PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2558

บีบีซีไทยชี้แจงเหตุใดจึงไม่เปิดเผยชื่อผู้เขียนบทความ



บีบีซีไทย - BBC Thai
14 ชม.
บีบีซีไทยชี้แจงเหตุใดจึงไม่เปิดเผยชื่อผู้เขียนบทความ
ผู้อ่านที่ติดตามการรายงานของบีบีซีไทยในเรื่องการร่วมประชุมสหประชาชาติของคณะรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่าทีมงานได้นำเสนอข่าวความเคลื่อนไหวให้ทันเหตุการณ์ และรอบด้านตามหลักการทำงานของสื่อ ไม่ว่าความเคลื่อนไหวของผู้นำ ข้อห่วงใยของผู้แทนอื่น ๆ ความเคลื่อนไหวของประชาชนที่มีทั้งหนุนและต้าน รวมไปถึงการประเมินผลงาน แม้ว่าจะมีผู้อ่านแสดงความไม่เห็นด้วยกับสิ่งต่าง ๆ ที่นำเสนอ ดังจะเห็นได้จากความเห็นที่ปรากฏท้ายข่าว เช่น การสรุปผลงานของนายกรัฐมนตรีในรายการพบปะประชาชนทางโทรทัศน์ หรือบทสัมภาษณ์ ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงที่กล่าวถึงความสำเร็จของประเทศไทย แต่เมื่อเป็นข้อมูลที่สังคมไทยควรจะรับรู้ ทีมงานก็ได้พยายามติดตามนำเสนอ เช่นเดียวกันกับเสียงสะท้อนจากอีกด้านหนึ่งที่ว่า การประชุมหนนี้อาจไม่นับเป็นความสำเร็จได้มากเท่าที่ทีมงานรัฐบาลกล่าวอ้าง ซึ่งก็ต้องถือด้วยว่าเป็นเรื่องที่สาธารณะพึงรับรู้ไม่ต่างไปจากข้อมูลในด้านบวกดังกล่าว
บทความภายใต้หัวข้อ “การประชุมยูเอ็นเริ่มในบ้าน” โดย Outside Contributor แม้ว่าผู้นำเสนอจะไม่ได้ใช้นามจริง แต่ทีมงานได้ตรวจสอบกับผู้เขียนอย่างถี่ถ้วน และพบว่าข้อมูลที่ได้มา ได้มาด้วยวิธีการที่ถูกต้อง และข้อมูลควรค่าแก่การที่จะนำเสนอให้สังคมไทยได้รับรู้ มีผู้ท้วงติงว่าความละเอียดอ่อนของข้อมูลยังไม่ถึงระดับต้องปกป้องชื่อของผู้เขียน เรื่องนี้ บีบีซีไทยขอน้อมรับไว้พิจารณา แต่เมื่อผู้เขียนบทความชิ้นนี้ยืนยันไม่ต้องการให้เปิดเผยชื่อเพราะหวั่นเกรงต่อการคุกคามอันสืบเนื่องจากบรรยากาศในปัจจุบันที่มีแรงกดดันต่อการแสดงความเห็น เมื่อรับปากไม่เปิดเผยชื่อ ทีมงานจึงมีพันธะในการรักษาคำมั่นนี้
ความวิตกของผู้เขียนในเรื่องนี้ดูเหมือนจะเพิ่มน้ำหนักมากขึ้นเมื่อบีบีซีไทยโทรศัพท์ทางไกลเพื่อขอสัมภาษณ์ พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกรัฐบาล อันเนื่องมาจากข้อเขียนดังกล่าวที่รองโฆษกรัฐบาลระบุว่าไม่มีมูลความจริง แต่รองโฆษกรัฐบาลได้ขอให้บีบีซีบอกชื่อผู้เขียนบทความ ไม่เช่นนั้นจะไม่ให้สัมภาษณ์
การใช้แหลงข่าวภายนอกเป็นสิ่งที่สื่อต่าง ๆ ปฏิบัติกันเป็นปกติ เนื่องจากภายใต้บางสถานการณ์ ข้อมูลหลายอย่างอาจจะไม่ได้รับการถ่ายทอดสู่สาธารณะเลยหากไม่ยอมให้มีการใช้ “แหล่งข่าว” นอกจากนั้นในความเป็นจริง บทความในนสพ.จำนวนไม่น้อยใช้นามแฝง ขณะที่สื่อมวลชนมีหลักปฏิบัติว่า หากมีอันตรายสามารถปกปิดชื่อของแหล่งข่าวได้ และสื่อต้องรักษาความลับอันนี้ซึ่งถือว่าเป็นจรรยาบรรณหนึ่งในอันดับต้น ๆ ของสื่อมวลชน
นายวันชัย วงศ์มีชัย นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย บอกกับบีบีซีไทยว่า สื่อไทยเองก็มีมาตรฐานเรื่องนี้เช่นเดียวกัน เมื่อรับปากว่าจะไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับตัวแหล่งข่าวก็จะต้องยึดถือตามนั้น และที่ผ่านมายังไม่เคยเกิดกรณีเรียกร้องให้เปิดเผยตัวตนของแหล่งข่าวเช่นที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้
“หากพูดในแง่จริยธรรมของสภาการหนังสือพิมพ์ เรากำหนดข้อนี้ไว้อย่างชัดเจนว่าเราเองก็ต้องปกปิดเหมือนกัน ลักษณะเดียวกัน บีบีซีเองมีสิทธิที่จะไม่เปิดเผยตัวตนของแหล่งข่าว และเป็นสิทธิอันชอบธรรม แต่ก็จะหลีกเลี่ยงข้อวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้”
นายวันชัยตั้งข้อสังเกตด้วยว่า เขามองว่าการที่บีบีซีเผยแพร่เรื่องนี้เป็นประเด็นในเชิงการเมือง มากกว่าเป็นการเสนอข่าวเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ เขายอมรับว่าในขณะนี้เองสื่อในไทยก็กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องการนำเสนอข่าวว่ามีเจตนาทางการเมืองหรือได้รับข้อมูลจากทางใดทางหนึ่งเช่นกัน
สำหรับบีบีซีไทย เจตนาในการทำงานของทีมงานคือเปิดพื้นที่ข่าวสารให้รอบด้าน ไม่ใช่เพื่อให้คุณให้โทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ‪#‎BBCThai‬

ไม่มีความคิดเห็น: