PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2561

อุดมการณ์ นโยบาย ยุทธศาสตร์ และอารมณ์ กับการเมืองในระยะเปลี่ยนผ่าน : โดยพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

อุดมการณ์ นโยบาย ยุทธศาสตร์ และอารมณ์ กับการเมืองในระยะเปลี่ยนผ่าน : โดยพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์


ความรู้สึกแปลกๆ เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา และอาจจะเป็นผมคนเดียวที่คิดเช่นนั้น

หมายถึง ความรู้สึกที่ว่า ท่ามกลางการนับถอยหลังเข้าสู่การเลือกตั้ง ซึ่งแม้ว่าจะไม่ชัดเจนมาก หรือมีความเป็นไปได้เสมอที่จะมีการเลื่อนเลือกตั้ง แต่ทำไมกิจกรรมการเมืองในสัปดาห์ที่ผ่านมาดูจะไม่คึกคักเท่าที่ควร

ทั้งที่พรรคการเมืองใหม่ๆ ก็ได้จดแจ้งตั้งพรรคแล้ว และพรรคเก่าก็เริ่มเช็กชื่อกันแล้ว (แม้ว่าจะยังไม่ได้มีกิจกรรมที่เป็นทางการ)

เว้นแต่กระแสความตื่นตัวของคนรุ่นใหม่บางกลุ่มกับพรรคที่เสนอตัวเป็นทางเลือกของคนรุ่นใหม่ กับกระแสลุ้นว่าตกลง กปปส.จะจัดตั้งพรรคสำเร็จไหม

ผมกลับคิดว่ากระแสการเมืองจะเริ่มจริงๆ ก็เมื่อพรรคการเมืองเก่าไม่ว่าใหญ่หรือเล็กนั้นได้รับสัญญาณให้เริ่มกิจกรรมการเมืองได้นั่นแหละครับ แม้ว่าการเริ่มกิจกรรมดังกล่าวในช่วงแรกนั้นอาจจะเป็นเพียงแค่การยืนยันจำนวนสมาชิกที่ตนมีอยู่ และยังไม่ถึงขั้นของการเลือกรายชื่อของบุคคลที่จะถูกส่งไปชิงตำแหน่งทางการเมืองในระดับนายกรัฐมนตรี หรือการรณรงค์หาเสียงของแต่ละพรรค

หากพิจารณาถึงห้วงขณะทางการเมืองในปัจจุบัน ซึ่งเป็นรอยต่อของการเข้าสู่การเมืองหลังการรัฐประหาร และการเมืองหลังความขัดแย้ง เราอาจจะพอคาดเดาสถานการณ์การเมืองบางอย่างได้ไม่มากก็น้อย

อนึ่ง คำว่า “หลัง” ในความหมายนี้ เป็นคำที่ใช้ในความหมายทั้งเงื่อนแวลาและปมปัญหา กล่าวคือ ในแง่ของเวลาการเมืองที่จะเกิดขึ้นเป็นการเมืองที่จะพ้นไปจากยุคการรัฐประหารในแง่ของความเป็นทางการของรัฐประหาร และเนื่องจากคณะรัฐประหารอ้างเอาความขัดแย้งของสังคมเป็นเงื่อนไขสำคัญในการยึดอำนาจ การถอยออกจากอำนาจไม่ว่าจะบางส่วนหรือทั้งหมดนั้นอาจจะเป็นเรื่องของการที่อ้างอิงได้ในระดับหนึ่งว่าเรากำลังไปสู่การเมืองหลังความขัดแย้ง

แต่ในแง่ของคำว่า “หลัง” ที่มีความหมายถึงปมปัญหานั้น คำว่าหลัง อาจจะไม่แปลว่า “พ้น” จากปัญหาเหล่านั้น แต่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงสถานะของปัญหา หรือเรากำลังไปเจอปัญหาในรูปแบบใหม่ๆ ก็อาจเป็นได้

ผมเห็นว่าการเมืองหลังรัฐประหารรอบนี้และการเมืองหลังความขัดแย้งในรอบนี้ จะไม่ได้ทำให้เรากลับสู่การเมืองในแบบเดิม คือการเมืองเรื่องนโยบาย

ส่วนหนึ่งเพราะในการร่างกติกาใหม่ของสังคมนั้น มีความพยายามที่จะไม่ทำให้การเมืองของไทยกลายเป็นการเมืองเชิงนโยบาย ทั้งการมีการห้ามไม่ให้เกิดการสัญญาจากพรรคการเมืองสู่ประชาชนในเรื่องนโยบาย หรือการกำหนดยุทธศาสตร์แห่งชาติเอาไว้แล้วเป็นเวลาถึงยี่สิบปี

ขณะที่ผมเชื่อว่ากระแสของสังคมนั้นยังคาดหวังการเมืองเชิงนโยบายอยู่อย่างมาก ผู้เลือกตั้งจำนวนมากยังคาดหวังว่าพรรคแต่ละพรรคจะเสนอนโยบาย และโครงการต่างๆ ในการพลิกฟื้นทั้งเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจให้ได้ และผมก็เชื่อว่าพรรคการเมืองขนาดใหญ่จะเสนอทั้งนโยบายและโครงการทางเศรษฐกิจออกมาในบางรูปลักษณะ แม้ว่าจะมีความพยายามในการห้ามในสิ่งเหล่านั้นอยู่จากกรอบกฎหมายก็ตาม

ในอีกด้านหนึ่ง ผมก็เชื่อดังที่เคยนำเสนอไปแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า อาจมีความเป็นไปได้ว่าการเลือกตั้งในรอบนี้จะมีเรื่องของการเลือกตั้งทางยุทธศาสตร์ ซึ่งหมายถึงการเลือกตั้งที่ไม่ได้เกิดจากตัวเลือกที่แท้จริงของประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญต้องการให้เกิด แต่การเลือกตั้งในครั้งนี้อาจจะเป็นเรื่องของการที่ผู้เลือกตั้งคาดคะเนแทนว่า หากพรรคของตัวเองจะไม่ชนะ เขาอาจจะเลือกในแบบที่ไม่ต้องการให้คู่แข่งเขาชนะมากกว่า

ถ้าเช่นนั้นมีความเป็นไปได้ไหมว่าการเมืองที่กำลังจะมาถึงจะเป็นเรื่องของอุดมการณ์? คำตอบก็คือ อาจมีความเป็นไปได้อยู่บ้าง แต่ผมคิดว่าท้ายสุดการเมืองไทยในรอบหน้าจะเป็นเรื่องของตัวบุคคลและอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าทุกสิ่งทุกอย่าง

กล่าวคือ หากการเมืองนั้นเป็นเรื่องอุดมการณ์ (อุดมการณ์ในความหมายพื้นฐาน คือชุดความคิดและคุณค่าที่เป็นหลักนำในการใช้ชีวิตทางการเมือง) เราคงจะต้องถกเถียงกันอย่างจริงจังว่าเราจะเลือกประชาธิปไตยหรือเผด็จการ

แต่ในความเป็นจริง พรรคต่างๆ ในประเทศเราที่ผ่านมาก็ทั้งมีส่วนพัฒนาประชาธิปไตย และมีส่วนในการสร้างอุปสรรคในการพัฒนาประชาธิปไตยทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเรื่องของการซื้อเสียง (มีทุกพรรค) การทุจริตคอร์รัปชั่น (มีทุกพรรค) การละเลยต่อข้อโต้แย้งหรือคำถามและคำวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมและของเสียงฝ่ายค้านในรัฐสภา และการโค่นล้มประชาธิปไตยผ่านการเมืองนอกรัฐธรรมนูญ (การชุมนุมโดยตัวของมันเองไม่ได้เป็นสิ่งที่เลวร้ายในสังคมประชาธิปไตย แต่การเพิกเฉยต่อการรัฐประหาร จนเหมือนกับว่าชุมนุมเพื่อรอให้เกิดรัฐประหารนั้นเป็นสิ่งที่ควรถูกตำหนิ หากเป็นพรรคที่อ้างถึงประชาธิปไตยในฐานะคุณค่าหนึ่งของอุดมการณ์พรรค)

ด้วยเหตุฉะนี้ เราจึงพูดไม่ได้ง่ายนักว่าเราจะมีการเมืองเพื่อประชาธิปไตยในการเลือกตั้งที่จะมาถึง
ในอีกด้านหนึ่ง หากการเมืองในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้จะมีเป้าหมายที่เรื่องของการต่อต้านเผด็จการ เราอาจจะเห็นได้ไม่ชัดเจนมากนัก เพราะหากเผด็จการนั้นหมายถึงคนคนเดียวถือครองอำนาจก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะถูกต่อต้าน แต่ถ้าเผด็จการหมายถึงอำนาจนิยม ผมก็คิดว่าทุกพรรคก็มีลักษณะของการมุ่งยึดอำนาจและใช้อำนาจไปในสิ่งที่ตนต้องการมากกว่าการฟังเสียงที่แตกต่างและหลากหลายของสังคม

มิพักต้องกล่าวถึงว่า บางพรรคนั้นแม้อาจจะไม่พอใจผู้นำบางคนในวันนี้ แต่ก็ไม่ได้แสดงท่าทีต่อต้านรัฐประหารอะไร แถมยังได้ประโยชน์ทางการเมืองจากการล้มกระดานเพราะอย่างน้อยคู่แข่งทางการเมืองของตนก็ไม่ได้อำนาจ ส่วนพรรคที่เคยมีอำนาจก่อนถูกโค่นล้มนั้นก็ไม่ได้ออกมาต่อสู้กับการยึดอำนาจอย่างจริงจังเช่นกัน

ผมจึงคิดว่า ในท้ายที่สุด การเมืองในช่วงนี้ไปจนถึงการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลง จะเป็นเรื่องของตัวบุคคลและอารมณ์ความรู้สึกทางสังคมมากกว่าเรื่องนโยบาย และอุดมการณ์

กล่าวคือ การตั้งคำถามกับรัฐประหารในฐานะสถาบันทางการเมืองหนึ่งที่ไม่เป็นทางการของไทยจะไม่ได้รับการกล่าวถึงมากนัก แต่อาจจะมีการวิจารณ์การทำรัฐประหารที่ผ่านมาว่าเสียของ หรือแก้ไม่ตรงจุด
สุดท้ายคงจะมีน้อยพรรคมากที่จะมุ่งเน้นไปที่การพยายามสกัดขัดขวางไม่ให้เกิดการทำรัฐประหารอีกในครั้งต่อไป โดยเฉพาะในระดับโครงสร้างทางการเมืองทั้งการพยายามป้องกันไม่ให้เกิดการทำรัฐประหารในแง่ของการปฏิรูปกิจการของกองทัพไม่ให้ยุ่งกับการเมือง

รวมทั้งการเสนอเงื่อนไขและคำมั่นสัญญากับประชาชนว่าจะไม่ปล่อยให้มีเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การทำรัฐประหาร เช่น การคอร์รัปชั่น หรือ การไม่ฟังเสียงที่หลากหลายและไม่ใช่เสียงข้างมาก

มิพักต้องกล่าวถึงว่า จะมีพรรคน้อยพรรคเท่านั้นที่จะพูดถึงการล้มล้างผลพวงรัฐประหาร หรือหากมีบางพรรคที่พยายามกล่าวถึง ผมก็ไม่แน่ใจว่าประชาชนจะเลือกพรรคเหล่านั้นแค่ไหน เขาอาจจะเห็นด้วย แต่อาจจะตัดสินใจทางยุทธศาสตร์ที่จะเลือกพรรคอื่นแทน

สุดท้ายเวลาสิ่งที่พอจะจับต้องได้ในการเมืองรอบที่จะถึงนี้กลายเป็นเรื่องของการตัดสินกันว่า จะเอาผู้นำคณะรัฐประหารคนนี้ (และอาจจะรวมถึงผู้มีอิทธิพลและเครือข่ายของเขา) ให้อยู่ต่อในอำนาจหรือไม่


หากเป็นเช่นนี้ เวลาสี่ปีที่ผ่านมานั้น สังคมไทยก็ไม่ได้เรียนรู้อะไรมากนัก และยังไม่ได้เดินหน้าไปไหน เพราะสุดท้ายก็จะเป็นเรื่องการที่จะระดมมวลชนให้ไปรับรองหรือไม่รับรองคนคนหนึ่ง ทั้งตัวผู้นำรัฐประหาร หรือผู้นำของแต่ละพรรค

ทีนี้เรื่องมันก็ซับซ้อนขึ้น เพราะทั้งเพื่อไทย และประชาธิปัตย์นั้นประกาศไม่สนับสนุนผู้นำรัฐประหารคนนี้ทั้งคู่ แต่ก็ไม่มีท่าทีที่จะสามารถร่วมมือกันทำงานได้ หรือเสนอแนวทางที่พอจะอยู่ร่วมกันได้

เราก็กำลังจะกลับสู่จุดตั้งต้นของความขัดแย้งเมื่อหลายปีก่อนอีกใช่หรือไม่?

ทีนี้หากพิจารณาเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างอารมณ์กับการเมืองให้ซับซ้อนขึ้นไปอีกนิดหนึ่ง เราอาจจะเห็นว่า การเมืองกับอารมณ์นั้นเกี่ยวข้องกันมากกว่าแค่เรื่องของการเลือกตั้ง เพราะในทุกวันนี้อารมณ์นั้นเข้ามามีบทบาทในความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมทางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ

และมากไปกว่าความเชื่อเดิมๆ ที่ว่า อารมณ์นั้นเป็นสิ่งที่ทำให้การเมืองไม่พัฒนา เพราะการเมืองที่จะพัฒนาได้ต้องเป็นการเมืองที่ใช้เหตุผลสมัยใหม่ หรือเหตุผลที่แยกอารมณ์ความรู้สึกออกไป และอ้างความเป็นวิทยาศาสตร์

ลองยกตัวอย่างอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เราอาจจะมีอยู่สักสามอารมณ์ใหญ่ๆ ที่ต้องลองมาคิดกันดูว่าจะเกี่ยวข้องกับการเมืองของเราแค่ไหน

1.ความโกรธ – ความโกรธนั้นมักเกิดขึ้นเมื่อเรารู้สึกต่อสิ่งที่เกิดขึ้นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมันทำให้เป้าหมายบางอย่างของเราโดยเฉพาะเป้าหมายทางการเมืองนั้นๆ เกิดขึ้นไม่ได้ และสิ่งที่เรารับรู้ว่ามันเกิดขึ้นถูกให้คุณค่าว่ามันเกิดขึ้นอย่างไม่ยุติธรรม และเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรม เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น และเรารู้สึกว่าถูกหักหลังหรือไม่เป็นไปตามที่เราสัญญา ทั้งนี้ความโกรธอาจจะนำไปสู่การกระทำที่รุนแรง หรือ ความรู้สึกไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับผู้คนก็ได้

นอกจากนี้ความโกรธยังสัมพันธ์กับการโยนความผิดไปให้ผู้อื่น หรือการหาเหยื่อที่จะลงโทษและระบายอารมณ์ รวมทั้งอาจสนับสนุนนโยบายที่สุดโต่ง และมีความเสี่ยงสูง เพื่อให้บรรลุทางออกที่พวกเขาต้องการ แทนที่จะเลือกที่จะประนีประนอมและหันหน้าเข้าหากัน นักยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่จับจุดนี้ได้จะเข้าใจว่า เขาจะใช้ความโกรธในการปลุกเร้าคนฝ่ายตนให้ออกมาสนับสนุนการเมืองของฝั่งเขาเองเมื่อไหร่

2.ความกลัวและกระวนกระวายใจ – ความกลัวและกระวนกระวายใจนั้นมีผลทำให้ประชาชนหันไปมีพฤติกรรมทางการเมืองแบบหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า เช่น ถอนตัวออกจากการเมืองหรือการเรียกร้องทางการเมือง ความกลัวและความกระวนกระวายใจนี้เกี่ยวเนื่องกับการมองโลกว่าเต็มไปด้วยอุปสรรคและภัยอันตรายต่างๆ ที่จะมากระทบตัวเรา ดังนั้นพวกคนเหล่านี้จะมอง (หรือถูกทำให้มอง) ว่าสิ่งที่มีรอบตัวเขาเต็มไปด้วยภัยอันตราย

ความกลัวและกระวนกระวายใจนี้อาจเกิดในสังคมเผด็จการผ่านการโฆษณาชวนเชื่อและการ “ชี้แจงทำความเข้าใจ” กับประชาชน แต่ในสังคมประชาธิปไตย สิ่งที่เห็นได้เด่นชัดก็คือความกลัวและความกระวนกระวายใจมักจะเกิดจากแคมเปญและโฆษณาหาเสียง ที่ให้ข่าวฝ่ายตัวเองว่ามีคะแนนนำ หรือโฆษณาที่มีเนื้อหาโจมตีพรรคและผู้สมัครคู่แข่ง

งานวิจัยทางจิตวิทยาการเมืองพบว่าความกลัวและกระวนกระวายใจส่งผลทางการเมืองได้ดีในระยะสั้นๆ เช่น การสมัครเลือกตั้ง แต่ไม่ได้ส่งผลระยะยาว เช่น งานอาสาสมัคร และบริจาคเงิน

ความกระวนกระวายใจอาจส่งผลดีทางการเมือง เพราะผู้ที่กระวนกระวายใจทางการเมืองจะพยายามหาข้อมูลมาตอบสิ่งที่เขากระวนกระวายใจ คนเหล่านี้จะสนใจการเมืองเป็นพิเศษ แต่สิ่งนี้ไม่ได้หมายความว่าข้อมูลที่เขาค้นนั้นจะสะท้อนความเป็นจริง หรือในอีกด้านหนึ่ง ความกังวลและความกลัวนั้นจะต้องถูกปัดเป่าหรือคลายลงด้วยการยืนยันในแนวทางเดิมๆ ของฝ่ายตน เช่น พรรคที่เคยมีชื่อเสียงเรื่องการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ ก็ย่อมจะต้องออกมาหาเสียงในด้านเศรษฐกิจ ขณะที่พรรคที่เคยขายอุดมการณ์ก็จะต้องออกมายืนยันอุดมการณ์ของตน ในแง่นี้การเมืองแบบเดิมๆ ที่ต่างฝ่ายต่างเป็นเจ้าของประเด็น หรือมีจุดขายของตัวเองก็จะถูกเน้นย้ำต่อไป

3.ความหวังและความกระตือรือร้นสนใจ – ความหวังและความกระตือรือร้นนั้นเป็นสิ่งที่ต้องขายคู่กับคนที่จะนำเอาความหวังนั้นมา และหนทางที่ความหวังนั้นจะเกิดขึ้นได้ นอกจากนั้นความหวังนั้นก็เป็นเรื่องที่ให้ความสำคัญกับอนาคตมากกว่าความโกรธและความกลัว และความหวังกับความกลัวมักจะเป็นคู่แข่งกันในเรื่องของการมองการเมืองที่จะเกิดขึ้น

การเมืองที่ขายความหวังนั้นจะทำให้ผู้ที่สนับสนุนนั้นค้นข้อมูลมากขึ้นเช่นเดียวกับความกลัว แต่คนที่จะเลือกด้วยความหวังนั้นมักจะสนใจไปที่ภูมิหลังและประวัติของผู้สมัครที่อ้างว่าจะนำความเปลี่ยนแปลงมาให้ รวมทั้งจะนำไปสู่การติดตามทางการเมืองและเข้าร่วมหรือร่วมชมกิจกรรมของพรรคที่ตนสนับสนุน

นอกจากนี้ความหวังนั้นจะทำให้เรารู้สึกว่าอนาคตนั้นเป็นสิ่งที่เต็มไปด้วยความแน่นอนและความเป็นไปได้

เมื่อเราพิจารณาการเมืองในระดับของอารมณ์นั้น เราจะพบว่ามันไม่ใช่เรื่องเดียวกับนโยบาย อุดมการณ์ หรือการเลือกตั้งแนวยุทธศาสตร์เสียทีเดียว แต่มันจะสำคัญเมื่อนักรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งนั้นหยิบใช้มันอย่างมีชั้นเชิงและชำนาญ โดยเฉพาะในแคมเปญหาเสียง งานวิจัยในสหรัฐอเมริกาพบว่า โฆษณาทางการเมืองส่วนมากเป็นเรื่องของความกระตือรือร้นและความหวังทางการเมือง รองลงมาคือความภูมิใจในเกียรติภูมิของชาติและสังคม และตามมาติดๆ ด้วยโฆษณาทางการเมืองที่เน้นถึงเรื่องความโกรธและเกลียดชัง ตามมาด้วยความกลัว ส่วนอันดับที่รั้งท้ายนั้นคือเรื่องของความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

นี่คือความจริงทางการเมืองภายใต้ภาพอันสวยหรูของการเมืองเรื่องนโยบาย เรื่องอุดมการณ์ หรือเรื่องของเหตุผล

และหมายรวมถึงการที่โฆษณาในเรื่องนโยบาย อุดมการณ์ และเหตุผลนั้นก็แฝงไปด้วยการใช้อารมณ์เป็นตัวชี้นำพฤติกรรมและทัศนคติทางการเมืองทั้งสิ้น

ผมจึงอยากจะฟันธงว่าสีสันสำคัญของการเลือกตั้งในรอบนี้ ก็คือความสามารถของแต่ละฝ่ายที่จะอ่านอารมณ์หรือกระแสของสังคม หรือความต้องการของสังคมในแง่ของอารมณ์ความรู้สึก และนำมาใช้ให้ฝ่ายตัวเองได้ชัยชนะให้ได้มากที่สุดนั่นแหละครับ


หมายเหตุ: บางส่วนพัฒนาจาก K.Searles and T.Ridout. The Use and Consequences of Emotions in Politics. Emotionresearcher.com.

ไม่มีความคิดเห็น: