PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

สถานการณ์11/11/57

สปช.

สมาชิก สปช. บันทึกภาพหมู่ร่วมกัน พร้อมสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำรัฐสภา ขอทำสำเร็จตามเป้าหมาย ร่าง รธน. ราบรื่น

บรรยากาศที่รัฐสภา เช้านี้ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นำโดย นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ พร้อมสมาชิกทั้งหมด บันทึกภาพหมู่ร่วมกันเป็นภาพประวัติศาสตร์ ซึ่งแถวแรกเป็นเก้าอี้สำหรับนั่งจำนวน 29 ที่นั่ง ตรงกลางเป็นประธานและรองประธาน สปช. ส่วนอีก 26 ที่นั่งเป็นสมาชิก สปช. ผู้อาวุโส จากนั้น เข้าสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระสยามเทวาธิราช และพระเสื้อเมือง พระทรงเมือง เพื่อความเป็นสิริมงคลในการทำหน้าที่ให้สำเร็จตามเป้าหมาย รวมถึงการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ราบรื่น

ขณะเดียวกัน ในช่วงบ่าย เวลา 13.30 น. มีการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 2 ที่ห้องงบประมาณ อาคารรัฐสภา 3 เพื่อสรุปกรอบทำงานการร่างรัฐธรรมนูญที่ชัดเจน ภายหลังการประชุมนัดแรกได้แบ่งคณะทำงานพร้อมตั้งคณะอนุกรรมาธิการแล้ว
----------
ปธ.สปช. ยัน เคาะ กมธ. 18 คณะ ไร้ปัญหาขัดแย้ง เชื่อ อัยการศึก ไม่กระทบรับฟังความเห็น ปชช. 

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำสภา 18 คณะ ว่า แม้ว่าแต่ละคณะมีสมาชิกแสดงความจำนงเข้าร่วมไม่เท่ากัน แต่ก็ไม่มีปัญหาความขัดแย้งแต่อย่างใด เพราะคณะกรรมาธิการสามัญสรรหาผู้ที่จะดำรงแหน่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำสภาได้พิจารณาจัดสรรบุคคลที่เหมาะสมเข้าร่วมโดยมีความอิสระ ซึ่งในวันนี้ภายหลังจากรับรองรายชื่อคณะกรรมาธิการแล้ว แต่ละคณะจะต้องคัดเลือกตัวแทน 1 คน เข้าร่วมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) ชุดถาวร เพื่อกำหนดที่มา องค์ประกอบ และวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งคณะกรรมาธิการอีก 5 คณะ ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการในวันนี้

นอกจากนี้ นายเทียนฉาย เชื่อว่า กฎอัยการศึก จะไม่กระทบการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างแน่นอน และปฏิเสธที่จะตอบว่า ควรยกเลิกกฎอัยการศึกหรือไม่
---------------
"วิษณุ" งดวิจารณ์อภิรัฐมนตรี คาดแนวทาง รธน. ชัดหลัง 19 ธ.ค. ไม่ปิดกั้นประชามติ แต่ต้องระมัดระวัง

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย กล่าวถึงแนวคิดอภิรัฐมนตรีว่าไม่มีความคิดเห็นในเรื่องนี้ ส่วนแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น คาดว่าข้อเสนอต่าง ๆ จะมีการตกผลึกหลังวันที่ 19 ธันวาคมนี้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดว่าหลังแต่งตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. จะต้องเสนอแนวทางต่าง ๆ ภายใน 60 วัน อย่างไรก็ตาม มองว่า การเขียนในรัฐธรรมนูญ ว่าห้ามยกเลิกรัฐธรรมนูญนั้น ไม่มีประโยชน์ต้องอยู่ที่การยอมรับ

ส่วนการทำประชามตินั้นเป็นการป้องกันรัฐธรรมนูญได้ในระยะเวลาสั้น ๆ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีคนเสนอในหลายแนวทาง เช่น การทำประชามติบางมาตราก็เป็นสิ่งที่ดี แต่หากจะทำประชามติทั้งฉบับก็สามารถทำได้ เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้ปิดกั้น แต่ทั้งนี้ ต้องระมัดระวังการทำประชามติที่ประชาชนยังไม่เข้าใจ
-------------
"คำนูณ" คาด กมธ.ยกร่าง รธน. ได้กรอบที่ชัดเจนภายใน 14 พ.ย. นี้ 17-25 พ.ย. รับฟังความเห็นพรรคการเมือง

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะโฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการประชุมกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในวันนี้ว่า มีวาระเพื่อพิจารณากรอบโครงสร้างรัฐธรรมนูญ ซึ่งคาดว่าจะได้กรอบที่ชัดเจนภายในวันที่ 14 พฤศจิกายน และในวันเดียวกันจะจัดตั้งอนุกรรมาธิการด้านเนื้อหาเพื่อไปพิจารณารายละเอียดต่อไป

จากนั้นในสัปดาห์หน้าตั้งแต่วันที้ 17-25 พฤศจิกายน จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากพรรคการเมืองและกลุ่มเห็นต่าง ในหัวข้อ "จะยกร่างรัฐธรรมนูญอย่างไรเพื่อให้สังคมไทยมีอนาคตที่ดี เพื่อส่งมอบให้ลูกหลาน" ซึ่งวันนี้ได้มีหนังสือเชิญไปยังหัวหน้า โดยจะจัดเรียงลำดับตามจำนวนที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร
-----------------
สปช. ปิดการประชุมแล้ว หลังจัดตั้งวิป 29 คน เป็นที่เรียบร้อย นัดประชุมนัดแรก พรุ่งนี้ 

บรรยากาศที่รัฐสภา ล่าสุด ได้เสร็จสิ้นการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)แล้ว โดยในช่วงบ่ายที่ผ่านมาที่ประชุมมีวาระเพื่อเสนอชื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ(วิป สปช.) ชุดถาวร จำนวน 29 คน โดยจะประกอบด้วยตัวแทนคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำสภา 18 คณะ คณะละ1 คน และตัวแทนสมาชิกสปช.ส่วนกลาง จำนวน 8 คน ซึ่งใช้วิธิเปิดรับสมัครยมาชิก เพื่อให้ที่ประชุมคัดเลือกโดยการลงคะแนนแบบลับ จากนั้นได้มีการแต่งตั้งนายเทียนฉาย กีระนันท์ ประธานสปช. เป็นประธานกรรมาธิการ นางสาวทัศนา บุญทอง รองประธานสปช.คนที่2 เป็นรองประธานกรรมาธิการ และนายจเร พันธ์เปรื่อง เลขาธิการสปช. เป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการโดยมีการนัดประชุมวิปสปช. ชุดถาวร ครั้งแรก ในวันพรุ่งนี้ เวลา13.30น.
/////
สนช.ถอดถอน

"สุรชัย" รอวิป สนช. สรุปเลื่อนถอดถอน "ยิ่งลักษณ์" หรือไม่ ย้ำ เป็นธรรมคดี "สมศักดิ์-นิคม" ยึด กม.

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 กล่าวกับ สำนักข่าว INN ถึงกรณีที่ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังไม่ได้รับสำนวนคดีการถอดถอน ว่า สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา (ส.ว.) แจ้งว่า ได้ส่งเอกสารให้ทั้งผู้ร้อง และผู้ถูกร้อง มารับที่ ส.ว. เนื่องจากเอกสารมีจำนวนมากไม่สามารถจัดส่งได้ ส่วนกรณีที่มองว่าผิดข้อบังคับนั้น อาจเป็นข้อที่ระบุว่า ประธาน สนช. ต้องเป็นผู้สั่งให้แจกสำเนาเอกสารให้คู่กรณี

ทั้งนี้ การประชุมกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ วิป สนช. บ่ายวันนี้ จะเป็นการพิจารณาเหตุผลของคำร้องขอเลื่อนวันประชุมจากวันที่ 12 พ.ย. 57 โดยยึดหลักความเหมาะสม ถูกต้อง เป็นธรรม และให้โอกาสต่อสู้คดีอย่างเต็มที่

นอกจากนี้ ในส่วนสำนวนการถอดถอน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ และ นายนิคม ไวยรัชพานิช นั้น จะมีการเริ่มพิจารณาในวันที่ 27 พ.ย. 57 อย่างไรก็ตาม ย้ำว่า สนช. จะพิจารณาตามกฎหมายกำหนด รวมถึงยึดหลักนิติธรรมและข้อเท็จจริง ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าจะตัดสินด้วยความเป็นธรรม
-----------
"สุรชัย" เผย หากทนายยิ่งลักษณ์ ร้องเลื่อนวันประชุมมีเหตุผลเหมาะสม สนช. พร้อมรับฟัง ขออย่ายื้อเวลา

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติคนที่ 1 (สนช.) ระบุถึงการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) ในช่วงบ่ายวันนี้ ว่า จะมีการหารือกรณีที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ทนายความส่วนตัว ส่งหนังสือถึง สนช. เพื่อขอให้เลื่อนการพิจารณาสำนวนคดีถอดถอน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากกรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ออกไป 30 วัน โดยอ้างว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ เพิ่งเดินทางกลับจากต่างประเทศ จึงยังไม่ได้รับสำนวนคดี ซึ่งวิป สนช. จะนำผลการหารือเข้าที่ประชุม สนช. เพื่อขอมติจากสมาชิก ในวันที่ 12 พฤศจิกายน นี้ ซึ่งจะมีทนายความหรือผู้ได้รับมอบอำนาจจาก นางสาวยิ่งลักษณ์ เข้าชี้แจงเหตุผลด้วย

อย่างไรด็ตาม นายสุรชัย ยืนยันว่า หากผู้ถูกร้องมีเหตุผลที่เหมาะสม สนช. ก็พร้อมจะรับฟัง แต่ขอว่าอย่าเป็นการขอเลื่อนเพื่อประวิงเวลาในการพิจารณาคดี
---------------
"เรืองไกร" ยื่น หนังสือ สนช. จี้ ถอดวาระประชุมเรื่องด่วน ถอดถอน "ยิ่งลักษณ์" อ้างข้อบังคับมิชอบ ขู่ร้อง ป.ป.ช.

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย เดินทางมายื่นหนังสื่อแก่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้ถอดระเบียบวาระการประชุมเรื่องด่วนที่ 1 ว่าด้วยการถอดถอน น.ส.

ยิ่งลักษ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง ออกไปก่อน โดยกล่าวว่า ต้องการให้ทาง สนช. รอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาให้แล้วก่อน พร้อมอ้างข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่ง

ชาติ ออกโดยอาศัยอำนาจตามความรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 13 วรรคสอง ด้วยมิชอบ

อย่างไรก็ตาม หากทาง สนช. ยืนยันที่จะเดินในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว ก็จะร้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตามมาตรา 123/1 ของกฎหมาย ป.ป.ช. ต่อไป
------------
วิป สนช. เริ่มพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. 4 ฉบับ จับตาการหารือเลื่อนวาระถอดถอน "ยิ่งลักษณ์" ขณะ สปช. กลับมาประชุมอีกครั้ง

บรรยากาศการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ ล่าสุด กลับเข้าสู่การประชุมแล้ว หลังให้คณะกรรมาธิการวิสามัญทั้ง 18 คณะ แยกย้ายประชุมเพื่อเลือกประธานและรองประธาน ขณะที่การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัตแห่งชาติ หรือ วิป สนช. โดยมี นายพรเพชร วิชิตชลชัย เป็นประธานในการประชุม ซึ่งที่ประชุมมีวาระร่างพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่คณะรัฐมนตรีเสนอต่อ สนช. จำนวน 4 ฉบับ นอกจากนี้ ยังมีการหารือการเตรียมการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน

อย่างไรตาม ต้องติดตามการหารือในวาระสำคัญคือการพิจารณาว่าจะเลื่อนการพิจารณาสำนวนถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จากกรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวออกไป 30
วันหรือไม่ ตามที่ทนายความส่วนตัวได้ยื่นเรื่องมายัง สนช.
-----------------
มติวิป สนช. เลื่อนพิจารณาถอดถอน "ยิ่งลักษณ์" 15 วัน เพื่อความเป็นธรรม  นัดนำเข้าที่ประชุมอีกครั้ง 28 พ.ย. นี้ 

น.พ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ วิป สนช. กล่าวว่า ที่ประชุมวิป สนช. มีมติให้เลื่อนการพิจารณาสำนวนถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จากกรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวออกไป 15 วัน ซึ่งนับตามวันที่ผู้ถูกกล่าวหารับสำนวนคือวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ ที่ประชุมวิป สนช. มีมติให้เลื่อนการพิจารณาไปวันที่ 28 พฤศจิกายนนี้ เพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา และในวันพรุ่งนี้การประชุม สนช. จะยังคงประชุมตามปกติ เพื่อพิจารณาวาระทั่วไป และเปิดให้ทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชี้แจงเหตุผล รวมถึงขอมติจากที่ประชุมให้รับรองมติของเลื่อนวาระการพิจารณาสำนวนถอดถอนออกไป

อย่างไรก็ตาม วันที่ 28 พฤศจิกายน จะเป็นการประชุมนัดแรกเพื่อกำหนดกรอบวันแถลงเปิดคดี ซึ่งเมื่อเปิดแถลงเสร็จเรียบร้อยแล้วจะตั้งคณะกรรมาธิการซักถาม 1 คณะ
//////////
ปปช.

เพื่อไทย ยื่นหนังสือ ปธ.ป.ป.ช. ถามคืบคดี ปรส. เร่ขายสินเชื่อที่อยู่อาศัย หลังยื้อกว่า 10 ปี จี้ ฟ้องศาลก่อนหมดอายุความ

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย และ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เพื่อทวงถามถึงความคืบหน้าคดีการดำเนินการบริหารองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน หรือ ปรส. เกี่ยวกับการเร่ขายสินเชื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงินกว่า 56 แห่ง ที่ถูกปิดกิจการลง และคดีกำลังจะหมดอายุความในวันที่ 30 พ.ย.นี้

โดย นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า คดีดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของ ป.ป.ช. มามากว่า 10 ปี ซึ่งคดีกำลังจะหมดอายุความลง และไม่อยากให้ผู้ที่อยู่เบื้องหลังความเสียหายพ้นความผิด จึงอยากเรียกร้องให้ ป.ป.ช. ใช้กฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 74/1 ในการยื่นฟ้องต่อศาลเอง ขณะที่ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้การรับรอง นายรอล์ฟ ซูลเซอ (H.E. Mr.Rolf Schulze) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย ณ ห้องรับรองพิเศษ ชั้น 2 อาคารรัฐสภา 2
-----------------
ป.ป.ช. แจง 6 คดี ป.ร.ส. หลังเพื่อไทยทวงถาม ยันไต่สวนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ไม่มีมูล 3 คดี ศาลฟ้องแล้ว 1 เรื่อง อีก 2 เรื่องส่งอัยการสูงสุดแล้ว  

สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือป.ป.ช.ได้ชี้แจงถึงกรณีที่นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย ได้เดินทางมายื่นหนังสือติดตามความคืบหน้าของคดีเกี่ยวกับองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินหรือปรส.ว่า มีการส่งเรื่องมายังป.ป.ช.รวม6เรื่อง ซึ่งคณะกรรมการป.ป.ช.ได้แต่งตั้งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงทั้ง6เรื่องดังกล่าวแล้ว ซึ่งทางคณะกรรมการป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูลจึงมีมติให้ตกไป3เรื่อง ไม่ยกขึ้นพิจารณาเนื่องจากเป็นกรณีที่ศาลประทับฟ้องไว้แล้ว1เรื่อง ส่วนอีก2เรื่องเป็น

กรณีกล่าวหานายมนตรี เจนวิทย์การ ในฐานะเลขาธิการ ปรส.ว่าดำเนินการจำหน่ายทรัพย์สินโดยมิชอบ ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วมีมูลความผิด จึงได้ส่งสำนวนให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาโทษทางวินัยและส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดแล้วเมื่อวันที่22พ.ค.2557 ดังนั้นปัจจุบันจึงไม่มีคดีเกี่ยวกับ ปรส.ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของคณะกรรมการป.ป.ช.แต่อย่างใด
///////////
ภาษีมรดก

"วิษณุ" เชื่อผลักดันภาษีที่ดิน-มรดก ไม่สร้างความขัดแย้ง ชี้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ย้ำเป็นธรรมทุกฝ่าย

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการผลักดันกฎหมายภาษีที่ดินและภาษีมรดก ว่า คงไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้น ซึ่งมองว่าเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม แต่ต้องทำให้เกิดความ
มั่นใจ ว่ามีความเป็นธรรม ส่วนที่บางประเทศมีการยกเลิกการเก็บภาษีดังกล่าวนั้น มีเหตุผลหลายประการและมีการจัดเก็บก่อนที่จะยกเลิก ซึ่งประเทศไทยเพิ่งริเริ่ม โดยร่างกฎหมายดังกล่าวเรียก
เก็บไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ หรือต่ำกว่าตามกำหนดที่จะออกโดยพระราชกฤษฎีกา

อย่างไรก็ตาม การเก็บภาษีดังกล่าวเพื่อแสดงให้คนจำนวนหนึ่งเห็นว่า ในสังคมนี้ยังมีการลดความเหลื่อมล้ำอยู่
//////////////
เคลื่อนไหวนายกฯ

นายกฯ ขึ้นเวทีเอเปก ย้ำไทยเร่งสร้างประชาธิปไตยที่ยังยืน ปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจ เสริมสร้างความเชื่อมโยงกับเพื่อนบ้าน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมเอเปก ช่วงที่ 1 ในหัวข้อ การก้าวสู่การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค (Advancing Regional Economic Integration) ว่า การจะทำให้เอเชีย-แปซิฟิกคงความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืนได้ จะต้องเร่งสร้างหลักประกันความแข็งแกร่งจากภายในประเทศ คือระบบเศรษฐกิจและสังคมไทย ยืนยันว่าประเทศไทยยึดมั่นกับค่านิยมความเป็นประชาธิปไตย และขอเวลาเพื่อสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนไทยอย่างแท้จริง โดยยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล ความเท่าเทียม ความโปร่งใส และยุติธรรม ในทุกภาคส่วนด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลไทยจะเร่งปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้มีความยั่งยืน เท่าเทียม และมีบรรยากาศที่เอื้อต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ และเสริมสร้างความเชื่อมโยงกับเพื่อนบ้าน เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงการพัฒนาเศรษฐกิจได้
----------------------
นายกฯ กล่าวถ้อยแถลงเวทีเอเปก เชื่อมั่นว่า การรวมกลุ่มจะส่งเสริมให้ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกแข็งแกร่งขึ้น นำพาเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวเติบโตอย่างยั่งยืน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมเอเปก ช่วงที่ 1 ในหัวข้อ การก้าวสู่การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค (Advancing Regional Economic Integration) ว่า เอเปกฉลองครบรอบ 25 ปี ความสำเร็จที่สำคัญของเอเปก คือ การเปิดเสรีการค้าและการลงทุน และจะสานต่อเป้าหมายการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอฟ-แทป (FTAAP)

นายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นว่า การรวมกลุ่มจะส่งเสริมให้ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกแข็งแกร่งขึ้น และจะนำพาเศรษฐกิจโลกให้ฟื้นตัวและเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมสนับสนุนการจัดทำ “แผนการดำเนินงานปักกิ่งฯ” เพื่อให้ “เอฟ-แทป” มีความคืบหน้า และเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ ต้องคำนึงถึงระดับการพัฒนาที่แตกต่างกันของสมาชิกเอเปก และมีการดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน (step-by-step) ต่อยอดจาก FTA ที่ดำเนินการอยู่แล้วในภูมิภาค เช่น อาร์-เซพ (RCEP - Regional Comprehensive Economic Partnership) ทีพีพี (TPP - Trans Pacific Partnership) และกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก (Pacific Alliance)

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวว่า ไทยให้ความสำคัญกับการสร้างความเชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจเพื่อนบ้านมาโดยตลอด โดยเฉพาะภายใต้กรอบอนุภูมิภาค เพื่อให้ก้าวเดินไปพร้อมกัน รัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วนที่จะจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จำนวน 5 แห่ง กับลาว กัมพูชา เมียนมาร์ และมาเลเซีย เพื่อพัฒนาพื้นที่บริเวณชายแดนให้เป็นประโยชน์ร่วมกัน นอกจากนี้ เอเปกต้องให้ความสำคัญกับการค้าที่เคารพต่อกติกาด้านสิ่งแวดล้อมและมนุษยธรรม เช่น การป้องกันการค้าไม้ผิดกฎหมาย และการค้าสัตว์ป่า โดยเฉพาะงาช้าง ไทยได้ยื่นแผนปฏิบัติการงาช้างต่อไซเตส (CITES) เพื่อย้ำความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาการค้างาช้างของไทย
-------------------------
นายกฯ กล่าวในเวทีเอเปก ไทยมีแผนปฏิรูประบบการศึกษา เน้นการพัฒนาคุณภาพ ลดความยากจน ความเหลื่อมล้ำในสังคม  

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในการประชุมเอเปก ช่วงที่สอง (Retreat II) ในหัวข้อ การส่งเสริมการพัฒนาอย่างมีนวัตกรรม การปฏิรูปเศรษฐกิจ และการเจริญเติบโต (Promoting Innovative Development, Economic Reform and Growth) ว่า เป้าหมายสำคัญของเอเปก คือการสร้างความเจริญเติบโต ต้องการเห็นความเจริญเติบโตที่มีคุณภาพ ยั่งยืน เท่าเทียม เป็นธรรม รัฐบาลไทยได้เห็นถึงความสำคัญกับการพัฒนา โดยเฉพาะการพัฒนาที่เน้นคุณภาพ ลดความยากจน และความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งการพัฒนาคนถือเป็นหัวใจของการพัฒนาช่วยให้ระบบเศรษฐกิจก้าวหน้าอย่างยั่งยืน ไทยมีแผนปฏิรูประบบการศึกษา เน้นการศึกษาที่มีคุณภาพ ตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจ คนไทยทั่วประเทศจะต้องได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกัน

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวสนับสนุนความร่วมมือของเอเปก ในการส่งเสริมการศึกษาข้ามพรมแดน โดยเฉพาะการกำหนดเป้าหมายแลกเปลี่ยนนักเรียนนักศึกษาจำนวน 1 ล้านคน ระหว่างสมาชิกเอเปกภายในปี ค.ศ. 2020 และการให้ทุนการศึกษาเอเปก เพื่อเตรียมความพร้อมให้แรงงานรุ่นใหม่ปรับตัวเข้ากับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่อไป ส่วนการส่งเสริมสุขภาพที่ดี ผ่านการ

พัฒนานโยบายป้องกัน ควบคุม และรักษาโรค ข้อริเริ่มของจีนเรื่อง Healthy Asia Pacific 2020 เป็นความร่วมมือที่มีประโยชน์ และตรงกับการดำเนินการของไทย จึงเชื่อว่า ไทยจะสามารถมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ ในความร่วมมือด้านนี้ของเอเปกต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: