PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2561

จ่อประชุมพรรคประชาชาติพรุ่งนี้! เผย ‘วันนอร์’ มาวินนั่ง หน. ตั้งเป้ากวาด ส.ส. 40 เก้าอี้

จ่อประชุมพรรคประชาชาติพรุ่งนี้! เผย ‘วันนอร์’ มาวินนั่ง หน. ตั้งเป้ากวาด ส.ส. 40 เก้าอี้



จากเฟสบุ๊ก : ประชาชาติ - People's Nation

พรรคประชาชาติเตรียมประชุมนัดแรก 1 ก.ย. เลือก “วันนอร์” นั่งหัวหน้าพรรค “ทวี” เป็นเลขาฯ “ซูการ์โน” โวได้ ส.ส.ไม่ต่ำกว่า 40 ที่นั่ง
เมื่อวันที่ 31 ส.ค. นายซูการ์โน มะทา ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคประชาชาติ กล่าวว่า พรรคประชาชาติจะมีการประชุมเพื่อคัดเลือกหัวหน้าพรรคเลขาธิการพรรค กรรมการบริหารพรรค รวมถึงรับรองข้อบังคับพรรคอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 กันยายน ที่หอประชุมอันนาวาวีย์ ชั้น 4 อาคารวิทยอิสลามนานาชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ทั้งนี้ ได้มีการพูดคุยกันในส่วนของผู้ร่วมก่อตั้งพรรคประชาชาติ ว่าผู้ที่จะมาเป็นหัวหน้าพรรค คือนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีต รมว.มหาดไทย ส่วนเลขาธิการพรรค คือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขาธิการ ศอ.บต.แต่ก็คงต้องขึ้นกับมติของที่ประชุมอีกครั้งหนึ่ง สำหรับแนวนโยบายของพรรคประชาชาติ คือการทำงานเพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยเกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด ทางพรรคพร้อมจะเข้ามาแก้ไขปัญหาของประชาชนทุกพื้นที่ เพราะเราไม่ใช่พรรคเฉพาะถิ่นแต่เราเป็นพรรคทางเลือกใหม่ คาดว่าเราจะได้ ส.ส.ไม่ต่ำกว่า 40 ที่นั่ง

นายซูการ์โนกล่าวต่อว่า สำหรับจุดยืนทางการเมืองของพรรคประชาชาติโดยเฉพาะจะสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นนายกฯ อีกหรือไม่นั้น หาก พล.อ.ประยุทธ์ มาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย ก็อาจจะต้องมาพิจารณากันอีกครั้ง แต่หาก พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาเป็นนายกฯ คนนอก ก็คงไปด้วยกันไม่ได้ ทั้งนี้ เราพร้อมจับมือกับทุกพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีอุดมการณ์หรือแนวนโยบายใกล้เคียงกันโดยประชาชนจะต้องได้รับประโยชน์สูงสุด วันนี้เราต้องก้าวข้ามความขัดแย้งส่วนตัว รวมทั้งอคติต่างๆ ไปได้แล้ว

ห้าม หาเสียง ห้าม propaganda

ห้าม หาเสียง ห้าม propaganda
“บิ๊กป้อม” เตือน พรรคการเมือง ใช้โซเชียลมีเดีย ได้ รับฟังความเห็นประชาขน แต่ห้ามหาเสียง หรือ propaganda โฆษณาชวนเชื่อ รอ.พรป.สส.-สว. มีผลบังคับใช้ ก่อน
พล.อ.ประวิตร เตือนว่า เรื่องการหาเสียง จะทำผิดกฏหมาย ไม่ได้ เพราะการเคลื่อนไหวผ่านโซเชียลมีเดียเป็นเรื่องที่ผิดอยู่แล้ว
แต่หากการเคลื่อนไหวไม่กระทบกับพรบ.คอมพิวเตอร์ และคำสั่งคสช. ก็ไม่เป็นไร
ทั้งนี้ ทำได้แค่ เปิดรับฟังเสียงของประชาชน แต่ขออย่าโฆษณาชวนเชื่อ เพราะขณะนี้ยังไม่อนุญาตให้พรรคการเมืองเคลื่อนไหวทำกิจกรรม ดังนั้น ทุกพรรคจะต้องดำเนินการไปพร้อมๆ กัน
เพราะพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ เรื่อง การเลือกตั้ง ส.ส.และพรป.ส.ว.ยังไม่มีผลบังคับใช้
หา กฏหมายทั้ง 2 ฉบับ ออกมา มีผลบังคับใช้ก่อน

บอกไปเลย พร้อมเป็นนายกรัฐมนตรี : โดย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

บอกไปเลย พร้อมเป็นนายกรัฐมนตรี : โดย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์




ภารกิจสำคัญของรัฐบาลนี้เหลืออย่างเดียว คือจัดการเลือกตั้งให้โปร่งใส เที่ยงธรรม ไม่ให้เกิดการซื้อเสียงขายเสียง เดินสายชี้แจงกับประชาชนเลือกผู้แทนราษฎรที่เป็นคนดี ไม่ว่าจะเป็นคนเดิมหรือคนใหม่ สังกัดพรรคดี ไม่ว่าจะเป็นพรรคเดิมหรือพรรคใหม่
ส่วนการเดินสายบอกประชาชนจังหวัดนั้นจังหวัดนี้ว่า รัฐบาลนี้จะพัฒนาจังหวัดนั้นจังหวัดนี้ เป็นเรื่องปกติของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลนี้หรือรัฐบาลใหม่ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเผด็จการ หรือรัฐบาลประชาธิปไตย ภารกิจสำคัญคือการพัฒนาประเทศ ให้ประชาชนอยู่ดีกินดีอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด
เอ๊ะ… นี่ข้าพเจ้ากำลังว่าถึงเรื่องอะไรกันแน่
อ้อ… ว่าด้วยเรื่องของการเลือกตั้งที่ได้รับคำถามทุกวันว่า ตกลงจะมีการเลือกตั้งไหม
ตอบไปแล้วว่า มี
คณะกรรมการการเลือกตั้งเขาบอกแล้วว่าวันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ บอกไว้แล้วว่า การเลือกตั้งมีปีหน้า 2562 หากบ้านเมืองสงบ
ความสงบของบ้านเมืองขึ้นกับหลายปัจจัย มีหน่วยงานรับผิดชอบหลายฝ่าย ตั้งแต่คณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติที่ยังดำรงอยู่ แม้ประเทศมีรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นประชาธิปไตยตามมาตรา 2 ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ส่วนหน่วยงานอื่น อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ตรวจตรารักษาความสงบ จับกุม และปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมาย มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการดูแลคุ้มครองให้เกิดความสงบสุขแก่พลเมืองของประเทศ
กระทรวงกลาโหม มีหน้าที่สำคัญคือป้องกันราชอาณาจักร ที่รู้กันอย่างกว้างขวางว่า “ประเทศเป็นบ้าน ทหารเป็นรั้ว” และอีกหลายหน่วยงาน
ขณะที่การเลือกตั้งมีหน่วยงานเดียวที่รับผิดชอบ คือคณะกรรมการการเลือกตั้ง

วันนี้มีทั้งประธานกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง 4 คน รวมแล้ว 5 คน ไม่ครบ 7 คน แต่ผู้ดูแลเรื่องกฎหมายแจ้งแล้วว่าปฏิบัติหน้าที่ได้
ทั้งยังมีเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง และเจ้าหน้าที่จัดการเลือกตั้งครบถ้วนแล้ว
รอเพียงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐ ธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสมาชิก ผ่านการลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา
คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงประชุมและกำหนดการเลือกตั้งได้ตามหน้าที่ คือประกาศตั้งไว้เป็นตุ๊กตา ไม่ใช่เป็นไปตามทฤษฎี
เพราะตุ๊กตาตั้งไว้ตามจำนวนวันที่ปรากฏในกฎหมาย เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ทฤษฎีคือนิยามตามระบอบประชาธิป ไตยที่เป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่ปกครองประเทศมาเกินกว่ากำหนดตามที่มีในรัฐธรรมนูญ คือวาระละ 4 ปี สมควรให้ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยเลือกรัฐบาลเองได้แล้ว
เถอะ แม้จะเกินไปบ้างเดือนสองเดือน ปีสองปี ไม่ว่ากัน
ทันทีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แจ้งว่า กำหนดให้พี่น้องคนไทยได้เลือกรัฐบาลเอง ไม่ว่ารัฐบาลนั้นจะมีคนชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ยินดีให้เป็นตัวเลือกหนึ่ง
ถ้ารัฐบาลต่อไป สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีจะตกลงตามนั้น เพราะมาจากเสียงซึ่งประชาชนได้เลือกเป็นตัวแทน
เอาอย่างนี้นะครับท่านหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

เสียงสะท้อนนักวิชาการ จากไพรมารีฯสู่กก.สรรหา

เสียงสะท้อนนักวิชาการ จากไพรมารีฯสู่กก.สรรหา



หมายเหตุ ความเห็นนักวิชาการกรณีที่จะปรับไพรมารีโหวตตามข้อเสนอเดิมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ให้ทุกพรรคมีคณะกรรมการสรรหาผู้สมัคร ส.ส. 11 คน มาจากตัวแทนกรรมการบริหารพรรค 7 คน และสมาชิกพรรค 4 คน เพื่อไปคุยกับสมาชิกแต่ละเขต ก่อนรวบรวมรายชื่อมาจัดทำเป็นบัญชี เพื่อเสนอให้คณะกรรมการบริหารพรรคพิจารณาคัดเลือกลงชิง ส.ส.




ยอดพล เทพสิทธา
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ปัญหาตอนนี้อยู่ที่การแบ่งเขตการเลือกตั้ง ส่วนไพรมารีโหวตถ้าโหวตกันเองในพรรคก็ถือว่า รับได้ระดับหนึ่ง แต่ไพรมารีโหวตมีหลายโมเดล บางที่ก็ให้ประชาชนเข้ามาร่วมโหวต แต่บางที่ก็โหวตกันเองเป็นการสู้กันระหว่างกองเชียร์ในพรรค เช่น แบบของอเมริกา ถึงที่สุดถ้าจะเอาระบบไพรมารีโหวตให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกผู้แทนพรรค แต่ถามจริงๆ ว่าเมื่อการแบ่งเขตเลือกตั้งยังไม่ออก ระดับปาร์ตี้ลิสต์ก็ยังไม่ได้จัด แล้วระบบจะยึดอะไรเป็นหลัก
ส่วนทางเลือกอื่นนอกเหนือจากข้อเสนอไพรมารีของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ผมคิดว่าไม่ได้อยู่ที่วิธีการว่าถ้าเปลี่ยนไปทำไพรมารีระดับภาคแล้วจะดีขึ้น ถ้าแบ่งย่อยการเลือกตั้งไพรมารีให้มากขึ้นอาจจะดีขึ้นก็ได้ แต่สุดท้ายยังต้องไปทำไพรมารีที่พรรคการเมือง แบบนี้ผมว่าไม่มีประโยชน์ เพราะจะเป็นระบบไหนแต่ถ้าคนไม่สามารถเข้าไปเลือกได้ก็ไม่มีประโยชน์ อย่างการบังคับให้คนไปเลือกที่พรรคการเมือง จึงอยู่ที่วิธีการมากกว่า
เมื่อถามว่ารูปแบบที่จะออกมานี้เป็นการปฏิรูปการเมืองแบบที่ คสช.ตั้งใจไว้หรือไม่ ผมว่าไม่ใช่การปฏิรูป สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ก่อให้เกิดอะไรใหม่ขึ้นมาเลย แค่สร้างความยุ่งยาก ภายใต้การอ้างว่าเป็นการสร้างความมีส่วนร่วมของประชาชน

ผศ.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ไพรมารีโหวตคือ การปล่อยให้ประชาชนสามารถตัดสินใจด้วยตัวเองว่า จะเลือกใครมาเป็นตัวแทนผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตนั้นๆ แต่ถ้าตีความตามรัฐธรรมนูญที่ระบุให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง การมีคณะกรรมการสรรหาลงไปคุยในแต่ละพื้นที่แล้วนำรายชื่อมา แค่นี้ก็ถือว่ามีส่วนร่วม
แต่ถ้ายังใช้คำว่าการเลือกตั้งขั้นต้น (Primary Election) ก็ไม่น่าจะใช่ เพราะการเลือกตั้งขั้นต้นต้องมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงๆ คนได้ไปตัดสินจริงๆ ว่าจะเลือกใคร ดังนั้นการสรรหานี้จึงเรียกได้เพียงว่า “กระบวนการคัดสรรผู้สมัครเบื้องต้น” อย่าเรียกว่าเป็นไพรมารีโหวต
จริงๆ แล้วกระบวนการแบบนี้ไม่ได้ต่างจากกระบวนการคัดเลือกผู้สมัครในวิธีปฏิบัติของพรรคการเมืองก่อนหน้านี้มากสักเท่าไร คือมีคณะกรรมการชุดหนึ่งเอารายชื่อมาพิจารณาเท่านั้น
การมีคณะกรรมการสรรหาลงไปรับฟังสมาชิกแต่ละพื้นที่ แล้วจะมองว่าเป็นการมีส่วนร่วมหรือไม่นั้น ถ้าตีความหมายอย่างกว้างว่า การมีส่วนร่วมคือไปรับฟังว่าอยากได้คนที่มีคุณสมบัติแบบไหน อย่างนี้ก็ถือว่ามีส่วนร่วม แต่ถ้าตีความหมายแคบลงว่าการมีส่วนร่วมคือ การได้ตัดสินใจด้วยตนเอง กระบวนการเช่นนี้ก็จะไม่เข้าตามความหมายนั้น
คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครมี 11 คน มาจากตัวแทนกรรมการบริหารพรรค 7 คน และสมาชิกพรรค 4 คน คำถามคือ ถ้าเราโหวตแบบประชาธิปไตย 7 คนส่วนกลาง ก็ชนะ 4 เสียงอยู่ดี ถ้าส่วนกลางรวมเสียงกันได้ แม้จะมีการเข้าไปรับฟัง แต่การตัดสินใจยังอยู่ที่คณะกรรมการชุดนี้อยู่ดี ไม่ได้อยู่ที่ประชาชนเป็นคนเลือก
กรณีทางเลือกที่จะทำไพรมารีโหวตระดับภาคก็ไม่ได้เห็นด้วย เพราะไพรมารีโหวตการตัดสินใจอยู่ที่ประชาชนในเขตนั้น การมารวมเป็นระดับภาคก็เท่ากับว่าลดความเข้มข้นในการมีส่วนร่วมลง ควรต้องเป็นการตัดสินใจที่เขต หรืออย่างน้อยก็ในจังหวัดนั้น แต่ระดับภาคคิดว่าความเข้มข้นในการมีส่วนร่วมจะน้อย
การใช้วิธีการเช่นนี้แตกต่างจากเดิมบ้าง แต่ในท้ายที่สุด ภาพใหญ่ของความคาดหวังในการปฏิรูปหรือการเมืองแบบใหม่ก็อาจไม่ได้เป็นผลแบบนั้น ที่สำคัญคือการทำแบบนี้พรรคการเมืองที่เกิดใหม่อาจยังไม่มีความพร้อมเท่าพรรคการเมืองเก่าหรือพรรคที่เกิดจากการรวมตัวของนักการเมืองหน้าเก่า



รศ.ยุทธพร อิสรชัย
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

การนำไพรมารีโหวตในฉบับของ กรธ.กลับมาใช้นั้น มองว่าการมีคณะกรรมการของพรรคการเมืองลงไปรับฟังความคิดเห็นตามแนวคิดที่จะเอามาใช้ อาจจะยังไม่เรียกว่าเป็นไพรมารีโหวตได้เท่าไร เพราะว่ากระบวนการต่างๆ ไม่ใช่หลักการของการทำไพรมารีโหวต เพราะว่าไพรมารีโหวตหรือการเลือกตั้งขั้นต้นจะต้องเป็นลักษณะที่ให้ประชาชนในพื้นที่ไปลงคะแนน จะเป็นไพรมารีโหวตในระบบเปิด หมายถึงว่าให้ประชาชน ในเขตเลือกตั้งนั้นมีสิทธิที่จะไปลงได้หมด หรือจะเป็นไพรมารีโหวตในรูปแบบปิดคือ จำกัดเฉพาะสมาชิกพรรคก็แล้วแต่ แต่ทั้งหมดนี้ต้องเป็นการตัดสินใจจากล่างขึ้นสู่บน ต้องผ่านกระบวนการไปลงคะแนนของคนในพื้นที่
การลงไปรับฟังความเห็นเช่นนี้คงไม่ใช่ลักษณะของไพรมารีโหวต แต่เป็นในรูปแบบของการรับฟังความคิดเห็นมากกว่า
ส่วนในแง่ของการขัดกับรัฐธรรมนูญ คิดว่าอาจจะไม่ขัดเพราะว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 เขียนไว้อย่างกว้างๆ ว่าการที่พรรคการเมืองจะส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งต้องรับฟังความคิดเห็นประชาชน คำนึงการมีความเสมอภาค ทั้งในเรื่องเพศสภาพชายหญิงทั้งในเรื่องภูมิภาคต่างๆ เหล่านี้ให้มีความสมดุลกัน แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดวิธีการไว้ เพราะฉะนั้นจะใช้วิธีการอย่างไรก็ได้ แต่บังเอิญใน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับปัจจุบันได้กำหนดเอาไว้ว่าให้ใช้ไพรมารีโหวตในระบบปิด ซึ่งตรงนี้อาจจะถูกแก้ไขด้วย มาตรา 44 ที่จะออกมาหลังจากนี้ ดังนั้นถ้าแก้ไขแล้วผมมองว่าโอกาสที่จะขัดรัฐธรรมนูญคงไม่มีเพราะไม่ได้กำหนดวิธีการไว้ แต่ในแง่ทางการเมืองคิดว่าวิธีการดังกล่าวยังไม่ใช่ไพรมารีโหวตจริงๆ เป็นเพียงแค่การรับฟังความเห็นเท่านั้น
การให้คณะกรรมการบริหารพรรคเลือกโดยตรงแบบเดิมนั้น ก็คงไม่ต่างกันมากนัก เพราะว่ากรรมการสรรหาของพรรคก็จะลงพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อไปรับฟังความคิดเห็นและนำรายชื่อของผู้ที่เหมาะสมจะลงสมัครในพื้นที่ต่างๆ มาเสนอให้กรรมการบริหารพรรคเป็นผู้ตัดสินใจในขั้นสุดท้าย เพราะฉะนั้นการตัดสินใจก็ยังอยู่กับกรรมการบริหารพรรคเหมือนเดิม เพียงแต่ว่าอาจจะมีการรับฟังความคิดเห็นเข้ามาประกอบเท่านั้นเอง และถ้าผนวกกับระยะเวลาในการลงไปรับฟังความคิดเห็น ซึ่งเท่าที่ติดตามข่าวดูเห็นว่าอยู่ที่ประมาณ 15-30 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่สั้น เราจะเห็นว่าการลงไปรับฟังความคิดเห็นมีโอกาสสูงมากที่จะเป็นเพียงแค่พิธีกรรม เหมือนกับไปฟังเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด พรรคการเมืองก็อาจจะแบ่งหน้าที่ 11 คน กระจายกันไป ลงไปเช่าห้องโรงแรมแล้วก็ยกมือกัน 2-3 ที แล้วก็บอกว่าไปรับฟังความเห็นแล้ว เกรงว่าจะออกมาในรูปแบบนี้ ซึ่งถ้าออกมาในรูปแบบนี้สุดท้ายคนตัดสินใจจริงๆ ก็คือกรรมการบริหารพรรคหรือแกนนำพรรคไม่กี่คน ซึ่งก็มีรายชื่ออยู่ในใจหมดแล้ว เพราะฉะนั้นก็คงไม่ได้ต่างจากเดิมสักเท่าไหร่นัก
การตัดสินใจของกรรมการบริหารพรรคยังมีสูงก็คงไม่ได้แตกต่างจากในอดีตมากนัก เพราะสุดท้ายกรรมการบริหารพรรคก็เป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่าจะส่งใครลงจากรายชื่อที่กรรมการสรรหาเสนอมา เพียงแต่เพิ่มกระบวนการรับฟังความคิดเห็น
ผมเชื่อว่าสุดท้ายก็คงจะใกล้เคียงแบบเดิม ถ้าจะคลายล็อกให้การเลือกตั้งเดินหน้าได้ก็อาจจะจำเป็นที่ต้องใช้วิธีนี้ แต่อย่างไรก็ตามในการเลือกตั้งครั้งต่อไป การมีไพรมารีโหวตเป็นสิ่งที่จะทำให้พรรคการเมืองมีความเป็นธรรมทางการเมืองและเป็นพรรคที่มีฐานมาจากมวลชน คนรู้สึกเป็นเจ้าของพรรค คนรู้สึกว่าได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ซึ่งจะเป็นการทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง แต่ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ก็คงจะทำได้ยาก พรรคการเมืองต่างๆ เขาก็สะท้อนปัญหามาว่าเคยทำไพรมารีโหวตแล้วก็เกิดปัญหา ซึ่งในพื้นที่อาจจะมีการล็อกโหวตต่างๆ ซึ่งในบางพื้นที่มีสมาชิกพรรคที่ไม่ถึงเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นประเด็นนี้ก็อาจจะต้องมีการขยับเป็นบทเฉพาะกาลต่างๆ ว่าให้ไปใช้ และมีการปรับปรุงแก้ไขในเชิงเทคนิคในอนาคตให้สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ส่วนทางเลือกอื่น มองว่าถ้าทำไพรมารีระดับภาคก็เป็นทางเลือกที่่น่าสนใจ เพราะอย่างน้อยประชาชนได้มีสิทธิร่วมลงคะแนนในการเลือก แต่ก็ยังมีจุดอ่อนอยู่ เพราะว่าพอทำเป็นระดับภาคเสียงทั้งหมดต้องรวมกัน ในบางพื้นที่ก็ไม่สามารถจะไปรู้จักคนข้ามจังหวัดหรือมีข้อมูลภูมิหลังที่ดีพอ แต่ก็คงดีกว่าการรับฟังความเห็น ซึ่งในเชิงเทคนิคผมก็ว่ามีปัญหาเหมือนกัน เพราะฉะนั้นในครั้งนี้ก็คงจะเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เท่านั้นเอง แต่คงไม่มีวิธีการไหนที่จะบอกว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับการที่จะเข้าสู่การเลือกตั้งครั้งนี้
หากถามว่านี่เป็นรูปแบบการเมืองที่ คสช.คาดหวังไว้หรือไม่ การบอกว่า คสช.มีความเกี่ยวข้องหรือไม่ที่ทำให้สถานการณ์เป็นแบบนี้ ผมว่าคงไม่มีอะไรบ่งชี้ได้ขนาดนั้นว่า คสช.จะเกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง เพราะว่าเรื่องไพรมารีโหวตนั้นก็ยังมีความเห็นที่แตกต่างหลากหลายเยอะ ทั้งการสนับสนุน การบอกว่าทำไพรมารีโหวตแบบเปิดดีกว่า หรือเสียงคัดค้านจากพรรคการเมืองที่เคยทำไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ แล้วพบปัญหาก็มี จะเห็นได้ว่าความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ในสังคมค่อนข้างที่จะหลากหลาย
ดังนั้นผมคิดว่าคงไม่ได้เป็นสิ่งที่ คสช.อยากจะตั้งใจให้ออกมาในรูปแบบนี้แต่ผมคิดว่าสถานการณ์ทางการเมืองทำให้ออกมาในรูปแบบนี้มากกว่า จากบรรดาข้อเสนอที่หลากหลายและ สนช.ก็ไปหยิบจับตรงนี้มาใส่ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง แต่พอถึงภาคปฏิบัติแล้วไม่สามารถจะทำได้อย่างที่กฎหมายกำหนด

บทนำ : ข้อจำกัดเลือกตั้ง

บทนำ : ข้อจำกัดเลือกตั้ง



ที่ประชุม คสช.เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม เห็นชอบผ่อนคลายทางการเมือง ดังที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ชี้แจงว่า มติ คสช. ให้คลายล็อกรวม 6 ข้อใหญ่ หรือแยกย่อยได้ 9 เรื่อง รวมถึงการแบ่งเขตเลือกตั้ง ในเรื่องการทำไพรมารีโหวต จะใช้วิธีการที่ใกล้เคียงที่สุด แต่ต้องรอให้ คสช.รับฟังความเห็นเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย คาดว่าจะเป็นแนวทางที่ให้พรรคการเมืองตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 11 คนแล้วรับฟังความเห็นของสมาชิกพรรค ก่อนเสนอชื่อผู้ที่จะได้รับคัดเลือกเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรค ก่อนให้กรรมการบริหารพรรคพิจารณา
นายวิษณุเผยด้วยว่า การคลายล็อกจะใช้คำสั่ง ม.44 หลังจาก พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว. ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว และทุกอย่างจะดำเนินการได้ต่อเมื่อมีคำสั่ง ม.44 คสช.ต้องการให้เกิดประโยชน์ต่อพรรคการเมืองอย่างเท่าเทียม ส่วนการหาเสียงจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งแล้วเท่านั้น ซึ่งเป็นหลักการที่ใช้มาโดยตลอด ตั้งแต่อดีตเป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นยุคนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือยุค น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย ไม่เกี่ยวกับว่ามีล็อกการเมืองหรือไม่ อย่างไรก็ตาม พ.ร.ฎ.เลือกตั้งจะออกได้ก็ต่อเมื่อเข้าสู่โหมด 150 วัน หลังจากกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับบังคับใช้

ที่น่าติดตามต่อไป ได้แก่การที่นายวิษณุเผยว่า จะแก้ไขคำสั่งให้พรรคการเมืองติดต่อกับสมาชิกพรรคได้ทางโซเชียลมีเดีย เช่น ไลน์ แต่ถ้าไม่ใช่สมาชิกนั่นคือการหาเสียง เช่นเดียวกับเฟซบุ๊กที่จะไม่สามารถเปิดเป็นสาธารณะได้ เพราะจะเข้าสู่วิธีการหาเสียง ซึ่งอาจจะทำให้เข้าใจได้ว่า คสช.เตรียมห้ามพรรคการเมืองใช้โซเชียลมีเดียในการหาเสียง ซึ่งเท่ากับสร้างข้อจำกัดหรือเพิ่มล็อกทางการเมืองขึ้นมาอีก และยังขัดแย้งต่อสภาพความจริง เพราะปัจจุบันโซเชียลมีเดีย เป็นช่องทางที่ประชาชนนิยม เข้าถึงได้สะดวก และประหยัด ทำให้พรรคไม่ต้องทุ่มทุนในการหาเสียง การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ควรเป็นการเลือกตั้งที่โปร่งใส เปิดกว้างให้พรรคการเมืองกับประชาชนสื่อสารกันได้ ข้อจำกัดดังกล่าว จึงทำให้ประชาชนเสียประโยชน์และเสียโอกาสในการเข้าถึงข่าวสารข้อมูล

“ตั้ง อาชีวะ”โวยแดง

นายเอกภพ เหลือรา หรือ “ตั้ง อาชีวะ” หรือ “Steven Brentwood” แดงฮาร์ดคอร์ ผู้ต้องหาคดีหมิ่นเบื้องสูง ซึ่งขณะนี้ได้ลี้ภัยไปอาศัยอยู่ที่ Highbury, Palmerston North นิวซีแลนด์ ได้ไลฟ์สดผ่านเฟชบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา พร้อมกับน.ส.ณัฏฐริกา วรธันยวิชญ์ ผู้ต้องหาคดีหมิ่นเบื้องสูง ซึ่งปัจจุบันได้ลี้ภัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยทั้งคู่ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในประเด็น”ชีวิตคนลี้ภัยกับภัยคนรอบข้าง”
.
โดยนายเอกภพ ได้เล่าถึงการใช้ชีวิตหลังจากหลบหนีคดีไปอยู่ที่กัมพูชาพร้อมแฟนสาว โดยไปอาศัยอยู่กับคนเสื้อแดงลี้ภัย เป็นนักจัดรายการวิทยุ ไม่ต้องบอกว่าเป็นใคร ทุกคนรู้จักดี เพื่อรักษาหน้าให้เขาได้เคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไปต่อ ซึ่งแรกๆก็รักกันดี แต่พออยู่ไปเรื่อยๆเริ่มมีปัญหาเรื่องเงินๆทองๆเพราะตนไม่ให้เงิน จากมิตรก็กลายเป็นศัตรูเพราะตนไม่ใช่ประเภทผู้ลี้ภัยที่คอยแบมือขอเงินแม้ว มันทุเรศ
.
นายเอกภพ ยังกล่าวถึงตอนไปลี้ภัยในนิวซีแลนด์ใหม่ๆว่า มีคนเสื้อแดงเข้ามาตีสนิท อ้างว่าเป็นคนช่วยคนไทยในเรื่องกฎหมายที่นี่มาเยอะ จากนั้นก็ไปจัดงานปาร์ตี้เพื่อหาเงินบริจาค อ้างว่าเป็นคนดูแลตน แต่ตนรู้ทันจึงไม่ไม่งาน ซึ่งการที่ออกมาพูดเรื่องนี้เพราะเห็นว่าเป็นด้านมืดที่เกิดขึ้น เพราะลำพังต้องเจอปัญหาจากรัฐบาลไทยก็หนักแล้ว ยังต้องมาเจอคนรอบข้างแบบนี้อีก หลายคนก็เจอมาแบบตน แต่ไม่กล้าพูดเท่านั้นเอง แต่ตนกล้าพูด ไม่ได้ต้องการดิสเครดิตใคร แค่อยากให้หยุดการกระทำแบบนี้
.
“คนพวกนี้เยอะมาก และน่ารำคาญมาก ทำไมผมจึงกล้าพูด ไม่กลัวพวกเดียวโกรธหรือ ผมไม่กลัวเพราะผมตัดคำว่าบุญคุณ กับเกรงใจออกไปแล้ว แม้แต่พ่อแม่ญาติพี่น้อง ผมก็ผลักเป็นคนนอก เพราะไม่รู้ว่าจะนำภัยมาให้กับเราหรือไม่ ถ้ามีการโทรฯไปหา หรือต้องทำตามที่เขาบอก ถ้าถูกดัดฟัง จะทำอย่างไร ตายลูกเดียว บางทีความเห็แก่ตัวก็ทำให้เรามีอนาคตที่ยืนยาวได้”นายเอกภพ กล่าว
.
ขณะที่น.ส.ณัฐริกา วรชัยธันวิชย์ กล่าวว่า ตนก็โดนเหมือนกัน และอยากระบายให้คนรับรู้ว่าหลังจากลี้ภัยมาที่อเมริกาใหม่ๆ ต้องมาอยู่กับเพื่อนคนหนึ่ง ตอนแรกอยากไปอยู่ที่แคนาดาเพราะทราบว่ามีคนไทยลี้ภัยที่นั่นคนหนึ่ง จึงให้เพื่อนคนที่อยู่ในอเมริกาติดต่อให้เพราะเขาอ้างว่ารู้จัก แต่เขามาบอกว่าติดต่อไม่ได้เพราะคนๆนั้นชอบเก็บตัว จนต่อมาตนมารู้ภายหลังว่าเขาไม่ได้ติดต่อให้เลย
.
“มีคนมาเล่าให้ฟังว่าเขาไม่ได้ติดต่อคนไทยที่แคนาดา เพราะต้องการให้เก็บตัวเราไว้กับเขาเพื่อขอรับเงินบริจาคช่วยเหลือ โดยเอาชื่อของเราไปแอบอ้าง โทรฯไปหาคนที่รู้จัก มีการลงรูปและวิดีโอเพื่ออ้างว่าเราอยู่กับเขา ต่อมาเราแอบได้ยินขอเงินเป็นแสนบาท จึงโทรฯไปบอกคนนั้นว่าไม่ต้องให้เงิน ซึ่งตลอดเวลาที่อยู่ด้วยถูกเอาเปรียบมาก มายืมเงินตลอดแม้แต่ค่ารถเมล์ จนเราไม่ไหว ไม่ให้เงิน ก็เลยมีปัญหากัน”น.ส. น.ส.ณัฐริกา ระบุ
.
พร้อมระบุในช่วงท้ายว่า ก่อนหน้านี้ก็รู้มาว่าผู้ลี้ภัยในอเมริกาก็ถูกเอาเปรียบแบบนี้ ก็หนีไปเลย คาดว่าโดนเรื่องการหาผลประโยชน์ จึงอยากขอความเข้าใจอย่ามาหากินกับพวกเราแบบนี้เลย เพราะกว่าจะหาเงินได้เพื่อเอาชีวิตให้รอดก็ไม่ง่ายแล้ว อย่ามาหากินกับเราอีกเลย มันเหนื่อยมาก ไหนจะต้องระวังฝ่ายตรงข้าม แล้วยังมาเจอพวกเดียวกันทำแบบนี้อีก
.
ที่มา : แดงลากไส้แดง! แฉสนั่นโซเชียล‘ดูดเลือด’กันเอง หากินกับผู้ลี้ภัย
http://www.naewna.com/politic/361228
.
The METTAD

ภารกิจพิชิตฝัน ผลิตคนทันยุค 4.0

ภารกิจพิชิตฝัน ผลิตคนทันยุค 4.0



ภาคอุตสาหกรรมโลกกำลังมุ่งไปสู่ยุค 4.0 มีระบบ “ออโตเมชัน” เชื่อมโยงคำสั่งผ่าน “ดิจิทัล” เป็นหัวใจสำคัญ เป้าหมายขับเคลื่อน “การผลิต” เต็มรูปแบบ...ยกระดับสู่การเป็น “โรงงานอัจฉริยะ”
ทว่า...กลับสวนทางภาคอุตสาหกรรมไทยในวันนี้ที่ร้อยละ 75 โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลาง...เอสเอ็มอี ยังคงใช้เทคโนโลยีในระดับที่ต่ำกว่า 2.5 ด้วยข้อจำกัดด้านเงินทุนและขาดแคลนช่างเทคนิคที่มีประสิทธิภาพ การเร่งผลิต...พัฒนาคุณภาพกำลังคนอาชีวะในช่วง 5-10 ปีข้างหน้านี้จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วน
จากการที่รัฐบาลได้กำหนดให้มีการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ใน 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ให้มีการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เมื่อช่วงต้นปี 2560 และต่อมามีการประกาศ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2561
“ปฏิรูปการศึกษา”...พัฒนาคนให้ทันยุค 4.0 ยิ่งต้องเดินหน้าเต็มกำลัง กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หัวเรือใหญ่ต้องเร่งขับเคลื่อนการบูรณาการการศึกษาภาคตะวันออก และการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่อีอีซีกำหนดแผนงาน...จัดหลักสูตรที่สอดคล้องกันทุกระดับการศึกษา ทั้งในระดับพื้นที่ พร้อมเปิดกว้างความร่วมมือพัฒนากับมิตรประเทศชั้นนำระดับโลก เพื่อสร้างบุคลากรรองรับนวัตกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง
พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศธ. ผู้รับผิดชอบดำเนินการจัดการศึกษาในพื้นที่ EEC มีคำสั่งแต่งตั้ง “คณะกรรมการขับเคลื่อนการบูรณาการการศึกษาภาคตะวันออกและการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ของกระทรวงศึกษาธิการ” เพื่อรับผิดชอบจัดทำแผนงานบูรณาการ
เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา ได้มีการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ เป็นครั้งที่ 2 ที่ชลบุรี พุ่งเป้าไปที่แนวทางการพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัย เทคโนโลยี ในการผลิตบุคลากร...งานวิจัยให้ตรงความต้องการของอุตสาหกรรม เพราะแนวทางดังกล่าวเป็น 1 ใน 6 ด้าน ตามแผนพัฒนา เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.)
“เพื่อให้งานเกิดความต่อเนื่องจากทุกกระบวนการ ได้มอบให้ศึกษาธิการภาค 3 กับภาค 9 รับผิดชอบจัดทำและขับเคลื่อน ซึ่งจะกำกับติดตามการขับเคลื่อนแผนทั้ง 8 จังหวัดในภาคตะวันออก คือ นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด”
ศึกษาธิการระดับพื้นที่จะเน้นไปที่การเพิ่ม “โอกาส” ทางการศึกษาให้ผู้เรียนมี “ทางเลือก” ที่หลากหลาย โดยเฉพาะ “สายอาชีพ” ที่มีการพัฒนาหลักสูตรต่อเนื่องเชื่อมโยงการศึกษาขั้นพื้นฐาน กับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา กว่า 35 หลักสูตร โดยหวังให้นักเรียนขั้นพื้นฐานมีทักษะ เจตคติที่ดีต่อการศึกษาสายอาชีพ
ขณะที่นักศึกษาอาชีวะสามารถเข้าสู่เส้นทางอุดมศึกษา และมีการจัดการเรียนการสอนสอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรม Thailand 4.0 เช่น หลักสูตร ปวส.ต่อเนื่อง 5 ปี...ตามมาตรฐาน KOSEN โดยวิทยาลัย อาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี), หลักสูตรวิศวกรรมระบบอัจฉริยะ (Smart System Engineering) วิศวกรรมเมืองอัจฉริยะ (Smart Urban Engineering) โดย มศว องครักษ์ ฯลฯ
งาน “เปิดบ้านการศึกษาในเขต EEC” ที่ผ่านมาเป็นอีกเวทีเชื่อมโยงการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา อุดมศึกษา รวมถึง กศน. เป็นการสร้างความรับรู้ให้สังคมวงกว้าง เป็นโอกาสที่สถาบันการศึกษาทุกฝ่ายนำผลงาน...นำนักเรียนมาแสดงฝีมือ ทำให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกันทั้งครู นักเรียน ผู้ปกครอง สถานศึกษา ชุมชน
นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับต่างประเทศส่งเสริมด้านการศึกษาในพื้นที่อีอีซี เช่น พัฒนาหลักสูตรอาชีวศึกษานานาชาติ รวมทั้งความร่วมมือกับญี่ปุ่นในการจัดตั้งสถาบัน Thai-KOSEN และส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศเข้ามาร่วมจัดการศึกษา ตามนโยบายเปิดรับความรู้ทันสมัยจากต่างประเทศ
เบนเข็มไปดูการปฏิรูปการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กันบ้าง...นับเป็นเวลากว่า 8 เดือนที่กระทรวงศึกษาธิการ โดยศูนย์ประสาน งานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือกระทรวงศึกษาธิการ (ส่วนหน้า) ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานการศึกษาทุกสังกัด เพื่อแก้ปัญหาประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา
เช่นเดียวกับที่ต้องทำงานเชิงรุกสร้างการรับรู้ไปสู่ “ผู้ปกครอง” และ “ชุมชน” ทั่วพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง ติดตามเด็กตกหล่นคืนสู่ระบบการศึกษา...
“เด็ก” ทุกคนจะต้องกลับเข้าสู่ระบบ “การศึกษา” หรือ...ให้มากที่สุด
โจทย์ที่ท้าทายคือตัวเลขเด็กกว่า 2.7 หมื่นคนที่จะกลับเข้ามาสู่ “ระบบการศึกษา” คณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ลงพื้นที่สำรวจข้อมูล เพื่อให้เห็นสถานภาพปัจจุบัน ตรวจสอบข้อมูลกลุ่มเป้าหมายครบถ้วนแล้ว เป็นหน้าที่ของแต่ละพื้นที่จะจัดหาที่เรียนให้อย่างเหมาะสมกับสภาพของผู้เรียนแต่ละคน
พล.อ.สุรเชษฐ์ บอกว่า การแก้ปัญหาประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นหนึ่งในงานที่รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีคุณภาพ พร้อมสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึง
“การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมอันดีงามตามประเพณี ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนเท่าทันต่อวิทยาการ...เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป”
ภารกิจในครั้งนี้ คือ การให้ความช่วยเหลือประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้รับการศึกษาครบทุกคน ซึ่งเป็นการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ม.6 หรือ ปวช. ที่มีระยะเวลาการศึกษา 15 ปี
อิชิโร มิยาซาวา ผู้เชี่ยวชาญด้านการรู้หนังสือและการเรียนรู้ตลอดชีวิต องค์การยูเนสโก เสริมว่า ปัจจุบันจำนวนประชากรตกหล่นทางการศึกษาในภูมิภาคอาเซียน มีมากถึง 4.1 ล้านคน ซึ่งเป็นเพียงการประมาณการของรัฐบาลเท่านั้น เชื่อว่า...หากสำรวจอย่างจริงจังคงมีจำนวนสูงกว่านี้...
มีความจำเป็นที่ทุกประเทศต้องมีความร่วมมือในการให้การศึกษาแก่เด็กตกหล่นร่วมกัน
ความพยายามแก้ปัญหาเด็กตกหล่นของไทยตลอดช่วงที่ผ่านมา สอดคล้องและเป็นไปตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการสร้างเสริมความเข้มแข็งด้านการศึกษาให้กับเด็ก...เยาวชนตกหล่น ควรที่จะเผยแพร่ผลความสำเร็จให้ทั่วโลกรับรู้ และหวังว่า...จะมีการขยายผลการดำเนินงานไปยังจังหวัดอื่นทั่วประเทศไทย
ความสำเร็จที่เกิดจากความพยายามครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น สิ่งที่สำคัญกว่าต่อจากนี้ คือการช่วยให้เด็กคงอยู่ในระบบการศึกษาจนสำเร็จการศึกษาได้ ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันสนับสนุนเด็ก
สิ่งสำคัญอยู่ที่ “ครู”...ที่ได้รับความไว้วางใจและเชื่อถือจากทุกภาคส่วน หากจะมองย้อนกลับไปในอดีตกว่า 40 ปี เมื่อเราอยู่ในโรงเรียน หากไม่ชอบครู...เราก็จะไม่มีความสนใจที่จะเรียน ดังนั้น ความไว้วางใจต่อครูจึงเป็นสิ่งสำคัญ อาทิ ครู กศน.ที่เข้าถึงประชาชนทุกตำบลทุกหมู่บ้าน เพราะได้รับความไว้วางใจจากประชาชน
ส่วนครูของ สพฐ. และหน่วยงานด้านการศึกษา ก็มีความเข้าใจดีถึงบทบาทในการช่วยผลักดันเด็ก ทำให้เด็กมีกำลังใจที่จะเรียนในระบบจนจบการศึกษาได้
“ปฏิรูปการศึกษา”...ต้องดูกันยาวๆ ผลปรากฏกับ “ครู” และ “เด็ก” จะค่อยๆเกิดชัดเจนขึ้น.

‘สามก๊กใหญ่’ พันกันหมด

‘สามก๊กใหญ่’ พันกันหมด



ล็อกก็คลายให้ โรดแม็ปก็ประกาศย้ำชัด แต่ถึงนาทีนี้ถามนักการเมืองส่วนใหญ่ ก็ยังไม่มั่นใจ
ส่งเสียงดักหน้าดักหลัง ไม่ชัวร์คิวเลือกตั้ง พลิก-ไม่พลิก ยืด-ไม่ยืด
เอาเป็นว่านาทีนี้ อย่างไรก็ต้องเชื่อผู้นำ “นายกฯลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. คอนเฟิร์ม “ดร.วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯฝ่ายกฎหมาย อธิบายรายละเอียดโปรแกรมเป็นฉากๆ
ถึงเวลา วันที่ 24 ก.พ.2562 เข้าคูหากาคะแนนกันแน่นอน
แล้วที่จริงสัญญาณเดือน ก.ย.นี้ มีหลายโปรแกรมบ่งบอก ทั้งร่างกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.เตรียมประกาศใช้
ตามมาด้วยการประกาศมาตรา 44 คลายล็อกการเมือง ในห้วงรอกฎหมายเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ 90 วัน
เปิดให้ทำกิจกรรมที่เกี่ยวโยงไปสู่การเลือกตั้ง ทั้งปรับเกณฑ์ทุนประเดิม เพิ่มรูปแบบการหาสมาชิกพรรค จัดประชุมใหญ่แก้ข้อบังคับ เลือกตั้งหัวหน้า เลขาธิการ และกรรมการพรรค เปิดสาขาพรรคหรือจัดตั้งตัวแทนพรรค จัด 11 กรรมการสรรหาคนลงเลือกตั้งในแต่ละพรรคการเมือง รูปแบบการมีส่วนร่วม ที่ใช้แทนไพรมารีโหวต
รวมทั้งให้ กกต.หารือกับพรรค เพื่อแบ่งเขตเลือกตั้ง และออกระเบียบกติกาต่างๆ
แต่ที่ยังใส่ล็อกแน่นหนา ห้ามพรรคหาเสียง ห้ามประชุมก่อม็อบ
เท่านี้ก็น่าจะชัดพอแล้ว คสช.เตรียมปล่อยมือคืนสู่ระบอบประชาธิปไตย
เอาเป็นว่าถึงจะไม่ชัวร์ แต่ก็ต้องเล่นไปตามเกม ห้วงนี้ทั้งพรรคเก่า–ใหม่ เริ่มขยับคึกคัก เริ่มจากพรรคหลักหนุนแผนตีตั๋วต่อของ “บิ๊กตู่” อย่างพลังประชารัฐ
หัวขบวน “ก๊ก คสช.” รอเปิดตัวเดือน ก.ย.เหมือนกัน
สอดคล้องไปกับแนวร่วม “สามมิตรกรุ๊ป” จะจัดกิจกรรมเข้าจังหวะล่มหัวจมท้าย
ส่วนอีก 2 ก๊กสำคัญ ก็มีจุดชี้ชัดเดือน ก.ย.–ต.ค.เช่นกัน ทั้งเพื่อไทย แรงต้าน “เจ๊หน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เจ้าแม่ กทม.จากสายเจ๊ๆตระกูลชินฯ และเฮียๆแกนนำกลุ่มก๊วน จะมีบทสรุปลงตัวหรือไม่
เจ้าแม่ กทม.จะต้องยกไพร่พลไปหาบ้านในเครือข่ายค่ายใดปักหลัก หรือเปิดพรรคใหม่
เอาเข้าจริงทั้งหมดก็อยู่ที่บอร์ดตระกูลชินฯจะเคลียร์กัน
แต่ตามรูปการณ์ ถ้าจะมีแตกตัวก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะมีโมเดลมาแล้ว โดยล่าสุด
นายใหญ่ประเมินหลังเลือกตั้ง พรรคอนาคตใหม่จะมีแต้มในสนามเลือกตั้งพุ่งไปถึง 40 ที่นั่ง
หยั่งเชิงชี้ชวนแฟนๆโปรโมตค่ายใหม่ บอกนัยว่าเป็นเครือข่ายแนวร่วม
ยังไม่รวมค่ายอื่นๆที่แตกตัวเปรียบเป็นสาขาได้เหมือนกัน ทั้งค่ายประชาชาติ-พรรคเสรีรวมไทย
“นายใหญ่” เดินเกมแตกตัว วางแพลนบีไว้สำรองเหตุฉุกเฉิน “ยุบพรรค”
ในทางเกี่ยวโยง ปัจจัยแปรผันกันทั้งทางตรงทางอ้อมกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่วันนี้ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคมั่นใจหลังเลือกตั้งยังเป็น “ตัวแปร”
ถึงหลังเลือกตั้งหากได้มาทางร้ายสุด แม้จะ “ต่ำร้อย”
ก็ยังเป็นมีค่า
เล่นตัวได้ กับความต้องการแต้มหนุน “แผนตีตั๋วไปต่อ”
โดยเฉพาะถ้าพรรคเพื่อไทยปั่นยอดไปเฉียด 200 ที่นั่ง พลังประชารัฐและแนวร่วมพลาดเป้า
ประชาธิปัตย์ตีขิมรอ แบบหล่อเลือกได้
แต่ทั้งหมดทั้งปวง อยู่ที่ว่า “มาร์ค อภิสิทธิ์” ต้องนั่งแท่นต่อเนื่อง ไม่โดนสอยร่วงไปเสียก่อน
รวมทั้งถ้าไม่โดนหลายปัจจัยทำแต้มหดไปกว่าที่คาด เพราะประเมินแล้ว นอกจากผู้คุมเกมอาศัยค่ายรวมพลังประชาชาติไทยของ “ลุงกำนัน” หั่นแต้มในหัวเมืองปักษ์ใต้ กทม.ของประชาธิปัตย์แล้ว
ยังถูกมะรุมมะตุ้มเบียดแต้ม ทั้งจากพรรคอนาคตใหม่ ฐานเสียงเขตเมืองคนรุ่นใหม่ ใกล้เคียง ขณะที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกก็เริ่มถูกไล่สอยไล่ดูดจากกลุ่มสามมิตร หัวหมู่ทะลวงฟันของพรรคพลังประชารัฐ
ตัวเลขต่ำร้อยไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าหดวูบเลย น้ำหนักต่อรองประชาธิปัตย์หลังเลือกตั้งก็จะยิ่งลด
มีโอกาสที่ “เด็กดื้อ” จะลดความเฮี้ยวได้เหมือนกัน.
ทีมข่าวการเมือง

วันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2561

'มาร์ค' จี้คสช.บอกความจริงปชช.เหตุไม่พร้อมทำไพรมารีโหวต

'มาร์ค' จี้คสช.บอกความจริงปชช.เหตุไม่พร้อมทำไพรมารีโหวต



30 ส.ค. 61 - ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้กฎหมายการทำไพรมารี โดยอาจกำหนดให้ใช้รูปแบบคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครส.ส. ว่า รูปแบบการแก้ไขดังกล่าวไม่สามารถเรียกว่าเป็นการทำไพรมารีโหวตได้ และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ควรพูดความจริงกับประชาชน เนื่องจากการหยั่งเสียงแบบไพรมารีไม่ใช่ลักษณะเดียวกับการที่คระกรรมการบริหารพรรคหรือคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครไปรับฟังความเห็น เพราะบทบัญญัติแบบนี้รัฐธรรมนูญปี 50 ก็มี ก็ไม่ได้เรียกว่าไพรมารีโหวตหรือไพรมารีโหวตฉบับย่อ ดังนั้น การจะทำอะไรควรให้ความจริงกับประชาชน ถ้าไม่อยากทำ ไม่พร้อมที่จะทำ คิดว่าไม่ควรทำแล้วก็พูดตรงๆ จะทำให้ประชาชนไม่สับสน
"ผมแค่ไม่เข้าใจว่าจากเดิมผู้มีอำนาจในปัจจุบันเข้ามา บอกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง ปฏิรูประบบให้ดีขึ้น หลายครั้งแสดงความรังเกียจแนวทางแบบเดิม แต่ขณะนี้พอจะมีการเปลี่ยนแปลงซึ่งผมไม่ได้เห็นด้วย 100 % แต่เจตนาที่จะทำ ผมว่าหลายพรรคการเมืองก็พร้อมที่จะทำ แต่ยังไม่ทันปฏิบัติก็มาเปลี่ยนแปลงแบบนี้ เหตุผลที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบคงเป็นเพราะหลายเรื่องที่เกี่ยวพันกับผู้มีอำนาจที่มาทำการเมือง เพราะจะเปลี่ยนสภาพตัวเองจากกรรมการเป็นผู้เล่น ทำให้มีความคิดเปลี่ยนแปลงไปเกี่ยวกับกติกา เนื่องจากไพรมารีจะเป็นอุปสรรคต่อการดูด ดูดไม่สะดวก เพราะไปตกปากรับคำใครเขาต้องมาผ่านกระบวนการไพรมารี ไปแอบตกลงว่าช่วงท้ายๆให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ทำไม่ได้ เพราะว่าผู้สมัครสส.ต้องผ่านไพรมารีของพรรคก่อนลงสมัครรับเลือกตั้ง
วันนี้ปัญหาข้อกฎหมายมีข้อเดียวซึ่งเป็นความบกพร่องของสนช.เอง คือ ควรเปิดโอกาสให้กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งได้เร็วๆ และให้พรรคการเมืองปฏิบัติตามกฎหมายได้ เมื่อแก้ไขตรงนี้แล้วก็ไม่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนรูปแบบไพรมารีโหวตจากที่กฎหมายพรรคการเมืองกำหนด เพราะพรรคการเมืองสามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้อยู่แล้ว” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า การใช้มาตรา 44 มาแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญบ่อยครั้ง สะท้อนให้เห็นว่าหลักไม่แน่น เพราะเขียนเอง ลบเอง และหลายครั้งที่ใช้มาตรา 44 มาแก้ไข ก็มีปัญหาว่าหลายบทบัญญัติขัดกันเอง จึงอยากให้ดูตามหลักความเป็นจริง อย่าเอาเรื่องการเมือง ความได้เปรียบเสียเปรียบเข้ามา เพราะการแปรสภาพจากกรรมการมาเป็นผู้เล่นก็ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นระดับหนึ่งอยู่แล้ว การมีความไม่แน่นอนในเรื่องของกติกาเป็นอีกปัญหาหนึ่ง ซึ่งการเลือกตั้งเสรีเป็นธรรมเท่านั้นที่จะเป็นหัวใจที่จะเรียกคืนความเชื่อมั่นกลับมาได้ อย่างไรก็ตามพรรคจะปฏิบัติตามกติกาทุกเรื่อง เพราะที่ผ่านมาพรรคไม่เคยหยุดรับฟังปัญหาของประชาชนและมีทางออกประเทศพร้อมเสนอต่อประชาชน หากมีการคลายล็อกให้ประชุมได้ก็จะเรียกประชุมทันที เพราะต้องเร่งแก้ข้อบังคับและการรับสมาชิก

'จุติ' ลั่นปชป.พร้อมสู้เลือกตั้ง นโยบายพรรคตอบโจทย์ประเทศ

'จุติ' ลั่นปชป.พร้อมสู้เลือกตั้ง นโยบายพรรคตอบโจทย์ประเทศ


    
30 ส.ค. 61 - นายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า เป็นเรื่องดีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะพิจารณาปลดล็อคการเมือง เพราะประชาชนจะได้มีความหวัง นักลงทุนที่เริ่มไม่แน่ใจว่าจะมีเลือกตั้งเมื่อไหร่จะได้เตรียมลงทุน ทั้งนี้เป็นโอกาสดีที่คสช.จะวางรากฐานการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมให้กับประเทศ จังหวัดไหนที่มีประวัติเรื่องการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม ก็ควรที่จะจับมือกับคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ไปชำระล้างให้จังหวัดนั้นๆสะอาด และพรรคประชาธิปัตย์ก็พร้อมที่จะร่วมมือให้ข้อมูลกกต.และคสช.ว่าจังหวัดใดบ้างที่ใช้อิทธิพลข่มขู่ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา และหวังว่าครั้งนี้จะปลอดจากอำนาจที่ไม่บริสุทธิ์
"กฎหมายกำหนดอย่างไรพรรคประชาธิปัตย์ก็ยินดีทำตามนั้น เราเป็นพรรคการเมืองที่อยู่ภายใต้กฎหมาย และมีบทเรียนให้เห็นแล้วว่า ใครที่ทำตัวนอกเหนือกฎหมายในที่สุดก็ได้รับโทษไม่ช้าก็เร็ว " เลขาธิการปชป. กล่าว
นายจุติ กล่าวอีกว่า ส่วนการเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งนั้น พรรคมีความพร้อมมาก เพราะได้เตรียมตัวตลอด 4 ปีที่ผ่านมา เรื่องของนโยบายพรรคนั้นเกือบจะเสร็จเรียบร้อย เพราะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคได้เดินทางไปรับฟังปัญหาประชาชนในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา เราก็เชื่อว่าเราพร้อมตอบโจทก์แก้ปัญหาประเทศไทยได้
นายจุติ กล่าวต่อว่า เรื่องไพรมารีโหวต พรรคคิดตั้งแต่ต้น ที่หนักใจคือกติกาเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาไม่แน่นอน คนเตรียมการทำงานก็เหนื่อย แต่ก็ต้องทำตามกฎหมายที่ระบุ อย่างไรก็ตาม เดิมทีพรรคประชาธิปัตย์คิดว่า ต่อให้ไม่มีระบบไพรมารีโหวต พรรคก็จะทำอยู่แล้ว เช่น การหยั่งเสียงการเสนอหัวหน้าพรรค พรรคอยากให้ประชาชนและสมาชิกเป็นเจ้าของพรรคให้มากที่สุด พรรคนี้อยู่มาได้ 72 ปี เพราะไม่มีใครเป็นเจ้าของ
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการเรียกประชุมกรรมการบริหารพรรค(กก.บห.) เมื่อไหร่ นายจุติ กล่าวว่า ตนในฐานะเลขาธิการพรรคก็ต้องเสนอคณะกรรมการบริการพรรคที่รักษาการว่าพร้อมที่จะดำเนินการเมื่อไหร่ ซึ่งหัวหน้าพรรคให้สัญญาณมาแล้วว่าเตรียมพร้อมไว้นานแล้ว อยากให้ทำโดยเร็วที่สุด
ถามต่อว่า มองอย่างไรที่เมื่อจะเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง เริ่มมีการใช้วิชามาร เช่นการปล่อยคลิปว่าประชาธิปัตย์โดยยุบพรรค เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ตอบว่า ประชาธิปัตย์เป็นพรรคแรกที่เจอวิชามารในทางโซเชียล กรณีที่กกต.สั่งยุบพรรค ซึ่งเป็นข่าวเก่าเมื่อ 8 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้อยากจะฝากกกต.ช่วยไปหาแหล่งต้นตอที่เป็นคนเริ่มวงจรอุบาทว์นี้ ซึ่งเป็นอุทาหรณ์ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปว่าทำอย่างไรถึงจะให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม ทำอย่างไรไม่ให้อิทธิพลท้องถิ่น มาบังคับให้ประชาชนฝืนใจเลือก ทำอย่างไรการเลือกตั้งถึงจะปราศจากการซื้อเสียง การใช้อำนาจรัฐบีบบังคับประชาชนให้เลือกตามที่ราชการท้องถิ่นต้องการ เรื่องนี้ถือเป็นโจทก์ใหญ่ ซึ่งประชาธิปัตย์ได้เตรียมทีมไว้แล้ว ที่จะติดตามการใช้อำนาจรัฐที่ไม่ชอบ และรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบทันที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น

สถานีคิดเลขที่12 : ตัวแปร โดย : วรศักดิ์ ประยูรศุข

สถานีคิดเลขที่12 : ตัวแปร โดย : วรศักดิ์ ประยูรศุข



อะไรคือ “ตัวแปร” ที่จะกำหนดบรรยากาศ และผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2562
นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2476 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีการเลือกตั้งมาแล้ว 27 ครั้ง นับถึง 2 ก.พ.2557 ที่โดนม็อบขัดขวาง ทำให้ลงคะแนนในวันเดียวกันไม่ได้ สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ถ้าเลือกตั้งในปี 2562 เท่ากับว่า ประชาชนว่างเว้นใช้สิทธิทางการเมืองมาเป็นเวลา 5 ปี
เวลา 5 ปี ถ้าเป็นการเมืองปกติ อาจมีเลือกตั้งแล้ว 2 ครั้งเป็นอย่างน้อย
ความหมายคือ ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งควรจะได้กำหนดทิศทางบ้านเมืองแล้วถึง 2 รอบเป็นอย่างน้อย
การว่างเว้นไปถึง 5 ปี โดยเฉพาะในมุมของประชาชนจึงมีความสำคัญและเป็นโจทย์ที่ต้องตีให้แตก
ขณะที่ในเรื่องอื่นๆ 5 ปีที่ผ่านมา โลกเปลี่ยนแปลงไปมาก
เกิดการก้าวกระโดดของเทคโนโลยีการสื่อสาร อินเตอร์เน็ตเข้ามาขับเคลื่อนโลกทั้งโลกรวมถึงประเทศไทย
ทำให้คนไทยได้เปรียบเทียบตัวเอง สังคมของเราเองกับโลกภายนอกตลอดเวลา
บางเรื่อง อาจจะก้าวหน้าขึ้น แต่ในหลายเรื่อง เห็นชัดว่าถดถอยลงไป
อินเตอร์เน็ตและระบบออนไลน์ทำให้เห็นภาพกว้างและลึกต่อเนื่อง อย่างคนที่เคยกรี๊ดกร๊าดแนวทางการเมืองแบบหนึ่ง มาตอนนี้เปลี่ยนเสียง
บางคนเปลี่ยนอย่างตีลังกากลับหลังหัน เป็นบทเรียนการเมืองให้ได้ศึกษากัน
ข่าวสารที่แพร่สะพัดรวดเร็วกว้างขวาง ทำให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ๆ ตลอดเวลา

ประเทศไทยอยู่ตรงไหนของสังคมโลก ระบบกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายเป็นมาตรฐานหรือไม่ ใครโกง ใครไม่โกงกันแน่ เป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ รู้ได้ ไม่ต้องรอใครมาบอก ต่างจากเมื่อ 5 ปีก่อน
ความเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย อารมณ์ของสังคมและประชาชนจะสะท้อนให้เห็นจาก “นโยบาย” ของกลุ่มการเมือง พรรคการเมือง ที่กำลังแต่งตัวรอลงสนาม
ตอนนี้เริ่มแย้มๆ กันออกมาแล้ว อาทิ ปัญหาเกณฑ์ทหาร การจัดซื้ออาวุธ จะเอายังไงกับฎหมายที่ออกโดยสภาแต่งตั้งตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา มาตรการป้องกันปฏิวัติรัฐประหาร ฯลฯ
แนวคิด แนวทางเหล่านี้ ถ้าผู้มีอำนาจปัจจุบันเปิดกว้างให้พรรคการเมือง นักการเมืองหาเสียงกันได้อย่างอิสระโปร่งใส ให้ข้อมูลเดินทางไปถึงประชาชนได้อย่างสะดวก จะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของประเทศไทย
ขณะที่เทคโนโลยีสื่อสารจะเป็น “ตัวช่วย” นำพาข้อมูล ความคิดไปสู่ประชาชนได้อย่างรวดเร็ว
แต่มีข่าวแล้วว่า เตรียมจะห้ามการใช้ไลน์ ใช้เฟซบุ๊กหาเสียงกันแล้ว
การคาดหมายว่า พรรคไหนจะไปจะมา อาจใช้ข้อมูลจากการเลือกตั้งปีหลังๆ เป็นฐาน อาจได้ข้อสรุประดับหนึ่ง
แต่ “ตัวแปร” ที่สำคัญมากกว่า ควบคู่กับการเปลี่ยนแปลงของโลก คือความนึกคิด และอารมณ์ของสังคม ภายใต้กรอบกติกาตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา
ถ้าแฮปปี้ สบายอกสบายใจ ไม่รู้สึกอัดอั้น ไม่เดือดร้อนเรื่องปากท้อง ก็เรื่องหนึ่ง
แต่ถ้าตรงกันข้าม ก็เป็นเรื่องใหญ่
และจากวันนี้ ยิ่งบีบยิ่งกด จะยิ่งควบคุมผลได้ยาก
วรศักดิ์ ประยูรศุข

เดินหน้าชน : ยื้อก็พัง เลือกตั้งก็แพ้

เดินหน้าชน : ยื้อก็พัง เลือกตั้งก็แพ้



น่าแปลกใจช่วงนี้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ หน้าตาบึ้งตึง อารมณ์เสียใส่นักข่าวอยู่บ่อยๆ ถึงขั้นไล่พ้นทำเนียบ ทั้งๆ ที่ 4 ปีภายใต้การบริหารงานแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด สะสมแต้มต่อทางการเมือง ประเทศสงบราบเรียบไร้ความขัดแย้ง เศรษฐกิจรุ่งเรือง ชาวบ้านอยู่ดีกินดีก็น่าจะเป็นเรื่องที่น่ายินดีไม่ใช่หรือที่จะปลดล็อกการเมือง นำประเทศไปสู่การเลือกตั้ง สานต่อแนวทางเข้าสู่อำนาจอีกครั้ง
ผมไม่กล้าสันนิษฐานถึงมูลเหตุ ขออาศัยคำพูด จาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย ที่วิเคราะห์ว่า “บิ๊กตู่” กำลังเสียศูนย์เพราะไม่มั่นใจหลังพยายามย้ำอยู่เสมอว่าตนเองมีผลงานมากมาย แต่ก็รู้อยู่แก่ใจว่าไม่สามารถหยิบยกผลงานใดให้ประชาชนเห็นและจับต้องได้ ความเป็นไปได้ที่จะเป็นนายกฯหลังการเลือกตั้งมีไม่มาก เพราะพรรคการเมืองที่จัดตั้งเพื่อสนับสนุนก็ไม่ถึงไหน พรรคการเมืองที่มีอยู่เดิมก็ไม่แสดงออกว่าสนับสนุน จึงไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าจะกลับมาอีก
มันเหมือนโลกกลับด้าน ช่างแตกต่างจากพรรคเพื่อไทยที่เป็นมวยรอง ถูกกดเป็นเบี้ยล่างมาตลอด 4 ปี ทันทีที่มีสัญญาณเลือกตั้งก็กลับมาคึกคัก เตรียมจัดทำร่างนโยบายเพื่อเตรียมสู้ศึกเลือกตั้งตั้งแต่ไก่โห่
พร้อมชูประเด็นการแก้ไขปัญหาปากท้องเป็นหลัก จัดทำแคมเปญนโยบายเป็นรายกระทรวง ตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกที่มีข้อบกพร่องเป็นอุปสรรคต่อการบริหารประเทศ หากได้รับเลือกกลับมาเป็นรัฐบาลจะแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเหล่านี้ทันที
ยิ่งสัญญาณจาก ทักษิณ ชินวัตร อดีตหัวหน้าพรรค แสดงความมั่นใจจากผลโพลภายในที่มีต่อการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคเพื่อไทยยังได้รับความนิยมจากชาวบ้าน น่าจะได้ที่นั่งกลับมามากถึง 260 เสียง เนื่องจากวันนี้ชาวบ้านระดับล่างประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ พร้อมกำชับอดีต ส.ส.ให้หมั่นลงพื้นที่พบชาวบ้าน สอบถามความต้องการอยากให้พรรคช่วยแก้ปัญหานำมารวบรวมเป็นข้อมูลส่งไปให้แกนนำพรรคจัดทำเป็นนโยบาย

ผมว่าที่โลกมันกลับด้าน กลับหัวกลับหางเช่นนี้ เพราะครั้งหนึ่งเราเคยคาดหวังกับการปฏิรูปในยุคนี้ มองว่าประเทศน่าจะเดินไปข้างหน้า แต่ผมมาเห็นความกระจ่างหลังฟังคำพูดจากปากเพื่อนที่นั่งอยู่คณะกรรมการปฏิรูปชุดหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า “ในยุคที่บอกว่าต้องการปฏิรูประบบราชการ แต่เอาเข้าจริงเนื้อในกลับแต่งตั้งอดีตปลัดกระทรวงเกษียณอายุกว่า 10 คนมานั่งเป็นกรรมการ มีแนวคิดรวบอำนาจ เพราะคนพวกนี้จมปลักอยู่กับระบบราชการเก่าๆ มาตลอดชีวิต จึงเสียเวลาและเสียค่าเบี้ยประชุมไปอย่างเปล่าประโยชน์”
คงไม่ต่างจากคำพูด ปิยบุตร แสงกนกกุล ว่าที่เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ที่ว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่เขียนโดยคนแก่ที่อีกไม่กี่ปีก็เสียชีวิตไปตามอายุขัย แต่เยาวชนคนรุ่นใหม่ต้องอยู่อีกอย่างน้อย 50 ปี ถามว่ายุติธรรมหรือที่คนแก่ๆ เหล่านั้นมากำหนดอะไรไม่รู้ให้เรา แม้คนเขียนกฎหมายตายไปแล้ว แต่ก็ยังมีมือผีของเขามาบีบคอเราเอาไว้ให้ทำตาม
เมืองไทยตอนนี้เปรียบเหมือนท่าเต้นมูน วอล์ก ของไมเคิล แจ็คสัน คือเหมือนจะก้าวไปข้างหน้าแต่แท้จริงแล้วถอยหลัง จำนวนปี พ.ศ.เดินไปข้างหน้า แต่ชีวิตและสังคมของเราเหมือนจะดึงกลับไป ยุค พ.ศ.2520
วันนี้เราจะไปบังคับ “บิ๊กตู่” ไม่ให้อารมณ์บูด หาสาเหตุและปัจจัยคงไม่มีประโยชน์ คงทำได้เพียงขอร้องว่าท่านก็อย่าไปฟังคำพูดพวกปากหอยปากปูที่บอกว่า “ยื้อก็พัง เลือกตั้งก็แพ้”
หากท่านมั่นใจว่า 4 ปีที่บริหารประเทศมีผลงานมากมาย ชาวบ้านท้องอิ่มนอนหลับ ยิ่งมีกลไกรัฐอยู่ในมือก็อย่าไปกลัว หากเป็นของจริงคนไทยพร้อมเทคะแนนให้ท่าน
กลับเข้ามาอีกครั้งอย่างถล่มทลายแน่…

ผู้เล่นเสริมทีม 'ลุงตู่ 4.0'

ผู้เล่นเสริมทีม 'ลุงตู่ 4.0'




ได้คืบจะเอาศอก ได้ศอกจะเอาวา

อ่านไต๋ เดาทาง ตามฟอร์มของนักการเมืองอาชีพทุกยี่ห้อ ไม่มีทางพอใจ ถึงแม้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. จะแถลงแสดงความพร้อมใช้อำนาจ ม.44

“คลายล็อกกฎเหล็ก” ให้ขยับทำกิจกรรมพรรคเตรียมเลือกตั้งกันได้

ตามเงื่อนไขสถานการณ์ต้องรอหลัง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.โปรดเกล้าฯลงมา

แต่แค่ 6 ข้อใหญ่ 9 เรื่อง ไม่น่าจะพอ ด้วยเหลี่ยมนักเลือกตั้งอาชีพต้องบีบ คสช.รุกขอเพิ่มเรื่อยๆ

โดยจังหวะโยงกับเกมเร้ากระแสเลือกตั้งที่จะดังขึ้นทุกขณะ

ในอาการแบบที่ “นายกฯลุงตู่” ก็หนีไม่พ้นโดนจี้ต่อมหงุดหงิด พูดเรื่องกำหนดเลือกตั้งวันละ 3 เวลาหลังอาหาร แต่บอกไปยังไงคนก็ไม่ค่อยเชื่อไม่ค่อยฟัง

มันก็แค่จังหวะเล่นชักเย่อกันระหว่างนักการเมืองกับ คสช.

เรื่องของเรื่อง ตัดฉากมั่วๆออกไป กรองสถานการณ์เฉพาะเงื่อนไขที่มีผลโดยตรง

โปรแกรมการเลือกตั้งตามโรดแม็ปไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง

อันดับแรกเลย ยึดเอาตามคนที่ไม่มีผลประโยชน์ใดๆทางการเมือง และจะเกษียณเร็วๆนี้
ล่าสุด “บิ๊กเจี๊ยบ” พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ.ในฐานะเลขาธิการ คสช. แสดงความมั่นใจ ฝ่ายความมั่นคงสามารถคุมสถานการณ์ได้ ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะเลื่อนเลือกตั้งออกไป

ตามกำหนดอย่างเร็วที่สุดวันที่ 24 กุมภาพันธ์ และอย่างช้าไม่เกินวันที่ 5 พฤษภาคม ปี 2562

ล็อกปฏิทินได้ ยังไงวันเข้าคูหากาบัตรต้องอยู่ในห้วงนี้

อีกจุดสำคัญที่บ่งชี้องค์ประกอบของสถานการณ์ใกล้โหมดเลือกตั้งตามวิถีการเมืองไทย

โฟกัสอยู่ที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ตัวชี้วัดคะแนนนิยมของฝ่ายรัฐบาล

ล่าสุด “จอมยุทธ์กวง” นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ย้ำชัดๆบนเวทีปาฐกถาพิเศษงาน Thailand Focus 2018

“คอนเฟิร์ม” อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2561 จะขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 4.5 ขึ้นไปอย่างแน่นอน จากครึ่งปีแรกที่ขยายตัวได้แล้วกว่าร้อยละ 4.8

กัปตันทีมเศรษฐกิจสะท้อนความมั่นใจ สถานการณ์ภาพรวมในขณะนี้ถือว่า ไม่มีอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และประเทศไทยยังถือว่ามีจุดเด่นที่เป็นศูนย์กลางในภูมิภาคอาเซียนในการดึงดูดนักลงทุน รัฐบาลจะผลักดันในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

เศรษฐกิจภาพรวมติดลมบน ขณะที่การอัดฉีดเศรษฐกิจฐานราก มาตรการดูแลปัญหาปากท้องคนจนก็ปล่อยของกันถี่ยิบ
ล่าสุดมติที่ประชุม ครม.อนุมัติมาตรการช่วยเหลือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพิ่มเงินให้กับผู้ถือบัตรผู้มีรายได้น้อยที่เข้าร่วมอบรมอาชีพ อีกรายละ 100 บาทและ 200 บาทต่อเดือน เป็นการปรับเปลี่ยนวงเงินซื้อสินค้าร้านธงฟ้า

หรือเบิกเป็นเงินสดผ่านตู้เอทีเอ็มแบงก์กรุงไทยได้อีกต่างหาก

อุดจุดอ่อนปมปากท้อง โหมจุดแข็งการพัฒนาการเศรษฐกิจภาพรวม

ชัดเจน มันคืออาการของรัฐบาลที่แต่งตัวเข้าโหมดเลือกตั้ง

แม้โดยสถานการณ์จะยังยืดเวลา “ตีไพ่” ออกไป ตามเหลี่ยมแบบที่ “นายกฯลุงตู่” แบะท่ายังมีเวลาอีกพักใหญ่ที่จะตัดสินใจเฉลยเส้นทางการตีตั๋วต่อ

เช่นเดียวกับนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ ก็ไม่รับมุกข่าวลาออกไปเดินเครื่องพรรคพลังประชารัฐ

แต่การขับเคลื่อนวงในคืบไปเยอะแล้ว แนวโน้มแบบที่ “ล็อกตัว” ผู้เล่นได้

กาชื่อ “เสี่ยติ๊ก” นายอิทธิพล คุณปลื้ม ผู้ช่วยรัฐมนตรีการท่องเที่ยวฯ จะถูกดันให้ขึ้นแท่นตำแหน่งผู้อำนวยการพรรคพลัง-ประชารัฐ โดยทีมงานค่ายพลังชลจะเป็นทุนตั้งต้นพรรคหนุน “นายกฯลุงตู่”

อีกจุดก็คือแต้มชัวร์ๆจาก “เดอะท็อป” นายวราวุธ ศิลปอาชา ว่าที่หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ถูกจัดลำดับชั้นให้เป็น “พันธมิตรชั้นพิเศษ” ของทีมหนุน “นายกฯลุงตู่”

โดยถือธงคุมทัพค่ายชาติไทยพัฒนา ตามเจตนารมณ์ของ “เตี่ย” อดีตนายกฯบรรหาร ศิลปอาชา ผู้ล่วงลับ ให้รักษาสมบัติทางการเมืองไว้ แต่รับปากเทแต้มให้ “ลุงตู่” แบบพันเปอร์เซ็นต์

เป็นคนรุ่นหนุ่มที่เสริมภาพทีม “นายกฯลุงตู่” ยุค 4.0.

ทีมข่าวการเมือง

อ.เจษฯ แย้ง ป.ป.ช. จีที 200 ไม่ใช่พระเครื่อง แนะ ขาดข้อมูลให้บอก อย่าเอาความรู้สึกมาวัด

อ.เจษฯ แย้ง ป.ป.ช. จีที 200 ไม่ใช่พระเครื่อง แนะ ขาดข้อมูลให้บอก อย่าเอาความรู้สึกมาวัด



กรณีที่ นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการไต่สวนข้อเท็จจริงการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดจีที 200 (GT200) และอัลฟ่า 6 ว่า เรื่องดังกล่าวยังคงพิจารณาอยู่ และยืนยันว่า ป.ป.ช. ไม่มีการปล่อยให้ขาดอายุความแน่นอน แต่การจะวินิจฉัยว่าถูกหรือผิดนั้นเป็นเรื่องที่ยาก เพราะบางครั้งไม่ได้อยู่ที่มูลค่าของเครื่อง แต่เป็นเหมือนความเชื่อ เหมือนพระเครื่อง ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่นำไปใช้แล้วเขารู้สึกว่าคุ้มค่า นั้น
(อ่านข่าว ป.ป.ช.เผยคดีจีที 200 วินิจฉัยยาก เหตุจนท.นำไปใช้แล้วรู้สึกคุ้มค่า เหมือนมีพระเครื่อง)
วันที่ 29 สิงหาคม รศ. เจษฎา อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คดีการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องตรวจวัตถุระเบิด จีที 200 นั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานกว่า 10 ปีแล้ว ทั้ง ป.ป.ช.ก็ได้ทำการสืบสวน สอบสวนเรื่องนี้ไปเยอะมากแล้ว เนื้อหาของการดำเนินการเพื่อหาคนผิดควรจะเป็นไปในแนวทางความคุ้มค่า หรือไม่คุ้มค่า ไม่ใช่การเอาความรู้สึกมาเป็นตัววัด ว่ารู้สึกคุ้มค่า หรือรู้สึกไม่คุ้มค่า เพราะ จีที 200 ไม่ใช่พระเครื่องที่จะสร้างคุณค่าทางใจได้

“กระบวนการพิจารณาเรื่องนี้ทำกันมานานพอสมควรแล้ว ซึ่งการสืบสวน สอบสวนก็ไม่ได้มีความซับซ้อนอะไรมากมาย ผมคิดว่า เรื่องที่ทาง ป.ป.ช.ทำกรณีการดำเนินการเรื่องจีที 200 นั้น ง่ายกว่า ขั้นตอนที่ทางดีเอสไอ ทำ ซึ่งต้องไปสืบสวน สอบสวนกับบริษัท ห้างร้าน ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากเรื่องออกมาเป็นเช่นนี้ทำให้สังคมอดคิดไม่ได้ว่า จะมีการยื้อคดี หรือยืดเรื่องออกไปเพื่อให้เรื่องหมดอายุความหรือเปล่า หรือหาก ทาง ป.ป.ช.ยังขาดข้อมูล ที่ต้องการอยู่ ก็ขอให้บอกมา แต่ไม่ใช่เอาเรื่องของความรู้สึกมาบอกกัน”รศ.เจษฎา กล่าว