PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ถ้ำปริศนาที่วัดขุนพนม(ต่อ)


ถ้ำปริศนาที่วัดขุนพนม(ต่อ)

ในขั้นต้นพระยาสรรค์ก็ให้สมเด็จพระสังฆราชเข้าไปถวายพระพร ทูลขอให้พระเจ้าอยู่หัวทรงออกผนวช เพื่อสะเดาะพระเคราะห์เมืองสัก ๓ เดือน

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไม่ทรงขัดข้องอย่างใด ตกลงเสด็จออกทรงผนวช ณ วันอาทิตย์ เดือน ๔ แรม ๑๒ ค่ำ ที่วัดแจ้งอันเป็นวัดในพระบรมมหาราชวัง(เช่นเดียวกับวัดพระศรีรัตนศาสดารามวังหลวงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์)
ครั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงผนวชแล้ว พระยาสรรค์ให้นำไปคุมไว้ในพระอุโบสถวัดแจ้ง พร้อมกับพระโอรสที่ยังทรงพระเยาว์อยู่
ส่วนเชื้อพระวงศ์ที่ยังเหลืออยู่ เช่น กรมอนุรักษ์สงคราม(บุญมี) หลานเธอของพระเจ้ากรุงธนฯให้เอาไปจำขังไว้ แล้วประกาศแก่บรรดาข้าราชการว่า ตนเองจะอยู่รักษาราชการไว้รอท่าสมเด็จเจ้า
พระยามหากษัตริย์ศึก
จะกลับมา ข้าราชการทั้งปวงเห็นชอบด้วย ต่างพากันตั้งอยู่ในความสงบ
ฝ่ายพระยาสรรค์พอได้ว่าราชการแล้ว เห็นคนทั้งปวงยอมอยู่ใต้บังคับบัญชาไม่มีปฏิกิริยา จึงคิดกำเริบจะตั้งตนเป็นใหญ่อย่างจริงจัง แต่ยังติดอยู่ที่ท่านเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเท่านั้น พอคิดได้ดั่งนั้นก็ไปเกลี้ยกล่อมกรมขุนอนุรักษ์สงคราม(บุญมี) ให้รับเป็นหัวหน้าต่อสู้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ โดยพระยาสรรค์จะเป็นผู้หนุนหลัง นำเงินในพระคลังไปจ้างพระยารามัญกับพระยากลางเมืองมาเป็นพรรคพวกให้
ขณะที่กำลังคิดอ่านเตรียมการอยู่นั้น พระยาสุริยอภัย(ทองอินทร์)ผู้เป็นหลานเธอ ของเจ้าพระยาสุรสีหนาท นำกำลังจำนวน ๓,๐๐๐ คนมาจากนครราชสีมาใกล้มาถึงกรุงธนบุรี เมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๕ ปีขาล ตรงกับ พ.ศ.๒๓๒๕ สร้างความตื่นตระหนกแก่พระยาสรรค์ถึงกับสั่งให้รีบปล่อยกรมขุนอนุรักษ์สงคราม(บุญมี) ให้ยกพวกไปปล้นพระยาสุริยอภัยที่ตำบลสวนมังคุด สวนลิ้นจี่ ในวันอังคาร แรม ๕ ค่ำ เดือน ๕ ปีขาล ยามเที่ยงคืน พวกกรมขุนอนุรักษ์สงคราม(บุญมี)บุกเข้าโจมตีไม่ให้รู้ตัว
ท่านผู้หญิงศรีอโนชาภริยาเอกของเจ้าพระยาสุรสีหนาทซึ่งอยู่ในกรุงธนบุรี พอทราบเหตุการณ์ก็ได้รวมไพร่พลชาวนครลำปาง รวมกำลังกันกับกองมอญของพระยาเจ่งรามัญ(ต้นสกุล“คชเสนีย์”) ซึ่งเป็นพระญาติสนิท ออกไปช่วยกองกำลังทางนครราชสีมา ได้ต่อสู้อย่างดุเดือด จนกระทั่งรุ่งเช้า พวกกองโจรแตกพ่ายหนีไป กรมขุนอนุรักษ์สงคราม(บุญมี)หนีไปหลบอยู่ในวัดยาง(แถวคลองบางกอกน้อย ใกล้วัดนายโรง) แต่ถูกตามจับได้ในวันนั้นให้เอาตัวไปจำไว้รอท่าเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก
ขณะนั้นเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์เริ่มทำศึกอยู่ที่เมืองบันทายเพชร ต้องหยุดชะงักลง ด้วยทราบข่าวทางกรุงธนบุรีเกิดกบฏ
เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้มอบการศึกให้พระอนุชา แล้วรีบยกกองกำลังจำนวน ๕,๐๐๐ คนกลับมาทางด่านพระจาฤก ผ่านเข้ามาทางทุ่งแสนแสบ เส้นทางที่เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเสด็จผ่าน ปัจจุบันนี้ก็คือถนนพระรามที่ ๑ ที่มาสิ้นตรงสะพานยศเส(สะพานกษัตริย์ศึก)และได้ตั้งทัพอยู่ที่วัดร้างแห่งหนึ่ง ซึ่งมีชัยภูมิเหมาะสม ด้วยเป็นเนินดินขนาดใหญ่มีน้ำล้อมรอบ สามารถตั้งรับข้าศึกที่จะมาโจมตีได้
ส่วนทางกรุงธนบุรี พวกราษฎรได้ทราบข่าวว่า เจ้าพระยามหากษัตริย์กลับมาแล้ว ต่างพากันชื่นชมยินดี และไปขอร้องให้ปราบยุคเข็ญให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข ในที่สุดบรรดาข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยก็มาอ่อนน้อม ไม่มีผู้ใดกระด้างกระเดื่องไม่
ครั้นปราบยุคเข็ญในกรุงธนบุรีเรียบร้อยลง ข้าราชการและชาวเมืองได้อัญเชิญเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเสด็จขึ้นผ่านพิภพเป็นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก นับเป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรีปกครองชาติไทยสืบต่อมา
๔ วันต่อมา มีคนจำนวน ๑๐ คน คือ หม่อมประสงค์ พระขนิษฐาพระเจ้าตากสิน พร้อมด้วยนายชิต นายชุบ โดยสารเรือสำเภาออกจากกรุงธนบุรี มีจุดหมายปลายทางเมืองนครศรีธรรมราช
พอถึงเมืองนครศรีธรรมราชก็เดินทางต่อด้วยช้าง ๒ เชือกไปยังวัดเขาขุนพนม
หลังจากนั้น ๒ ปี นายชิดกับนายชุบก็เสียชีวิตเพราะไข้ป่า ทำให้ทรงเสียพระทัยมาก ให้นำกระดูกของคนทั้งสองบรรจุไว้ในรูปปั้นยักษ์ที่รักษาทวารบนถ้ำ
“ถ้ำขุนเขาพนม” เป็นสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนครศรีธรรมราช ปากถ้ำอยู่สูงจากเชิงเขาด้านวัดเขาขุนพนมประมาณ ๒๐๐ เมตร มีทางขึ้นเป็นบันไดปูนซีเมนต์ประมาณกว่า ๒๐๐ ขั้น บริเวณถ้ำเป็นหน้าผาตัดราบ เนื้อที่ประมาณ ๓๐ ตารางเมตร หน้าถ้ำมีกำแพงเสมาก่ออิฐถือปูนสูงประมาณ ๒ เมตร มีประตูเข้าออก มีใบเสมาด้านบนทำนองเดียวกับกำแพงเมืองที่ประตูมียักษ์ปั้นทำหน้าที่ทวารบาล ๒ คน ส่วนผนังกำแพงด้านหน้า มีลายปูนปั้นประดับถ้วยชามเก่าแก่ ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปสำริด หม้อน้ำมนต์ และพระพุทธรูปโบราณ บริเวณทางซ้ายมือของบันไดทางขึ้นถ้ำประมาณ ๘๐ เมตร มีร่องรอยฐานซากอาคารโบราณซึ่งคนในท้องถิ่นมีความเชื่อว่าเกี่ยวพันกับประวัติบุคคลสำคัญ คือ สมเด็จพระเจ้าตามสินมหาราช 

คำบอกเล่าเรื่องนี้มีว่า พระองค์ไม่ได้ถูกสำเร็จโทษแต่ประการใด แท้ที่จริงได้เสด็จหนีลงเรือมาประทับ ณ วัดเขาขุนพนม ทรงดำรงพระองค์อย่างสมณเพศ ทรงสั่งสอนสมถวิปัสสนาและทรงรับบิณฑบาตจากราษฎรเป็นเวลาสี่ปี จนทรงประชวรและเสด็จสวรรคต ณ ที่ประทับเขาขุนพนมเมื่อพระชนมายุได้ ๕๒ พรรษา(ประมาณ พ.ศ.๒๓๒๙) เมื่อสวรรคตแล้วพระอัฐิของพระองค์ถูกนำไปฝังไว้ ณ ฮวงซุ้ยทางด้านเหนือของเมืองนครศรีธรรมราช

ต่อมาอีก ๒ ปี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ทรงสวรรคตด้วยไข้ป่าเช่นกัน รวมระยะเวลาที่ประทับอยู่ที่เขาขุนพนมเพียง ๔ ปี
ความเชื่อเรื่องสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จประทับที่ขุนเขาพนมจนเสด็จสวรรคต ยังปรากฏในวรรณกรรมมุขปาฐะประเภทเพลงร้องเรือบทหนึ่ง ซึ่งแพร่หลายมาก คือ เพลงร้องเรือชื่อ “สงสาร” มีใจความว่าดังนี้
สงสารเหอ แปะหนวดยาวเราสิ้นทุกข์
เอาศพใส่โลงดีบุก ค้างไว้ในดอนดง
สาวสนมกรมวัง ช่วยกันถือฉัตรถือธง
ค้างไว้ในดอนดง ค่อยปลงบนเมรุใหญ่
(เพลงร้องเรือ อ.พรหมคีรี)

เชื่อกันว่าแปะหนวดยาว คือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ความเชื่อเช่นนี้สืบทอดกันต่อมากระทั่งปัจจุบัน จนมีวัตถุซึ่งเป็นรูปเคารพของสมเด็จพระเจ้าตามสินมหาราช วัตถุอื่นๆที่เกี่ยวข้องและมีพิธีกรรมต่างๆ เกี่ยวกับพระองค์อย่างเป็นกิจจะลักษณะ เช่น มีจารึกพระราชนิพนธ์ มีพระบรมราชานุสาวรีย์ ประดิษฐาน ณ เขาขุนพนมมีบทสดุดี และบทอาราธนาดวงพระวิญญาณ


ไม่มีความคิดเห็น: