PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2557

คำนูน:เลือกนายกฯโดยตรง

แนวความคิดให้เลือกตั้งนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีโดยตรงไม่ใช่ของใหม่สำหรับการเมืองไทย นักวิชาการสาขารัฐศาสตร์หลายท่านเคยเสนอมาแล้วไม่ต่ำกว่า 40 ปี คนที่โดดเด่นมากที่สุดและอาจถือได้ว่าเป็นคนแรกที่เสนอแนวความคิดนี้ก็คือดร.พงศ์เพ็ญ ศกุนตาภัย ในงานชื่อ 'ประชาธิปไตยกับกระบวนการเมือง' เมื่อเดือนกันยายน 2512 และ 'เสถียรภาพทางการเมืองกับการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง' เมื่อปี 2516 คนต่อมาเป็นนักวิชาการรัฐศาสตร์ร่วมสมัยดร.ณรงค์ สินสวัสดิ์ ในงานที่เขียนร่วมกับรอส พริสเซียชื่อ 'อุปสรรคของระบอบประชาธิปไตยไทย' เมื่อปี 2517 ทำให้กระแสนี้มาแรงมากในช่วงร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2517 แต่ไม่สามารถฝ่าด่านแนวต้านที่นำโดยพล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชไปได้ รัฐธรรมนูญ 2517 จึงยังคงยึดระบบรัฐสภาดั้งเดิมให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกรัฐมนตรี
ดร.กระมล ทองธรรมชาติก็เคยสนับสนุนแนวความคิดนี้ในปี 2525
เช่นเดียวกับนักวิชาการที่ทำงานให้กอ.รมน.ยุคพล.อ.สายหยุด เกิดผลอย่างดร.สมชัย รักวิจิตรในงานวิจัยเมื่อปี 2525
ทหารที่สนับสนุนแนวความคิดนี้ก็คือพล.อ.มานะ รัตนโกเศศในช่วงปี 2530
ร.ต.ฉลาด วรฉัตรเป็นคนแรกที่เสนอรูปแบบการเลือกคณะรัฐมนตรีโดยตรง โดยเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อพรรคประชาธิปัตย์ที่ท่านสังกัดอยู่ในขณะนั้นเมื่อปี 2530 เป็นงานชิ้นสุดท้ายก่อนลาออกจากพรรค
เป็นข้อสังเกตเป็นข้อมูลให้พี่น้องที่สนใจแสวงหางานของท่านเหล่านี้มาอ่านกันได้
ในส่วนของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ อาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณได้พบกับเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยเมื่อวานนี้ ขอให้ท่านส่งนักวิชาการมาเล่าให้พวกเราฟังว่าเหตุใดอิสราเอลที่เคยเปลี่ยนแปลงระบบให้มีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรงเมื่อค.ศ. 1996 จึงตัดสินใจยกเลิกแล้วกลับไปใช้รูปแบบระบบรัฐสภาดั้งเดิมในอีก 6 ปีถัดมาเท่านั้น เกิดอะไรขึ้นกับการเมืองอิสราเอลระหว่างค.ศ. 1996 - 2001
กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะได้อภิปรายลงลึกในประเด็นนี้กันในช่วงการประขุมวันที่ 12, 13 และอาจจะยาวถึง 14 ธันวาคม 2557 ก่อนจะพักเพื่อรับฟังสภาปฏิรูปแห่งชาติวันที่ 15 - 17 ธันวาคม 2557 แล้วกลับมาประชุมต่อเพื่อตัดสินใจให้ได้ภายในวันที่ 26 ธันวาคม 2557 เพื่อเริ่มยกร่างเป็นรายมาตราต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: