PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เทือกเป่านกหวีด! ปลุกมวลชนต้านล้างผิดทักษิณจำต้องล้มปู/ปชป.ดีเดย์31ก.ค.

ข่าวหน้า 1 ไทยโพสต์
28 July 2556 - 00:00

  ประชาธิปัตย์จ่อสวมบทแกนนำม็อบ สั่งมวลชนเก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋าเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อขัดขวางกฎหมายล้างความผิด “สุเทพ” ประกาศรบเต็มตัว ลั่นพร้อมเป่านกหวีดแล้ว ส่วนนักเคลื่อนไหว นักวิชาการเปิดวงชำแหละแผนนิรโทษสกรัมประเทศไทย    ขณะที่อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญระบุไม่มีกฎหมายรองรับนิยามคำว่าผู้มีอำนาจตัดสินใจและสั่งการ จึงเปิดช่องให้แกนนำพ้นผิดได้ ด้านเสนาธิการร่วมฯ ยัน 4 สิงหา.ชุมนุมโค่นระบอบทักษิณ

ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับของนายวรชัย    เหมะ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ซึ่งสภาจะนำขึ้นมาพิจารณาเป็นวาระเร่งด่วนเรื่องแรกในวันที่ 7 ส.ค.นี้ ถูกต่อต้านอย่างกว้างขวางจากหลายกลุ่ม โดยล่าสุดเมื่อวันเสาร์ ที่สวนเบญจสิริ พรรคประชาธิปัตย์จัดเวทีผ่าความจริงเรื่อง “หยุดกฎหมายล้างผิดคิดล้มรัฐธรรมนูญ หยุดเงินกู้ผลาญชาติ หยุดอำนาจฉ้อฉล” ครั้งที่ 57

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง ปราศรัยว่า วันนี้ประชาชนอย่าถามสองคำถามคือ อย่าถามว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเอายังไง เพราะรู้อยู่แล้วว่ายังไงพรรคประชาธิปัตย์ต้องค้านแน่นอน เพราะรู้ว่าสู้ตามระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาไม่มีทางชนะ ข้อสองอย่าถามว่าทหารเอายังไง เพราะทหารก็มีความสุขกับการได้ตำแหน่งและผลประโยชน์ที่ลงตัวที่นายกรัฐมนตรีจัดสรรให้ ดังนั้นต้องถามว่าเราจะเอายังไงถ้าเห็นว่าสิ่งใดไม่ชอบด้วยกฎหมาย

“วันนี้สังคมไม่ต้องการคนดี แต่ต้องการคนกล้า เพราะฉะนั้นถ้าต้องการชนะ ก็ต้องกล้าที่จะสู้ และเมื่อสู้แล้วอย่าหวังว่าทหารจะออกมาช่วย เพราะทหารกลัวเสื้อแดงมากกว่ากลัวประชาชนที่สุจริต วันนี้ผมรอสัญญาณว่าพรรคจะเป่านกหวีดเมื่อไหร่ และถ้าเป่าผมจะออกไปสู้กับประชาชน และถ้าออกไปสู้แล้วผมจะไม่เห็นว่าประชาชนบาดเจ็บล้มตาย เพราะผมจะตายก่อนในฐานะแกนนำ พร้อมฝากถามนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ว่าจะปล่อยให้ ส.ส.ของพรรคเป็นอิสระเพื่อไปขึ้นเวทีเพื่อต่อสู้ร่วมกับประชาชนได้หรือไม่ เพราะหากสู้เพียงในสภาก็ไม่มีทางชนะ” นายนิพิฏฐ์กล่าว

สั่งเก็บกระเป๋าเข้ากรุง

    นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง กล่าวว่า ขอให้ประชาชนเก็บกระเป๋าแล้วเดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯร่วมเวทีผ่าความจริงพรรคประชาธิปัตย์ ที่บริเวณสกายวอล์ก สถานีรถไฟฟ้าช่องนนทรี ในวันที่ 31 ก.ค.นี้ วันดังกล่าวมีความสำคัญ เพราะในวันที่ 1 ส.ค. จะเปิดการประชุมสภา ซึ่งวันดังกล่าวอาจจะมีการยกเว้นข้อบังคับสภาเพื่อนำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย หากวันที่ 1 ส.ค. มีการพิจารณาทันที ก็ขอให้ประชาชนมาพบกันได้ทันที

นายสาทิตย์กล่าวว่า แต่หากวันที่ 1 ส.ค. ไม่พิจารณา และนำเข้าที่ประชุมวันที่ 7 ส.ค.นั้น ก็ขอให้ประชาชนไปร่วมเวทีผ่าความจริงในวันที่ 3 ส.ค. ที่ตลาดปัฐวิกรณ์, วันที่ 4 ส.ค. ที่โรงเรียนมัธยมประชานิเวศน์ เขตจตุจักร, วันที่ 5 ส.ค. ยังไม่กำหนดสถานที่ และวันที่ 6 ส.ค. จัดที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จากนั้นให้รอดูวันที่ 7 ส.ค.ที่มีการประชุมสภา

ต่อมา นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี   พรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นเวทีปราศรัยอย่างดุเดือดมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาว่า เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย หากผ่านสภาได้ และกฎหมายออกมาบังคับใช้วันไหน คนที่ได้ประโยชน์คือบรรดาสมุนและขี้ข้าของ พ.ต.ท.ทักษิณเท่านั้น คนที่นำจรวดอาร์พีจียิงวัดพระแก้ว ที่เจ้าหน้าที่จับตัวได้และจำเลยรับสารภาพนั้นก็จะได้กลับบ้านทันที คนที่เผาศาลากลางก็จะกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ กลับบ้านได้หมดทุกคน คนที่กำลังขึ้นศาลอยู่อย่างน้อยที่สุดมีอยู่ 24 คนที่มีคดีอยู่ในศาลในฐานะเป็นจำเลยข้อหาก่อการร้าย คนที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อาฆาตมาดร้าย ก็จะได้กลับบ้านและกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ นอกจากนี้ยังมีคดีอื่นๆ อีกร้อยคดีที่เจ้าหน้าที่สอบสวนและที่อัยการเตรียมฟ้องศาล ยกเลิกหมด

นายสุเทพกล่าวต่อว่า คนไทยทั้งประเทศต้องสำเหนียกว่า กฎหมายของนายวรชัยจะมีผลขนาดนั้น ไม่มีที่ไหนในโลกที่คนเป็นอาชญากรไม่ต้องรับผิดหรือถูกลงโทษ แต่เกิดขึ้นในประเทศไทย ทุกประเทศในโลกเขามีกฎหมายเพื่อดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง เพื่อคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน หากทำผิดฐานข่มขืน ฆ่าคนตาย ต้องถูกพิจารณาคดี แต่เขากำลังจะทำกับประเทศไทย ทำไมเขาทำได้ เพราะเขาถือว่ามีพวกมากอยู่ในสภาที่จะยกมือให้กฎหมายผ่านและมีผลบังคับใช้ในไทย ถ้าทำแบบนี้ได้หมายความว่าคนที่ฆ่าคนตาย คนที่วางเพลิงเผาทรัพย์ ถ้าเป็นคนที่มีพวกมากก็จะออกกฎหมายล้างผิดให้ แปลว่าความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายหมด ไม่เหลืออีกแล้ว ใครก็สามารถฆ่าคนได้ถ้ามีพวกมาก ใครก็ได้ไปข่มขืนลูกสาวประชาชนได้ถ้ามีพวกมาก ก็ออกกฎหมายล้างผิดให้

    ตอนท้าย นายสุเทพปราศรัยว่า “ผมกราบเรียนกับพี่น้อง การต่อสู้ในช่วงนี้ ลุกขึ้นมาแสดงพลัง รัฐบาลจะได้คิดและหยุดการกระทำ แต่ถ้ายังดื้อออกกฎหมาย ไม่ฟังใครกะโหลกหนา เราก็จะลุกขึ้นตบกะโหลกมัน ถึงวันนั้นถ้าล้มรัฐบาลก็ต้องล้มมัน เอาไว้ไม่ได้แล้ว เพราะไม่เห็นกับประชาชนและชาติบ้านเมือง วันนี้สู้ไปตามลำดับขั้นตอน ดูซิว่ายิ่งลักษณ์จะไปอยู่ดูไบหรือเราต้องขุดรูอยู่ ช่วยกันเป็นสมองช่วยกันคิดขั้นตอน ตอนนี้ถ้าอยากเป่านกหวีดก็ให้เป่าไปพลางๆ ก่อน ให้รอดูว่าหากวันที่ 7 ส.ค. สู้ในสภาแล้วแพ้ ก็ให้เป่านกหวีดยาวไม่เลิกแล้วเป่าไปทั้งเดือนเลย”

วันเดียวกัน ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกคอกวัว  กลุ่มกรีน (Green Politics) ร่วมกับวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต, สถาบันพัฒนาการเมือง, ชมรม ส.ส.ร. 50, คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย, ชมรมนักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (SVN) ได้จัดเสวนาเรื่อง “ผ่าแผนระบอบทักษิณ จากนิรโทษกรรมสู่ปฏิบัติการยึดอำนาจกองทัพไทย”

นายสมชาย แสวงการ สว.สรรหา กล่าวว่า ได้รับมอบจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ให้ติดตามการทำงานเหตุการณ์เกี่ยวกับการชุมนุม ซึ่งได้ติดตามเหตุการณ์ต่างๆ ตั้งแต่กรณีนายขวัญชัย ไพรพนา แกนนำคนรักอุดรฯ นำคนไปทำร้ายเสื้อเหลืองที่อุดรธานี คดีนี้ศาลชั้นต้นได้ตัดสินแล้ว ซึ่งหากศาลอุทธรณ์ดำเนินการต่อก็คงจะติดคุกแน่ และกรณีทำร้ายนายเทิดศักดิ์ เตียววิวัฒน์ ที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งถูกคนเสื้อแดงทำร้าย ศาลได้ตัดสินจำคุกคนละ 22 ปี ซึ่งก็ได้รับการประกันตัวไปแล้ว ตอนนี้คดีหากรอให้ถึงศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาก็คงติดคุกกัน

“คดีน้องโบว์เมื่อปี 51 มีการตั้งข้อกล่าวหาหลายคน รวมถึงนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีก็เป็นหนึ่งในนั้น หรือชุมนุมปี 53 มีชายชุดดำ แต่ดีเอสไอกลับไม่รู้ว่ามีอาวุธต่างๆ ที่ใช้ในการชุมนุม ซึ่งแกนนำรู้ ทั้งที่มีหลักฐานมากมาย ด้วยเหตุเหล่านี้จึงเป็นเหตุผลที่ทำไมเขาต้องการนิรโทษกรรม เป็นการเร่งเพื่อให้พ้นผิด” นายสมชายกล่าว

นายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า การออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อให้เกิดความสามัคคีของคนในชาติ และคาดหวังว่าคนเหล่านี้จะไม่กลับไปทำความผิดอีก แต่ที่เห็นคงไม่มีทางที่จะเป็นแบบนั้น กฎหมายนิรโทษกรรมทุกฉบับไม่มีคำนิยามของคำว่าการเมือง เพราะฉะนั้นจะทำอะไรก็อ้างการเมือง หมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็อ้างการเมือง เผาห้างก็อ้างการเมือง เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีความจำกัดที่ชัดเจนเกี่ยวกับชุมนุมทางการเมือง ต่อสู้ทางการเมือง คงยอมรับไม่ได้ ทั้งนี้ ตนสนับสนุนแนวทาง คอป. ที่จะนิรโทษกรรมคนที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินเท่านั้น แต่ไม่รวมถึงความผิดอื่นที่ทำลายชีวิตหรือทำลายสถานที่

“ส่วนคำว่า การยกเว้นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ ซึ่งไม่มีการชี้ชัดในส่วนนี้ ไม่มีใครยอมรับว่าเป็นแกนนำ ทุกวันนี้ ทักษิณไม่กล้าพูดว่าเป็นผู้นำมวลชน หากไม่มีใครออกมายอมรับว่าเป็นแกนนำ ก็คงมีคนได้รับนิรโทษกรรมทั้งหมด” นายนิติธรกล่าว

ชำแหละนิรโทษสกรัมไทย

นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน กล่าวว่า เปรียบเทียบกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ ได้แก่ ฉบับของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และฉบับของนายวรชัย เหมะ และฉบับของญาติเสื้อแดง กลุ่มของนางพะเยาว์ เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ฉบับของนางพะเยาว์น่าคุยด้วยมากที่สุด แต่หากนำทั้ง 3 ฉบับมารวมกัน จะกลายเป็นการเดินหน้าแบบทะลุซอย โดยเฉพาะในชั้นการแปรญัตติ เพราะติดล็อกทักษิณไม่ยอมให้นิรโทษฯ ถ้าไม่รวมตัวเองเข้าไปด้วย เพราะฉะนั้นสมมติฐานของตนเป็นไปได้ว่าจะมีการนำทั้ง 3 ร่างมารวมเข้าด้วยกัน เพราะฉะนั้นในปลายเดือนสิงหาคมจึงเป็นช่วงที่มีความสุ่มเสี่ยงทางการเมืองมาก

นายสุริยะใสกล่าวต่อว่า ขอพูดถึงฉบับของนายวรชัย ซึ่งร้ายแรงกว่าการรัฐประหาร เพราะมีการยึดอำนาจตุลาการโดยฝ่ายการเมือง ลบล้างคำพิพากษาของศาล ซึ่งหลายคดีมีหลักฐาน พยาน มีการพิพากษาไปแล้ว จึงขอตั้งข้อสังเกตร่างกฎหมายฉบับของนายวรชัย และตั้งคำถามไปยังคนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทย คือ 1.ที่บอกว่าจะนิรโทษกรรมประชาชนไม่รวมแกนนำนั้น มีคำนิยามชัดเจนอย่างไร แค่ไหน และใครกำหนด พ.ต.ท.ทักษิณอยู่ตรงไหน2.กฎหมายฉบับนี้ควรระบุมาตรา 3 ให้ชัดเจนว่านิรโทษกรรมคดีใดบ้าง 3.ที่กลุ่มเสื้อแดงระบุว่าได้ชุมนุมโดยสันติวิธี แต่ทำไมต้องมีการนิรโทษกรรมให้กับตัวเอง ในเมื่ออ้างว่าชุมนุมกันอย่างสุจริต 4.ร่างกฎหมายฉบับนายวรชัย ลึกๆ แล้วจะนำไปสู่ปลายทางเพื่อฟอกผิดทั้งหมดหรือไม่ และ 5.ถามไปยังนายกรัฐมนตรีโดยตรงว่าหากร่างกฎหมายนี้เป็นเงื่อนไขให้นำไปสู่ความแตกแยกสงครามกลางเมือง ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

"สุดท้ายผมอยากเรียกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของของวรชัย และกระบวนการระบอบทักษิณที่ผลักดันในขณะนี้ ที่พยายามแทรกแซงยึดอำนาจตุลาการ สั่งศาลปล่อยนักโทษ สั่งให้อัยการหยุดสอบสวนตั้งข้อหา ให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกหมายจับหยุดสอบสวนทั้งหมด ซึ่งคำสั่งของคณะรัฐประหารไม่เคยทำมาก่อน ผมอย่างเรียกมันว่า พ.ร.บ.นิรโทษสกรัมประเทศไทย สกรัมนะ ไม่ใช่กรรม คือกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับ กระทืบประเทศไทยนั่นแหละ" นายสุริยะใสกล่าว

นายคมสัน โพธิ์คง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า การนิรโทษกรรมที่มีการพูดคุยตกลงกันในคลิปสนทนาคล้ายเสียงของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กับ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมช.กลาโหม มีความเป็นไปได้ที่จะออกเป็นพ.ร.บ.นิรโทษกรรมและ พ.ร.บ.จัดระเบียบข้าราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 เพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างคณะกรรมการในการแต่งตั้งนายทหารระดับนายพล เพื่อให้มีการตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากรัฐบาลเข้าไปทำหน้าที่เพิ่มอีก 7 คน

นายคมสันกล่าวต่อว่า หากให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพออกคะแนนเสียงรวมกันก็ไม่สามารถออกเสียงชนะฝ่ายการเมืองได้ ดังนั้นจึงต้องจับตาการแต่งตั้งที่อาจมีการตกลงแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ร่วมกันเพื่อยึดอำนาจกองทัพแบบเบ็ดเสร็จ 100 เปอร์เซ็นต์

เสนาธิการร่วมฯ พร้อมม็อบ

    นายไทกร พลสุวรรณ ผู้ประสานงานกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม ในฐานะโฆษกกลุ่มเสนาธิการร่วมกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ เปิดเผยว่า หลังจากได้ยื่นข้อเรียกร้อง 6 ข้อให้รัฐบาลพิจารณานั้น ในวันนี้ (27 ก.ค.) ครบ 7 วัน ตามที่ได้กำหนดไว้ แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลแต่อย่างใด ทางแนวร่วมกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณจึงมีความชอบธรรมอย่างเต็มที่ในการนัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 4 สิงหาคมนี้

     นายไทกรกล่าวต่อว่า การชุมนุมดังกล่าวยึดหลักการชุมนุมคือ ต้องเป็นไปด้วยความสงบ ปราศจากอาวุธ  ไม่บุกยึดหรือเผาสถานที่ราชการและเอกชน ผู้ร่วมชุมนุมทุกคนต้องได้รับความปลอดภัยสูงสุด และสถานที่ชุมนุมนั้นจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์

นายมานิต วิทยาเต็ม อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ กล่าวถึงกรณีร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิด เนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ที่นำเสนอโดยนายวรชัย ว่าตนยังไม่ได้อ่านร่างของนายวรชัย แต่ถ้าในประเด็นที่มีการระบุในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ว่าการนิรโทษฯ จะไม่รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าว นั้นเป็นไม่มีการระบุให้ชัดเจน

“หากมีการออกกฎหมายในลักษณะนี้ออกมาจริง จะต้องมีการตีความกฎหมาย โดยส่งให้ศาลเป็นผู้ตัดสินว่าใครเป็นแกนนำหรือไม่ใช่แกนนำที่จะได้รับประโยชน์นิรโทษกรรมจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ ในกรณีมีผู้ที่อ้างว่าตนไม่ใช่แกนนำ หรือมีผู้สั่งการได้รับผลประโยชน์จาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้นมา แต่เมื่อมีผู้พบเห็นเดินทางไปแจ้งความดำเนินคดี ว่าคนผู้นั้นเป็นแกนนำสั่งการ ไม่สมควรได้รับผลประโยชน์จาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้นมา คดีจะต้องขึ้นสู่ศาลให้เป็นผู้ตัดสินชี้ขาด” นายมานิตกล่าว

เมื่อถามว่า หากเป็นเช่นนั้นแล้ว พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านสภาและมีผลบังคับใช้ขึ้นมาจะทำให้เกิดคดีความตามมามากมายจนเกิดความวุ่นวายหรือไม่ นายมานิต กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับว่ามีคนเข้าไปร้องทุกข์แจ้งความถึงคนที่อ้างว่าได้รับผลประโยชน์จาก พ.ร.บ.ฉบับนี้มากเท่าไหร่ ถ้ามีมาก คดีความที่ศาลพิจารณาก็จะเยอะ ถ้ากฎหมายออกมาแล้วไม่มีคำนิยาม ก็ต้องให้ศาลชี้ขาด ถ้าออกมาลักษณะนี้ก็ต้องแปลได้แบบนี้

ด้านนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ไม่รู้สึกหนักใจกับการประชุมรัฐสภาสมัยสามัญทั่วไปที่จะเริ่มขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้ เชื่อว่าไม่มีเหตุการณ์ความไม่สงบทั้งในและนอกรัฐสภา โดยบรรยากาศในห้องประชุมจะเป็นไปอย่างเรียบร้อย พูดคุยกันด้วยเหตุผล ไม่รุนแรงเหมือนครั้งที่ผ่านมา ซึ่งถึงเวลาที่ทุกฝ่ายจะต้องหันหน้าเข้าหากันเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ

        สำหรับกรณีที่ฝ่ายค้านเกรงว่าจะมีการนำร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองเข้าร่วมพิจารณาพร้อมกับร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมนั้น นายสมศักดิ์กล่าวว่า คงไม่เกิดขึ้น เพราะตามที่คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) แจ้งมา จะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเพียงฉบับเดียว ส่วนกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีคดีติดตัวและได้ลงชื่อเห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมนั้น เป็นสิ่งที่กระทำได้ตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ

ยัน นปช.ไม่เผชิญหน้า

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเปิดประชุมสภาที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม  โดยมีการนำเอาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมขึ้นมาพิจารณาเป็นวาระแรก ซึ่งมีทั้งกลุ่มคัดค้านและสนับสนุน ซึ่งอาจจะไปสู่การเผชิญหน้าว่าทราบว่าทางฝ่ายของ นปช. พยายามหลีกเลี่ยงอยู่แล้ว ในการไม่ให้เกิดการประจันหน้ากัน ในส่วนของกลุ่มอื่นๆ การแสดงความคิดเห็นและการแสดงในวิถีทางประชาธิปไตยรัฐบาลเข้าใจและสนับสนุนให้มีการแสดงออก และพร้อมจะรับฟังความคิดเห็นของทุกกลุ่มในส่วนที่เป็นประโยชน์ไปพัฒนาไปปรับปรุง แต่ขอให้อยู่ในกรอบของแนวทางประชาธิปไตย

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกพรรคเพื่อไทย  กล่าวว่า การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับของ นายวรชัยนั้นไม่ได้ช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และแกนนำผู้ชุมนุมต่างๆ ตามที่พรรคประชาธิปัตย์กล่าวหา แต่เป็นการช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่มทุกสีที่ได้รับโทษจากการชุมนุมทางการเมือง โดยขอเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ร่วมมือในการพิจารณา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อประโยชน์ของประชาชน

        “ขณะนี้พบว่ามีพรรคการเมืองบางพรรคระดมคนจากภาคใต้และปริมณฑลให้มาชุมนุมกดดันรัฐบาลในวันที่มีการพิจารณา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม อย่างไรก็ตามยืนยันว่าตลอดเดือนสิงหาคมนี้จะไม่มีความวุ่นวายเกิดขึ้นอย่างแน่นอน” นายอนุสรณ์กล่าว

นายอนุสรณ์ปฏิเสธว่า พรรคไม่มีนโยบายขนคนเข้ามาปกป้องรัฐบาล หลังจากลงพื้นที่ภาคอีสานและพบว่า มีการเชิญชวนให้ค่าจ้างวันละ 300 บาท ถ้าเหมารวมสัปดาห์ละ 2,000 บาท และบอกด้วยว่าไม่ต้องใส่เสื้อแดง แต่แกนนำเสื้อแดงก็ได้ห้ามแล้วว่าระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และการชุมนุมของกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ วันที่ 4 ส.ค.ขอให้ทุกคนอย่าออกมา เพราะจะเป็นการสร้างเงื่อนไขให้เกิดการเผชิญหน้าของคนสองกลุ่ม ขอให้มั่นใจว่า เดือน ส.ค.จะไม่มีอะไรรุนแรง.

ไม่มีความคิดเห็น: