PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2562

7พรรคร่วมเสนอทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจ



“เศรษฐกิจ” เป็นเรื่องที่ประชาชนชาวไทยเครียดและทุกข์ตลอด 4 ปีกว่าๆ ที่ผ่านมา สะท้อนผ่าน “ผลโพลล์” ที่ไม่ว่าจะสำนักใด สำรวจเวลาไหนในช่วงเวลาดังกล่าว “ปากท้อง” เป็นเรื่องอันดับ 1 ที่ประชาชนเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจช่วยแก้ไขให้ดีขึ้น และเมื่อ “ปี่กลองเลือกตั้ง” ดังขึ้นเพื่อนับถอยหลังสู่วันหย่อนบัตรลงคะแนน อาทิตย์ที่ 24 มี.ค. 2562 พรรคการเมืองต่างๆ ก็ออกมาแสดงวิสัยทัศน์ ประกาศนโยบายหลากหลายด้านกันอย่างไม่มีใครยอมใคร

ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สภาธุรกิจตลาดทุนไทย จัดการสัมมนา “นโยบายเศรษฐกิจและตลาดทุนไทยภายใต้รัฐบาลหลังเลือกตั้ง” ณ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ข้างสถานทูตจีน) ถ.รัชดาภิเษก กรุงเทพฯ มีตัวแทนพรรคการเมือง 7 พรรค ประกอบด้วย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคไทยรักษาชาติ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทย ร่วมชี้มุมมองการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจหากได้เป็นรัฐบาล
เริ่มกันที่ “แชมป์เก่า” ในการเลือกตั้งสมัยที่แล้วเมื่อปี 2554 “พรรคเพื่อไทย” ส่งตัวแทนคือ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง แสดงวิสัยทัศน์ แบ่งเศรษฐกิจเป็น 4 ด้าน 1.การส่งออกภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรมไม่ต้องช่วยอะไรมาก ภาครัฐอย่าเป็นอุปสรรคก็พอ ส่วนการท่องเที่ยวภาครัฐต้องไปทำให้เกิดการบูรณาการร่วมกันของภาคส่วนต่างๆ เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในแต่ละระดับ
2.การลงทุนภาคเอกชน เรียกร้องให้ “บีโอไอ” (BOI) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับภาคเกษตร ไม่สนับสนุนอุตสาหกรรมที่จ้างแรงงานไทยน้อย ใช้วัตถุดิบในประเทศน้อยหรือก่อมลภาวะสูง 3.การจับจ่ายใช้สอย ประเด็นนี้เล่าย้อนถึงนโยบาย “ค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศ” เพราะทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น แรงงานตั้งใจทำงานขึ้น และกระตุ้นให้ผู้ประกอบการพัฒนาคุณภาพการผลิต 4.การใช้จ่ายภาครัฐ มองว่า “รัฐไม่ต้องเก็บภาษีมากเกินไป” เก็บแต่พอดีแล้วให้ประชาชนมีเงินติดกระเป๋าไว้จะดีกว่า
ด้านคู่แข่งสำคัญที่ขับเคี่ยวกันมานานอย่าง “พรรคประชาธิปัตย์” นายกรณ์ จาติกวณิช เข้าร่วมนำเสนอ ชูนโยบาย “ประกันรายได้” ที่ทำสำเร็จกับภาคเกษตรมาแล้วเมื่อครั้งเป็นรัฐบาล เตรียม “ต่อยอด” จากชาวนา ชาวไร่มัน ชาวไร่ข้าวโพด สู่ชาวสวนยางและชาวสวนปาล์ม หลังพบระยะหลังๆ ราคาผลผลิตตกต่ำ อีกทั้ง “ขยายผลถึงผู้ใช้แรงงาน” ประกาศก้อง “ต้องไม่มีคนไทยที่รายได้ต่ำกว่า 1.2 แสนบาทต่อปี” โดยรัฐจะจ่ายส่วนต่างที่ขาดให้สำหรับประชาชนที่รายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ข้างต้น ย้ำ “ไม่เป็นภาระงบประมาณบานปลาย” แน่นอน
ขณะที่พรรคหน้าใหม่แต่กระแสแรง ถูกพูดถึงมากขณะนี้อย่าง “พรรคพลังประชารัฐ” หัวหน้าพรรค นายอุตตม สาวนายน เปิดตัวด้วยการย้ำว่า “สวัสดิการประชารัฐไม่ใช่การแจก แต่เป็นการให้โอกาสในสิ่งที่ประชาชนควรจะได้มานานแล้วแต่กลับไม่ได้” ซึ่งจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในระยะยาว ประชาชนไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง และยังกล่าวเน้นย้ำ “ความสำคัญของเทคโนโลยี” ต้องทำให้เข้าถึงคนไทยทุกภาคส่วน
เพื่อให้ร่วมสร้างประเทศก้าวหน้าไปด้วยกัน ไม่ว่าภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จนถึงประชาชนทั่วไป รวมถึง “เขตเศรษฐกิจเชื่อมโยงเพื่อนบ้าน” ต่อยอดจากระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เพื่อกระจายความเจริญ ภาครัฐต้องทำงานร่วมกับภาคเอกชน พร้อมเสนอให้พัฒนา “กองทุนเพื่อผู้ประกอบการรายกลาง - รายเล็ก” ตลาดทุนจะมีส่วนร่วมได้อย่างไร?
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ วันนี้มาเป็นตัวแทน “พรรคไทยรักษาชาติ” เริ่มต้นด้วยการออกตัวก่อน “ผมอยู่พรรคไทยรักษาชาตินะครับ..เดี๋ยวจะเข้าใจว่าอยู่เพื่อไทย” แล้วจึงกล่าวนิยามนโยบายของพรรคที่ยึดหลัก “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส” ซึ่งแม้จะดูคล้ายกับพรรคเพื่อไทย แต่ความต่างคือ “ใส่เรื่องเทคโนโลยีเข้าไป” พร้อมชูนโยบาย “Code Thailand” ชวนคนไทยเสนอไอเดียปฏิรูปประเทศ “ทำจากเรื่องเล็กๆ ใกล้ตัวในท้องถิ่นก็ได้” เขียนแนวทางเสนอให้ภาครัฐช่วยสนับสนุน ปัญหาต่างๆ ก็จะค่อยๆ ถูกแก้ไขไปได้
นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษา “พรรคชาติพัฒนา” เสนอมุมมองน่าคิด “ใครแก้จนที่อีสานได้ก็แก้จนทั้งประเทศไทยได้” ให้เหตุผลว่า “เพราะคนไทย 1 ใน 3 เป็นคนอีสาน” จึงเสนอนโยบาย “เปิดประตูสู่ทะเลให้อีสาน” ด้วยการสร้างถนนมอเตอร์เวย์ จาก จ.นครราชสีมา อ.ปักธงชัย มุ่งหน้า อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ไปถึงท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี บวกกับ “เปิดประตูอีสานสู่อินเตอร์” เชื่อมเส้นทางจากเมืองเว้ - ดานัง ของเวียดนาม ผ่านภาคอีสานไปออก จ.กาญจนบุรี เข้าสู่เมียนมา เศรษฐกิจอีสานจะดีขึ้นมาทันทียุติสถานะภาคที่จนที่สุดของประเทศได้
“พรรคภูมิใจไทย” หัวหน้าพรรค นายอนุทิน ชาญวีรกูล บอกว่าการพัฒนาเศรษฐกิจเบื้องต้นไม่ต้องทำอะไรมาก “แค่ลบคำว่าดุลพินิจออกไปก็พอ” ด้วยความที่เติบโตมาจากคนทำธุรกิจ จึงรู้ดีว่า “ผู้ประกอบการหรือประชาชนเวลาจะขออนุญาตอะไรสักอย่างขั้นตอนยุ่งยากไปหมด” รวมถึงความล่าช้าในการพิจารณา “ถ้ากิจการไม่เริ่มการจ้างงานก็ไม่เกิด”จึงเสนอว่าหน่วยงานราชการต้องนำวิธีแบบตลาดหลักทรัพย์ไปใช้ “บริษัทใดทำได้ครบถ้วนตามเงื่อนไขก็ต้องอนุมัติทันที” แล้วค่อยไปตรวจสอบและดำเนินการทีหลังหากพบว่ากระทำผิด
ปิดท้ายที่ “พรรคชาติไทยพัฒนา” นายสัมพันธ์ แป้นพัฒน์ รองหัวหน้าพรรค กล่าวว่า “ต้องลดต้นทุนการผลิตในภาคเกษตร” โดยเฉพาะ “แหล่งน้ำ - ไฟฟ้า” ถ้าไม่ลดต้นทุนตรงนี้เกษตรกรก็ไม่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สุดท้ายก็อาจท้อแท้และเลิกทำ กระทบต่อการเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของประเทศและของโลก และ “ดึงคนมีความสามารถร่วมพัฒนาการท่องเที่ยว” ก่อนทิ้งคำถามด้วยความที่มาจากคนทำธุรกิจโรงแรม เคยได้ยินกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา บอกว่าโรงแรมไม่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเพราะขอใบอนุญาตที่กระทรวงมหาดไทย..สมควรแก้ไขหรือไม่!!!

ไม่มีความคิดเห็น: