PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ทหารพรึบ-รถหุ้มเกราะโผล่-ลวดหนามกั้น เวทีรับฟังความเห็นโรงไฟฟ้าเทพาครั้งสุดท้ายห้ามคนต้านเข้าร่วม

ทหารพรึบ-รถหุ้มเกราะโผล่-ลวดหนามกั้น เวทีรับฟังความเห็นโรงไฟฟ้าเทพาครั้งสุดท้ายห้ามคนต้านเข้าร่วม “ผวจ.สงขลา” ยืนยัน โรงไฟฟ้า-ท่าเรือขนส่งถ่านหิน คือความภาคภูมิใจ
----------------------------------------------------------
บรรยากาศการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อทบทวนร่างรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพครั้งสุดท้าย (ค3) โครงการโรงไฟฟ้าเทพา จ.สงขลา ขนาด 2,200 เมกะวัตต์ ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา ณ อบต.ปากบาง เป็นไปอย่างตึงเครียด ท่ามกลางมาตรการรักษาความปลอดภัยเข้มงวด
บริเวณโดยรอบ อบต.ปากบาง มีการกั้นลวดหนามหนาแน่นป้องกันไม่ให้ชาวบ้านที่คัดค้านโรงไฟฟ้าเข้ามาในพื้นที่ และมีการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารกว่า 1,500 นาย ดูแลความสงบเรียบร้อย ขณะที่ด้านนอกปิดช่องทางจราจรบนถนนสายหลักเส้นทางปัตตานี-หาดใหญ่ เหลือเพียงช่องทางเดียว และพบรถหุ้มเกราะและรถฮัมวี่วิ่งวนอยู่ตลอดเวลา
ด้านใน อบต.ปากบาง มีชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) และอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) อีกกว่า 500 นาย คอยสังเกตการณ์ โดยเวทีเริ่มตั้งแต่ 8.00 น เจ้าหน้าที่ได้แจกบัตรคิวให้ผู้ที่ลงทะเบียนไว้จำนวน 60 คน อนุญาตให้พูดได้คนละ 5 นาที ซึ่งความเห็นส่วนใหญ่ชื่นชมและเห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้า ขณะที่ชาวบ้านที่คัดค้านประมาณ 50 ราย ถือธงและป้ายคัดค้านโครงการอยู่ด้านนอก
นายธำรงค์ เจริญกุล ผวจ.สงขลา ในฐานะประธานการจัดเวที ค3 กล่าวต่อที่ประชุมว่า ตั้งแต่ กฟผ.มีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ทำให้คนเทพากลายเป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศ ซึ่งสร้างความภูมิใจให้กับคนเทพา และคนเทพาจะได้เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าและท่าเรือขนส่งถ่านหินที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ในฐานะที่จ่ายภาษีให้กับประเทศ
“วันนี้เป็นวันที่เราเพียงมารับรู้ รับทราบ รับฟัง สอบถามข้อข้องใจจากผู้เชี่ยวชาญที่ กฟผ.จ้างมา ว่าเขาคิดอย่างไร และอยากจะแก้ปัญหาอย่างไร ผมขอยืนยันว่าในทางราชการไม่มีคำสั่งไม่ให้คนที่เห็นต่างมาร่วมรับฟัง และ อ.เทพา เป็นพื้นที่ความมั่นคง จึงสามารถใช้คำสั่ง (กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย) ได้” นายธำรงค์ กล่าว
ขณะที่ชาวบ้านในนามเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาถ่านหิน ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนคัดค้านการจัดเวที ค3 ในครั้งนี้ พร้อมทั้งเรียกร้องใน 6 ประเด็น ประกอบด้วย 1.ให้ ผวจ.สงขลา ยกเลิกเป็นประธานการประชุมเพื่อความโปร่งใส 2.ผวจ.สงขลา ต้องชี้แจงการออกคำสั่งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกล่าวหาผู้เห็นต่างว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบเรียบร้อย
3.ทบทวนการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นใหม่ตั้งแต่ต้น 4.ขอประณามการจัดเวที ค1 และ ค2 ของบริษัทเอกชนแห่งนี้เพราะใช้วิธีสกปรกด้วยการให้ประชาชนลงชื่อเพื่อรับข้าวสารฟรี 5.ขอให้รัฐบาลเปิดใจรับฟังข้อมูลจากประชาชน ยืนยันว่าหากไม่สร้างโรงไฟฟ้าเทพาและกระบี่ ประเทศก็ยังมีไฟฟ้าเพียงพอ 6.ประชาชนสงขลา-ปัตตานี อยู่ท่ามกลางความทุกข์จากเหตุการณ์ความไม่สงบก็หนักพอแล้ว แต่ กฟผ.กลับสร้างความแตกแยกเพิ่ม และภาครัฐใช้อำนาจข่มขู่รังแกประชาชน ซึ่งทำให้ผิดหวังมาก
อนึ่ง โรงไฟฟ้าเทพา จ.สงขลา มีขนาด 2,200 เมกะวัตต์ ใหญ่กว่าโรงไฟฟ้ากระบี่ (ขนาด 800 เมกะวัตต์) อยู่เกือบ 3 เท่า และใช้เวลาจัดทำกระบวนการรับฟังความคิดเห็นเพียง 8 เดือนเท่านั้น
ทั้งนี้ ในวันที่ 28 ก.ค.นี้ จะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นการจัดสร้างท่าเรือขนส่งถ่านหิน (ค3) ในเวลาเดียวกัน
///////////////

ไม่มีความคิดเห็น: