย สาริกัลยะ จากมุมของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา


การออกมาการันตี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทรงบทบาทและมีความหมาย
เพราะยืนยันว่า “ไม่ได้ทำอะไรเสียหาย”
“พล.อ.ฉัตรชัยก็อยู่กับผมอยู่แล้ว ผมสามารถสอบถามติดตามเรื่องต่างๆได้ทั้งหมด ไม่ต้องกังวล ยืนยันไม่ได้มีปัญหาอะไรทั้งสิ้น”
แต่ที่จำเป็นต้องปรับออกจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพราะ
“ต้องการคนใหม่เข้ามาเพื่อให้เกิดภาพของการเปลี่ยนแปลง”
คำว่า”ไม่ได้ทำอะไรเสียหาย”จึงครอบคลุม 1 ไม่มีเรื่องทุจริต และ 1 ไม่ได้บกพร่องในทางการบริหารใดๆทั้งสิ้น
ตรงนี้แหละ “สำคัญ”

อย่าลืมเป็นอันขาดว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ดำรงอยู่ในสถานะ ใดสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
เป็นคนที่ได้รับความไว้วางใจเป็นอย่างสูง
ไม่ไว้วางใจคงไม่ได้รับมอบหมายให้ไปคุมงานสถานีโทรทัศน์ กองทัพบก ช่อง 5
เมื่อทำรัฐประหารก็คุมงาน”เศรษฐกิจ”ของ”คสช.”
จึงไม่แปลกที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
ทั้งยังรับผิดชอบงาน”บริหารจัดการน้ำ”
ต่อมาก็ได้รับการ”อัพเกรด”ขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวง เกษตรและสหกรณ์
และปัจจุบัน คือ รองนายกรัฐมนตรี

แม้ว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ มิได้อยู่ระนาบเดียวกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา
แต่ก็อยู่ในความเป็น”เพื่อน”
เพื่อนที่เรียนร่วมกันตั้งแต่”เตรียมทหาร”กระทั่ง”จปร.” สัมพันธ์มาอย่างยาวนานกระทั่งเรียกว่าเป็น “กล่องดวงใจ”
สถานะความเป็น”รองนายกรัฐมนตรี”จึงมิได้เป็นการรอเพื่อที่จะโละออกเหมือนรองนายกรัฐมนตรีบางคนก่อนหน้านี้อย่างแน่นอน
ขอให้จับตา พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ให้ดี

เหลือแค่ 14 คน

เหลือแค่ 14 คน


เก้าอี้รัฐมนตรีก็เป็นสมบัติผลัดกันชม ถ้าคนเก่าไม่ออกไป คนใหม่ก็ไม่ได้เข้ามา เพราะโควตา ครม.มีจำกัดไม่เกิน 35 คน

การปรับ ครม.ทุกครั้งจึงต้องมีคนออกคนเข้าเป็นของธรรมดา

“แม่ลูกจันทร์” กราบเรียนว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ควบเก้าอี้นายกรัฐมนตรี และ หน.คสช. ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557

นับถึงวันนี้ก็ 3 ปีกับ 97 วัน

เริ่มจากจุดสตาร์ต “ครม.ประยุทธ์ 1” ซึ่งมีคณะรัฐมนตรีชุดเปิดซิงรวมทั้งสิ้น 32 คน มีการปรับ ครม.เล็กแก้ฟันหลอ 2 ครั้ง และปรับ ครม.ชุดใหญ่ 2 ครั้ง ดังนี้คือ...

ปรับใหญ่ครั้งแรก “ครม.ประยุทธ์ 3” เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2558 โละทีมเศรษฐกิจชุดหม่อมอุ๋ยออกไป แล้วตั้งทีมเศรษฐกิจชุด “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” เข้ามารับหน้าเสื่อแทน

และปรับ ครม.ใหญ่ครั้งล่าสุด คือ “ครม.ประยุทธ์ 5” เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

“แม่ลูกจันทร์” สำรวจรายชื่อ “ครม.ประยุทธ์ 1” เพื่อหาคำตอบว่ายังมี ครม. ชุดแรกกี่คน?? ที่ยังครองเก้าอี้เหนียวหนึบจนถึง ครม.ชุดปัจจุบัน??

คำตอบคือมี ครม.ชุดประยุทธ์ 1 ยังอยู่ยงคงกระพันเขย่าไม่หลุดเหลืออยู่อีก 15 คน!!

ส่วน ครม.ชุดแรกอีก 18 คน โดน “นายกฯบิ๊กตู่” ปล่อยลงกลางทาง

“แม่ลูกจันทร์” ชี้ว่าในบรรดา ครม.ชุดเปิดซิงทั้ง 14 คนที่ยังอยู่รอดปลอดภัย

มีเพียง 7 คนเท่านั้นที่ยังนั่งเก้าอี้ตัวเดิมอย่างมั่นคงถาวร ได้แก่...

1, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ควบ รมว.กลาโหม
2, ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกฯฝ่ายเนติบริกร
3, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย
4, นายสุธี มากบุญ รมช.มหาดไทย
5, พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ
6, นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ
7, นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม

นี่คือ “7 รัฐมนตรี สายแข็ง” ที่ยึดครองเก้าอี้รัฐมนตรีตัวเดิมอย่างแข็งโป๊กไม่โยกไม่คลอน

“แม่ลูกจันทร์” ย้ำว่ายังมี ครม.ประยุทธ์ชุดเปิดซิงอีก 7 คน ที่ตกค้างมาถึง ครม.ชุดปัจจุบัน แต่ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งเดิมได้แก่...

1, พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง เปิดตัว ครม. ประยุทธ์ 1 เป็น รมว.คมนาคม ปัจจุบันเป็นรองนายกฯ ควบเก้าอี้ รมว.ยุติธรรม
2, นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เปิดตัวเป็น รมช.คมนาคม ปัจจุบันอัพเกรดเป็น รมว.คมนาคม
3, พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว เปิดตัวเป็น รมว.การพัฒนาสังคมฯ ปัจจุบันย้ายข้ามห้วยเป็น รมว.แรงงาน
4, นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ เปิดซิงเป็น รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ปัจจุบันโยกไปเป็น รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
5, พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ เปิดตัวเป็น รมว.แรงงาน ปัจจุบันสลับเก้าอี้เป็น รมว.ทรัพยากรฯ
6, พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ เปิดตัวเป็น รมว.พาณิชย์ แล้วถูกปรับย้ายไปเป็น รมว.เกษตรฯ ปัจจุบันขึ้นชั้นเป็นรองนายกรัฐมนตรี
7, นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ เปิดซิงเป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ แล้วขึ้นชั้นเป็น รมว.ยุติธรรม ล่าสุดโดนลดชั้นกลับไปเป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ อย่างเดิม

เอาน่า...ได้กลับมานั่งเก้าอี้ตัวเดิมยังดีกว่าปิ๋วนะโยม.

“แม่ลูกจันทร์”

หงายไพ่เข้าทาง ‘ลุงตู่’

หงายไพ่เข้าทาง ‘ลุงตู่’


“ลุงตู่ ภาค 5” ตอน “จอมยุทธ์กวงถล่มฐานเลือกตั้ง”
ยุทธการยกเครื่องปรับ ครม.รอบล่าสุด นับว่า “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจทิ้งไพ่ใบสำคัญ และก็เห็นผลแบบทันทีทันใด
กับการทำให้เกิดปรากฏการณ์ “หงายไพ่เล่น” กันทั้งวง
ตามอาการที่มวยหลักของพรรคเพื่อไทยระดับนายจาตุรนต์ ฉายแสง ออกมาโยนทุ่น ประเด็นการจับขั้วกับพรรคประชาธิปัตย์ตั้งรัฐบาลเพื่อสกัดนายกรัฐมนตรีคนนอก สอดรับกับมวยเก๋าของค่ายประชาธิปัตย์อย่างนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ที่แบะท่ารับมุกยุทธการเซ็ตซีโร่ คสช.
ยี่ห้อเพื่อไทยกับค่ายประชาธิปัตย์ผวากอดคอกันอัตโนมัติ
เป้าหมายร่วมในการสกัดเส้นทางของ “นายกฯลุงตู่” ที่เล่นแต้มสำคัญ เผยไต๋ให้เห็นยุทธศาสตร์ในการเดินหน้าไปต่อ ด้วยการปรับ ครม.เปิดพื้นที่ให้ “จอมยุทธ์กวง” นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ กัปตันทีมเศรษฐกิจ เดินหน้าปั่นแต้ม ชิงกระแสคะแนนนิยม
สะสมแต้มเป็นฐานรองรับ พล.อ.ประยุทธ์คุมเกมยาวอำนาจช่วงเปลี่ยนผ่านประเทศ
และสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ ในหมู่นักเลือกตั้งอาชีพก็รู้มือกันดี กับประสบการณ์ครั้งอดีตที่การันตี “สมคิด” เคยทำให้ยี่ห้อ “ทักษิณ” ประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลายมาเมื่ออดีตยุคไทยรักไทย
“จอมยุทธ์กวง” ไม่ได้ “กลวง” แบบที่คนเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์พยายามเบิ้ลบลัฟตามเกม
กับตัวเลขที่เป็นรูปธรรมการันตี ผลการออกแรงลากเศรษฐกิจที่ติดลบจากวิกฤติการเมือง แถมบรรยากาศยังอยู่ในห้วงรัฐบาลทหาร แต่ดันจีดีพีโตต่อเนื่องมาอยู่ที่ 4.3 เปอร์เซ็นต์
ยิ่งมองกันในทางยาวๆ ยังเป็นการวางแผนอนาคตประเทศอย่างเป็นระบบ ทั้งเมกะโปรเจกต์รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้า มอเตอร์เวย์ นโยบายเอสเอ็มอี ดิจิทัลไทยแลนด์ ไทยแลนด์ 4.0 ไทยแลนด์สตาร์ต อัพ ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) อินเตอร์เน็ตประชารัฐ สวัสดิการบัตรคนจน อี เพย์เมนต์ ฯลฯ
นี่คือสิ่งที่สะท้อนว่า “สมคิด” พาประเทศมาถูกทาง
เรื่องที่คนมองอย่างเป็นกลางทางการเมืองก็เริ่มยอมรับ แม้แต่คนชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” ก็รู้อยู่เต็มอกว่า นี่คือยุทธศาสตร์ในการวางฐานให้ประเทศไทยเข้าสู่โลกอนาคต
ถ้าเป็นรัฐบาลทีมงาน “นายใหญ่” ก็ต้องทำเหมือนกัน
และจุดที่จะพลิกเดิมพันก็คือยุทธศาสตร์เป้าหมายที่ “ลุงตู่” กับ “สมคิด” ตั้งแท่นให้เห็นจากคิวปรับ ครม.รอบนี้ มุ่งไปที่การฟื้นเศรษฐกิจฐานราก อัดฉีดแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนคนมีรายได้น้อย
เคลียร์จุดด้อยที่ถูกนักเลือกตั้งอาชีพรุมถล่มตีกินมาตลอด
“สมคิด” ส่งสัญญาณล่วงหน้าแล้ว สารพัดมาตรการ งบประมาณนับแสนล้านจะถูกส่งลงไปแก้ปัญหาปากท้องชาวบ้าน เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร พ่อค้าแม่ค้า ชาวบ้านร้านตลาด กู้สภาวะฝืดเคือง ไม่นับแต้มสำคัญ เรื่องที่จะมีการใช้งบประมาณองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นนับแสนล้านบาทเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเศรษฐกิจในท้องถิ่น
“จอมยุทธ์กวง” จะทำให้ประชาชนฐานรากรู้สึกว่า รัฐบาล คสช. ก็กินได้ ไม่ใช่แค่นักการเมือง
หนีไม่พ้นสั่นสะเทือนฐานคะแนนพรรคเพื่อไทยกับค่ายประชาธิปัตย์
นี่คือเงื่อนไขสถานการณ์ที่บีบให้คนการเมืองของเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์นั่งเฉยไม่ได้ ถ้าปล่อยไปตามยุทธศาสตร์แบบนี้มีแต่รอวันโดนดองจนเกลือขึ้น
ต้องรีบสกัด “ลุงตู่” เจาะยาง “สมคิด” กันทุกวิถีทาง
แต่ก็อีกนั่นแหละ คิดได้ ทำยาก การจูบปากระหว่างประชาธิปัตย์กับเพื่อไทยก็แค่เพ้อฝัน
เพราะยังไม่ทันไร ก็มีเสียงจากฝั่งประชาธิปัตย์ สไตล์กัดจิกแบบนายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรค ออกตัวเลยว่า การร่วมงานกับเพื่อไทยเป็นไปได้ยาก ถ้ายังคบกับพวกเผาบ้านเผาเมือง ขณะที่ฝ่ายเพื่อไทยก็แสบเหมือนกัน ยืนยันไม่เอาด้วยกับพรรคที่จ้องรับใช้เผด็จการ
เกมเกี้ยเซียะเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์สกัด “ลุงตู่” เป็นหมันตั้งแต่ยังไม่เริ่มปฏิสนธิ
ที่แน่ๆมันก็ตอกย้ำภาพการเมืองพันธุ์เก่า มุ่งชิงเหลี่ยมอำนาจ คิดแต่เอาการเมืองนำชาติมากไป จนสร้างความเสียหาย ลากประเทศเข้าสู่ภาวะรัฐเกือบล่มสลาย
ทำให้ประชาชนเข็ดหลาบพฤติกรรมมาแล้ว
แนวโน้มมันจึงยิ่งเพิ่มแรงส่งไหลไปทางฝั่ง “ลุงตู่” มากขึ้นอีก.
ทีมข่าวการเมือง

วันอังคารที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ขังต่อ! ชาวบ้านค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน เหตุรวบรวมหลักทรัพย์ไม่ทัน

ขังต่อ! ชาวบ้านค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน เหตุรวบรวมหลักทรัพย์ไม่ทัน ทนายเล็งยื่นประกันอีกพรุ่งนี้
.
28 พฤศจิกายน 2560 ที่ศาลจังหวัดสงขลา ตำรวจนำตัวชาวบ้านคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ถูกจับกุมตัวมาเมื่อวานนี้ 16 คนไปยื่นคำร้องขอฝากขังผลัดแรก โดยได้ยื่นขอคัดค้านการประกันตัวด้วย ศาลพิจารณาคำร้องแล้ว ให้วางหลักทรัพย์การประกันตัวคนละ 90,000 บาท รวม 15 คนเป็นเงินจำนวน 1,350,000 บาท ส่วนเยาวชนอายุ 16 ปี คิดหลักทรัพย์จำนวน 5,000 บาท ต่อมาทนายความและญาติของผู้ถูกกล่าวหาได้พยายามรวบรวมหลักทรัพย์และติดต่อหาอาจารย์เพื่อขอใช้ตำแหน่งในการประกันตัว แต่ไม่สามารถรวบรวมได้ทัน จึงได้ประกันตัวเพียงเยาวชนอายุ 16 ปีเท่านั้น ระหว่างนี้ทนายความและญาติจะพยายามรวบรวมหลักทรัพย์เพื่อขอประกันตัวอีกครั้งในวันพรุ่งนี้
.
โดยชาวบ้านทั้ง 16 คนถูกควบคุมตัวที่สภ.สงขลาเพื่อสอบปากคำตั้งแต่เมื่อวานนี้ ตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมด 3 ข้อหาคือ 1.ร่วมกันปิดกั้นทางหลวง 2. ร่วมกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปต่อสู้ ขัดขวางการจับกุม และร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าพนักงาน และ 3.พาอาวุธไม้คันธงปลายแหลมไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร ทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดทุกข้อกล่าวหาและจะขอยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรในภายหลัง
.
ต่อมาเวลาประมาณ 14.00 น. ตำรวจจึงได้ควบคุมตัวทั้งหมดนำส่งต่อศาลจังหวัดสงขลา ขณะเดียวกันบริเวณด้านข้างศาลจังหวัดสงขลา ชาวบ้านเครือข่ายสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวนกว่า 20 คนได้พากันนั่งสงบนิ่งสื่อสารความรู้สึกที่ไปไม่ถึงหัวหน้าคสช. และต้องการแสดงออกให้ทุกคนบนโลกใบนี้รับรู้ว่า พวกเรา มีความบริสุทธ์กายและใจ การปกป้องสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ความผิด โดยตำรวจได้ยึดธงเขียว ป้ายผ้า เสื้อเขียวและเสื้อกันฝนของชาวบ้านไปด้วย ระหว่างนั้นมีฝนตกลงมา ชาวบ้านจึงต้องนั่งตากฝนเปียกปอนเพื่อรอฟังคำสั่งปล่อยตัวเป็นเวลาหลายชั่วโมง
.
นับตั้งแต่การสลายการชุมนุมของชาวบ้านคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินหลายองค์กรภาคประชาสังคมได้ออกแถลงการณ์แสดงความเป็นกังวลและประณามการกระทำความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งขอให้ปล่อยตัวชาวบ้านโดยไม่มีเงื่อนไข ขณะที่บ่ายวันนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้แถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการแจ้งข้อกล่าวหาแก่ชาวบ้านทั้งหมด พร้อมทั้งชี้ว่า กิจกรรมของชาวบ้านอยู่ในขอบเขตของการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ
.
ดูรายละเอียดกิจกรรมการเดินขบวน ได้ที่ https://web.facebook.com/stopcoalsongkhla/posts/1489493167831438
ดูคลิปวีดีโอส่วนหนึ่งของการเข้าจับกุมผู้เดินขบวน ได้ที่ https://web.facebook.com/stopcoalsongkhla/

แถลงการณ์คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)

แถลงการณ์คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)
กรณีการสลายการชุมนุมและจับกุมเครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา
ตามที่เครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ได้ทำกิจกรรมเดินรณรงค์ “เดินไปหานายก หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน เทใจให้เทพา หยุดการพัฒนาที่ทำลายชุมชน” ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 เพื่อยื่นจดหมาย ถึงนายกรัฐมนตรี เรื่อง ขอให้ยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เพราะมีความไม่ชอบธรรมนานัปการ อันเนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้ลงมาตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดปัตตานี เมื่อ 27 พฤศจิกายน 2560 และประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย อำเภอเมืองสงขลาในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 นั้น โดยเครือข่ายฯ ได้เริ่มเดินเท้าจากพื้นที่ก่อสร้างโครงการฯ เพื่ออธิบายต่อสาธารณะถึงความไม่เป็นธรรมที่ชาวบ้านได้รับจากโครงการฯ ความฉ้อฉล และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยเครือข่ายฯ ต้องการให้นายกรัฐมนตรีรับฟังเสียงประชาชนและให้พิจารณายกเลิกโครงการฯ ร่วมกันสร้างสังคมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน ดังที่รับทราบแล้วนั้น
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและรับทราบว่า ชาวบ้านได้ยื่นแจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจจังหวัดสงขลาได้มีประกาศให้เลิกการชุมนุมสาธารณะดังกล่าว โดยอ้างว่าเป็นการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งต่อมาในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เวลาประมาณบ่ายโมง เมื่อเครือข่ายฯ ได้เดินทางถึงบริเวณแยกสำโรง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตั้งจุดสกัดการเดินเท้าของเครือข่าย และในเวลาต่อมาประมาณ 16.20 น เจ้าหน้าที่ของรัฐก็เข้าได้สลายการชุมนุมของเครือข่ายฯ ทำให้ชาวบ้านบางส่วนได้รับความบาดเจ็บและชาวบ้านอีก 16 คนถูกควบคุมตัวไป
สถานการณ์ดังกล่าว สะเทือนขวัญและกำลังใจของประชาชนในสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง และลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาลลงอย่างรุนแรง เนื่องจากรัฐบาลได้ประกาศและพยายามจะสร้างความปรองดองสมานฉันท์ในประเทศและจะคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้เท่าเทียมสากล โดยประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาตินั้น
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ขอแสดงท่าทีและข้อเรียกร้อง ดังต่อไปนี้
1. เราขอประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมด้วยความรุนแรง และขอให้ปล่อยตัวชาวบ้านทั้งหมดที่ถูกควบคุมตัวหรือดำเนินคดีทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข ทั้งนี้เพราะการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องละเอียดอ่อนไม่อาจใช้ท่าทีที่แข็งกร้าวได้ อีกทั้งรัฐควรดำเนินนโยบายการพัฒนายั่งยืนตามที่ประกาศต่อสังคมโลก
2. เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการใช้ความรุนแรง การใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือที่ใช้ทำลายความชอบธรรมของประชาชนในการแสดงออก ถึงสิทธิเสรี เสรีภาพ ที่จะเรียกร้องให้รัฐได้เข้ามาแก้ไขปัญหา และต้องสร้างการมีส่วนร่วม รวมถึงยอมรับกระบวนการตรวจสอบของประชาชน อย่างจริงจัง
3. เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลชุดนี้ยุติการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อำเภอเทพา เอาไว้ก่อน เพื่อรอรัฐบาลใหม่ ที่ได้มาจากหลังจากการเลือกตั้งได้ดำเนินการจัดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความเห็นและเปิดโอกาสให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจในสถานการณ์ที่เป็นประชาธิปไตย ภายใต้กฎกติกาที่เป็นธรรม
ด้วยจิตสมานฉันท์และเชื่อมั่นในพลังประชาชน
แถลงโดยคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) 28 พฤศจิกายน 2560

‘กสม.’ร่อนแถลงการณ์จี้รัฐปล่อยแกนนำค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ยันใช้สิทธิตามรธน.

‘กสม.’ร่อนแถลงการณ์จี้รัฐปล่อยแกนนำค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ยันใช้สิทธิตามรธน.


เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นางเตือนใจ ดีเทศน์ พร้อมด้วยนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการกสม. ร่วมกันแถลงแสดงความเป็นห่วงต่อกรณีการสลายการชุมนุมและจับกุมกลุ่มแกนนำเครือข่ายประชาชนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ระหว่างจัดกิจกรรมเดินเท้ารณรงค์คัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเทพา เพื่อเข้ายื่นหนังสือคัดค้าน โครงการฯ ต่อนายกรัฐมนตรี เมื่อเย็นวันที่ 27 พฤศจิกายน

นางเตือนใจ กล่าวว่า กสม.เห็นว่าโครงการโรงไฟฟ้าเทพา เป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่มีถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลัก มีข้อท้วงติงว่าอาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างรุนแรงและกว้างขวาง ไม่เฉพาะในพื้นที่จังหวัดปัตตานี แต่จะขยายไปยังพื้นที่ใกล้เคียงด้วย กสม. ได้ดำเนินการตรวจสอบและอยู่ระหว่างการจัดทำรายงาน เบื้องต้นพบมีปัญหาการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร การจัดกระบวนการการ มีส่วนร่วมและสร้างความเข้าใจกับประชาชน โดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบกระทบโดยตรง อันเป็นเหตุของการเดินเท้าเพื่อเข้ายื่นหนังสือคัดค้านโครงการฯ ต่อนายกรัฐมนตรี

กสม.เห็นว่า การดำเนินกิจกรรมดังกล่าวยังอยู่ในขอบเขตของการใช้สิทธิในการแสดงความเห็นและเสรีภาพ ในการชุมนุมของประชาชนอย่างสงบตามรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตามกสม. จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทบทวนการแจ้งข้อกล่าวหา แก่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และดำเนินการทางกฎหมายอย่างรอบคอบบนพื้นฐานของสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ และนายกฯควรเปิดโอกาสให้เครือข่ายฯได้เข้าพบ เพื่อนำเสนอข้อห่วงใยและข้อเสนอในการพัฒนาโครงการที่ยั่งยืนต่อรัฐบาลโดยสงบ และปราศจากการขัดขวางจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ นอกจากนี้ กสม.ขอให้รัฐบาลและหน่วยงานเจ้าของโครงการยึดมั่นในแนวปฏิบัติของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ภายใต้หลักการ เคารพ คุ้มครอง และเยียวยา รวมทั้งคำประกาศวาระแห่งชาติ : สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันอังคารที่ 21 พฤศจิกายน เป็นแนวทางในการดำเนินโครงการด้วย โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

นางเตือนใจ กล่าวอีกว่า จากการลงพื้นที่พบว่าจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่กินพื้ยที่สามพันไร่ ต้องมีการย้ายประชาชนกว่า 240 ครอบครัว รวมถึงมัสยิด วัด และกุโบร์ ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2558 กสม.ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบจัดทำรายงานเสนอแนะต่อรัฐบาล ซึ่งในพื้นที่มีทั้งกลุ่มที่คัดค้านและสนับสนุนให้มีการก่อสร้าง โดยกลุ่มคัดค้านห่วงเรื่องวิถีชีวิต เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติขนาดใหญ่ ที่คนในพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน จึงเกรงว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะกระทบกับความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ทะเล รัฐบาลจึงควรรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึง รายงานของต่างประเทศที่มีความก้าวหน้าในเรื่องการหาแหล่งพลังงาน ที่มีการยุติใช้พลังงานถ่านหินไปแล้ว

ด้านนางอังคณา กล่าวว่า ขณะนี้จะมีพระราชบัญญัติชุมนุมในที่สาธารณะ แต่รัฐธรรมนูญก็คุ้มครองในเรื่องการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ดำเนินการโดยสงบและไม่รุนแรง การจัดกิจกรรมเมื่อวานมีทั้งกลุ่มที่สนับสนุนและคัดค้าน แต่ภาพที่ออกมากลายเป็นว่ากลุ่มที่สนับสนุนได้รับการต้อนรับจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่กลุ่มที่คัดค้านถูกขัดขวาง จะถือว่าเข้าข่ายเลือกปฏิบัติหรือไม่ อีกทั้งผู้ร่วมกิจกรรมมีทั้งเด็กและสตรี เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าระงับการเคลื่อนไหวกลับไม่พบว่ามีเจ้าหน้าที่ผู้หญิงเข้าปฏิบัติหน้าที่ สะท้อนว่ารัฐไม่มีการคำนึงถึงความอ่อนไหวในเรื่องเพศสภาพ นอกจากนี้ไทยก็ยอมรับข้อเสนอในการที่จะคุ้มครองสิทธิของนักต่อสู้ ดังนั้นจึงหวังว่ารัฐบาลจะปล่อยตัวแกนนำที่ถูกควบคุมไว้โดยเร็วและไม่มีการตั้งข้อกล่าวหา

แถลงการณ์ของกรีนพีซ

แถลงการณ์ของกรีนพีซ กรณีการใช้ความรุนแรงสลายการเดินทางยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีของเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน


ข่าวประชาสัมพันธ์ - พฤศจิกายน 27, 2560
การเดินเท้าอย่างสงบของเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินนับตั้งแต่วันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน เพื่อไปยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่ม.เทคโนโลยีราชมงคลศรีสิชัย อ.เมืองสงขลาในวันที่ 28 พฤศจิกายน ต้องจบลงด้วยความรุนแรงเมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐและฝ่ายความมั่นคงระดมกำลังเข้าสลายการเดินทางมายื่นหนังสือของเครือข่าย
เหตุรุนแรงโดยรัฐครั้งนี้ย้ำชัดถึง “ความไม่เป็นธรรมที่ชุมชนในพื้นที่โดนกระทำจากอำนาจรัฐและอำนาจทุนมาอย่างต่อเนื่องตลอด 4 ปี ของผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน” ดังเนื้อความในจดหมายที่จะยื่นต่อนายกรัฐมนตรี
ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว “การปฏิบัติที่รุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐครั้งนี้สะท้อนความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 และรัฐธรรมนูญตามมาตรา 65 ที่กำหนดให้มีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs) อย่างเช่นเป้าหมายที่ 16 ว่าด้วย “ส่งเสริมสังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก” ซึ่งมุ่งมั่นที่จะลดความรุนแรงทุกรูปแบบ พร้อมทำงานร่วมกันเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความไม่มั่นคงทางสังคมอย่างยั่งยืน”
กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เห็นว่าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและท่าเรือขนถ่ายถ่านหินไม่มีความชอบธรรมใดๆ ที่จะสร้าง และขอยืนยันข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลดังนี้ ;
  1. ปล่อยตัวเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมดที่ถูกจับกุมไว้โดยไม่มีเงื่อนไขในทันทีและยุติการคุกคามสิทธิชุมชนในทุกรูปแบบ
  2. คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีในฐานะเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติยุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาโดยทันที
  3. ทบทวนกระบวนการวางแผนพลังงานของประเทศเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนแบบกระจายศูนย์ที่สะอาด ยั่งยืนและเป็นธรรมอันเป็นเจตนารมย์หลักตามพันธะกรณีที่ประเทศไทยให้คำมั่นในความตกลงปารีสและการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงการดำเนินมาตรการในข้อ 8(Article 8) ของอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท*
.........................
*หมายเหตุ : สืบเนื่องจากการที่ประเทศไทยลงนามเข้าร่วม เป็นภาคีอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท(Minamata Convention on Mercury) เป็นอันดับที่ 66 ของโลก และเป็นประเทศแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาคีอนุสัญญาได้ยอมรับร่วมกันว่า “ปรอทเป็นสารเคมีที่ทั่วโลกมีความกังวลเนื่องจากปรอท สามารถเคลื่อนย้ายได้ไกลในชั้นบรรยากาศ ปรอทตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม จากกิจกรรมของมนุษย์ ปรอทมีความสามารถในการสะสมในสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ และปรอทส่งผลเสียต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสําคัญ อนึ่ง เป็นที่รับรู้กันดีว่า ปรอทที่ปล่อยออกสู่บรรยากาศนั้นเป็นองค์ประกอบทางเคมีของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) โดยมาตรการในข้อ 8(Article 8) ของอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอทนั้นมุ่งเน้นถึงการควบคุมและลดการปล่อย (emission)ปรอทออกสู่บรรยากาศจากแหล่งกำเนิดที่มีจุดกำเนิดแน่นอน(point sources) ตามรายการที่ระบุไว้ในภาคผนวก D (Annex D) ของอนุสัญญาฯ รวมถึง โรงไฟฟ้าถ่านหิน

เพจลุงตู่บอกเสียใจ

Gen.Prayut Chan-o-cha ทีมงาน
7 ชม.
นายกฯ เสียใจ ที่ได้ว่ากล่าวชาวประมงไปเมื่อวานนี้ที่ปัตตานี แต่ขอให้เข้าใจในสิ่งที่รัฐบาลได้แก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย เพื่อให้อุตสาหกรรมประมงของไทย สามารถอยู่รอด ส่งออกได้ สอดคล้องกับพันธสัญญาที่เราต้องดำเนินการ รวมทั้งเพื่อรักษาสมดุลของธรรมชาติ ให้การประมงของเราเกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคต สำหรับปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ ที่ร้องเรียนมา ได้สั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบไปดูอย่างละเอียดแล้ว

แถลงการณ์เครือข่ายภาคประชาสังคมและองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน

แถลงการณ์เครือข่ายภาคประชาสังคมและองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน "หยุด ! ใช้อำนาจเถื่อนจับกุมพี่น้องค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา
วันที่ 27 พฤศจิกายน 2560
ต้องขอคาระวะพี่น้องชาวบ้านที่รวมตัวคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ของ กฟผ. ด้วยความจริงใจ แม้ว่าการเคลื่อนไหวต่อสู้ในครั้งนี้จะมีความยากลำบาก เพราะผู้มีอำนาจในบ้านเมืองเราปิดหูปิดตาที่จะรับฟังความจริงจากประชาชนในพื้นที่ ซ้ำร้ายผู้นำในยุคนี้ยังมีอคติกับกลุ่มที่คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ในข้อกล่าวหาเดิมๆ คือ ขัดขวางการพัฒนาประเทศและถ่วงความเจริญ
หลายปีที่ผ่านมาพี่น้องชาวเทพา จังหวัดสงขลา ได้เดินทางเพื่อยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีให้รับทราบถึงความทุกข์ยากและปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตจากการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา แต่ไม่เคยมีเสียงตอบรับแต่อย่างใดจากผู้นำรัฐบาล
การเดินเท้าจำนวน 75 กิโลเมตร ของพี่น้อง ให้หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหินเนื่องจากนายกรัฐมนตรี จะมาตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 และประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย อ.เมืองสงขลา ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 ดังนั้นเจตนาการเดินเท้าเพื่อไปหานายกรัฐมนตรีจึงเป็นความหวังของการบอกกล่าวปัญหาความเดือดร้อนให้ผู้นำรัฐบาลรับทราบ
แต่ในวันนี้ (27 พ.ย. 2560) มีการใช้กองกำลังเข้าสลายพี่น้องคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลาอย่างป่าเถื่อนโดยไม่ยึดกับหลักกฎหมายใดๆทั้งสิ้น ผิดกับที่รัฐบาลได้ประกาศเรื่อง “สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ” เราขอประณามรัฐบาลว่าการใช้กองกำลังเข้าสลายพี่น้องเทพา
โดยไม่ยึดหลัก “สิทธิมนุษยชน” เป็นความเลวร้ายอย่างยิ่ง และการประกาศดังกล่าวเป็นเพียงลมปากเพื่อสร้างภาพเท่านั้น ดังนั้นเราจึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาล ดังนี้
1. ให้ปล่อยตัวพี่น้องที่ถูกจับกุมโดยด่วนอย่างไม่มีเงื่อนไข
2. ให้มีการสอบสวนในการใช้กองกำลังสลายการรวมตัวของประชาชนที่ชุมนุมโดยสันติ
3. ให้รัฐบาลยุติการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา
ด้วยจิตคารวะ
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.อีสาน)
เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน
เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาคอีสาน
เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน
เครือข่ายปฎิรูปที่ดิน ภาคอีสาน
สมาคมผู้บริโภค จ.ขอนแก่น
สมาคมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเทือกเขาเพชรบูรณ์
สมาคมเครือข่ายชาวนาชาวไร่อีสาน
สมาคมป่าชุมชนอีสาน
สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมและสาธารณะ
ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพอีสาน (ศสส.)
ศูนย์พัฒนาเด็กเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมแม่น้ำโขง
ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม
ศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง
ศูนย์ศึกษาชุมชนท้องถิ่นอีศาน
โครงการทามมูล
กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี
คณะกรรมการชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 500kv. จ.อุดรธานี
เครือข่ายคนรุ่นใหม่กลุ่มลุ่มน้ำโขงศึกษา
กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลำพะเนียง
กลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำโขง อ.ปากชม จ.เลย
เครือข่ายชุมชนฮักน้ำโขง
ขบวนการอีสานใหม่ (New Esaan Movements)
กลุ่มชาวบ้านอนุรักษ์แก่งละหว้า จ.ขอนแก่น
โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศห้วยเสนง จ.สุรินทร์
กลุ่มชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศลุ่มน้ำชีตอนล่าง จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร
สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา จ.ศรีสะเกษ
กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย จ.ยโสธร
เครือข่ายอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย จ.อำนาจเจริญ
กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสภาคีเครือข่ายฯ จังหวัดสกลนคร
กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมห้วยเสือเต้นและโคกหินขาว จ.ขอนแก่น
กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน)
ชมรมชาวบ้านอนุรักษ์ลำน้ำพอง จ.ขอนแก่น
กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนามูนดูนสาด จ.กาฬสินธุ์
ขบวนองค์กรชุมชน จ.สุรินทร์
กลุ่มสมุนไพรเพื่อสันติภาพ

แถลงการณ์ 4 องค์กรสิทธิมนุษยชนต่อกรณีเจ้าหน้าที่รัฐสลายการชุมนุม

+++แถลงการณ์ 4 องค์กรสิทธิมนุษยชนต่อกรณีเจ้าหน้าที่รัฐสลายการชุมนุม “เดิน....#เทใจให้เทพา หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน" เรียกร้องให้ปล่อยตัวประชาชนจากการควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และยุติการปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมของประชาชน +++

ตามที่ชาวบ้านเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ได้จัดกิจกรรมเดินเท้าจากพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 เพื่อสื่อสารต่อสาธารณะถึงความไม่เป็นธรรมและผลกระทบที่ชาวบ้านได้รับจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และยื่นหนังสือต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย อำเภอเมืองสงขลา ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560

โดยวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งเป็นวันที่เริ่มเดิน เครือข่ายฯได้ยื่นแจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรเทพา และวันที่ 25 พฤศจิกายน 2560 เวลา 13.30 น. ได้ยื่นหนังสือขอผ่อนผันการชุมนุมสาธารณะต่อผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาเนื่องจากพึงทราบว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ต้องแจ้งการชุมนุม อย่างไรก็ดีผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาได้ออกประกาศฉบับลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2560 ให้เลิกการชุมนุมสาธารณะภายในเวลา 18.00 น.ของวันที่ 25 พฤศจิกายน 2560 โดยอ้างว่าเป็นการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาในวันนี้ ( 27 พฤศจิกายน 2560 เวลาประมาณบ่ายโมง เมื่อเครือข่ายฯ เดินทางถึงบริเวณแยกสำโรง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา มีตำรวจประมาณ 1 กองร้อยตั้งจุดสกัดขบวนเดินเท้าของเครือข่าย และเวลาประมาณ 16.20 น เจ้าหน้าที่ได้สลายการชุมนุม มีชาวบ้านได้รับบาดเจ็บและชาวบ้านจำนวนหนึ่งถูกควบคุมตัวไป

องค์กรสิทธิมนุษยชนตามที่ปรากฏรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์นี้ มีความกังวลอย่างยิ่งต่อการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว และขอยืนยันหลักการสิทธิเสรีภาพที่รัฐต้องให้การเคารพและคุ้มครอง ดังต่อไปนี้

1. เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบ เป็นสิทธิที่รับรองไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะต้อเป็นไปตามกฎหมายและจำเป็นแก่สังคมประชาธิปไตยเพื่อผลประโยชน์ทางความมั่นคงของชาติ หรือความปลอดภัย สาธารณะ ความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุข หรือศีลธรรม หรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น

แต่จากข้อเท็จจริงการเคลื่อนไหวของ "เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน" เห็นได้ชัดว่าเป็นการเคลื่อนไหวโดยสันติ เดินตามริมขอบถนน และมีวัตถุประสงค์ที่ชอบธรรมเพื่อบอกกล่าวถึงความกังวลต่อโครงการการพัฒนาที่อาจจะก่อผลกระทบต่อชุมชน อีกทั้ง เครือข่ายได้มีการแจ้งการชุมนุมสาธารณธและขอผ่อนผันตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2560 แล้ว การที่เจ้าหน้าที่ปิดกั้น สลายการชุมนุมและจับกุมชาวบ้านจึงเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรม และเป็นการกระทำที่ไม่ขอบด้วยกฎหมาย

2. สิทธิชุมชนและการเสนอเรื่องร้องทุกข์ เป็นสิทธิที่ถูกรับรองไว้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยในมาตรา 41 บัญญัติไว้ว่า “บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ต่อหน่วยงานของรัฐและได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยรวดเร็ว” และมาตรา 43 บัญญัติไว้ว่า “บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน” ซึ่งการเคลื่อนไหวของเครือข่ายฯ ก็อยู่ภายใต้หลักการสิทธิดังกล่าว เนื่องจากมีวัตถุประสงค์ชัดเจนเพื่อยื่นเรื่องร้องทุกข์ การให้ข้อมูล และแสดงความคิดเห็นและความกังวลเกี่ยวกับโครงการพัฒนาดังกล่าวต่อผู้มีอำนาจ ดังนั้น การกีดกันหรือไม่ยอมให้ประชาชนมีส่วนร่วมดังกล่าว จึงเป็นการละเมิดเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้อย่างชัดเจน

3. สิทธิที่จะได้รับการดำเนินคดีที่เป็นธรรม (Rights to Fair Trial) เป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 28 โดยสิทธิประการดังกล่าวกำหนดห้ามมิให้มีการจับกุมหรือควบคุมบุคคลโดยอำเภอใจ เว้นแต่โดยเหตุและเป็นไปตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย โดยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กำหนดให้การจับโดยทั่วไปต้องมีหมายจับที่ออกโดยศาลและมีเหตุแห่งการออกหมายจับ หรือเป็นความผิดซึ่งหน้า

แม้กรณีนี้เจ้าหน้าที่จะกล่าวอ้างว่าการชุมนุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เจ้าหน้าที่ก็ยังไม่สามารถจะจับกุมบุคคลได้ เพราะหากพิจารณาตามมาตรา 24 ของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 แล้ว จะเห็นได้ว่าความผิดเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ยังไม่ถือเป็นความผิดซึ่งหน้าที่เจ้าหน้าที่จะจับกุมตัวได้ จนกว่าจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะและต้องมีคำสั่งจากศาลแพ่งหรือศาลจังหวัดที่มีเขตอำนาจเหนือสถานที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะนั้น รวมทั้งได้มีการประกาศพื้นที่ควบคุมเสียก่อน

ดังนั้น การที่เจ้าหน้าที่ได้ทำการสลายการชุมนุม และได้จับกุมควบคุมตัวบุคคลที่ใช้เสรีภาพในการมีส่วนร่วมและการชุมนุมโดยสงบไป โดยที่ยังไม่มีคำสั่งศาลและประกาศพื้นที่ควบคุมเสียก่อน จึงถือเป็นการจับกุมควบคุมตัวบุคคลโดยไม่เป็นไปตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ไม่มีเหตุผลอันสมควร และเป็นไปโดยอำเภอใจ

องค์กรสิทธิมนุษยชนตามที่ปรากฏรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์นี้ จึงขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการในเรื่องดังต่อไปนี้โดยทันที

1. ปล่อยตัวบุคคลที่ถูกควบคุมตัวจากกรณี “เดิน....เทใจให้เทพา หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน เดิน....หานายก หยุดทำลายชุมชน” โดยทันที
2. รัฐต้องเคารพและปกป้องสิทธิมนุษยชนดังที่ได้ประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติไปเมื่อไม่นานมานี้ และเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมเกี่ยวกับเรื่องนโยบายสาธารณะได้เต็มที่
3. ยุติการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการจำกัดหรือปิดกั้นการมีส่วนร่วมและการตรวจสอบของประชาชนพร้อมทั้งต้องเปิดพื้นที่ในการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากขึ้น
ด้วยความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA)
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
สมาคมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน (UCL)
มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC)

วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

สลายการชุมนุมม็อบถ่านหินเทพาสงขลา

จากเพจ I LAW 
//
27 พฤศจิกายน 2560 ตำรวจใช้กำลังเข้าสลายกิจกรรมเดินเท้าของเครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน และจับกุมแกนนำไปอย่างน้อย 16 คน หลังเดินขบวนจากอ.เทพาตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 เพื่อเตรียมเข้ายื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่นำคณะรัฐมนตรีลงพื้นที่ภาคใต้ เพื่อการประชุม ครม. สัญจร
.
จากการที่คณะรัฐมนตรี มีกำหนดประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย อำเภอเมืองสงขลา ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 ชาวเทพาและเครือข่ายจึงจัดกิจกรรมเดินเท้าจากพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้า ไปหานายกรัฐมนตรีในวันประชุม เพื่อสื่อสารต่อสาธารณะถึงความไม่เป็นธรรมที่ชาวบ้านได้รับจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่อ.เทพา จ.สงขลา และยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีถึงเหตุผลของชาวบ้านที่ไม่ต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ในกิจกรรมครั้งนี้ชาวบ้านเทพาเริ่มเดินออกจากชุมชนบางหลิง พื้นที่ใจกลางเขตก่อสร้างที่จะถูกบังคับโยกย้าย ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน 2560 โดยมีเป้าหมายไปให้ถึงสถานที่ประชุม ครม.สัญจร ในวันอังคารที่ 28 พฤศจิกายน 2560

โดยก่อนหน้านี้ ชาวบ้านได้แจ้งการชุมนุม ต่อสถานีตำรวจภูธรอำเภอเทพาแล้ว แต่ไม่ได้ยื่นหนังสือล่วงหน้ามากกว่า 24 ชั่วโมง ตามที่พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ กำหนดไว้ ตำรวจเห็นว่า ระหว่างการพิจารณาเรื่องการชุมนุม ชาวบ้านก็ยังเดินขบวนไปเรื่อยๆ ถือเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงสั่งให้เลิกการชุมนุม ภายในเวลา 18.00 น. ของวันที่ 25 พฤศจิกายน 2560 แต่ชาวบ้านก็ยืนยันจะเดินหน้ากิจกรรมนี้ต่อไป

เหตุการณ์ความวุ่นวายในวันนี้ เกิดขึ้นเมื่อขบวนชาวบ้านเดินเท้ามาถึง อ.เมือง จ.สงขลา ขณะเดินผ่านบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ทหารได้เข้ามาห้ามการเดินขบวนต่อ แต่ทางชาวบ้านยืนยันว่า มีนัดหมายที่จะมาพักกินข้าวบริเวณหน้าโรงพยาบาลจิตเวช และได้ยืนยันที่จะเดินต่อมาเพื่อจะพักกินข้าว

เวลาประมาณ 16.20 น ขณะที่ชาวบ้านกำลังพักกินข้าว มีกำลังเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมพื้นที่อยู่จำนวนมาก และมีทหารบุกเข้ามาเพื่อขอเจรจากับแกนนำ ระหว่างนั้นชาวบ้านเห็นว่า การเจรจาไม่ได้ดำเนินไปได้ด้วยดี และทหารมีแนวโน้มที่จะสั่งสลายการเดินขบวน ชาวบ้านจึงวิ่งออกมาทางพื้นที่ริมทะเลใกล้ชุมชนเก้าเส้ง เพื่อให้พ้นวงล้อมของเจ้าหน้าที่ ระหว่างนั้นทหารจึงมีคำสั่งให้จับกุมทุกคนที่ถือธงสีเขียว หรือสัญลักษณ์ของการเดินครั้งนี้

มีรายงานว่า ตำรวจใช้กำลังเข้าจับกุม มีการทุบตี ทำให้ชาวบ้านได้รับบาดเจ็บหลายคน และมีผู้ถูกควบคุมตัวขึ้นรถตำรวจไปยัง สถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลา อย่างน้อย 16 คน
..................................
จดหมายที่ชาวบ้านเตรียมไว้จะนำไปยื่นต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันรุ่งขึ้น แต่สุดท้ายไปไม่ถึงมือ เพราะถูกตำรวจเข้าสลายและถูกจับกุมไปเสียก่อน มีใจความดังนี้

เรื่อง ขอให้นายกรัฐมนตรียกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเพราะมีความไม่ชอบธรรมนานับประการ
เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

สืบเนื่องจากการที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้จะมาตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดปัตตานีในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 และประชุม คณะรัฐมนตรีสัญจรที่ มหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย อำเภอเมืองสงขลา ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 นี้ ชาวเทพาและเครือข่าย มีมติเดินเท้าจากพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เพื่อสื่อสารต่อสาธารณะถึงความไม่เป็นธรรมที่ชาวบ้านได้รับจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และยื่นหนังสือต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีถึงความไม่เป็นธรรม ความฉ้อฉล และผลกระทบ ที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพากระทำต่อชุมชนคนเทพาและรวมถึงคนสงขลาและคนปัตตานี
ความไม่เป็นธรรมที่ชาวบ้านเทพาโดนกระทำจากอำนาจรัฐและอำนาจทุนมาอย่างต่อเนื่องตลอด 4 ปี ของผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่สำคัญได้แก่
- การมีส่วนร่วมที่เป็นเพียงพิธีกรรมทั้งเวทีรับฟังความคิดเห็น ค.1, ค.2 และ ค.3 โดยที่ไม่มีการพูดคุยหรือรับฟังถกแถลงสองทางกับกลุ่มคัดค้านทั้งที่เป็นชาวบ้านและนักวิชาการเลยแม้แต่ครั้งเดียว
- การศึกษา EHIA มีความบกพร่อง ไม่ครอบคลุม โดยชาวบ้านเชื่อว่ามีการลักไก่มากมายเพราะไม่เห็นลงมาเก็บข้อมูลเลยแต่กลับมีข้อมูลรายงาน อีกทั้งมีข้อมูลที่เป็นเท็จไม่ตรงข้อเท็จจริงในพื้นที่จำนวนมาก
- กระบวนการอนุมัติโครงการมีการแยกส่วนการศึกษา EHIA โดยทราบว่าจะมีการชงให้ ครม.อนุมัติสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาไปก่อน โดยไม่รอ EHIA ท่าเรือขนถ่านหินซึ่งไม่ผ่านและยังต้องปรับแก้อีกมาก
- พื้นที่ทำโครงการเกือบ 3,000 นั้น ต้องมีการบังคับโยกย้ายคนบ้านบางหลิงและคลองประดู่ออกจากพื้นที่แผ่นดินเกิดกว่า 180 หลังคาเรือน ร่วม 1,000 คน "แล้วจะให้ชาวบ้านไปอยู่ที่ไหน" นับเป็นการบังคับโยกย้ายครั้งใหญ่ในยุคนี้ ซึ่งขัดกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน
- คนที่จำเป็นต้องอยู่อาศัยรอบโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างจำใจในรัศมี 1 กิโลเมตร มีมากถึง 4,000 คน และรัศมี 5 กิโลเมตรมีร่วม 20,000 คน แสดงถึงการเลือกที่ตั้งที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
กระแสของทั้งโลกกำลังทยอยยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะทำให้โลกร้อนและก่อมลพิษ อีกทั้งยังทำลายวิถีชุมชนเทพาที่สุขสงบ ประเทศไทยมีทางเลือกที่จะไม่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหลายทางเลือก จึงขอเพียงให้รัฐบาลมีนโยบายที่สอดคล้องกับประชาคมโลกตามที่รัฐบาลได้ไปลงนามไว้
ทางเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน จึงขอให้ ฯพณฯนายกรัฐมนตรี รับฟังเสียงประชาชน “โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาไม่มีความชอบธรรมใดๆที่จะสร้าง” จึงขอให้ทางรัฐบาลพิจารณายกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา” และชี้นำการสร้างสังคมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
......................................
ดูรายละเอียดกิจกรรมการเดินขบวน ได้ที่ https://web.facebook.com/stopcoalsongkhla/posts/1489493167831438
ดูคลิปวีดีโอส่วนหนึ่งของการเข้าจับกุมผู้เดินขบวน ได้ที่https://web.facebook.com/stopcoalsongkhla/