PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2558

สมบัติ ธำรงธัญวงศ์:"การเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อจังหวัด"

ระบบเลือกตั้งในโลกนี้มีหลายระบบอาทิ ระบบเสียงข้างมากธรรมดา( Simple Majority)ระบบเสียงข้างมากเด็ดขาด( Absolute Majority ) ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม( Mixed Member Proportional )ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนคู่ขนาน( Paralleled Proportional )

ประเทศไทยใช้ระบบเสียงข้างมากธรรมดาในการเลือกตั้งมาโดยตลอด ถึงแม้รัฐธรรมนูญปี 2540 และปี2550 จะเปลี่ยนไปใช้ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนคู่ขนาน แต่ในส่วนของการเลือกตั้งส.ส.เขตก็ยังคงใช้ระบบเสียงข้างมากธรรมดา

ระบอบประชาธิปไตยโดยตัวแทนนั้นการเลือกตั้งถือเป็นกลไกสำคัญในการคัดกรองคนดีเข้ามาเป็นตัวแทนของประชาชนในการปกครองประเทศ แต่การเลือกตั้งในประเทศไทยมิได้เป็นไปตามหลักการของระบอบประชาธิปไตยที่การเลือกตั้งต้องสุจริตเที่ยงธรรมและโปร่งใส ในทางตรงกันข้ามการเลือกตั้งของไทยกลับเต็มไปด้วยการใช้อามิสสินจ้างทำให้นายทุนเข้ามาครอบงำการเมืองได้โดยง่าย การเลือกตั้งจึงกลายเป็นช่องทางให้นายทุนและตัวแทนนายทุนเข้ามากอบโกยหาผลประโยชน์โดยอ้างว่า"มาจากการเลือกตั้ง" ทำให้การเมืองไทยล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด

ในขณะที่สิ่งแวดล้อมของสังคมไทยยังเอื้อต่อการใช้อามิสสินจ้าง โจทย์ใหญ่ก็คือทำอย่างไรจึงจะลดอิทธิพลของการใช้อามิสสินจ้างในการเลือกตั้งของไทยได้ในขณะที่สังคมไทยยังเต็มไปด้วยคนยากจนจำนวนมาก

ถ้าเราประยุกต์ระบบการเลือกตั้งให้เหมาะสมกับสภาพสังคมไทยที่จะสามารถลดอิทธิพลของการใช้อามิสสินจ้างให้น้อยลงเพื่อให้มีโอกาสได้คนดีมาเป็นผู้ปกครองมากขึ้น และถ้าทำได้ก็จะทำให้การเมืองไทยพอจะมีอนาคตอยู่บ้าง

ผมพยายามศึกษาเรื่องนี้มาโดยตลอดและเห็นว่าถ้าประยุกต์ระบบบัญชีรายชื่อมาใช้โดยเรียกว่า"ระบบบัญชีรายชื่อจังหวัด"( Provincial Proportional System )อาจจะลดการใช้อามิสสินจ้างและทำให้ได้คนดีมาเป็นผู้แทนมากขึ้น

การเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อจังหวัดดำเนินการดังนี้:
1.กำหนดให้แต่ละจังหวัดมีจำนวนส.ส.ตามสัดส่วนประชากรเช่นส.ส. 1 คนต่อประชากร 150,000 คน ถ้าจังหวัดหนึ่งมีประชากร 1,500,000 คน ก็จะมีส.ส.ได้ 10 คน และถ้าการเลือกตั้งมีผู้มาใช้สิทธิ์ทั้งหมด 800,000 คน ผู้สมัครที่จะได้รับการเลือกตั้งต้องมีคะแนนเสียง 80,000เสียง ทั้งนี้ให้ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง

2.การสมัครรับเลือกตั้ง ให้แต่ละพรรคการเมืองส่งผู้สมัครในจังหวัดนี้ได้พรรคละไม่เกิน 10 คน ถ้าพรรคสีแดงได้คะแนนเลือกตั้งทั้งจังหวัด 40% คิดเป็นคะแนนของพรรคทั้งหมด320,000 เสียง เมื่อหารด้วย 80,000 พรรคสีแดงจะได้ส.ส.จำนวน 4 คน คำนวณอย่างนี้จนกระทั่งได้ส.ส.ทั้งจังหวัดครบ 10 คน

3.ถ้าต้องการลดอำนาจของผู้บริหารพรรคในการคัดเลือกผู้สมัครในบัญชีรายชื่อก็สามารถกำหนดให้ใช้ระบบโอเพ่นลิสต์ได้โดยกำหนดให้ประชาชนผู้มาใช้สิทธิ์เมื่อเลือกพรรคใดแล้วให้เลือกด้วยว่าต้องการเลือกผู้สมัครคนใดในบัญชีรายชื่อของพรรคนั้น โดยเลือกได้เพียงคนเดียว ในการนับผลเลือกตั้งของแต่ละพรรคให้เรียงคะแนนของผู้สมัครในพรรคนั้นตามลำดับมากไปหาน้อยน้อยจนครบ 10 คน ด้วยวิธีนี้จะทำให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่าผู้สมัครคนใดของพรรคจะได้รับเลือกตั้ง ไม่ใช่ผู้บริหารพรรคหรือนายทุนพรรคเป็นผู้กำหนด จะทำให้พรรคเป็นพรรคของประชาชน

4.ระบบนี้สามารถเปิดช่องให้ผู้สมัครสามารถสมัครอิสระได้ โดยจะไม่กระทบเสถียรภาพทางการเมืองแต่จะสอดคล้องกับหลักการของระบอบประชาธิปไตย ผู้จะสมัครอิสระที่ได้คะแนนเสียง 80,000 เสียงก็จะได้รับการเลือกตั้ง แต่โอกาสที่ผู้สมัครอิสระจะได้รับการเลือกตั้งจะมีไม่มากนัก เพราะระบบนี้จะส่งเสริมความเข้มแข็งของพรรคการเมือง

5.การเลือกตั้งระบบนี้จะปิดโอกาสที่พรรคการเมืองพรรคเดียวจะได้ส.ส.ทั้งจังหวัด เพราะไม่มีจังหวัดใดที่ประชาชรจะมีความนิยมพรรคเดียวทั้งจังหวัด แม้แต่ในภาคใต้พรรคอื่นก็มีโอกาสที่จะเข้าไปแทรกได้แน่นอน

6.การเลือกตั้งระบบนี้จะไม่มีเสียงตกน้ำ เพราะแต่ละพรรคการเมืองจะได้จำนวนส.ส.ตามสัดส่วนที่แต่ละ
พรรคได้รับคะแนนเลือกตั้งจากประชาชน

7.การเลือกตั้งระบบนี้จะช่วยลดอิทธิพลของการซื้อสิทธิ์ขายเสียงได้มาก เพราะถ้าซื้อต้องซื้อทั้งพรรค และโอกาสที่พรรคเดียวจะได้ส.ส.ทั้งจังหวัดแทบเป็นไปไม่ได้

8.สามารถใช้การเลือกตั้งระบบนี้เพียงระบบเดียวไม่ต้องแบ่งเป็นส.ส.เขตและส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ
9.สามารถนำคะแนนของแต่ละพรรคทั่วประเทศมารวมกันเป็นคะแนนนิยมของพรรคทั้งประเทศได้ด้วย

จุดเด่นของระบบเลือกตั้งแบบนี้คือ
1.ลดอิทธิพลการซื้อสิทธิ์ขายเสียงในเขตเลือกตั้งให้น้อยลง เพราะใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง ถ้าจะซื้อเสียงต้องใช้เงินจำนวนมากและไม่มีความปน่นอนว่าตนจะได้รับเลือกตั้งเพราะมีผู้สมัครในบัญชีรายชื่อของพรรคหลายคน
2.ลดอิทธิพลของผู้นำพรรคในการกำหนดตัวผู้สมัครในบัญชีรายชื่อ เพราะประชาชนจะเป็นผู้กำหนดว่ารายชื่อใดจะได้รับการเลือกตั้งจากการใช้ระบบโอเพ่นลิสต์ จะทำให้พรรคการเมืองเป็นพรรคของประชาชนไม่ใช่พรรคของผู้นำพรรค
3.ถึงแม้จะเป็นระบบบัญชีรายชื่อทั้งจังหวัดแต่ประชาชนมีสิทธิ์เลือกผู้สมัครที่ถูกใจตนคือได้ทั้งพรรคและผู้สมัครที่ตนชอบ
4.เป็นการสนับสนุนระบบพรรคการเมืองให้มีความเข้มแข็งเป็นพรรคของประชาชนไม่ใช่พรรคของนายทุน
5.การซื้อเสียงถ้าพรรคจะซื้อต้องซื้อทั้งพรรค เป็นการยากที่พรรคจะซื้อเป็นรายบุคคลเพราะจะทำให้พรรคแตกแยก และเสี่ยงต่อการตรวจสอบของกกต.
6.จะทำให้การผูกขาดพื้นที่ทางการเมืองของพรรคการเมืองลดลง เพราะเป็นการยากที่พรรคใดพรรคเดียวจะได้รับเลือกทั้งจังหวัด
7.การเลือกตั้งระบบนี้จะทำให้ไม่มีเสียงตกน้ำ เพราะคะแนนเลือกตั้งของประชาชนทุกคะแนนจะมีผลต่อจำนวนส.ส.ของแต่ละพรรค ไม่เหมือนการเลือกตั้งส.ส.เขตที่คะแนนผู้ไดรับเลือกตั้งอันดับสองแม้จะน้อยกว่าอันดับหนึ่งเพียงเล็กน้อยแต่จะถูกตัดทิ้งในฐานะผู้แพ้ไปเลย
8.การเลือกตั้งระบบนี้สามารถกำหนดให้ไม่มีการเลือกตั้งซ่อมก็ได้ ถ้าหากส.ส.ของพรรคใดหมดสภาพไปก็สามารถเลื่อนผู้ได้อันดับถัดไปมาแทนได้ทันทีจะทำให้ประหยัดงบประมาณในการเลือกตั้งซ่อมได้มาก
9.การเลือกตั้งระบบนี้จะทำให้พรรคต้องเข้าถึงประชาชนให้มากจึงจะได้รับความนิยมสูง พรรคที่จะประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งคือพรรคที่ทำงานใกล้ชิดกับประชาชนเท่านั้น
10.การเลือกตั้งระบบนี้จะสอดคล้องกับแนวโน้มการพัฒนาประเทศในอนาคต ยิ่งประชาชนมีความรู้และมีความอยู่ดีกินดีมากขึ้น จะยิ่งทำให้การเลือกตั้งระบบนี้เข้มแข็งมากขึ้นและส่งผลให้การเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น
11.การเปิดโอกาสให้ผู้สมัครอิสระสามารถสมัครได้จะเป็นไปตามหลักสากลที่ไม่ตัดสิทธิปัจเจกบุคคลและไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองเพราะในทางปฏิบัติจะมีผู้สมัครอิสระเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะได้รับการเลือกตั้ง เพราะระบบนี้พรรคที่เข้มแข็งและเป็นที่นิยมของประชาชนจะได้เปรียบ ซึ่งเป็นไปตามหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตย
12.การเลือกตั้งระบบนี้ไม่สลับซับซ้อนประชาชนสามารถเข้าใจได้โดยง่าย โดยมีส.ส.เพียงประเภทเดียวคือส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อจังหวัด และการใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งก็ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประชาชนเพราะประชาชนเคยเลือกวุฒิสมาชิกทั้งจังหวัดมาหลายครั้งแล้ว
นี่เป็นแนวคิดหนึ่งในการปฏิรูประบบการเลือกตั้งของไทย

สมบัติ ธำรงธัญวงศ์
6 ตุลาคม 2558

ไม่มีความคิดเห็น: