PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

วีรพัฒน์ ปริยวงศ์:การแจ้งข้อหา"ยิ่งลักษณ์"ของปปช.กรณีจำนำข้าว

นักกฎหมายอิสระโพสต์เฟซบุ๊กตั้ง 3 ข้อสังเกตทางกฎหมาย หลัง ป.ป.ช.มีมติ แจ้งข้อหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคดีจำนำข้าว พร้อมให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา 27 ก.พ.นี้

นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระโพสต์เฟซบุ๊กตั้ง 3 ข้อสังเกตทางกฎหมาย หลัง ป.ป.ช.มีมติ แจ้งข้อหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคดีจำนำข้าว พร้อมให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา 27 ก.พ.นี้

โดยสังเกตว่า หากตีความโดยเคร่งครัด จะต้องถือว่านายกฯ ไม่ได้ดำรงตำแหน่งอีกต่อไป เพียงแต่เป็นผู้ที่ถูกบังคับให้ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ดังนั้น กระบวนการถอดถอนโดย ส.ว. ในทางทฤษฎี จะไม่อาจกระทำได้ เพราะไม่มีตำแหน่งใดจะให้ถอดถอน แต่ยังอาจดำเนินคดีอาญาได้ และหลายฝ่ายสงสัยว่าเหตุใด คดีทุจริตโครงการข้าวสมัยประชาธิปัตย์ ถึงยังไม่คืบหน้า ทั้งที่มีมาก่อนคดีสมัยเพื่อไทย ซึ่งข้อความระบุว่า

"ข่าวล่าสุด ปปช. มีมติ แจ้งข้อหา ยิ่งลักษณ์ คดีจำนำข้าว !!!

ข้อสังเกตทางกฎหมาย

1. การแจ้งข้อกล่าวหา เป็นเพียงขั้นตอนในการไต่สวนข้อเท็จจริง ก่อนจะมีการชี้มูลความผิด กฎหมายกำหนดให้ ปปช. แจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบและกำหนดระยะเวลาตามสมควรที่ผู้ถูกกล่าวหาจะมาชี้แจงข้อกล่าวหาแสดงพยานหลักฐานหรือนำพยานบุคคลมาให้ปากคำประกอบการชี้แจง

จากนั้น เมื่อการการไต่สวนข้อเท็จจริงมีความสมบูรณ์เพียงพอแล้ว ป.ป.ช. ก็จะพิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง เพื่อมีมติวินิจฉัยว่าข้อกล่าวหามีมูลหรือไม่

ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติวินิจฉัยว่าข้อกล่าวหาใดไม่มีมูลให้ข้อกล่าวหานั้นเป็นอันตกไป

แต่หาก มีมูล และเป็นกรณีความผิดทุจริตตามรัฐธรรมนูญ ผู้ถูกกล่าวหาจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้จนกว่าวุฒิสภาจะมีมติหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะมีคำพิพากษา แล้วแต่กรณี

2. หากตีความโดยเคร่งครัด จะต้องถือว่าคุณยิ่งลักษณ์ ไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกต่อไปแล้ว เพราะ ครม. ได้พ้นจากตำแหน่งไปทั้งหมดแล้วตั้งแต่ยุบสภา คุณยิ่งลักษณ์ และสมาชิก ครม. เพียงแต่เป็นผู้ที่ถูกบังคับให้ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ดังนั้น กระบวนการถอดถอนโดย ส.ว. ในทางทฤษฎี จะไม่อาจกระทำได้ เพราะไม่มีตำแหน่งใดจะให้ถอดถอน แต่ยังอาจดำเนินคดีอาญาได้

3. หลายฝ่ายสงสัยว่าเหตุใด คดีทุจริตโครงการข้าวสมัยประชาธิปัตย์ ถึงยังไม่คืบหน้า ทั้งที่มีมาก่อนคดีสมัยเพื่อไทย จึงต้องจับตาว่า การดำเนินการทั้งหมดนี้ เป็นส่วนของกลการเมืองในการส่งเรื่องไปยังวุฒิสภา ที่จะมี ส.ว. สายเลือกตั้งถูกชี้มูล และมีการขัดขวางการเลือกตั้ง จนทำให้ชะตากกรรมทางการเมืองตกอยู่ในมือของ ส.ว. สรรหา ที่เหลืออยู่ และนำไปสู่การมี นายกฯ และสภาประชาชน ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หรือไม่ ? (ดังที่ผมได้เคยแสดงความเห็นเตือนไว้ตั้งแต่เดือน พ.ย. ปีที่แล้ว)"

ไม่มีความคิดเห็น: