PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2557

กรณีศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้น พิพากษาสั่งให้ "กทม.-เขตปทุมวัน" รื้อถอนโรงแรมสูง 24 ชั้น "ดิ เอทัส บางกอก"

ประชาชนเป็นใหญ่ ในแผ่นดิน !
ข่าวศาลปกครองสูงสุด
มีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้น พิพากษาสั่งให้ "กทม.-เขตปทุมวัน" รื้อถอนโรงแรมสูง 24 ชั้น "ดิ เอทัส บางกอก"
ข่าว "ศาลปกครองสูงสุด" มีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้น พิพากษาสั่งให้ "กทม.-เขตปทุมวัน" รื้อถอนโรงแรมสูง 24 ชั้น "ดิ เอทัส บางกอก" ซึ่งตั้งอยู่ในซอยร่วมฤดี ให้เหลือเพียง 10 ชั้น ภายใน 60 วัน ถือเป็นข่าวสั่นสะเทือนวงการอสังหาริมทรัพย์เป็นอย่างยิ่ง
โดยศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า...เขตทางของถนนซอยร่วมฤดีมิได้มีเขตทางกว้าง 10.00 เมตร ตลอดแนว คือมีความกว้างน้อยกว่า 10.00 เมตร ถึง 8 จุด การก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคาร จึงไม่ชอบด้วยข้อ 2 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏว่า "กทม.-เขตปทุมวัน" ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 40 มาตรา 41 มาตรา 42 และมาตรา 43 แห่งพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ดำเนินการ ซึ่งก่อสร้างอาคารดังกล่าวนี้ ขัดต่อข้อ 2 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึง "ละเลย" ต่อหน้าที่ตามที่พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 กำหนดให้ต้องปฏิบัติ
หลักฐานสำคัญที่ยืนยันว่า ถนนซอยร่วมฤดีมีความกว้างไม่ถึง 10 เมตรก็คือ เมื่อปี 2553 "กรมที่ดิน" ได้ทำการรังวัดและพบว่า ถนนตลอดทั้่งแนวมี 8 จุด ที่มีความยาว 9.146 เมตร 9.207 เมตร 9.949 เมตร 9.434 เมตร 9.492 เมตร 9.150 เมตร 9.658 เมตร และ 9.283 เมตร ตามลำดับ
นี่จึงเป็นเหตุผลหลักที่ "ศาลปกครองสูงสุด" เห็นว่า "กทม.-เขตปทุมวัน" ซึ่งเป็นผู้อนุญาตให้มีการก่อสร้าง "ละเลย" ต่อหน้าที่ โดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายกระทรวงฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่ระบุไว้ว่า "ซอยที่มีความกว้างไม่เกิน 10 เมตรตลอดแนวไปจนถึงถนนสาธารณะ ไม่สามารถก่อสร้างอาคารที่มีความสูงเกิน 8 ชั้น หรือเกินกว่า 23 เมตรได้"
หลังมีคำพิพากษาออกมา "เฉลิมพงษ์ กลับดี" หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า คดีนี้เป็นบทเรียนให้กับ "กทม." ที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ ก่อนจะอนุญาตให้มีการก่อสร้างอาคารใหญ่ในพื้นที่ซอยแคบ โดยศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดี คือ "ผู้ว่าฯกทม." และ "ผู้อำนวยการเขตปุทมวัน" ต้องปฏิบัติตามกฏหมายควบคุมอาคาร 2522 ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง โดยกทม.ต้องดำเนินการให้เจ้าของอาคาร ปรับปรุงอาคาร หรือแก้ไขให้ถูกต้องตามกฏหมาย
6 ปีเต็มแห่งการต่อสู้ของ "ชุมชนชาวร่วมฤดี" ถือเป็นบรรทัดฐานอย่างดีว่า "กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย"
และเป็นบูมเมอแรงดีดใส่ "ผู้ว่าฯกทม." และ "ผอ.เขตปทุมวัน" ว่า...เซ็นใบอนุญาตให้โรงแรมแห่งนี้ก่อสร้างได้อย่างไร???
คนระดับ "ผู้ว่าฯกทม." และ "ผอ.เขตปทุมวัน" จะไม่รู้เชียวหรือว่า...กฎหมายมีข้อห้ามนี้ไว้!!!
ซึ่ง 6 ปีก่อนคนที่นั่งเป็นผู้ว่าฯกทม.ชื่อ "อภิรักษ์ โกษะโยธิน" และคนที่นั่งเป็นผอ.เขตปทุมวันชื่อ "สุรเกียรติ์ ลิ้มเจริญ"
สำหรับ "อภิรักษ์" นั้น...ในช่วงที่นั่งเป็นผู้ว่าฯกทม. นอกเหนือจากเรื่องร้อนๆ นี้แล้ว ยังมีเรื่อง "รถ-เรือดับเพลิงฉาว" อีก...ยังจำกันได้หรือไม่
กรณีนี้...เป็นบทเรียนชั้นดีให้กับ "นักการเมือง" และ "ข้าราชการ" ได้ตระหนักรู้เป็นอย่างดีว่า การบังคับใช้กฎหมายที่แท้จริงให้เกิดผลสูงสุดต่อสังคมและประเทศ...เป็นอย่างไร ???
.........................................


ไม่มีความคิดเห็น: