PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

‘เจ๊ยุ’ ห่วงนักข่าวรุ่นใหม่ไร้เสาหลักวิชาชีพ ทำหน้าที่สื่อแค่วิ่งข่าว

งถกปฏิรูปสื่อฯ ห่วงนักข่าวใหม่ไร้หลักวิชาชีพ-เป็นได้แค่เด็กวิ่งข่าว

เขียนวันที่
วันศุกร์ ที่ 07 พฤศจิกายน 2557 เวลา 21:36 น.
เขียนโดย
isranews
‘เจ๊ยุ’ ห่วงนักข่าวรุ่นใหม่ไร้เสาหลักวิชาชีพ ทำหน้าที่สื่อแค่วิ่งข่าว ระบุต้องหาวิธีห้ามนักการเมืองกระโดดมาทำสื่อ หวั่นใช้เป็นช่องทางโฆษณาล้างสมอง บ้านเมืองเละเทะซ้ำรอยอดีต ‘เทพชัย หย่อง’ ยอมรับการบังคับใช้กติกากำกับวิชาชีพไทยยังอ่อน เร่งหากลไกขับเคลื่อนจริงจัง
natdanai071111111157
วันที่ 7 พฤศจิกายน 2557 คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป จัดเวทีเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการปฏิรูปสื่อ ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
นายเทพชัย หย่อง ประธานคณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป กล่าวว่า ต้องยอมรับความจริงการบังคับใช้กฎกติกาเรื่องจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชนไทยอ่อนมาก จึงถือเป็นประเด็นสำคัญในการปฏิรูปครั้งนี้ เพราะหากถูกมองว่ากำกับดูแลกันเองไม่ได้ อาจมีคนเข้ามาสอดแทรกแนวความคิดให้มีกฎหมาย อำนาจทางการเมือง หรือรัฐบาลเข้ามาลงโทษจึงจะได้ผล ซึ่งถือเป็นสิ่งที่น่ากลัวมากที่สุด ทำให้การปฏิรูปครั้งนี้ต้องช่วยกันคิดว่ากลไกอะไรจากนี้ไปจะทำให้สื่อมีความรู้สึกว่า กติกาที่ทุกคนต้องเห็นพ้องกันและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด รวมถึงมีกลไกที่คนในสังคมรู้สึกเชื่อมั่นให้สามารถใช้ได้จริง สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ท้าทายที่สุด
ด้านนางยุวดี ธัญญศิริ ผู้สื่อข่าวอาวุโส หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ กล่าวว่า ในอนาคตสื่อมวลชนจะทำงานลำบากมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งส่วนตัวรู้สึกห่วงใยนักข่าวรุ่นใหม่ในเรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพ โดยเฉพาะสื่อเคเบิลที่มักให้ความสำคัญกับการได้มาซึ่งข่าวที่รวดเร็วมากกว่าการคำนึงถึงข้อเท็จจริงหรือประเด็นข่าว จึงอาจเหลือเพียงคนวิ่งข่าว
“สื่อมวลชนยังแบ่งค่าย วิ่งเข้าสู่ศูนย์อำนาจ ให้ได้เส้นทางผ่านสะดวก เพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจ ซึ่งไม่ว่ากัน ขอเพียงไม่ลืมหลักวิชาชีพก็พอ มิเช่นนั้นจะไม่เหลืออะไร” ผู้สื่อข่าวอาวุโส กล่าว และว่า ที่ผ่านมาสื่อออนไลน์และการเมืองสร้างภาพลบแก่สื่อกระแสหลัก โดยเฉพาะสื่อการเมือง จึงพูดได้ว่า บ้านเมืองเละเทะไปเพราะสื่อเหล่านี้
นางยุวดี กล่าวต่อว่า จำเป็นต้องหาวิธีทำให้หลักการในวิชาชีพของสื่อกลับคืนมา อย่าปล่อยให้พรรคการเมืองเข้ามาทำสื่อเพื่อหวังโฆษณาล้างสมองฝ่ายเดียว เพราะการให้สิ่งที่ผิดกับสังคมย่อมเป็นยาพิษ และเรียกร้องทำอย่างไรให้สื่อรวมตัวกันด้วยความสามัคคี ภายใต้จุดยืนในการดำรงไว้ซึ่งวิชาชีพ ไม่ใช่การแข่งขัน
“บ้านเมืองไทยผ่านสถานการณ์รัฐประหารมาหลายครั้ง ซึ่งจะเห็นว่าผู้นำประเทศในอดีตจะใจกว้าง แม้จะดุ เราก็ไม่โกรธ แต่สื่อมวลชนในบางยุคกลับถูกมองด้วยสายตาลักษณะฝ่ายตรงข้าม มีการสั่งสอน ประหนึ่งสื่อมวลชนไร้วุฒิภาวะ” ผู้สื่อข่าวอาวุโส ทิ้งท้าย
ขณะที่นายศิโรจน์ มิ่งขวัญ นายกสมาคมนักข่าวอาชญากรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไม่ว่าใครจะนั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สื่อมวลชนยังทำหน้าที่อยู่ตลอด ซึ่งขณะนี้เราถูกเทคโนโลยีกดดัน มีดุลจากอินดี้มีเดียนำเสนอในรูปแบบคลิปต่าง ๆ ขนาบข้างมา จึงเป็นที่มาต้องเกิดการปฏิรูปสื่อครั้งนี้ ทั้งนี้ ในเรื่องการปฏิรูปนั้นคงไม่สามารถมีตัวชี้วัดการเติบโตหรือความเป็นกลางได้ แต่หากจะให้มองคงเหมือนเดิม คือ ปฏิรูปด้านเนื้อหาต้องถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม รวมถึงมีจริยธรรมวิชาชีพและเน้นข่าวเชิงสร้างสรรค์
สุดท้ายนายจักรกฤษณ์ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวถึงกระบวนการหลังจากรับฟังความคิดเห็นของสื่อมวลชนว่า หลังจากนี้ก่อนที่จะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ... องค์กรสื่อต่าง ๆ มีกรอบเวลาภายใน 60 วัน ในการรับฟังความคิดเห็นและนำเสนอเพื่อให้เกิดในทางปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม ซึ่งก่อนหน้าที่มีการพูดถึงการปฏิรูปสื่อหลายฝ่าย แต่ยังไม่ได้ลงรายละเอียดหรือทำให้เกิดอย่างจริงจัง
สำหรับเรื่องความคาดหวังเรื่องเนื้อหาหรือบุคคลที่จะเข้ามามีบทบาทในการดำเนินการในเรื่องการปฏิรูปอย่างจริงจังนั้น ประธานสภาการหนังสือพิมพ์ ระบุว่า ในตอนนี้ยังไม่สามารถคาดหวังได้มากนัก แต่หลังจากนี้จะเป็นโอกาสทั้ง 4 องค์กรสื่อหลักและผู้สื่อข่าวภาคสนามต้องร่วมมือกันช่วยกันคิดกระบวนการอย่างเป็นระบบ ซึ่งต่อจากนี้จะนำความคิดเห็นทั้งที่ได้ในวันนี้และการเปิดรับฟังความคิดเห็นนำมาประมวลผลและกำหนดแนวทาง
โดยจะต้องมีเครื่องมือบางสิ่งที่เข้ามาช่วยในส่วนนี้ด้วย ยกตัวอย่าง เรื่องสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน บนความรับผิดชอบที่อาจจะมีข้อจำกัดบางอย่างทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรคมากในการทำงาน ถูกจำกัดเสรีภาพ ในส่วนนี้ทางคณะทำงานได้มีการทำเครื่องมือเสร็จเรียบร้อยแล้ว คือ กฎหมายที่ระบุถึงเรื่องการส่งเสริม สิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน 
"ต้องให้ความสำคัญกับองค์กรกำกับการดูแลกันเองในองค์กรสื่อ คือ ด้านกฎหมายที่กำหนดในองค์กรสื่อจะต้องเข้าไปเป็นสมาชิกในองค์กรที่มีข้อบังคับด้านจริยธรรม และการผลักดันองค์กรผู้บริโภคให้มีความเข้มแข็งที่จะมาดูแลการกำกับสื่อมวลชน ส่วนด้านสวัสดิการ อาทิ ค่าตอบแทน ค่ารักษาพยาบาล การอบรมของสื่อมวลชนต่าง ๆ ก็มีส่วนสำคัญและจะต้องหาเครื่องมือให้มีการดำเนินการต่อไป"  นายจักรกฤษณ์ สรุป.

ไม่มีความคิดเห็น: