PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เขียน ธีระวิทย์:วิเคราะห์ แดเนียล

ศาสตราจารย์ ดร. เขียน ธีระวิทย์ วิเคราะห์ลึกนายแดเนียล ผช. รมต. ต่างประเทศสหรัฐฯ
Daniel Russel ทูตถนัดตัดไมตรี
สหรัฐอเมริกา อดีตมหามิตรของไทยได้ส่งนายแดเนียล รัสเซล (Daniel Russel) ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้านเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกมาเยือนประเทศไทย เมื่อวันที่ 25-26 มกราคม ศกนี้ เขามาทำอะไร-พูดอะไรที่สะท้อนให้เห็นธาตุแท้ของสหรัฐฯ และสะเทือนจิตใจของคนไทยจำนวนมาก เขาประสบความสำเร็จในการสร้างข่าวอื้อฉาวในสื่อมวลชนและสื่อสังคม ผมได้ใช้เวลา 2 วันติดตามความเคลื่อนไหวของเขาที่ไปพบกับใคร พูดอะไร สื่อต่างๆ รายงานอะไรและปฏิกิริยาของคนไทยเป็นอย่างไร เมื่อประมวลข่าวสารข้อมูลทั้งหมดแล้วเกิดความกังวลว่า ต่อไปนี้เราจะอยู่ร่วมโลกกับมหามิตรอเมริกาอย่างไร ผมมีข้อสังเกตและความเข้าใจเกี่ยวกับบุคลิกภาพแห่งชาติและนโยบายของสหรัฐฯบางอย่างที่เหมือนและต่างกับคนอื่นๆ แต่ไม่แน่ใจว่ามุมมองของผมจะถูกต้องหรือไม่ จึงขอนำมาเสนออย่างย่อๆ เพื่อคนที่สนใจเรื่องนี้จะได้ช่วยกันคิด
1.ไทยกับสหรัฐฯ มีผลประโยชน์ต่างกัน ฝ่ายไทยมีผลประโยชน์เฉพาะหน้าคือ การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และการบูรณะฟื้นฟูประเทศจากความเสียหายที่เกิดขึ้นก่อนการรัฐประหาร (22 พฤษภาคม 2557) ในระยะยาว ไทยต้องการเป็นมิตรกับทุกประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาอำนาจสหรัฐฯ และจีน เลือกเท่าเทียมกันได้ก็จะดี แต่ถ้าถูกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบีบคั้นมาก ก็ต้องให้อนาคตเป็นตัวตัดสิน
ส่วนฝ่ายสหรัฐฯนั้น ในเอเชีย สหรัฐฯ กลัวอิทธิพลของจีนจะขยายบดบังฐานะของตน จึงสนับสนุน-ชักชวนให้ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และอินเดียเป็นปฏิปักษ์ต่อจีน สร้างความตึงเครียดขึ้นในเอเชีย เพื่อขายอาวุธและใช้อำนาจปกป้องประเทศที่กลัวการรุกรานของจีน เขาอยากได้ไทยเป็นหุ้นส่วนในนโยบายครองความเป็นเจ้าโลกของเขาด้วย นาย Daniel Russel มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายเช่นนั้นของสหรัฐฯ ด้วย
2.สหรัฐฯ ถือไพ่ทักษิณ เป็นประเพณีทางปฏิบัติของสหรัฐฯ เมื่อผู้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย เช่น Daniel Russel จะเดินทางมาไทย เขาจะกำหนดแผนงานและกลยุทธ์ในการทำงาน โดยอาศัยข้อมูลจากหน่วยสืบความลับของตน จากอดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย จากกลุ่มผลประโยชน์และกลุ่มการเมืองต่างๆ รวมทั้งที่ปรึกษาของทักษิณด้วย สื่อมวลชนในสหรัฐฯ นั้น ไม่ค่อยกล้าเสนอข่าวด้านบวกของรัฐบาลทหารของไทย ฉะนั้น Daniel Russel คงสรุปเอาว่าถ้ามีการเลือกตั้งเมื่อไร ฝ่ายทักษิณก็จะกลับมามีอำนาจอีก ถ้าพวกเขามาช่วยฝายทักษิณอีกแรงหนึ่ง เมื่อพวกทักษิณได้เป็นรัฐบาล สหรัฐฯก็จะได้ ผลประโยชน์ต่างๆ ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคงมากขึ้น ถ้าจะดึงไทยไปต้านจีนดังที่ทำสำเร็จมาแล้วในหลายประเทศก็คงไม่ยาก และถ้าจะล้มเหลว ก็ยังหลอกชาวโลกได้ว่า สหรัฐฯ ได้สละผลประโยชน์เพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตย
3.ชูประเด็นประชาธิปไตย วิธีปฏิบัติทางการทูตเชิงประชาสัมพันธ์นั้น Daniel Russel ต้องการสร้างภาพให้ชาวโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวอเมริกันเห็นว่า เขากลั่นกรองมาจากการรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มการเมืองทุกฝาย ฉะนั้นจึงมีการพบกับยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร และผู้นำภาคเอกชนกลุ่มหนึ่ง เสร็จแล้วก็วิพากษ์วิจารณ์การเมืองของไทยโดยผ่านเวทีชุมชนวิชาการ สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ (ISIS) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโทรทัศน์ สิ่งที่เขามาพูดในไทยนั้นได้รับการถ่ายทอดทั่วโลกโดยผ่านทีวีดาวเทียมที่เป็นปากกระบอกเสียงของสหรัฐฯ สรุปสาระที่สำคัญคือ เขาบอกให้รัฐบาลไทยจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว ให้ไทยยกเลิกกฎอัยการศึก ให้เปิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุม ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการเมือง ฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นข้อเรียกร้องของคนพันธุ์ทักษิณ หรือรัฐบาลที่สูญเสียอำนาจทั้งสิ้น
4.ประชาธิปไตยหน้าไหว้หลังหลอก สหรัฐฯ พยายามสร้างภาพให้ชาวโลกเห็นว่าตนเป็นแชมเปี้ยนของประชาธิปไตยเสรี ต่อต้านรัฐประหาร ต่อต้านเผด็จการ แต่ในทางปฏิบัติ สหรัฐฯ ชอบรัฐประหารที่ตนสนับสนุน ต่อต้านรัฐประหารและรัฐบาลเผด็จการเฉพาะที่ไม่ยอมสวามิภักดิ์ต่อตนเท่านั้น สหรัฐฯ มีประวัติส่งเสริมฝ่ายทหารยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้วนับไม่ถ้วน ล่าสุดคืออียิปต์ ซึ่งสหรัฐฯ สนับสนุนฝ่ายทหารให้ยึดอำนาจจากรัฐบาล Mohamed Morsi ที่ได้อำนาจจากการเลือกตั้ง เช่นเดียวกับประเทศยูเครน ซึ่งสหรัฐฯ ร่วมมือกับกลุ่มประเทศ NATO สนับสนุนพวกต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่นิยมรัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งไม่เคยมีการเลือกตั้งเลย ไม่เคยมีสภาผู้แทนราษฎรเลย สหรัฐฯ ก็ไม่รังเกียจ อย่างนี้ไม่เรียกว่า hypocrite (หน้าไหว้หลังหรอก) แล้วจะเรียกว่าอะไร
5.คดีถอดถอนอดีตนายกรัฐนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร Daniel Russel กล่าวหารัฐบาลไทยว่า คดีถอดถอนยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนั้นมีเหตุจูงใจทางการเมือง เขาคงไม่โง่ถึงขนาดที่ไม่รู้หรอกว่า การถอดถอน (Impeachment) ยิ่งลักษณ์นั้นเป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก กลไกของรัฐ (ป.ป.ช. และสนช.) ต้องทำตามอำนาจหน้าที่ ถ้าไม่ทำมีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 157 ยิ่งลักษณ์ถูกกล่าวหามีความผิดฐานละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่จนทำให้เกิดการคอร์รัปชั่นทุกระดับของโครงการรับจำนำข้าว และทำให้ประเทศเสียหายคิดเป็นมูลค่าหลายแสนล้านบาท เป็นความผิดที่ร้ายแรงกว่าคดี Watergate ที่ประธานาธิบดีนิกสันถูกดำเนินคดีถอดถอนเสียอีก สหรัฐฯ ก็มีตัวอย่างการถอดถอนผู้นำสูงสุดมาแล้ว ไม่มีใครกล่าวหาวุฒิสภาสหรัฐฯ ว่ามีการเมืองอยู่เบื้องหลัง ในประเทศไทย ยิ่งลักษณ์กล่าวหาผู้ดำเนินคดีถอดถอนตนว่าไม่ยุติธรรม มีการเมืองอยู่เบื้องหลัง พรรคพวกพูดตาม Daniel Russel ก็มาพูดตาม กลไกโฆษณาชวนเชื่อของระบอบทักษิณนั้นมีประสิทธิภาพจริงๆ จริงอยู่ ถ้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังอยู่ในอำนาจ เธอและพรรคพวกอาจจะใช้อำนาจขัดขวางกระบวนการยุติธรรมจนกลไกการบังคับใช้กฎหมายทำงานไม่ได้ นั่นแหละจึงเรียกได้ว่ามีการเมืองอยู่เบื้องหลัง และจริงอยู่ ถ้าเรื่องเข้าวุฒิสภา ยิ่งลักษณ์อาจจะรอดจากการถอดถอน เพราะอิทธิพลของทักษิณและพรรคการเมืองที่อยู่ใต้อำนาจของคนคนเดียวสั่งการได้ นั่นแหละจึงเรียกได้ว่ามีการเมืองอยู่เบื้องหลัง แต่ในกรณีนี้ ใครยืนยันได้ว่า หัวหน้า คสช. หรือผู้บัญชาการทหารบกได้สั่งให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติลงคะแนนอย่างไร
6.การทูตตัดไมตรี Daniel Russel มาประเทศไทยในฐานะเป็นตัวแทนของรัฐบาลอเมริกัน คนไทยคาดหวังว่าเขาจะมาในฐานะทูตสันถวไมตรี แต่เขาเลือกที่จะเป็นทูตตัดไมตรี ถ้าเขาเลือกที่จะทำงานเชิงสร้างสรรค์ ส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างไทยกับสหรัฐฯ หรือแม้แต่ทำเพื่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เพียงฝ่ายเดียว เขาก็ควรจะค้นหาความจริงให้ได้ว่าเหตุใดทหารไทยจึงกล้าทำรัฐประหารทั้งๆ ที่มีผลร้ายต่อตัวมากกว่าผลดี เหตุใดคนจำนวนมากที่ไม่ชอบรัฐประหารจึงสนับสนุนการทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลระบอบทักษิณมาแล้วถึงสองครั้ง ระบอบทักษิณสร้างเงื่อนไขเลวร้ายขนาดไหนจนทำให้เกิดการรัฐประหารขึ้น นอกจากนั้น ทหารปกครองประเทศนานครบ 8 เดือนแล้ว ทำไมประชาชนส่วนใหญ่ยังสนับสนุนและให้ความร่วมมือในการรักษาความสงบเรียบร้อย
ฝ่ายไทยควรอธิบายให้เขาทราบว่าเหตุไดทหารจึงเลือกทำรัฐประหาร ทำไมประชาชนส่วนใหญ่จึงสนับสนุนและให้ความร่วมมือ รัฐบาลทหารยึดหลักกฎหมาย บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด อาศัยกฎอัยการศึกช่วย สิ่งที่ควรเน้นคือ คนไทยรู้ปัญหาของตนเอง รู้อาการป่วยของเราว่า โรคขนาดนี้ต้องการยาแรงขนาดไหน คนต่างชาติไม่รู้ปัญหาดีเท่ากับคนไทย ชี้ให้เขาเห็นว่าการที่สหรัฐฯ
เข้าไปแทรกแซงใน ยูเครน อียิปต์ อิรัก อัฟกานิสถานและลิเบียนั้นผลเป็นอย่างไร
7.เสียงประท้วงจากรัฐบาลไทย ภายหลัง Daniel Russel จากกรุงเทพฯ ไปเพียงวันเดียว นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศก็ได้เชิญ Patrick Murphy อุปทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยเข้าพบเพื่อประท้วงว่า Daniel Russel ทำการแทรกแซงกิจการภายในของไทย เป็นการตอบสนองเสียงสะท้อนอึงมี่ของคนไทยที่แสดงออกผ่านสื่อมวลชนและสื่อสังคม และเป็นการเตือนให้สหรัฐฯ ตระหนักว่าคนไทยรักศักดิ์ศรีของความเป็นเอกราช คนไทยมีภูมิปัญญาพอในการแก้ไขปัญหาของตนเอง และการที่ เขามาพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมื่อวันก่อน โดยเตือน (หรือขู่) รัฐบาลไทยว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ จะไม่กลับคืนเข้าสู่ระดับปกติ จนกว่าไทยจะกลับสู่ความเป็นประชาธิปไตยนั้นก็เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้นไม่นิยมพูดอะไรที่อาจจะกระทบกระเทือนถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ก็ยังเผยความรู้สึกออกมาว่ารู้สึกผิดหวังที่สหรัฐฯ ไม่เข้าใจเหตุผลของทหาร ที่ต้องลุกขึ้นมาแทรกแซงการเมือง แม้ว่าสหรัฐฯ จะเป็นพันธมิตรกันเป็นเวลายาวนานแล้วก็ตาม
8.“อเมริกันอันตราย” ในช่วง 2 วันหลังจากการเยือนไทยของ Daniel Russel นั้น สื่อมวลชนและสื่อสังคมแพร่เสียงวิจารณ์และด่าทอ “Ugly American” กันอย่างแพร่หลาย บางแหล่งก็ใช้คำหยาบหรือสำนวนโวหารทำให้เป็นเรื่องขบขัน ส่วนมากโจมตีสหรัฐฯ ดุเดือดด้วยอารมณ์เร่าร้อน แต่ที่ชอบด้วยเหตุผลก็มี เช่นบอกว่าคนอเมริกันโง่ๆ ไม่รู้ว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็นประชาธิปไตยหรือไม่, รู้ไหมว่ายิ่งลักษณ์ทำประชาธิปไตยไทยเหลวแหลกขนาดไหน, อเมริกันตัวแสบมายุ่งเรื่องภายในของไทย, แดเนียล รัสเซล บอกไม่เข้าข้างใคร แต่เป็นปากกระบอกเสียงให้ทักษิณ, ตัวแสบคิดร้าย อยากเห็นคนไทยฆ่ากันเองเหมือนก่อนรัฐประหารหรือไร เป็นต้น
ถ้ากลไกสืบความลับของสหรัฐฯ จะแปลคำก่นด่าว่า “อเมริกันอันตราย” ในสื่อออนไลน์ให้คนอเมริกันอ่าน พวกเขาคงไม่มีอารมณ์ขันเหมือนคนไทยเป็นแน่
9.การบ้านของคนไทย การใช้สื่อต่างๆ ระบายอารมณ์ด่าทออเมริกันนั้นทำได้ตามมาตรฐานของอเมริกา แต่ไม่ควรล่วงเกินสิทธิส่วนบุคคลของพวกเขาหรือรังเกียจพวกเขา เพราะชาวอเมริกันส่วนมากน่ารักกว่ารัฐบาลของพวกเขามาก
น่ายินดีที่ผู้นำรัฐบาลไทยสงบสติอารมณ์ได้ดี ไม่ออกมาทะเลาะกับ Daniel Russel กระทรวงการต่างประเทศได้ทำหน้าที่อย่างสุภาพในการเตือนผู้นำสหรัฐฯ ผ่าน อุปทูต Patrick Murphy ไปแล้วตามควรแก่กรณี ในขณะเดียวกัน ก็ต้องขอบคุณ Daniel Russel เหมือนกันว่า เขาได้เตือนกระทรวงการต่างประเทศของไทยทางอ้อมว่าจะต้องทำการบ้านให้มากขึ้น ที่จะให้ชาวโลกทราบเหตุผลต้นตอที่ทำให้ไทยมีรัฐบาลทหารอยู่ในปัจจุบัน เป็นงานยากที่จะบอกว่าบ้านเราถูกโจรผู้ร้ายปล้นทำลายยับเยิน โดยไม่ชี้ตัวผู้ร้ายและพฤติกรรมของผู้ร้ายให้เขาเห็น (เพราะขัดกับนโยบายสร้างความปรองดองแห่งชาติ) แต่จะต้องหาช่องทางให้คนต่างชาติเห็นว่า เราจำเป็นต้องปิดประตู (เสรีภาพ) เพื่อซ่อมแซมบ้านเมืองชั่วคราว กฎอัยการศึกของไทยช่วยให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดตามมาตรฐานสากลเท่านั้นฯลฯ
เมื่ออธิบายทำนองนี้แล้วพวกเขายังไม่เข้าใจ หรือทำเป็นไม่เข้าใจ เพราะมีเหตุผลอื่นซ่อนเร้นก็ช่วยไม่ได้ อาจจะเป็นโอกาสดีที่เราจะได้เป็นอิสระมากขึ้นในความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ยังมีมหาอำนาจอื่นที่เข้าใจเรา ให้เกียรติ์เรา และไม่เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของเรา
10.อย่าตกหลุมพราง ไม่ว่าผู้นำสหรัฐฯ จะมีเจตนาดีหรือร้ายต่อไทย เราจะต้องตอบโต้อย่างมีสติ ปล่อยให้ภาคเอกชนระบายอารมณ์กันไป แต่ภาครัฐไม่ควรขยายประเด็นความขัดแย้ง เพราะจะป็นผลร้ายต่อนโยบายการปรองดองแห่งชาติ และถ้าเราตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อสหรัฐฯ ไป “ถือไพ่จีน” ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศแล้ว ถึงเวลามีการเลือกตั้ง ระบอบทักษิณก็อาจจะฟื้นคืนชีพกลับมาอีก ถึงตอนนั้น สหรัฐฯ ต้องการอะไร ทักษิณหรือทายาททางการเมืองของทักษิณก็จะใช้อำนาจตัดสินคนเดียว ผ่านพรรคการเมืองของเขา เอาสมบัติของชาติยกให้ หรือขายให้ถูกๆ ดังที่เคยทำกันมาแล้ว เราไม่รู้ว่านี้เป็นกลยุทธ์ทางการทูตของ Daniel Russel หรือเปล่า
เขียน ธีระวิทย์
หมายเหตุ: ดูบทความวิชาการได้ฟรีที่ www.thaiworld.org
5


ไม่มีความคิดเห็น: