PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ปฏิรูปแผ่วปลาย แนะคสช.กระทุ้ง 2กมธ.รอสับรธน.

ปฏิรูปแผ่วปลาย แนะคสช.กระทุ้ง 2กมธ.รอสับรธน.
กมธ.กฎหมาย-การเมือง จับมือชำแหละร่าง รธน. จับตาหลัง 13 ส.ค. ขึงพืดปมร้อนหมวดการเมืองรายมาตราจุดชี้ขาดผ่าน-ไม่ผ่าน "สุริยะใส" ชี้ปฏิรูปเริ่มแผ่วปลาย แนะ คสช.-ครม.เร่งสร้างแรงส่งก่อนประชาชนหมดหวังกว่านี้ "อภิสิทธิ์" ขานรับแนวทางสร้างความปรองดองของ สปช. เชื่อทุกฝ่ายเห็นด้วยที่จะให้เดินหน้า
เมื่อวันอาทิตย์ นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของสมาชิก สปช.ต่อร่างรัฐธรรมนูญว่า งานปฏิรูปประเทศของ 18 คณะกรรมาธิการ เริ่มจะงวดเข้ามาทุกที คงจะเสร็จสิ้นไม่เกินวันที่ 10 ส.ค.นี้ กรรมาธิการบางคณะก็เสนองานปฏิรูปต่อที่ประชุม สปช.เสร็จไปแล้ว จึงเหลือในส่วนของคณะอื่นๆ ไม่มาก ดังนั้น สมาชิก สปช.ในหลาย กมธ.เตรียมมาติดตามศึกษาต่อเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่จะเสนอต่อสภาปฏิรูปฯ ในวันที่ 22 ส.ค.นี้ เรียกได้ว่าสถานการณ์ในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเตรียมการศึกษาประสานแนวร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันแต่ละกลุ่มแต่ละคณะ
นายวันชัยบอกว่า กลุ่มปฏิรูปทางการเมืองและกลุ่มปฏิรูปกฎหมายฯ ได้มีการเตรียมการวางแผนเป็นหัวหอกในการศึกษาและพิจารณาประเด็นต่างๆ ในรัฐธรรมนูญอย่างใกล้ชิด ได้มีการประสานแลกเปลี่ยนข้อมูลกับสมาชิก สปช.กลุ่มต่างๆ ทั้งรายกลุ่มและรายบุคคลอยู่ตลอดเวลา เช่น กลุ่ม สปช.จังหวัด, กลุ่ม สปช.สายอดีตข้าราชการทั้งพลเรือน ทหาร, กลุ่ม สปช.สายนักวิชาการ สายเอ็นจีโอ และกลุ่ม สปช.ที่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก่อน ได้มีการปรึกษาหารือผ่านแกนแต่ละกลุ่มอยู่อย่างต่อเนื่อง พร้อมที่จะเคลื่อนไหวไปในแนวทางเดียวกันที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน
"จึงเชื่อว่าหลังเสร็จภารกิจเรื่องงานปฏิรูปประเทศ และแถลงการปฏิรูปประเทศต่อประชาชนของ สปช.ในวันที่ 13 ส.ค.แล้ว คงจะมีการเคลื่อนไหวในเรื่องรัฐธรรมนูญ มีการถกแถลงกันแรงขึ้น นอกจากนี้ยังมีประเด็นสำคัญที่ต้องร่วมพิจารณา เพราะเป็นข้อเรียกร้องของประชาชนจนนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง นั่นก็คือจะต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง และวันนี้จนกระทั่งที่จะมีการโหวตให้รัฐธรรมนูญผ่านนำไปสู่การเลือกตั้งได้มีการปฏิรูปประเทศเสร็จสิ้นแล้วหรือยัง หรือจะปล่อยให้มีการเลือกตั้งแล้วค่อยไปปฏิรูป จะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่กลุ่มต่างๆ จะนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจของสมาชิกควบคู่ไปกับการโหวตรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญ"
นายวันชัยกล่าวอีกว่า เบื้องต้นเกือบจะทุกกลุ่มทุกฝ่ายมีความเห็นว่าหมวดที่ว่าด้วยเรื่องการเมืองนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าตัวการเมือง นักการเมืองดีเสียแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างตามร่างรัฐธรรมนูญก็คงจะดีไปหมด ถ้านักการเมืองไม่ได้เรื่อง ไม่ดี ทุกสิ่งทุกอย่างก็คงจะบิดเบี้ยวไปหมด จึงต้องพิจารณาประเด็นนี้กันอย่างละเอียดรอบคอบ ไล่เรียงกันอย่างถี่ยิบ จุดดีจุดเด่นจุดด้อย เอามาเปรียบเทียบกันในแบบขึงพืดให้เห็นกันอย่างชัดเจน เฉพาะประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรี การเลือกตั้ง ส.ส.แบบสัดส่วนผสม และที่มา ส.ว.ก็วิพากษ์วิจารณ์กัน จะผ่านหรือไม่ผ่านก็อยู่ตรงประเด็นนี้ มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกันอย่างมากมาย แต่ส่วนใหญ่ก็เห็นว่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากร่างเดิมเลย และก็ไม่มั่นใจว่าจะแก้ปัญหาของประเทศได้เฉพาะ 2-3 เรื่องนี้ก็น่าคิดแล้ว ถ้าวิเคราะห์เจาะลึกเข้าไปละเอียดทุกมาตราผสมกับเรื่องที่ว่านี้แล้วก็ยิ่งจะไปกันใหญ่ ยิ่งใกล้วันส่งรัฐธรรมนูญและใกล้วันโหวต ผมก็พลอยวิตกกังวลไปกับกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญด้วยเหมือนกัน" นายวันชัยกล่าว
ขณะที่นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่า เส้นทางเดินปฏิรูปประเทศเริ่มแผ่วปลายความหวังของผู้คนเริ่มริบหรี่ และมืดมนมากขึ้นโดยอาจมีสาเหตุมาจากแรงต้านจากกลุ่มที่เสียอำนาจ ความไม่เป็นเอกภาพใน สปช. และท่าทีที่แผ่วเบาจาก คสช-ครม. ทั้งที่เรื่องปฏิรูปประเทศไทยถือเป็นสัญญาประชาคมระหว่างประชาชนกับรัฐบาลชุดนี้ ปฏิรูปกลายเป็นวาทกรรมที่พูดกันมากที่สุด พูดกันได้ทุกๆ วันตลอดปีกว่าๆ ที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีผลิตผลชัดเจนเป็นรูปธรรม เพราะยังหาทิศทางร่วมและสังคมยังไม่ตกผลึกเพียงพอร่วมกัน แต่ก็มีไม่น้อยที่เอาวาทกรรมปฏิรูปประเทศไปเป็นเพียงเกมการเมืองและสร้างภาพพจน์ให้ตัวเองดูดีเท่านั้น
"ความกลวงของการปฏิรูปกว่า 1 ปีที่ผ่านมา จึงเหลือสถานะกลายเป็นแค่สีสันทางการเมือง ยังไม่มีสัญญาณบวกที่จะทำให้สังคมเชื่อมั่นและมีความหวังใดๆ ได้ว่าประเทศไทยจะเดินหน้าสู่การปฏิรูปจะไม่กลับไปอยู่ในวังวนของการเมืองที่แตกแยกและล้มเหลวแบบที่ผ่านๆ มา ฉะนั้นฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงคือ สปช.และ คสช. จะต้องตระหนักและต่อลมหายใจการปฏิรูปให้มีแรงส่งกลับขึ้นมาอีกรอบ โดยเฉพาะ สปช.ช่วงเวลาที่เหลือเดือนกว่าๆ ควรเร่งหาจุดร่วมลงตัวว่าจะผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่อย่างไร ซึ่งควรได้ข้อยุติก่อนถึงวันโหวต ไม่ใช่ต่างคนต่างคิดและเริ่มมีเกมการเมืองเข้ามาปะปน" นายสุริยะใสกล่าว
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงรายงานของคณะกรรมการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง สปช. ที่นำเสนอต่อ สปช.และรัฐบาลว่า จากที่ติดตามเห็นว่าการทำงานละเอียดมากขึ้น เวลาพูดถึงเรื่องการจะอภัยโทษหรือนิรโทษกรรม จะมีการแยกแยะคดีความผิดต่างๆ ชัดเจนขึ้น ซึ่งถือว่าดีกว่าการพูดในลักษณะรวมๆ โดยเฉพาะในส่วนของประชาชนที่ไปร่วมชุมนุมและไม่ได้มีเจตนาเป็นอย่างอื่น ไม่มีเรื่องทุจริต ไม่มีคดีอาญาร้ายแรง คิดว่าทุกฝ่ายน่าจะเห็นด้วยที่จะให้เดินหน้า ส่วนกรณีอื่นๆ ในรายงานระบุว่าจะต้องมีกระบวนการและระยะเวลาก่อนที่จะได้ข้อยุติอีกครั้ง ดังนั้นเห็นว่าเป็นแนวทางที่มีความเป็นไปได้มากขึ้นและมีโอกาสได้รับการยอมรับมากขึ้น
“ผมเห็นว่าขั้นตอนแรกเดินได้ ส่วนขั้นตอนที่สองจะต้องไปขึ้นอยู่กับแนวทางตรงนั้นว่าจะเป็นอย่างไร แต่ในหลักการที่ให้ผ่านกระบวนการยุติธรรม เป็นแนวทางที่ผมสนับสนุน” นายอภสิทธิ์กล่าว
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า สปช.มีอำนาจแค่ให้ข้อเสนอแนะ แต่การขับเคลื่อนอยู่ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มากกว่า ซึ่งหากเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายยอมรับและเห็นพ้องให้ผลักดันเป็นกฎหมาย จะต้องทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ บังคับใช้ได้ ไม่ใช่เหมือนในอดีตที่มีกฎหมาย แต่รัฐบาลไม่ดำเนินการตาม เช่น กองทุนการออมและหลักประกันของความต่อเนื่องที่ดีที่สุดคือแรงผลักดันจากสังคมจะเป็นหลักประกันที่ดีที่สุด” นายอภิสิทธิ์กล่าว
พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เสนาธิการทหารบก ในฐานะรองเลขาธิการ คสช. กล่าวถึงกรณีการเผยแพร่เอกสารราชการ ที่ทำการชุดประสานงานประจำพื้นที่กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 12 รักษาพระองค์ (ป.พัน.12 รอ.) เขตลาดกระบัง กทม. ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2558 เรื่องไม่อนุญาตให้มีการจัดการเลือกตั้งคณะกรรมการหมู่บ้าน โดยระบุถึงคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านพูนสินธานี 1 ว่า ประเด็นดังกล่าวต้องสอบถาม พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะหัวหน้าฝ่ายฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. เป็นผู้รับผิดชอบหลัก ซึ่งตนเข้าใจว่ามันมีประกาศ คสช.เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวกำกับอยู่แล้ว คิดว่าถ้ามีประกาศ คสช.เราก็ต้องดำเนินการไปตามนั้น ถ้าไม่ใช่นั้นก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร เพราะบ้านเมืองก็จะไม่มีกฎหมายและกติกาคอยกำกับ
"การเลือกตั้งดังกล่าวถือเป็นกิจกรรมทางการเมืองหรือไม่นั้น ผมไม่แน่ใจ ต้องไปตรวจสอบดูว่าเกี่ยวข้องหรือไม่ แต่คิดว่ามีบางอย่างพอให้ได้ เราก็ให้ บางอย่างให้ไม่ได้ ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งนี้ ผมก็ต้องปฏิบัติตามคำสั่งตามประกาศ คสช. ที่ประกาศออกมาบังคับใช้ ส่วนจะทำได้หรือไม่ได้ เป็นหน้าที่ของฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นผู้วิเคราะห์ และมีคณะทำงาน ผมจะไปดูรายละเอียดให้ว่าการเลือกตั้งกรรมการหมู่บ้าน ในสถานะนิติบุคคลกระทำได้หรือไม่ ต้องขอไปตรวจสอบรายละเอียดให้อีกที" พล.อ.ฉัตรเฉลิมกล่าว.


ไม่มีความคิดเห็น: