PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2557

จาตุรนต์ ฉายแสง:ความเห็นสืบเนื่องจากการเสวนาที่เกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ


ความเห็นสืบเนื่องจากการเสวนาที่เกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ
สวัสดีครับ เห็นข่าวการเสวนาทางวิชาการที่สถาบันพระปกเกล้าจัดขึ้นเมื่อวานนี้ในหัวข้อ"นำเสนอประเด็นการอภิปราย การปฏิรูปประเทศไทย: ดุลแห่งอำนาจ"เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในอนาคตและเมื่อเห็นเนื้อหาโดยย่อที่พูดกันแล้ว รู้สึกว่าน่าสนใจจนต้องขอพักการพูดเรื่องการปฏิรูปประเทศโดยรวมไว้ชั่วคราวก่อนเพื่อจะได้แสดงความเห็นในเรื่องที่เขาเสวนากันนี้เสียสักหน่อย
ก่อนอื่นต้องขอแสดงความชื่นชมที่ได้มีการเสวนาในครั้งนี้ขึ้นเพราะทำให้มีบรรยากาศทางวิชาการเกิดขึ้นค่อนข้างเร็ว เนื้อหาที่พูดกันก็เป็นเนื้อหาที่ตรงประเด็นและเป็นประโยชน์ อย่าน้อยที่สุดก็จะเป็นการจุดประกายความคิดและเป็นการเปิดประเด็นให้สังคมไทยโดยเฉพาะผู้เกี่ยวข้อง สนใจได้คิดกันต่อไป
แต่ที่มากกว่านั้นก็คือรู้สึกแปลกใจที่สถาบันพระปกเกล้าฯเชิญนักวิชาการที่พูดอะไรอย่างตรงไปตรงมาและมีสาระดีมากมาพูดเสวนากันในโอกาสอย่างนี้ที่หลายคนคงคาดไม่ถึงว่าจะเกิดขึ้นได้
โดยเฉพาะประเด็นที่วิทยากรเหล่านั้นพูดกันล้วนเป็นประเด็นที่แหลมคมสอดคล้องกับปัญหาที่สังคมไทยเผชิญมาและจะต้องขบคิดกันต่อไป
มีประเด็นหลายประเด็นที่น่าสนใจที่พูดกันเช่นเรื่องของดุลอำนาจระหว่างฝ่าายต่างๆรวมทั้งองค์กรอิสระ ปัญหาที่แท้จริงและทางออก
ความจำเป็นที่จะต้องเปิดรับฟังความเห็นอย่างกว้างขวาง มีคำถามตรงไปตรงมาจากวิทยากรบางท่านว่าจะเอาประชาธิปไตยกันหรือไม่และยังมีข้อเสนอให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญด้วย
ช้อเสนอที่พอได้ยินกันมาบ้างแล้วและได้นำมาเสนอในครั้งนี้อย่างน่าสนใจคือการแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ระหว่างสส.กับรมต.รวมทั้งข้อเสนอให้เลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง กับข้อเสนอที่ต้องถือว่าเป็นยาแรงเลยทีเดียวคือข้อเสนอให้โละศาลรัฐธรรมนูญออกไป
เสียดายที่ผมไม่ได้ไปฟังการเสวนาครั้งนี้ด้วยจึงไม่ทราบสาระรายละเอียด แต่ก็จะพยายามขอข้อมูลที่ฝ่ายจัดการเสวนาได้จดบันทึกไว้เพื่อจะได้ศึกษาและแลกเปลี่ยนความเห็นในเรื่องเหล่านี้ต่อไป
แต่เนื่องจากการเสวนาครั้งนี้ดูจะเน้นในเรื่องที่เกี่ยวกับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่ควรจะเป็น ผมจึงจะขอแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้บ้างเพื่อให้ผู้สนใจได้นำไปคคิดและแลกเปลี่ยนกันต่อไป
ผมคิดว่าในการจะคิดกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรมีเนื้อหาอย่างไร เราควรจะทำความเข้าใจสถานะล่าสุดของรัฐธรรมนูญปี 50 ก่อนที่จะถูกยกเลิกไปกันสักหน่อย รัฐธรรมนูญปี 50 นี้ร่างขึ้นมาโดยเนติบริกรที่คณะรัฐประหารเมื่อปี 49 ได้ตั้งขึ้น เนื้อหาสำคัญคือการเพิ่มบทบาทของฝ่ายตุลาการและองค์กรอิสระซึ่งก็มีที่มาจากคณะรัฐประหารบ้าง ฝ่ายตุลาการบ้าง กลไกเหล่านี้มีอำนาจและบทบาทอย่างสำคัญในการถ่วงดุลกับอำนาจของประชาชนที่ใช้อำนาจของตนในการเลือกตั้ง นั่นก็คือการตัดสินของประชาชนจากการเลือกตั้งมักถูกหักล้างไปโดยง่ายโดยกลไกตามรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมอย่างรุนแรงต่อเนื่องกันมา
ฝ่ายที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญอย่างนี้ไม่เป็นประชาธิปไตยก็พยายามจะแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งก็พยายามปกป้องรักษารัฐธรรมนูญไว้ไม่ให้ใครแก้ได้ ในกระบวนการที่มีการยื้อยุดกันไปมาเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญนี้ องค์กรที่มีบทบาทเข้ามาเกี่ยวข้องและกำหนดเรื่องทั้งหมดอย่างมากก็คือศาลรัฐธรรมนูญ
ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยหลายครั้งจนมีผลเป็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นรายมาตราหรือทั้งฉบับไม่สามารถทำได้ ไม่เพียงเท่านั้นการพยายามจะแก้รัฐธรรมนูญโดยรัฐสภาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแท้ๆยังถูกวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำอันเป็นขบถ เป็นการล้มล้างการปกครองฯและเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองโดยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามาบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
ยิ่งไปกว่านั้นการวินจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในตอนท้ายๆก่อนที่รัฐธรรมนูญจะถูกยกเลิกไปยังมีผลทำให้คณะรัฐมนตรีเกือบจะทำอะไรไม่ได้ จะทำอะไรก็อาจจะกลายเป็นผิดกฎหมายร่วมกันไปหมด
ส่วนรัฐสภาก็อยู่ในสภาพไม่ต่างกันหรืออาจพูดได้ว่าแย่ยิ่งกว่านั้นไปอีกคือแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ เสนอกฎหมายบางประเภทไม่ได้ การประชุมก็ไม่สามารถใช้ข้อบังคับของตนเองได้อย่างเป็นอิสระ ทั้งประธานสภาและสมาชิกสภาจะไม่มีทางรู้เลยว่าอะไรทำได้ ไม่ได้และจะถูกถอดถอนกันเมื่อไรทั้งที่ก็ประชุมกันตามข้อบังคับและประเพณีปฏิบัติที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ ผู้ที่วิเคราะห์ปัญหาของรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้จะเห็นว่าไม่มีทางทำอะไรกับรัฐธรรมานูญปี 50 นี้เสียแล้ว เมื่อจะต้องมีการยกร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ก็คงจะมีความเห็นจำนวนมากที่พร้อมจะเสนอดังเช่นที่วิทยากรในการเสวนาได้เสนอไปบ้างแล้ว
ถ้าจะสรุปสั้นๆ ฝ่ายประชาธิปไตยก็ต้องการที่จะให้รัฐธรรมนูญใหม่ไม่ลดทอนอำนาจของประชาชนไปอย่างมากมายเหมือนรัฐธรรมนูญปี 50
ให้มีการถ่วงดุลอำนาจกันอย่างเหมาะสมระหว่างอำนาจอธิปไตยทั้งสามและโดยเฉพาะจะต้องกำหนดที่มาและจัดวางอำนาจหน้าที่และบทบาทขององค์กรอิสระอย่างเหมาเละสมกว่าที่ผ่านมา
ที่สำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่งคือการเลือกตั้งที่จะจัดให้มีขึ้น จะต้องเป็นการเป็นการเลือกตั้งที่มีผลทางปฏิบัติจริง มีความหมายอย่างการเลือกตั้งในอารยะประเทศจริงๆ ไม่ใช่เป็นการเลือกตั้งแบบสักแต่พอให้มีเป็นพิธี
แต่ก็ต้องไม่ลืมว่ายังมีความเห็นแตกต่างของอีกฝ่ายหนึ่งคือฝ่ายที่มักปกป้องรัฐธรรมนูญปี 50 ขณะเดียวกันก็เสนอปัญหาของรัฐธรรมนูญหรือระบบการปกครองที่เป็นมาก่อนการรัฐประหาร ถึงขั้นที่เสนอให้มีการปฏิรูปกฎกติกาต่างๆเกี่ยวกับการเลือกตั้งเสียใหม่บ้าง ให้ปฏิรูปการเมืองก่อนการเลือกตั้งบ้างหรือกระทั่งเสนอให้ปฏิรูปประเทศในทุกด้านเสียก่อนจึงค่อยให้มีการเลือกตั้ง
ตัวอย่างแนวความคิดเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญที่มีการเสนอมาเป็นระยะๆก็คือระบบรัฐสภาที่จะให้มีสส.มาจากการแต่งตั้ง หรือจะให้มีสว.จากการแต่งตั้งทั้งหมด แล้วให้สว.เหล่านั้นสามารถลงมติในเรื่องสำคัญๆร่วมกับสส.ได้ด้วย ซึ่งก็จะหมายความว่าการเลือกตั้งจะไม่มีผลในทางที่จะกำหนดว่าใครจะเป็นรัฐบาลอีกต่อไป
กล่าวได้ว่าผู้ที่มีความเห็นไปในทางนี้ต้องการแก้รัฐธรรมนูญไปในอีกทิศทางหนึ่งและเป็นทิศทางที่ตรงกันข้ามกับฝ่ายที่ผมใช้คำว่าฝ่ายประชาธิปไตยนั่นเอง
จะเห็นได้ว่าการร่างรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนี้กำลังจะเริ่มจากจุดที่เต็มไปด้วยความแตกต่างทางความคิดอยางชนิดที่เรียกว่าสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง
ณ เวลานี้ ผมคงยังไม่เน้นที่จะเสนอว่ารัฐธรรมนูญที่ดีควรเป็นอย่างไร แต่ที่อยากจะเสนอก็คือในการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ถ้าเราต้องการให้ได้รัฐธรรนูญที่ดี ไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่จะเป็นบ่อเกิดของความขัดแย้งในสังคมอย่างที่ผ่านมาในอดีตแล้ว จำเป็นที่จะต้องมีกระบวนการที่เปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็จากทุกฝ่ายอย่างกว้างขวาง ในเรื่องสำคัญๆบางเรื่องที่เห็นต่างกันมากๆ บางทีเราอาจต้องนำเอากลไกการลงประชามติมาใช้เพื่อหาข้อยุติไปตามเสียงข้างมากของสังคมก็น่าจะเป็นประโยชน์
ส่วนข้อเสนอจากการเสวนาหลายข้อล้วนน่ารับฟัง ที่อยากนำมาย้ำก็คือเมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ควรจะจัดให้มีการลงประชามติทั่วประเทศ
ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้ว่าถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับควรทำประชมมติ คำวินิจฉัยนั้นก็ยังอยู่ และศาลรัฐธรรมนูญนั้นก็ยังอยู่ไม่ใช่หรือครับ
ว่าจะพยายามไม่เขียนอะไรยาว แต่เรื่องที่เขียนไปนี้ ถ้าสั้นก็ไม่ได้ใจความครับ

ไม่มีความคิดเห็น: