PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2562

1 ก.พ.เทียบเชิญ "บิ๊กตู่" หวัง 7-7-7 ทำ win-win

1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช.
2.อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค-อดีดต รมว.อุตสาหกรรม
3.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาล

ทั้ง 3 ชื่อข้างต้น คือรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ตามมติคณะที่ประชุมกรรมการบริหารพรรค เมื่อวันพุธที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา ที่เคาะรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ออกมา ซึ่งทั้งหมดก็เป็นไปตามคาด และหลังจากนี้ แกนนำพรรคก็ดำเนินการตามขั้นตอน เช่น การที่แกนนำพรรคจะไปพบ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อส่งเทียบเชิญให้มาอยู่ในบัญชีรายชื่อนายกฯ ของพรรค ซึ่งมีข่าวว่าแกนนำพรรคจะไปพบ พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วงวันที่ 1 ก.พ. นี้ โดยหลังจากนั้น ก็ต้องรอดูว่า พล.อ.ประยุทธ์จะตอบตกลงในวันดังกล่าวทันทีเลยหรือไม่ หรือจะเว้นระยะสักช่วงหนึ่ง แต่ก็ต้องทำภายในไม่เกิน 8 ก.พ. ที่เป็นวันสุดท้าย ซึ่งพรรคการเมืองต้องแจ้งรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่จะเปิดรับสมัคร ส.ส.และรับแจ้งชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคการเมืองต่างๆ ในช่วง 4-8 ก.พ.

สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค พปชร. ให้เหตุผลมติดังกล่าวไว้ว่า พรรคจะให้ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นอันดับหนึ่ง เพราะเป็นนายกฯ ปัจจุบันและเป็นอดีตนายกฯในอนาคต ส่วนรายชื่อที่สองคือนายอุตตม เพราะเป็นหัวหน้าพรรค ส่วนรายชื่อที่สาม เพราะนายสมคิดเป็นบุคคลนอกที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ามา

เหตุที่พรรคเชิญ พล.อ.ประยุทธ์และนายสมคิด เพราะมีความรู้ความสามารถที่จะบริหารนำพาประเทศก้าวไปข้างหน้าได้ 2.เป็นบุคคลที่ประชาชนชื่นชอบ 3.มีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ และการทำงานที่ผ่านมามีจริยธรรม ถือเป็นคุณสมบัติหลักในการพิจารณา พรรคเลือกบุคคลที่เหมาะสมจะเป็นนายกฯของประเทศ ความหลากหลายทางความคิดก็เป็นข้อคิดเห็น ซึ่งทางพรรคก็ยังไม่ทราบท่านเหล่านี้จะรับการเป็นนายกฯ ของพรรคหรือไม่ ก็ขอให้พรรคดำเนินการตามขั้นตอนก่อน เพราะอาจจะเร็วไปที่จะพูดถึงสิ่งเหล่านั้น

ไม่ว่าชื่อใดจะเป็นนายกฯ ก็เป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตย ระบบของพรรคไม่ได้เกี่ยวข้องกับคสช. พรรคเดินตามแนวทางประชาธิปไตย และ พปชร.ก็ไม่ใช่พรรคของรัฐบาล เป็นพรรคที่กลุ่มคนต่างๆดำเนินการทางการเมือง เมื่อสุดท้ายพรรคพิจารณาแล้ว พรรคต้องมั่นใจว่าทั้ง 3 รายชื่อจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชน เลขาธิการพรรค พปชร.ระบุในการแถลงข่าวมติพรรค พปชร.

อย่างไรก็ตาม แม้แกนนำพรรค พปชร.จะบอกว่า ยังไม่แน่ใจว่า บิ๊กตู่” จะตอบรับหรือไม่กับเทียบเชิญดังกล่าว แต่ถึงตอนนี้ ใครต่อใครก็เชื่อกันไปหมดแล้วว่า กว่ามติ พชปร.จะออกมาดังกล่าว ระดับแกนนำพรรคที่ก็คือคนในรัฐบาล คสช.ด้วยกันเองกับ พล.อ.ประยุทธ์ ได้คุยปรึกษาหารือกันมาหมดแล้ว เพราะกระบวนการ จัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ ทุกคนก็รู้กันดีว่า ระดับแกนนำ คสช.ต่างก็รู้เรื่อง และยังให้การสนับสนุนมาตลอด ยิ่งมติ พปชร.ที่ออกมา ในการจะส่งชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ มีหรือที่เรื่องแบบนี้คนในพรรค พปชร. โดยเฉพาะ 4 อดีต รมต.ของพรรค ทั้งอุตตม สาวนายน, สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์, ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์, กอบศักดิ์ ภูตระกูล จะไม่คุยกับพล.อ.ประยุทธ์และสมคิดไว้ก่อนล่วงหน้า
ในความเป็นจริง มันมีทั้งการพูดคุย-เจรจา-ต่อรองไว้หมดเรียบร้อยตั้งนานแล้ว เพียงแต่กระบวนการต่างๆ ก็ต้องดำเนินการไปตามขั้นตอน เล่นไปตามสเต็ป

ยิ่งท่าทีของบิ๊กตู่ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ก็ชัดเจนแล้วว่าลงเล่นการเมือง เข้าสู่ way การเลือกตั้ง ผ่านการเป็นหนึ่งในบัญชีแคนดิเดตนายกฯ แน่นอน ดังนั้น แคนดิเดตนายกฯ ของ พปชร. ก็จะมีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์แน่นอน แม้ต่อให้ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์จะสงวนท่าทีไว้ก็ตาม

ขอดูก่อนสิ หลายๆ พรรคเขาก็สนับสนุนเรา แต่ปัญหาเราคือ เราเลือกได้พรรคเดียว ก็ดูก่อนว่านโยบายเขาเป็นอย่างไร(พล.อ.ประยุทธ์ 30 ม.ค.) ก่อนมติพรรค พปชร.ในช่วงเย็นวันเดียวกัน
เมื่อเป็นเช่นนี้ ดูตามหน้าไพ่การเมือง แคนดิเดตนายกฯ ที่จะชิงกันในช่วงการเลือกตั้ง ก็น่าจะมี 3 ขั้วใหญ่

1.ฝ่าย คสช.-พลังประชารัฐ นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ โดยมีบางพรรคเป็นพันธมิตรการเมืองร่วมสนับสนุน เช่น  รวมพลังประชาชาติไทย ของสุเทพ เทือกสุบรรณ
2.ขั้วเพื่อไทย-ทักษิณ ชินวัตร ที่จะชูชัชชาติ สิทธิพันธ์, คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ โดยมีกองหนุนจากพรรคเครือข่ายอาทิ ไทยรักษาชาติเพื่อชาติ เป็นต้น
3.ประชาธิปัตย์ นำโดยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งหาก ปชป.ต้องการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก็ต้องทำให้ได้เสียงส.ส.มาเป็นอันดับ 2 รองจากเพื่อไทย เพื่อต่อรองกับ พปชร.ได้แบบสมน้ำสมเนื้อ

ขณะที่บางพรรค ที่แกนนำหวังจะขอเป็น นายกฯ ตาอยู่ เช่น อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ดูแล้วแม้การเมืองอะไรก็เกิดขึ้นได้ แต่เส้นทางของอนุทินในการลุ้นเก้าอี้นายกฯ ยังไม่น่าจะเกิดขึ้นในศึกเลือกตั้งรอบนี้ เช่นเดียวกับหัวหน้าพรรคการเมืองอีกหลายพรรค ที่พยายามจะชูตัวเองเป็นนายกฯ อาทิ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แห่งอนาคตใหม่, พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส จากพรรคเสรีรวมไทย ในความเป็นจริง ก็คงเป็นแค่สีสันการเมืองเท่านั้น โอกาสลุ้นถึงขั้นจะเป็นนายกฯ คงเป็นแค่ความฝัน
ขณะที่มุมวิเคราะห์การเลือกตั้งจากแกนนำพรรคพลังประชารัฐ อย่าง ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรค มือเขียนนโยบายพรรค พปชร.7-7-7 ซึ่งเป็นแคมเปญนโยบายหลักที่ พปชร.จะใช้ในการหาเสียงหลังจากนี้ ภายใต้การชู 3 เรื่องใหญ่คือ
"สวัสดิการประชารัฐ, เศรษฐกิจประชารัฐ, สังคมประชารัฐ

ดร.สุวิทย์ วิเคราะห์ว่า ปัจจัยชี้ขาดผลเลือกตั้งมีสามปัจจัยคือ นโยบาย ตัวผู้นำ ตัวผู้สมัคร ส.ส.ในพื้นที่ ขาดปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งไม่ได้ เช่น ผู้สมัคร ส.ส.หากไม่ทำการบ้านในพื้นที่ พรรคก็ไม่ได้เสียง แต่หากเขาเป็นที่รู้จัก แต่ทว่านโยบายพรรคไม่ชัดเจน ก็ไม่สามารถตอบโจทย์ได้และปัจจัยสุดท้ายคือเรื่องตัวผู้นำแคนดิเดตนายกฯ

ถ้าได้ พล.อ.ประยุทธ์มาก็สุดยอดเลย เพราะจะไปด้วยตัวของมันอยู่แล้ว"

พร้อมกับย้ำว่า “หัวใจสำคัญของนโยบาย 7-7-7 ของพรรคพลังประชารัฐ มุ่งไปที่ ต้องขจัดความเหลื่อมล้ำ ที่จะต้องไปพร้อมกับการก้าวข้ามความขัดแย้ง ซึ่งสังคมไทยในอดีตเป็นสังคมที่ดีมาก เป็นสังคมอบอุ่น ช่วยเหลือแบ่งปัน แต่การเมืองช่วงก่อน 22 พ.ค.57 มีความขัดแย้ง แตกแยกกัน ซึ่งนอกจากขจัดความเหลื่อมล้ำแล้ว ต้องก้าวข้ามความขัดแย้งด้วย นโยบาย 7-7-7 จึงมีความเชื่อมโยงต่อกันเพื่อตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนและลดความเหลื่อมล้ำ

นโยบาย 7-7-7 ของ พปชร.จะเป็นพลังหนุนให้ พปชร. ได้เสียง ส.ส.ตามที่ต้องการ จนได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล รวมถึงทำให้บิ๊กตู่คัมแบ็ก กลับตึกไทยคู่ฟ้ารอบสองหลังเลือกตั้งได้หรือไม่ ต้องรอดูเมื่อถึงช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง กระแสขานรับนโยบาย 7-7-7 และชื่อของบิ๊กตู่ในบัญชีแคนดิเดตนายกฯ ของ พปชร.จะมีมากน้อยแค่ไหน ในช่วงยามที่บิ๊กตู่ถอยหลังไม่ได้ ต้องเดินหน้าลูกเดียว.

ไม่มีความคิดเห็น: