PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

4พรรคใหญ่ทุบโต๊ะกกต. เลือกตั้ง24กพ. อิทธิพรโยนแม่น้ำ5สายเคาะ

4พรรคใหญ่ทุบโต๊ะกกต.

เลือกตัง24กพ.

อิทธิพรโยนแม่น้ำ5สายเคาะ

สนช.รับอีก2ครบ7เสือกกต.

‘บุญจง-ทวี’โผล่ซบ‘พปชร.’

กกต.จัดประชุมชี้แจงติวเข้มแจงพรรคการเมืองรอบ 4 ยันจัดเลือกตั้งเป็นกลาง “อิทธิพร” ปธ.กกต.อ้ำอึ้งปมเลื่อนเลือกตั้งหรือไม่ โยน “แม่น้ำ 5 สาย” ชี้ขาด ย้ำคำสั่ง คสช.ไม่ใช่นิรโทษฯ กกต. ด้าน 4 พรรคการเมืองใหญ่“พท.-พปชร.-ทษช.-ปชป.” หนุนเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ยึดโรดแมป ชี้รอทุกพรรคพร้อมคงไม่ได้ ไม่พร้อมไม่ต้องลง ส่วนพรรคเล็กจี้กกต.เลื่อนเลือกตั้งไป 5 พฤษภาคม อ้างเพื่อให้ทุกพรรคพร้อม ‘พลังประชารัฐ’คึกคัก’บุญจง-ทวี’เข้าซบแล้ว สนช.ลงมติเลือก’เลิศวิโรจน์-ฐิติเชฎฐ์’เป็น กกต.ส่งผลให้ครบ 7เสือ กกต.

เมื่อวันที่ 22พฤศจิกายน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดการประชุมชี้แจง”แนวทาการดำเนินกิจการแก่พรรคการเมือง”ครั้งที่4/2561 ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ มีตัวแทนพรรคการเมือง72พรรค และผู้ยื่นจดแจ้งเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมือง 14 กลุ่มรวม 306 คน เข้าร่วมรับฟัง การชี้แจงหลักเกณฑ์สรรหาผู้สมัครและส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมือง

โดยมี นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)กล่าวเปิดการประชุมช่วงหนึ่งว่าตนและกรรมการ กกต.อีก 4 ท่าน ขอให้ความมั่นใจอีกครั้งว่ากกต.จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง สุจริต เที่ยงธรรมและชอบด้วยกฎหมาย พร้อมให้คำแนะนำปรึกษากับทุกพรรค เพื่อให้การดำเนินกิจกการของพรรคการเมือง ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อเป็นสถาบันการเมืองที่มีคุณภาพ ปัจจุบันมีพรรคการเมือง 89 พรรค ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีว่าประชาชนตื่นตัวทางการเมือง และจะทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็ง จึงขอให้แต่ละพรรคการเมืองดำเนินการตามเจตนารมณ์และอุดมการณ์ในการจัดตั้งพรรค

โยนแม่น้ำ5สายชี้ขาดเลื่อนลต.ให้

นายอิทธิพร กล่าวถึงกรณีพรรคการเมือง ยื่นหนังสือขอให้การเลือกตั้งเป็นไปตามโรดแม็พวันที่24 ก.พ.2562 และพรรคการเมืองอีกกลุ่ม ขอให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปนั้น กกต.จะเอาข้อมูลทั้งหมดมาพิจารณาในภาพรวม ซึ่งพรรคการเมืองขนาดเล็กก็มีข้อเรียกร้องให้มีความยืดหยุ่นเกี่ยวกับการกำหนดวันเลือกตั้ง รวมถึงผลกระทบจากปัจจัยอื่นๆ ที่จะต้องพิจารณาด้วย แต่เบื้องต้น มองว่า ยังไม่มีเหตุปัจจัยที่จะทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปจากโรดแม็พ

ส่วนการตัดสินใจว่าการเลือกตั้งจะเลื่อนออกไปหรือไม่นั้นว่าคงจะมีความชัดเจน หลังจากการประชุมร่วมกันระหว่างแม่น้ำ 5สาย กับตัวแทนพรรคการเมืองตามข้อ8 ของคำสั่ง คสช.ที่ 53/2561และคาดว่าวันประชุม จะชัดเจน หลัง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลใช้บังคับ และหากมีข้อสรุปให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป กกต.เองก็ไม่จำเป็นแสดงความรับผิดชอบเพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดเช่นนั้นแต่การเลื่อนก็ต้องมีเหตุผลและก็ต้องชี้แจงให้เข้าใจ

ปัดคสช.-รัฐครอบงำ-นิรโทษฯกกต.

เมื่อถามว่ามีการตั้งข้อสังเกตว่าการเปิดทางให้ คสช.และรัฐบาลรับเรื่องร้องเรียนแบ่งเขตได้ อาจเป็นการเปิดทาง ให้ฝ่ายที่มีอำนาจแทรกแซงการแบ่งเขตเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง นายอิทธิพร กล่าวว่าตนไม่คิดเช่นนั้น แต่เป็นการเพิ่มช่องทางในการรับเรื่องร้องมากกว่า โดยการแบ่งเขต ตามเงื่อนไขในคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่16/2561ก็กำหนดไว้ชัดเจนว่า ต้องเป็นไปตามกฎหมายซึ่งไม่ถือว่าทำให้ คสช.หรือรัฐมาครอบงำ และคำสั่ง ไม่ได้มีผลนิรโทษกรรมให้กับ กกต.ที่ถูกมองว่าแบ่งเขตไม่เสร็จ

“เพราะจริงๆกกต.ทำทันตามกรอบเวลาที่คำสั่ง คสช.13/61 กำหนดให้แบ่งเขตเลือกตั้งแล้วเสร็จก่อน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.มีผลบังคับใช้ อีกทั้ง แม้ว่าจะแบ่งเขตไม่ทันตามที่กำหนดในระเบียบเนื่องจากระเบียบกกต.ว่าด้วยการแบ่งเขตให้ขยายเวลาได้อยู่แล้ว จึงไม่มีเรื่องที่ คสช.ต้องนิรโทษกรรมให้ กกต. แต่ยอมรับว่าอาจมีการหารือเรื่องของการคุ้มครอง กกต.ในเรื่อง การปฏิบัติอื่นๆ”ประธาน กกต.ย้ำ

และว่าส่วนเรื่องการวิจารณ์เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ จนทำให้การแบ่งเขตเลือกตั้งล่าช้าออกไปนั้นก็เป็นความเห็นแต่ละปัจเจกบุคคล ไม่ได้น้อยใจและน้อมรับต่อกระแสวิจารณ์

4พรรคใหญ่หนุนเลือกตั้ง24กพ.

ในซีกของพรรคการเมืองใหญ่ทั้งพรรคเพื่อไทย (พท.) พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)และพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ต่างให้ความเห็นถึงที่มีพรรคการเมืองเล็กเสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปซึ่งส่วนใหญ่ล้วนสนับสนุนให้จัดการเลือกตั้ง ในวันที่ 24 ก.พ.2562 ตามโรดแมพที่วางไว้

โดยนายชูศักดิ์ ศิรินิล คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย เห็นว่าที่พรรคการเมืองเล็กเสนอให้กกต.เลื่อนการเลือกตั้งว่า การกำหนดวันเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของกกต.ซึ่งพรรคเพื่อไทย อยากให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 24ก.พ.2562ไม่อยากให้เลื่อนการเลือกตั้ง เพราะจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในประเทศ และที่ผ่านมาได้มีการเลื่อนเลือกตั้งมาหลายครั้งและประชาชนได้แต่รอที่จะให้เกิดการเลือกตั้งเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

เตือนกกต.กำลังจะทำผิดกม.

ส่วนคำสั่ง คสช.ที่16/2561เรื่องการขยายเวลาให้ กกต.ทบทวนการแบ่งเขตเลือกตั้งทั้งที่การกระทำดังกล่าว ถือว่าผิดกฎหมาย แต่คำสั่ง คสช.ฉบับนี้กลับรองรับให้สามารถทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และให้ถือเป็นที่สุดจึงมองว่าคำสั่งฉบับนี้ เป็นการชี้ช่องให้ กกต.ทำผิดกฎหมายได้ จึงอยากถามว่ากกต. ในฐานะองค์กรอิสระจะดำเนินการอย่างไรต่อไป อยากฝากถึงกกต.และผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยว่า การแบ่งเขตต้องชอบด้วยกฎหมายอย่างแท้จริงเพราะไม่ชอบ ก็ถือเป็นที่สุดตามกฎหมาย

ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.)กล่าวว่า การแบ่งเขตการเลือกตั้งถือเป็นจุด เริ่มต้นที่จะทำให้การเลือกตั้งนั้นบริสุทธิ์ยุติธรรม การออกคำสั่งที่ 16/2561 ถือเป็นการแทรกแซงการแบ่งเขตเลือกตั้งของกกต.อยากให้กกต.ทำหน้าที่อย่างแท้จริง ไม่ฟังคำสั่งใคร ยึดประชาชนเป็นสำคัญ

ทษช.ย้ำรอทุกพรรคพร้อมไม่ได้

นายพิชิต ชื่นบาน คณะกรรมการสรรหาผู้สมัคร ส.ส.พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยยังสนับสนุน ให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ.และเห็นว่าหากกกต.มีความตั้งใจที่จะแสดงให้ประชาชนเห็นว่าไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจของใคร ก็ควรที่จะดำเนินการแบ่งเขตให้เสร็จสิ้น ก่อนวันสุดท้าย ตามกำหนดเวลา ส่วนที่มีหลายพรรคแสดงความไม่พร้อมนั้น ตนเห็นว่าหากการเลือกตั้งทุกครั้ง ต้องรอให้ทุกพรรคพร้อมเป็นไปไม่ได้ เพราะตามสถิติในอดีตก่อนเลือกตั้งจะมีหลายพรรคการเมืองที่ยังจดทะเบียนไม่แล้วเสร็จ ยังไม่พร้อม ก็ไม่ต้องลงสมัครรับเลือกตั้งซึ่งตนยืนยัน เคารพสิทธิ เสรีภาพของทุกพรรค แต่ถ้าจะอ้างว่า บางพรรคการเมือง ไม่พร้อม คงไม่ได้ ขอให้นึกถึงประชาชนว่า อยากเลือกตั้ง ขณะนี้ก็ไม่มีเหตุปัจจัยอะไรให้เลื่อนเลือกตั้งออกไปอีก

ปชป.หนุนเลือกตั้งตามโรดแมป

ขณะที่น.ส.ผ่องศรี ธาราภูมิ นายทะเบียนพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเรื่องการเลื่อนเลือกตั้งหรือไม่ว่ารัฐบาล คสช.และกกต.ได้ย้ำมาโดยตลอดว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24ก.พ.2562ดังนั้นจึงไม่ควรมีอะไรเปลี่ยนแปลง ส่วนพรรคการเมืองก็มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกติกา ให้ถูกต้องตามกรอบกฎหมาย ส่วนข้ออ้างความไม่พร้อมของพรรคการเมืองใหม่นั้น ตนมองว่าหากตั้งมานานแล้วน่าจะเตรียมความพร้อมได้ทัน อีกทั้ง กำหนดการแข่งขัน ประกาศต่างๆก็ออกมานานแล้ว แม้จะรู้สึกเห็นใจ แต่ถ้าหากต้องรอก็อาจจะทำให้เกิดการรออย่างไม่ที่สิ้นสุด

ส่วนถึงคำสั่ง คสช.ที่16/2561 เกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งนั้น นายทะเบียนพรรค ปชป.ระบุว่าพรรคยังคงติดใจ เพราะเกี่ยวกับความเชื่อมั่นโดยเฉพาะหากทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปจะกระทบกับความเชื่อมั่นของประชาชนทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงการแบ่งเขตเลือกตั้งไปจากเดิม ตามกฎหมายกำหนดให้ดูจากพื้นที่ จำนวนประชากรกรณีใดผิดปกติ เหลื่อมล้ำ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ซึ่งพรรคจะได้ทำหนังสือส่งเพื่อยื่นให้ กกต.ทบทวนต่อไป

ด้านนายวิเชียร ชวลิต นายทะเบียนพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)ยืนยันว่าถ้ามีการลงเลือกตั้ง ในวันที่ 24ก.พ.ตามโรดแม็พที่วางไว้ เป็นไปตามระเบียบกฎเกณฑ์เดิม พรรคพลังประชารัฐไม่มีปัญหาและขอยืนยันความพร้อม ส่วนบางพรรคที่ไม่พร้อม ก็ถือเป็นเรื่องของแต่ละพรรค

กลุ่มพรรคเล็กยื่นกกต.เลื่อนเลือกตั้ง

วันเดียวกัน กลุ่มสหพรรคการเมืองไทย พร้อมกลุ่มการเมืองกว่า 10 พรรคนำโดยนายสาธุ อนุโมทามิ ว่าที่หัวหน้าพรรคพลังไทยดี ยื่นหนังสือต่อ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.ผ่านนายสมเกียรติ คงดี ผอ.สำนักกิจการการเลือกตั้ง เพื่อขอให้เลื่อนวันเลือกตั้งออกไปเป็นวันที่ 5 พ.ค.25622562 ซึ่งมีพรรคร่วมลงชื่อเสนอเลื่อนเลือกตั้ง อาทิพรรคพลังไทยดี พรรคชาติประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรคร่วมพัฒนาชาติไทย พรรคคนรุ่นใหม่ พรรคไทยใหม่ เป็นต้น

โดยนายสาธุกล่าวว่ากลุ่มสหพรรคการเมืองมองว่าการเลือกตังวันที่ 24 ก.พ.2562มีกรอบเวลาที่กระชั้นชิดจนทำให้พรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นใหม่เสียโอกาสที่จะลงไปนำเสนอนโยบายให้ประชาชนได้รับทราบและอาจกลายเป็นกับดักทางกฎหมายที่นำไปสู่ปัญหาทางการเมืองในอนาคต จึงเห็นว่าควรเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป เป็นวันที่ 5พ.ค.2562แทน อยู่ในกรอบเวลา150วันตามกฎหมายกำหนด เลื่อนออกไปเพียง 2 เดือน9วัน เพื่อให้พรรคการเมืองทุกพรรคพร้อม สำหรับการเลือกตั้งและจะเป็นการเลือกตั้งที่สมบูรณ์ แต่หากเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเกินกว่าวันที่ 5 พ.ค.2562 เราก็ไม่เห็นด้วย เพราะจะเลยกรอบเวลาตามที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มสหพรรคการเมือง ไม่มีใบสั่งจากใคร ตอนนี้มีพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองร่วมลงชื่อเสนอขอให้เลื่อนเลือกตั้งรวม13กลุ่ม

‘บุญจง-ทวี’เข้าซบ’พลังประชารัฐ

ส่วนบรรยากาศความเคลื่อนไหวพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)ยังอดีตนักการเมืองและประชาชนเดินทางมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคอย่างต่อเนื่อง อาทิ นายมนู เขียวคราม สจ.ภูเก็ต อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ นายอมร อินทรเจริญ นักธุรกิจ จ.ภูเก็ต โดยระบุว่าต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตทั้งด้านเอกชน ผู้ประกอบการต่างๆและคุณภาพชีวิตประชาชนให้มีความเชื่อมโยงต่อเนื่องกัน เพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าเมื่อท้องถิ่นและสนามการเมืองใหญ่อยู่ตรงข้ามกันการดำเนินการต่างๆอาจจะมีข้อติดขัดบ้าง

ช่วงบ่าย นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ อดีตรมช.มหาดไทย พรรคภูมิใจไทย นายทวี ไกรคุปต์ อดีต รมช.คมนาคม เดินทางมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคเรียบร้อย และมีรายงานว่า นายฐานิสร์ เทียนทอง อดีต รมช.มหาดไทย และอดีต ส.ส.สระแก้ว พรรคเพื่อไทย หลานของนายเสนาะ เทียนทอง ประธานที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทยและนางตรีนุช เทียนทอง อดีต สส.สระแก้ว ได้เข้ามาสมัครสมาชิกช่วงเย็นวันที่21พ.ย.ที่ผ่านมาเรียบร้อยแล้ว

‘บ้านริมน้ำ-พ่อมดดำ’มา23พ.ย.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 23 พ.ย.นี้นายสุชาติ ตันเจริญ แกนนำกลุ่มบ้านริมน้ำมีกำหนดนำอดีตส.ส.และสมาชิกในสังกัดจาก จ.ยโสธร มุกดาหาร นครพนม ร้อยเอ็ด มหาสารคามเข้ามาสมัครสมาชิกพรรค พปชร.รวมทั้งนางรัตนา จงสุทธานามณี อดีต ส.ส.เชียงรายหลายสมัย พรรคชาติพัฒนา และอดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงรายที่จะมาสมัครสมาชิก

ขณะที่ นายอิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์และนายจรัสฤทธิ์ จันทรสุรินทร์ อดีต ส.ส.ลำปาง พรรคเพื่อไทย บุตรชายนายพินิจ จันทรสุรินทร์ อดีตส.ส.ลำปาง พรรคไทยรักไทย ที่ประสานงานทางพรรคว่า จะเดินทางมาสมัครเป็นสมาชิกใน วันที่ 23 พ.ย.นี้ และมีรายงานว่าเวลา10.00น.นายกรุงศรีวิไล สุทินเผือก หรือ”กรุง ศรีวิไล” อดีตส.ส.สมุทรปราการ พรรคภูมิใจไทย พร้อมทีมผู้บริหาร อบจ.สมุทรปราการจะเดินทางเข้าสมัครสมาชิกพรรคด้วยเช่นกัน

‘เลิศวิโรจน์-ฐิติเชฏฐ์’เป็นกกต.

ที่รัฐสภา ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ได้พิจารณาเรื่องให้ความเห็นชอบบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ที่ยังค้างอยู่จำนวน2คน หลังคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรม โดยเสนอชื่อ นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และนายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฎ ที่ปรึกษาสภาทนายความ

หลังประชุมลับ 2 ชั่วโมง ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้บุคคลทั้งสองเป็นกกต.ด้วยคะแนน 149 ต่อ28 และ 149 ต่อ 27 คะแนน ไม่ลงคะแนน 8 คน ถือว่าทั้ง 2 คนได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนนเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิก สนช.ที่มีอยู่ในขณะนี้คือ240คน เท่ากับต้องได้เสียงเกิน 120 คะแนน จากนี้ ประธาน สนช.ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภาจะนำรายชื่อบุคคลทั้งสองขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: