PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2557

รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ : เอาความสุข ของ "ประชาชน" คืนมา...!!

รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ : เอาความสุข ของ "ประชาชน" คืนมา...!!

วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2557 เวลา 11:08:24 น.

ภาพ : dusit.ac.th 




หลายปีที่ผ่านมาคงไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่า "ความสุขที่แท้จริง" ของคนไทยไม่มีใครได้เห็นเลย...!! โดยเฉพาะความสุขจากการได้เห็นบ้านเมืองอยู่อย่างสงบสุข คนไทยมีความรักความสามัคคีกัน เพราะความสุขดังกล่าวนั้นได้ถูกการเมืองปล้นชิงไป "จนความสุขเหือดหายไปจากสังคม" บ้านเมืองเต็มไปด้วยความขัดแย้งแตกแยก ประชาชนต้องทนทุกข์ ต้องทนเห็นเพื่อนร่วมชาติต่อสู้ แก่งแย่ง ชิงอำนาจของนักการเมือง โดยเอาประชาชนเป็น "ตัวประกัน" มาอย่างยาวนาน

แต่การตัดสินใจทำรัฐประหารของ คสช.นั้น ไม่เพียงแต่จะทำให้การเมืองที่สับสนวุ่นวายยุติลงเท่านั้น ยังอาสาเอาความสุขที่เหือดหายไปจากสังคมกลับคืนมาอีกด้วย แต่จะเป็น "ความสุขเฉพาะหน้า"...หรือ "ความสุขที่ยั่งยืน" ก็ต้องดูกันยาวๆ ต่อไป

ตลอดเวลาที่ คสช.เข้ามาดำเนินการขับเคลื่อนประเทศ ไล่เรียงตั้งแต่การประกาศกฎอัยการศึก จนถึงการรัฐประหาร แม้ว่าจะเป็นการดำเนินการที่ได้รับทั้งการชื่นชมและต่อต้าน แต่จากพื้นฐานความสัมพันธ์ดั้งเดิมระหว่าง "ทหารและสังคม" ที่ดูเหมือนจะมีความใกล้ชิดสนิทสนม โดยเฉพาะทหารเกณฑ์ซึ่งเป็นลูกหลานชาวบ้าน ยิ่งทำให้ทหารกลายเป็นเนื้อเดียวกับประชาชนคนไทยอย่างแนบแน่น

การปฏิบัติหน้าที่ด้านการส่งเสริมสุขภาพแก่พี่น้องประชาชนในถิ่นกันดารห่างไกลจากสถานพยาบาล ภารกิจของเหล่าทหารแพทย์ หรือ "หมอทหาร" ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกและช่วยเหลือผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลจากแพทย์-พยาบาลในหน่วยงานสาธารณสุขได้ การช่วยเหลือประชาชนในยามที่ประเทศประสบวิกฤตปัญหาต่างๆ เช่น น้ำท่วม หรือแม้แต่การช่วยเหลือสังคมในพื้นที่ชุมชนต่างๆ ตามนโยบายกองทัพ เช่น การขุดลอกคูคลอง ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนเกิดความไว้วางใจ เชื่อใจต่อทหาร ในฐานะที่พึ่งของสังคมอีกมิติหนึ่ง

ดังนั้น เมื่อทหารอาสาเป็นตัวตั้งตัวตีในการขับเคลื่อนประเทศโดยการรัฐประหาร เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการดูแลประเทศ ย่อมทำให้แม้จะเกิดแรงต่อต้าน แต่ก็มีแรงหนุนที่ทำให้ ณ วันนี้ คสช.สามารถขับเคลื่อนประเทศจนสามารถสร้างความสงบและความสุขให้แก่สังคมไทยได้ แม้จะยังไม่เต็ม 100 แต่ก็พอทำให้คนในสังคมพอจะ "ยิ้มออก" ไม่ต้อง "ยิ้มทั้งน้ำตา...ยิ้มแบบกล้ำกลืน" อันเป็นรอยยิ้มประทับอยู่บนใบหน้าคนไทยตลอด "ห้วงเวลาแห่งความขัดแย้งทางการเมือง"
(คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่า ความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งเป็นต้นตอที่ทำให้ประเทศเต็มไปด้วยปัญหาอื่นๆ เป็นสิ่งที่ฉุดคร่าความสุขในการดำรงชีวิตโดยตรง เพราะเมื่อทุกอย่างมีแต่ปัญหา ความสุขหายไป หมดไป ที่ผ่านมาใครเอา "ความสุข" ไปหมด ก็คงไม่ต้องอธิบายให้ยืดยาว)

ภารกิจในการบริหารประเทศ ภายใต้แนวคิด "คืนความสุขให้กับประชาชน" จึงเป็นภารกิจสำคัญที่ คสช.ใช้ในการขับเคลื่อนประเทศ แนวทางการดำเนินงานดังกล่าวที่เน้นการวางนโยบายในการขับเคลื่อนประเทศที่มุ่งแก้ปัญหาที่ค้างคา การลดภาระค่าครองชีพของประชาชน การปราบปรามกลุ่มอิทธิพล ยาเสพติด การพนัน หวยและโต๊ะบอลเถื่อน ที่จะทำให้เกิดความสงบสุขของสังคม รวมถึงการจัดกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ล้วนเป็นแนวทางที่ตรงกับนิสัยพื้นฐานของคนไทยที่ดำเนินชีวิตโดยคำนึงถึงความสุขเป็นที่ตั้ง ภาพสะท้อนที่เกือบหายไปคือ "ยิ้มสยาม" ก็กลับคืนมาอีกครั้ง

เมื่อแนวคิด "คืนความสุขให้กับประชาชน" เป็นสิ่งที่ตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของคนไทย จึงทำให้ได้รับการตอบรับจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี จะเห็นได้จากการได้รับการตอบรับจากการจัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งการเต้นรำ ดูหนัง ฟังเพลง ช้อปปิ้ง ร้องเต้นเล่นระบำ จิบกาแฟ หรือแม้แต่การผูกเสี่ยว (ผูกเพื่อนของชาวอีสาน) ที่เรียกตามภาษานักการสื่อสารตลาดว่า "อีเวนต์คืนความสุขสู่ความปรองดอง" ล้วนได้รับการตอบรับจากประชาชนในพื้นที่ทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง กลุ่มต่อต้านทหาร โดยร่วมทำกิจกรรมต่างๆ กันอย่างสนุกสนาน

ภาพสะท้อนของกระแสตอบรับในเชิงบวกที่มีต่อแนวคิดการคืนความสุขให้แก่สังคมไทยได้อย่างเป็นรูปธรรมคงหนีไม่พ้นการสำรวจความคิดเห็น และตรวจสอบความสุขที่ประชาชนได้รับจาก คสช. โดย "สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ที่ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ ทำให้พบว่าการมอบของขวัญ คืนความสุขให้ประชาชน ดูฟุตบอลโลก ดูหนังพระนเรศวรฟรี และการจัดกิจกรรมคืนความสุขให้ประชาชนกระจายไปทุกจังหวัด เป็นหนึ่งใน 10 ความสุขที่ประชาชนได้รับจาก คสช.

นอกจากนั้น การชุมนุมของฝ่ายต่างๆ ที่ยุติ ทำให้บ้านเมืองสงบสุข นโยบายลดค่าครองชีพ ชะลอการขึ้นราคาพลังงาน รวมถึงการจ่ายเงินจำนำข้าวให้ชาวนา ล้วนเป็นนโยบายที่ได้รับกระแสตอบรับเชิงบวกทั้งสิ้น

ณ วันนี้ เมื่อคนไทยมีความสุข ก็จะลืมความทุกข์ ลืมความโกรธ ความเจ็บแค้นในอดีต และทำให้ความสมานฉันท์ (อันเป็นสิ่งที่หลายฝ่าย "วาดหวัง" ว่าจะเป็นปลายทางของการคืนความสุข) ดังนั้น การคืนความสุขให้แก่สังคมไทย จึงเปรียบเสมือนเป็น "ใบเบิกทาง" ที่จะนำไปสู่การสร้างความปรองดอง และยุติความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นได้ในที่สุด ความรัก การให้อภัย เห็นอกเห็นใจ จะกลับมาสู่สังคมไทยที่เป็นรูปธรรม

การคืนความสุขที่สร้างกระแสให้สังคม น่าจะทำให้คนไทยได้สัมผัสกับความสุขขึ้นมาบ้าง แต่ความสุขที่ได้รับนั้น จะเป็น "ความสุขเฉพาะหน้า" หรือ "ความสุขที่ยั่งยืน" คงจะฝากความหวังไว้ที่ คสช.เพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับคนไทยทุกคนที่จะต้องลืมความขัดแย้ง แล้วกลับมารักใคร่กลมเกลียว คำนึงถึงความเป็นพี่เป็นน้อง เป็นเพื่อนร่วมชาติเฉกเช่นในอดีต...หรือไม่?

ความสุขที่ประชาชนสะท้อนออกมา ไม่ได้เกิดขึ้นจากการได้ดูหนัง ฟังเพลง ดูฟุตบอลโลกเท่านั้น แต่เป็นความสุขจากความตั้งใจจริง การพูดจริง จริงใจ ไม่เสแสร้ง ซึ่งจะเป็นความสุขที่ไม่ต้องอยู่อย่างหวาดระแวง แล้วจะทำให้สังคมไทยเกิดความสุข...(ที่แท้จริง!!) ได้

ความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่ผ่านมานั้นทำให้ความสุขของคนไทยลดลง จนส่งผลต่อการจัดอันดับประเทศที่มีความสุขในปี 2556 ที่ผ่านมา ตกต่ำลงไปอยู่อันดับที่ 126 จากทั้งหมด 162 ประเทศ แต่ถ้าในช่วงเวลานี้มีการจัดลำดับใหม่ อันดับก็น่าจะกระเตื้องขึ้นแน่นอน

หากวันเวลาผ่านไปจน "นักการเมืองตื่นขึ้นมาอย่างเต็มตัว" ก็ไม่รู้ว่าความสงบสุขจะคงอยู่เช่นเดิมหรือไม่? ที่พูดอาจจะดูเหมือนมอง "นักการเมือง" เชิงลบเกินไป แต่ก็น่าจะรู้ๆ อยู่ว่า ที่ผ่านมาใคร!! เอาความสุขของประชาชนไป...กันแน่!!? แล้วเมื่อได้ความสุขกลับมา หากปล่อยให้ถูกปล้นชิงไปอีก ก็ไม่รู้ว่าจะมีใครอาสาเอาความสุขกลับมาให้...

เมื่อได้ความสุขมาก็อยากให้เห็นคุณค่าของความสุข? แล้วช่วยกันรักษาความสุขนี้ไว้ให้จงได้...!! อย่าลืมนะ! กว่าจะได้ความสุขกลับคืนมาน่ะ มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยใช่ไหม?


โดย รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต

ไม่มีความคิดเห็น: