PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556

พิทยา ว่องกุล:อำนาจสูงสุดประชาชน

อำนาจสูงสุดประชาชน
บทความพิเศษ
พิทยา ว่องกุล

โดยธรรมชาติ ความเป็นสังคมมนุษย์และการดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ต้องตั้งอยู่บนกฎ ระเบียบ กฎหมาย และคุณธรรมของสมาชิก นับตั้งแต่กษัตริย์ เจ้าผู้ครองนคร ขุนนาง รัฐบาล หัวหน้าเผ่า ข้าราชการ ลงมาถึงประชาชน ซึ่งต้องมีบทบาทและหน้าที่ต่อกันตามลักษณะของสังคมนั้นๆ หรือยุคสมัย แม้แต่ในเรื่องอำนาจรัฐที่พัฒนาเพื่อใช้สำหรับปกครองสังคมขนาดใหญ่และสลับซับซ้อน
ก็ต้องมีกฎหมายและบทบาทหน้าที่ของผู้ปกครองตามลำดับชั้นลดหลั่นลงมา

law and Rule (กฎหมายและการปกครอง) เป็นวิถีการปกครองที่สังคมตะวันตกยึดถือ ขณะที่สังคมประเทศตะวันออกยึดหลักธรรมะ หรือที่เรียกว่าการปกครองโดยธรรม ดังจะพบว่า อินเดีย และประเทศในตะวันออกเฉียงใต้ สืบทอดหลักการปกครองโดยธรรม ซึ่งพระมหากษัตริย์ในอดีตทรงใช้ทศพิธราชธรรมเป็นหลักยึด เพื่อบริหารจัดการให้สังคมดำรงอยู่อย่างสงบสันติ

อย่างไรก็ตาม หากศึกษาถึงต้นกำเนิดรัฐศาสตร์ตะวันตก จะพบว่าหลักกฎหมายและการปกครองของกรีก โสกราตีส ได้เน้นว่า "...ผู้ปกครองที่ยุติธรรม ไม่แสวงหาผลประโยชน์เฉพาะตัว หากแสวงผลประโยชน์ของส่วนรวม โดยที่รู้อยู่ว่า ความสุขสบายของตนไม่อาจแยกจากประชาชนของตนได้..." ศ.เสน่ห์ จามริก (แปล), M .Judd Harmon, ความคิดทางการเมืองจากเปลโต้ถึงปัจจุบัน, สถาบันวิถีทรรศน์, 2554 หน้า 43.

จุดกำเนิดปรัชญาตะวันตก ซึ่งพัฒนามาเป็นระบอบประชาธิปไตยรูปแบบต่างๆ ในปัจจุบันนี้ ฐานที่มาแห่งรัฐบาลหรือรัฐนั้น เน้นว่า รัฏฐาธิปัตย์ (อำนาจรัฐ) นั้น จักต้องเป็นการใช้อำนาจที่เป็นธรรม

เช่นเดียวกับหลัก "ธรรมราชา" ในอินเดีย หรือตะวันออก หนังสือเล่มสำคัญชื่อ "อุตมรัฐ" ของเพลโต นักปรัชญากรีกเขียนไว้ว่า "รัฐที่ชอบด้วยกฎหมาย จะต้องเป็นรัฐที่มีคุณธรรม" มีความรู้ ซึ่งแสดงออกโดยกฎหมายเป็นพลังนำ ทั้งได้อธิบายอย่างชัดเจนว่า "ผู้ทรงคุณธรรม ควรเป็นผู้ปกครอง และเมื่อความรู้คือคุณธรรม จึงจำเป็นอยู่เองที่จะต้องแสวงหาและฝึกฝนอบรมคนที่รู้ได้ดีที่สุด เพื่อเสริมสร้างระบบผู้ปกครองที่เป็นธรรม ระบบการศึกษาซึ่งทำหน้าที่ในอุตมรัฐ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง"

ความจริงนี้สอดคล้องกับพระราชปณิธานของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระองค์ตรัสเป็นสัญญาประชาคมว่า "เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" จึงทรงทุ่มเทพระองค์สร้างคุณูปการในหลายด้านเพื่อพัฒนาสังคม เป็นแบบอย่างเพื่อให้รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยปฏิบัติตาม แต่ปรากฏว่า รัฐบาลพลเรือนรวมถึงรัฐบาลทหารหลายยุคสมัย ไม่เข้าใจว่า รัฐมีลักษณะเป็นประชาคม มาจากประชาชนยินยอมพร้อมใจมอบอำนาจให้ปกครอง เรียกว่ารัฏฐาธิปัตย์ โดยมีรัฐบาลทำหน้าที่แทนประชาชนทั้งหมดผู้เป็นเจ้าของอำนาจอย่างแท้จริง รัฐบาลที่เป็นองค์กรแทนนี้อาจหมายถึง กษัตริย์ คณะบุคคล หรือรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยตามลักษณะความต้องการของแต่ละประเทศ

อริสโตเติล นักปรัชญากรีก เห็นว่า รัฐเป็นประชาคม รัฐจึงต้องมีกฎข้อบังคับ มีกฎหมายเพื่อจัดการกับราษฎรของรัฐ เพื่อการอยู่ร่วมกันเป็นรัฐ และเพื่อความมั่นคง แต่สิ่งที่สำคัญยิ่ง อำนาจรัฐที่ประชาชนให้ไปนั้น จักต้องไม่ขัดขวาง ทำลาย ประชาชนที่อยู่ร่วมกันด้วยพันธะของประชาคม และเป็นสมาชิกภาพอย่างแน่นแฟ้นยิ่งกว่าด้วยกฎหมาย เหตุนี้ รัฐธรรมนูญจึงต้องคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม "เป็นรัฐธรรมนูญที่ชอบ โดยวินิจฉัยจากมาตรฐานยุติธรรมอันสมบูรณ์"

นักปราชญ์สมัยหลังอธิบายว่า ประชาชนที่มารวมกันเป็นประชาคม มีลักษณะเป็นรัฐ เหตุนี้ความสำคัญของรัฐอยู่ที่ความมั่นคงของประชาคม โดยประชาชนยินยอมสูญเสียสิทธิเสรีภาพบางประการ เพื่อให้อำนาจแก่รัฐในการบริหารปกครอง และรักษาความมั่นคงของประชาคมเอาไว้ ได้แก่ อำนาจอธิปไตยที่เป็นกฎหมาย ข้อบังคับ หรือรัฐธรรมนูญที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความยุติธรรม ดังนั้น อำนาจอธิปไตยจึงเป็นของปวงชนหรือประชาคม ไม่ใช่ของใคร บุคคล หรือตัวแทนใดๆ รัฐบาลที่ใช้อำนาจอธิปไตยไปเพื่อประโยชน์ตนหรือพรรคพวก ล้วนกระทำผิดกฎหมายของประชาคม ประชาชนไม่พึงเชื่อฟัง และรวมพลังโค่นรัฐบาลนั้นได้โดยชอบธรรม เพราะรัฐบาลนั้นได้ทรยศต่อความมั่นคงของประชาคม ยกฐานะตนเป็นอภิสิทธิ์ชนที่อยู่เหนือเจตนารมณ์ของกฎหมายที่เป็นธรรม

>>ยัง โบแดง (Jean Bodin) นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศส เขียนถึงอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงไว้ดังนี้

"ในประการแรก อำนาจอธิปไตยควรใช้โดยรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมาย... อำนาจอธิปไตยไม่ได้เพียงแต่เป็นของผู้หนึ่งผู้ใดที่ใช้อำนาจเท่านั้น ผู้ที่ได้ตำแหน่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นทรราช ซึ่งไม่
เพียงอาจจะไม่ได้รับการเคารพเชื่อฟังเท่านั้น แต่อาจถูกโค่นหรือแม้แต่สังหารเสียก็ได้... "อ้างแล้ว, หน้า 229"

เหตุนี้ เมื่อประชาคม (ประชาชน) ได้ใช้การเลือกตั้งทั่วประเทศ เป็นอำนาจประชาธิปไตยทางตรง (Direct Democracy) ไปเลือกตัวแทนเข้าเป็นสมาชิกรัฐสภา เพื่อใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชน(Representative Democracy)แล้ว ไม่ว่าสถาบันนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารที่ได้เป็นตัวแทนนั้น จะเป็นของพรรคใดหรือของใคร หน้าที่ของรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร จะต้องใช้อำนาจอธิปไตยไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งเนื้อแท้ก็คือความยุติธรรมของสังคม เจตนารมณ์ที่ทำเพื่อส่วนรวมของเจ้าของอำนาจ อันได้แก่ความมั่นคงของประชาชนนั่นเอง ทั้งเพราะประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง และเป็นรัฏฐาธิปัตย์ที่แท้จริง มีอำนาจในตัวเองเหนือกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ถ้าหากตัวแทนหรือรัฐบาลใช้กฎหมายไปในทางที่ผิด หรืออกกฎหมายขัดกับเจตนารมณ์ที่ประชาชน รวมตัวเป็นประชาคมที่ต้องการความมั่นคงในการอยู่ร่วมกัน หรือเป็นรัฏฐาธิปัตย์ที่แท้จริง รัฐบาลหรือสภานั้นทรยศต่อประชาชน

โธมัส ฮอบส์ ปราชญ์ชาวอังกฤษ ได้อธิบายการเกิดขึ้นของรัฏฐาธิปัตย์ เป็นกฎธรรมชาติ มาจากความต้องการอยู่ร่วมกันอย่างยุติธรรม ในหนังสือ "รัฏฐาธิปัตย์" (Leviathan) บทที่ 10 ไว้ดังนี้

"อารมณ์ซึ่งชวนให้คนใฝ่สันติภาพ ได้แก่ ความกลัวตาย ความต้องการสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตอันสะดวกสบาย และความหวังที่จะได้สิ่งเหล่านั้นนั้นมาด้วยความอุตสาหะของตน เหตุผลสอนให้รู้จักกฎเกณฑ์อันอำนวยต่อสันติภาพ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่คนถูกชักนำให้มาตกลงกัน กฎเกณฑ์เหล่านี้ อีกนัยหนึ่งเรียกว่า กฎเกณฑ์ธรรมชาติ" (ศ.เสน่ห์ จามริก, อ้างแล้ว)

ดังนั้น ฮอบส์ จึงสรุปว่า รัฏฐาธิปัตย์เกิดจากประชาชนมาทำสัญญาประชาคมขึ้น ในการจัดตั้งองค์อธิปัตย์ โดยเป็นผู้ก่อตั้งอำนาจอธิปัตย์นั้น และมอบให้รัฐบาลเป็นผู้ทำหน้าที่แทน ไม่ว่าจะในรูปแบบการปกครองโดยกษัตริย์ คณะบุคคล หรือ ระบอบประชาธิปไตย ด้วยเหตุนี้ตัวแทนจึงต้องรับผิดชอบในสิ่งใดๆ ที่กระทำไป และต้องตอบสนองเจตนารมณ์ของประชาชน หากบรรดาตัวแทนไม่ปฏิบัติ หรือนำไปใช้เพื่ออำนาจ และความมั่นคั่งของตัวเอง หรือมีผลทำลายความมั่นคงของประชาคม เจ้าของอำนาจอธิปัตย์ที่แท้จริงจักต้องรับผิดชอบ ทวงคืนอำนาจมาได้ หรือจะตั้งตัวแทนใหม่ขึ้นดำเนินการแทน (สภาประชาชน เป็นอำนาจอธิปไตยทางตรง ที่ประชาชนจัดตั้งขึ้นมาได้) รวมไปถึงสามารถทำการปฏิวัติของประชาชนต่อบรรดาตัวแทนที่กระทำผิดเจตนารมณ์ประชาชน

บทเรียนในอังกฤษที่เป็นแบบอย่างการก่อเกิดลัทธิประชาธิปไตยนั้น ได้มีการปฏิวัติของประชาชนขึ้นในปี ค.ศ.1688 ซึ่งเรียกว่า "การปฏิวัติอันเรืองเกียรติ หรือปราศจากการนองเลือด (Glorious or Bloodless Revolutiom) มีลักษณะคล้ายคลึงกับการชุมนุมของประชาชนไทย โค่นล้มระบอบทักษิณในขณะนี้ โดยประชาชนที่นิยมโปรเตสเตนต์ ไม่ใช้กำลังความรุนแรงใดๆ ต่อฝ่ายคาทอลิก ที่พระเจ้าเจมส์ที่ 2 ให้การสนับสนุน หากอาศัยพลังประชาชนจำนวนมากทั่วประเทศร่วมมือการทำการปฏิวัติ ต่อต้านอำนาจพระเจ้าเจมส์ที่ 2 อย่างท่วมท้น และสภาประชาชนฝ่ายนิมโปรเตสแตนต์ก็ได้ทวงคืนอำนาจโดยทำการถอดถอนพระเจ้าเจมส์จากราชบัลลังก์ แสดงอำนาจสูงสุดของสภาในการปกครองประเทศ ตามทฤษฎีของจอห์น ล็อก (John Locke) นักปราชญ์ชางอังกฤษ ที่เสนอเรื่องอำนาจเด็ดขาดของรัฏฐาธิปัตย์ โดยให้องค์กรนิติบัญญัติเป็นอำนาจสูงสุดในจักรภพอังกฤษ แต่จอห์น ล็อก ไม่ได้ถือว่า "เป็นอำนาจเด็ดขาด" เพราะเจ้าของอำนาจที่แท้จริงคือปวงประชาชน

"ถึงแม่ล็อกจะอ้างถึงองค์กรนิติบัญญัติว่าเป็นอำนาจสูงสุดในจักรภพ แต่เขาก็ไม่มีเจตนาว่าจะให้ถือว่ามีอำนาจเด็ดขาด มีข้อจำกัดอำนาจนี้ระบุไว้โดยเฉพาะ 4 ประการ 1.อำนาจนั้นไม่อาจใช้โดยอำเภอใจ 2.จะต้องมุ่งเพื่อประโยขน์ของสังคม 3.ไม่อาจลิดรอนทรัพย์สินของบุคคลใด โดยปราศจากความยินยอมของเขา 4.ไม่อาจยอมสละอำนาจจัดทำกฎหมายของตนให้แก่องค์กรหรือบุคคลอื่นใดได้ เพราะเฉพาะประชาชนเท่านั้นที่มีสิทธิมอบหมายอำนาจนิติบัญญัติ ยิ่งกว่านั้น อำนาจนิติบัญญัติเป็นอำนาจสูงสุดก็เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอื่นๆ ของรัฐบาลเท่านั้น แต่ไม่เหนือกว่าอำนาจของประชาชน ซึ่งก่อตั้งอำนาจนิติบัญญัติขึ้นมา ศ.เสน่ห์ จามริก, อ้างแล้ว, น.355)

หลักการนี้สอดคล้องกับหลักรัฐธรรมนูญของประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก และก็เช่นกัน ในมาตรา 3 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ระบุว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย เหตุนี้ ถ้าหากรัฐบาลยิ่งลักษณ์กระทำความผิดในการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ โดยไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ และพฤติกรรมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ใช้อำนาจอธิปไตยตัวแทนไปในทางทุจริต ละเมิดกฎหมายอื่นๆ

เช่น ใช้อำนาจนิติบัญญัติ หรือ อำนาจบริหาร เกื้อกูลกลุ่มคนเสื้อแดงที่เผาบ้านเผาเมือง แล้วได้รับเงินชดเชย 7.5 ล้านบาท ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยไม่คำนึงถึงหลักความยุติธรรม ทำลายหลักความยิติธรรมของประเทศ ที่ต้องผ่านการพิจารณาของศาล พยายามแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญเพื่อรวบอำนาจขององค์อธิปัตย์มาเป็นของรัฐบาล การออกกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท อย่างไม่โปร่งใส่ ผิดหลักปฏิบัติในการตรวจสอบงบประมาณ แฝงไว้ด้วยทุจริตมากมาย โดยเฉพาะการปฏิเสธอำนาจศาลรัฐธรรมนูญจากความผิดที่รัฐบาลและสภาได้ก่อขึ้น อันถือว่าเป็นขบฏ ประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงและเป็นองค์อธิปัตย์สูงสุด ย่อมมีสิทธิทวงคืนอำนาจที่มอบให้กระทำแทนกลับมา รวมไปถึงสามารถแสดงประชาชนพลังโค่นรัฐบาลได้ ดังเช่น ยัง โบแดง ได้เขียนไว้

เพราะเมื่อรัฐบาลปฏิบัติในวิถีไม่ชอบธรรมแล้ว ถือว่าได้ทำลายหลักประชาคมของประชาชนที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ

การเคลื่อนไหวของประชาชนกลุ่มต่างๆ เพื่อปฏิเสธรัฐบาลยิ่งลักษณ์และรัฐสภา จึงเป็นไปตามมาตรา 3 แห่งรัฐธรรมนูญ บทบาทของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไคยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัรตยิ์เป็นประมุข (กปปส.) โดยการเแสดงความเห็นด้วยของประชาชนจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ จึงเป็นประชาคมที่มีความชอบธรรมในการทวงอำนาจคืนจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และปฏิเสธสภาขี้ข้าที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ต่อเจตจำนงของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ

เหตุนี้ ประชาชนไทยจึงมีอำนาจอธิปไตยโดยตัวเอง ในฐานะองค์อธิปัตย์ยือย่างสมบูรณ์ ไม่มีรัฐบาลและรัฐสภาไปโดยปริยาย หากแม้รัฐบาลยิ่งลักษณ์หรือสภาขี้ข้าจะอ้างว่าตนเองยังเป็นตัวแทนอยู่ จึงเป็นเรื่องที่ขัดกับหลักประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดเป็นของปวงชนชาวไทย

ในกรณีที่ตัวแทนขัดขืนไม่ยอมส่งคืนอำนาจ จึงมีแง่มุมมองดังนี้

1.หากประชาชนยังยึดถือรัฐธรรมนูญปี 50 อยู่เช่นเดิม กปปส.หรือประชาชนอื่นๆ สามารถที่จะยื่นฟ้องร้องต่อศาลอาญาหรืออื่นๆ ตามความผิดของรัฐบาลขี้ข้า และพรรคการเมืองได้กระทำและฟ้องร้องได้ ในฐานะเป็นกบฏ และรอคำตัดสินของศาล

2.ทวงคืนอำนาจอธิปไตยกลับคืนมาเป็นของปวงชนชาวไทย โดยได้รับประชามติของประชาชน ที่ลุกขึ้นมายอมรับทั่วประเทศ ทำการปฏิวัติโดยไม่ใช้ความรุนแรง (เช่นสมัยพระเจ้าเจมส์ที่ 2) แต่เป็นความพร้อมใจของประชาชนทั่วประเทศ ทำให้รัฐบาลและรัฐสภาทำหน้าที่ไม่ได้ แล้วประชาชนเสนอรัฐบาลชั่วคราว โดยทูลเกล้าฯ ถวายเสนอต่อองค์พระมหากษัตริย์ มีประกาศ เลิก ยุบรัฐบาล และรัฐสภาขี้ข้า แล้วจัดตั้งสภาประชาชนให้มีขอบข่ายทั่วประเทศขึ้นมาทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อปฏิรูปการเมืองไทย และดำเนินการเลือกตั้งตัวแทนในภายหลัง ตามรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในขั้นตอนต่อไป และรัฐธรรมนูญของประชาชนฉบับใหม่จะต้องผ่านการลงประชามติ.

ไม่มีความคิดเห็น: