PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

วีรพัฒน์ ตอบ 7 ประเด็น คำถามจาก กกต. สมชัย

จากกรณีที่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้งด้านกิจการบริการงานเลือกตั้ง ได้ตั้งประเด็นปัญหา 7 ประการนั้น ทาง กกต. อาจพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยผสานหลักการและแนวทางการปฏิบัติ ดังนี้

==========
1. การรับสมัคร ส.ส. 28 เขตที่จะมีขึ้นใหม่ควรมีวิธีการอย่างไร ในกรณีมีการขัดขวางการรับสมัครอย่างรุนแรงจากประชาชนในพื้นที่ ?
==========

♦ ในทางทฤษฎี นอกจาก กกต. ต้องบังคับใช้กฎหมายเอาผิดกับผู้ขัดขวางการเลือกตั้งอย่างจริงจังโดยสั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐช่วยดำเนินการได้แล้ว กกต. ควรใช้มาตรการป้องปรามเชิงจิตวิทยา โดยใช้อำนาจตาม มาตรา 26 (3) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ฯ เรียกตัวนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ มาให้ถ้อยคำและข้อมูลว่ามีการวางแผนขัดขวางการเลือกตั้งหรือไม่อย่างไร และหากยืนยันจะไม่ขัดขวางการเลือกตั้ง กปปส. รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ ก็ควรแสดงความจริงใจโดยการออกมติห้ามปรามการขัดขวางการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ซึ่ง กกต. ก็ควรนำถ้อยคำหรือมติดังกล่าวประกาศให้เป็นที่ทราบโดยทั่วกัน

♦ นอกจากนี้ หากพิจารณาตาม มารา 36 แห่ง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ฯ จะเห็นว่ากฎหมายกำหนดให้การยื่นใบสมัครนั้น ดำเนินการ ณ สถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งกำหนด ดังนั้น จึงอาจตีความให้มีการกำหนดการยื่นสมัครในสถานที่อื่นที่ไม่มีปัญหาได้

♦ ในทางปฏิบัติ กกต. ต้องเพิ่มมาตรการเชิงสังคมและจิตวิทยา โดยแสดงจุดยืนเดินหน้าจัดการเลือกตั้งด้วยความแน่วแน่ รวดเร็ว ไม่โลเล และไม่สร้างข้อถกเถียงเพิ่มเติม เช่น ประเด็นการออกพระราชกฤษฎีกา พร้อมทั้งต้องประณามกลุ่มผู้ชุมนุมที่กระทำผิดกฎหมาย แทนที่จะเน้นถกเถียงกับรัฐบาล เพราะจะทำให้สังคมเกิดความสับสนลังเลที่จะสนับสนุนการเลือกตั้งหรืออาจเข้าใจผิดว่า กกต. สนับสนุนผู้ชุมนุมโดยปริยาย อีกทั้งใช้มาตรการการการมีส่วนร่วมของสังคมเพื่อเพิ่มความโปร่งใส ดังที่อธิบายในคำตอบข้อที่ 2

==========
2. การจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งจัดส่งบัตรเลือกตั้งจากส่วนกลางลงยังพื้นที่ควรดำเนินการอย่างไร จึงสามารถดำเนินการให้ประสบความสำเร็จโดยไม่ถูกขัดขวาง เป็นไปอย่างโปร่งใส เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นที่ยอมรับ ?
==========

♦ ในเรื่องปัญหาการขัดขวาง โปรดดูคำตอบข้อที่ 1

♦ ในเรื่องความโปร่งใส ในทางทฤษฏี ใช้อำนาจตาม มาตรา 14 และ มาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ฯ ให้องค์การภาคเอกชน รวมไปถึงกลุ่มนิสิตนักศึกษาพลังบริสุทธิ์รุ่นใหม่ องค์กรทางศาสนาที่ชุมชนมีความศรัทธา และองค์กรที่มีชื่อเสียงสากลในระดับนานาชาติ เข้าร่วมตรวจสอบการเลือกตั้ง

♦ นอกจากนี้ ยังสามารถใช้อำนาจตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 236 (4) ประกอบกับ มาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ฯ สั่งให้ข้าราชการ ซึ่งย่อมหมายรวมไปถึงข้าราชการตุลาการที่สังคมให้ความเชื่อถือ ให้ความช่วยเหลือในฐานะผู้สังเกตการณ์ได้

♦ ส่วนในทางปฏิบัติ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือล่วงหน้าและอำนวยความสะดวกให้แก่อาสาสมัครที่ร่วมตรวจสอบการเลือกตั้ง

==========
3. การจัดหากรรมการประจำหน่วยที่จำเป็นต้องอาศัยที่มีภูมิลำเนาในเขตเลือกตั้งให้ได้ครบจำนวน 9 คน จะจัดหาอย่างไรหากคนในพื้นที่ไม่ให้การสนับสนุน ?
==========

♦ ในทางทฤษฏี หากคาดว่าไม่สามารถดำเนินการตามข้อ 30 ของ ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฯ ซึ่งกำหนดวิธีการแก้ไขปัญหาที่ยืดหยุ่นให้หาผู้ทำหน้าที่แทนได้หลายขั้นได้ ก็ให้ดำเนินการแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการในระเบียบล่วงหน้าให้ยืดหยุ่นมากขึ้น ทั้งนี้ ตามมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ฯ ซึ่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งแต่งตั้ง “บุคคลอื่น” เป็นกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งได้

♦ ในทางปฏิบัติ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือล่วงหน้าจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่ โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษาพลังบริสุทธิ์รุ่นใหม่ ที่พร้อมอาสาช่วยเป็นกรรมการประจำหน่วย และแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการในระเบียบล่วงหน้าให้มีความยืดหยุ่นเพื่อรองรับสถานการณ์

==========
4. การกระจายบัตรเลือกตั้งและอุปกรณ์การเลือกตั้ง ให้แก่ กรรมการประจำหน่วย ซึ่งต้องมีกรรมการอย่างน้อย 5 คนมาเซ็นชื่อและตรวจรับบัตรและอุปกรณ์ จะทำอย่างไรให้สำเร็จและโปร่งใส ?
==========

♦ โปรดดูคำตอบข้อ 2

==========
5. ในกรณีที่มีอุปสรรคที่เกิดขึ้นในวันเลือกตั้ง เช่นบัตรไม่มา อุปกรณ์ไม่ครบ กรรมการประจำหน่วยขาด เกิดการปิดกั้นทางจราจรเกิดการขัดขวางหน้าหน่วย จะดำเนินการอย่างไร ?
==========

♦ โปรดดูคำตอบข้อที่ 1

==========
6. บทบาทของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้แก่ ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ในช่วงนี้จนถึงวันเลือกตั้งควรมีแนวทางในการดำเนินการอย่างไรเพื่อให้การเลือกตั้งประสบความสำเร็จ ?
==========

♦ ในทางทฤษฎี รัฐธรรมนูญ มาตรา 236 (4) ประกอบกับ มาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ฯ ให้อำนาจ กกต. สั่งให้ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ให้ความช่วยเหลือ กกต. และหากไม่ปฏิบัติก็มีโทษ

♦ ในทางปฏิบัติ กกต. ควรหารือกับภาครัฐ หัวหน้าส่วนราชการและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการเตรียมการล่วงหน้าอย่างเปิดเผย และรัฐบาลควรให้ความร่วมมือเต็มที่ โดยมีสังคมเป็นผู้ร่วมตรวจสอบ

==========
7. การประกาศผล ส.ส. บัญชีรายชื่อ 125 คนจะต้องได้คะแนนครบจากทุกหน่วย จึงจะสามารถประกาศผลได้ แต่กรณีที่ยังไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ครบ จะมีวิธีการอย่างไร ไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถเปิดประชุมสภาได้ ?
==========

♦ ในทางทฤษฎี รัฐธรรมนูญมิได้บังคับให้ต้องมีการคำนวณสัดส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อได้เพียงครั้งเดียว อีกทั้ง มาตรา 90 และ 91 แห่ง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ฯ ก็กำหนดเพียงว่าการคำนวณสัดส่วนจะกระทำได้เมื่อ “ได้รับผลคะแนนเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจากทุกเขตเลือกตั้ง” ดังนั้น เมื่อตีความประกอบตัวบทรัฐธรรมนูญที่มุ่งหมายให้มีการเปิดประชุมสภาได้โดยเร็ว อาจตีความคำว่า “ทุกเขตเลือกตั้ง” ให้หมายถึงทุกเขตเลือกตั้งเท่าที่ดำเนินการได้ในวันเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 ก.พ. 2557 เพื่อสามารถเปิดประชุมสภาได้ โดยมิได้จำเป็นต้องรอคะแนนจากทุกหน่วยแต่อย่างใด

♦ ในทางปฏิบัติ หลักการของการมีบัญชีรายชื่อนั้นคือความยืดหยุ่นที่ทำให้มีการเลื่อนลำดับบัญชีรายชื่อได้ ดังนั้น แม้จะมีการคำนวณสัดส่วนบัญชีรายชื่อไปแล้ว แต่เมื่อใดที่มีการจัดการเลือกตั้งครบทุกหน่วย กกต. ก็สามารถนำคะแนนทั้งหมดที่ได้มานั้นมาทำการคำนวณบัญชีรายชื่อได้ใหม่แต่ต้องระมัดระวังถึงนัยที่มีต่อการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งแก้ไขปัญหาได้โดยการหารือกับพรรคการเมืองเพื่อหาฉันทามติร่วมกัน

==========
อนึ่ง คำตอบทั้งหมดนี้เป็นเพียงการตอบเบื้องต้นโดยสังเขป สำหรับรายละเอียดนั้นยินดีให้ กกต. สอบถามขอคำปรึกษาเพิ่มเติมได้
==========

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดดู ข้อเสนอว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการจัดการเลือกตั้ง
โดย วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ อ่านได้ที่ http://bit.ly/VP-EC17

วีรพัฒน์ ปริยวงศ์
นักกฎหมายอิสระ
16 ก.พ. 2557

ไม่มีความคิดเห็น: