PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

อ.หอการค้าเดือด โต้สื่อพาดหัวข่าว "ข้อสอบสิ้นคิด"

อ.หอการค้าเดือด! อัดสื่อพาดหัวแรง ปัด'ข้อสอบสิ้นคิด'

 
 
       
อาจารย์มหาวิทยาลัยหอการค้าเดือด ออกโรงโต้หลังสื่อออนไลน์แห่งหนึ่ง พาดหัวข่าว "ข้อสอบสิ้นคิด" กรณีนำแบบฝึกหัดชุดภาษาวัยรุ่น ของมหาวิทยาลัยไปเผยแพร่ อัดเป็นการเป็นการประเมินค่าที่รุนแรง ย้ำ เป็น "แบบฝึกหัด" ไม่ใช่ "ข้อสอบ" …
 
เมื่อวันที่ 29 ก.ค.56 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้จัดโครงการเสวนาเรื่อง "ภาษาวัยรุ่น ภาษาว้าวุ่นในสื่อ" จัดขึ้นโดยคณะมนุษยศาสตร์ และคณะนิเทศศาสตร์ ณ ห้องประชุม10210 อาคาร10 ชั้น2 โดยมี ผศ.ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา คณบดีคณะมนุษยศาสตร์ พร้อมด้วย ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะนิเทศศาสตร์ นายอัครพล ทองธราดล ผู้ประกาศข่าวTPBS อาจารย์ธนพล เชาวน์วานิชย์ หนึ่งในคณะผู้เขียนบทภาพยนตร์ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น ร่วมการเสวนา เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของภาษาไทยในสังคม โดยมีประเด็นการเสวนา โดยมุ่งถึงภาษาวัยรุ่น การใช้ภาษาในสื่อ ภาษาวิบัติ สถานภาพของภาษาในภาวะของประชาคมอาเซียน โดยมีนักศึกษาและสื่อมวลชนร่วมฟังการเสวนาจำนวนมาก
         
ผศ.ดร.ธเนศ กล่าวว่า ปัจจุบันภาษาที่ใช้ในสื่อมีมากมาย ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ ,โทรทัศน์ ภาพยนตร์ ละคร และสื่อออนไลน์ แต่สิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญมากที่สุด คือสื่อออนไลน์ เนื่องจากเป็นสื่อที่ควบคุมยาก และข้อมูลข่าวสารสามารถกระจายได้อย่างรวดเร็วกว้างขวาง ตัวอย่างกรณีที่มีสื่อออนไลน์เผยแพร่ภาพ แบบฝึกหัดชุดภาษาวัยรุ่น ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยไปเสนอ และพาดหัวข่าวรุนแรง เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2556 นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลายว่า ในฐานะที่เป็นนักวิชาการภาษาไทยอยากให้สื่อมีความระมัดระวัง โดยเฉพาะการพาดหัวข่าว ซึ่งเมื่อมีการพาดหัวข่าว โดยใช้คำว่า "ข้อสอบสิ้นคิด" ถือเป็นการประเมินค่าที่รุนแรงมากทางทางการศึกษา
         
"วันนี้จึงจัดงานขึ้นมาซึ่งตรงกับวันภาษาไทยแห่งชาติ และอยากขอทำความเข้าใจ และยืนยันว่านั่นไม่ใช่ข้อสอบ แต่เป็นแบบฝึกหัด งานเดี่ยวของนักศึกษา ที่อยู่ในขบวนการเรียนรู้เรื่องภาษากับสังคมซึ่งอยู่ในวิชาภาษาไทยพื้นฐานทั้งหมด และแบบฝึกหัดนี้ได้ผ่านการประชุมของคณะกรรมการที่ดูแลชุดนี้ทั้งหมด ซึ่งแบบฝึกหัดนี้จะเป็นการให้นักศึกษาได้ฝึกการใช้ภาษาที่ถูกต้อง เนื่องจากในปัจจุบันภาษากับสังคมมีความผูกพันกัน เมื่อสังคมเปลี่ยนภาษาก็เปลี่ยน การเปลี่ยนแปลงของภาษาย่อมเกิดขึ้นได้ทุกวัน" คณบดีคณะมนุษยศาสตร์ กล่าว.
         
ภาพประกอบจาก เฟซบุ๊กแฟนเพจ ม.หอการค้าไทย

ไม่มีความคิดเห็น: