PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2558

"11 ปี 9 เดือน ย้อนรอยคดี "สมชาย นีละไพจิตร"

เรื่องโดย Nation TV | ภาพโดย Nation TV

29 ธันวาคม 2558 16:18 น.

ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ยกฟ้องคีดอุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตร นักสิทธิมนุษยชน หลังจากต่อสู้มายาวนานร่วม 11 ปี 9 เดือน ขณะที่ 5 นายตำรวจที่ตกเป็นผู้ต้องหารอดตัว โดยไร้คนผิด

กรรมการสิทธิมนุษยชน อังคณา นีละไพจิตร ภรรยาคุณสมชาย นีละไพจิตร นักสิทธิมนุษยชน ที่หายตัวไป เดินทางมาฟังคำพิพากษา ในคดีที่อัยการฝ่ายคดีอาญา 6 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ต.เงิน ทองสุก อดีต สว.กอ.รมน. ช่วยราชการกองปราบปราม / พ.ต.ท.สินชัย นิ่มปุญญกำพงษ์ อดีตพนักงานสอบสวนกองกำกับการ 4 กองปราบปราม / จ.ส.ต.ชัยเวง พาด้วง อดีตผบ.หมู่งานสืบสวน แผนก 4 กองกำกับการ 2 ตำรวจท่องเที่ยว / จ.ต.อ.รันดร สิทธิเขต อดีตเจ้าหน้าที่ธุรการกองกำกับการ 4 กองปราบปราม และ พ.ต.ท.ชัดชัย เลี่ยมสงวน อดีตรองผกก.3 กองปราบปราม (ยศในขณะนั้น) ในฐานความผิดร่วมกันปล้นทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิดและร่วมกันข่มขื่นใจผู้อื่นให้กระทำการใดหรือไม่กระทำการใดโดยใช้กำลังประทุษร้าย จากกรณีการอุ้มหายตัวไปของคุณสมชาย เมื่อปี 2547

คดีนี้ชั้นต้นมีคำพิพากษาจำคุก 3 ปี พ.ต.ต.เงิน ทองสุก จำเลยที่ 1 เพียงคนเดียว

ขณะที่จำเลยคนอื่นศาลยกฟ้อง ส่วนศาลอุทธรณ์ มีคำสั่งยกฟ้องจำเลยทั้งหมด ขณะที่ พ.ต.ต.เงิน ทองสุก ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลสาปสูญ

 ขณะที่ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาศาลฎีกายกฟ้องจำเลยทั้งหมด ซึ่งถือเป็นกระบวนการสุดท้ายของคดีคุณอังคณา บอกว่า ต่อสู้มา 11 ปี 9 เดือน ถึงแม้ว่าคดีนี้จะไม่พบตัวคุณสมชาย ทำให้การต่อสู้ยากลำบาก เมื่อมีผลเป็นลบ จะศึกษารายละเอียดคำพิพากษาเพื่อเดินหน้าหาคนรับผิดชอบต่อไป

คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อ 12 มีนาคม 2547 ทนายสมชาย หายตัวไปอย่างลึกลับ / จากข้อเท็จจริงของพยาน ยืนยันว่า ครั้งสุดท้ายที่เห็นทนาย คือ เมื่อเวลา 20.30 น. ของวันที่ 12 มีนาคม 2547 ซึ่งทนายนายสมชายได้เดินทางไปยังโรงแรมในย่านลาดพร้าว เพื่อรอพบเพื่อน แต่เมื่อเพื่อนไม่มาตามเวลาที่กำหนด นายสมชายจึงตัดสินใจขับรถไปนอนพักค้างคืนที่บ้านเพื่อนอีกคน ที่นัดหมายล่วงหน้าไว้แล้ว แต่ทว่า ระหว่างทางได้มีกลุ่มชายฉกรรจ์จำนวน 5-6 คน ขับรถยนต์สะกดรอยติดตามมาในระยะกระชั้นชิดก่อนเร่งเครื่องพุ่งชนท้ายรถทนายเต็มแรงทนายสมชาย ได้หยุดรถเพื่อลงมาพูดคุยกับคู่กรณี แต่กลุ่มชายฉกรรจ์กลับเข้าทำร้ายร่างกายโดยการชกท้อง และพยายามผลักตัวของคุณสมชายให้เข้าไปในรถยนต์ // ขณะที่หนึ่งในคนร้าย แยกตัวไปขับรถของคุณสมชายทันที / แม้จะมีเสียงตะโกนให้ปล่อยตัวจากทนายและดิ้นรนต่อสู้ แต่สุดท้ายเขาก็ถูกนำตัวเข้าไปในรถของคนร้าย/ นับจากนั้นมาก็ไม่มีใครพบเห็นเขาอีกเลย

ทนายสมชาย เป็นผู้ทำคดีสำคัญทางภาคใต้ และเปิดโปงพฤติกรรมของตำรวจ โดยคดีดังคือการออกมาเปิดโปงเจ้าพนักงานที่ทรมานผู้ต้องหาปล้นปืน-เผาโรงเรียน โดยเฉพาะ 5 ผู้ต้องหา คดีปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 // ซึ่งทั้งหมดร้องเรียนว่า ถูกนายตำรวจชุดจับกุมซ้อมจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ด้วยวิธีทารุณต่างๆ 

จนกระทั่งต้องยอมรับหลังการหายตัวไปของประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิมผู้นี้ มีการตั้งคณะทำงานเพื่อสืบหาร่องรอยจากหลายส่วน ทั้งกองบัญชาการสอบสวนกลาง และชุดติดตามสืบสวนของกองบัญชาการตำรวจนครบาล รวมถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ส่งทีมพิเศษหาหลักฐานมัดผู้อยู่เบื้องหลัง แต่ 11 ปี 9 เดือนที่ผ่านมากลับไม่สามารถหาตัวผู้บงการได้"

อ่านต่อที่: http://www.nationtv.tv/main/content/crime/378483257/
///////////////////
(ข้อมูล)

.คดีอุ้มฆ่าทนาย สมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม และอดีตรองประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และเป็นคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย สภาทนายความ ซึ่งเป็นทนายความให้แก่ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น คดีกูเฮงเผาโรงเรียนเมื่อปี 2537 คดีหมอแวพัวพันกลุ่มก่อการร้ายเจไอ (เจมาอิสลามียา) การทำงานของทนายสมชายหลายคดี เปิดโปงพฤติกรรมของตำรวจ หลายฝ่ายเชื่อกันว่า ผลงานในอดีตของเขาน่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาถูกทำให้หายไป โดยเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2547 นายสมชายเดินทางออกจากบ้านในซอยอิสรภาพ 9 แขวงหิรัญรูจี เขตธนบุรี กทม.พื่อไปทำงานตามปกติ โดยขับรถยนต์ส่วนตัว ยี่ห้อฮอนด้าซีวิค สีเขียว ทะเบียน ภง 6786 กรุงเทพมหานคร โดยไม่ได้กลับบ้านเนื่องจากจะต้องไปนอนพักค้างคืนที่บ้านเพื่อนเพื่อเตรียมตัวไปว่าความในคดี เจ.ไอ. ที่ศาลจังหวัดนราธิวาส

12 มีนาคม 2547 เวลา 20.30 น. นายสมชาย เดินทางไปยังโรงแรมชาลีนาในซอยมหาดไทย ย่านลาดพร้าว เพื่อรอพบเพื่อนซึ่งได้นับพบกันไว้ หลังจากที่นั่งรอบริเวณล็อบบี้ของโรงแรมได้ระยะหนึ่ง
เพื่อนยังไม่มาตามกำหนดนัด นายสมชายจึงเดินทางกลับเนื่องจากง่วงนอน เพราะเป็นคนที่นอนแต่หัวค่ำ ระหว่างเดินทางออกจากโรงแรมชาลีน่า นายสมชาย ขับรถยนต์ส่วนตัวโดยใช้เส้นทางถนน
รามคำแหง เพื่อจะไปนอนพักค้างคืนที่บ้านเพื่อน ระหว่างที่เดินทางออกจากโรงแรมได้มีกลุ่มชายฉกรรจ์จำนวน 5-6 คน ขับรถยนต์สะกดรอยติดตามในระยะกระชั้นชิด จนถึงบริเวณหน้าร้านแม่ลาปลาเผา เยื้องกับสถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก จึงได้ขับชนท้าย เมื่อนายสมชาย หยุดรถเพื่อลงมาพูดคุย กลุ่มชายฉกรรจ์ได้ทำร้ายร่างกายโดยการชกท้องและผลักตัวของนายสมชาย ให้เข้าไปในรถยนต์ของกลุ่มชายฉกรรจ์ แล้วขับรถพาตัวของนายสมชาย หลบหนีไป

14 มีนาคม 2547 นางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาได้เข้าแจ้งความ ร้องทุกข์บุคคล สูญหาย ต่อพนักงานสอบสวน ของสถานีตำรวจนครบาลบางยี่เรือว่า นายสมชาย ออกจากบ้านพัก มาตั้งแต่วันที่ 11
มีนาคม 2547 แล้วขาดการติดต่อกับทางบ้าน เกรงว่าจะเกิดเหตุร้ายขอให้ทางเจ้าหน้าที่ ตำรวจสอบสวนและติดตามตัวด้วย โดยข่าวการแจ้งความ นายสมชายหายตัวไปอย่างลึกลับ เป็นที่สนใจของ สื่อมวลชนทุกแขนง และประชาชนทั่วประเทศ เนื่องจากในขณะนั้นนายสมชาย กำลัง รวบรวมรายชื่อพี่น้องชาวมุสลิมจำนวน 50,000 รายชื่อเพื่อเสนอรัฐบาล(พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) ให้ยกเลิกการ ประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ของจังหวัดชาย แดนภาคใต้ ประกอบด้วย จังหวัดยะลา จังหวัด ปัตตานี จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดสงขลา บางส่วน

นอกจากนั้นยังให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย แก่กลุ่มผู้ต้องหา ที่ถูกจับกุมในคดีปล้นอาวุธปืน ของทหารกองพันพัฒนาที่ 4 จังหวัดนราธิวาส ซึ่งหลังจากที่นายสมชาย ได้ตรวจสอบ ข้อเท็จจริงจากผู้ต้องหาแล้ว ปรากฏว่าในระหว่าง การถูกควบคุมตัวอยู่ที่ จังหวัดนราธิวาสก่อน ที่จะส่งตัวมาที่กรุงเทพมหานคร ผู้ต้องหาถูกทำร้าย ร่างกายและทรมาณ เพื่อให้การ รับสารภาพ ซึ่งนายสมชาย ได้
ยื่นหนังสือ ร้องเรียนกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งยื่นคำร้องต่อศาลอาญาขอให้ส่งผู้ต้องหาทั้งหมดไปควบคุมตัวไว้ที่เรือนจำซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมราชทัณฑ์

17 มีนาคม 2547 สภาทนาย ความได้มีหนังสือที่ สท.783/2547 ทูลเกล้าถวาย ฎีกาขอพระราชทาน ความเป็นธรรม กรณีนาย สมชาย ถูกลักพาตัว และ สภาทนาย ความได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงาน
ติดตามกรณีนายสมชาย เพื่อดำเนินการตรวจสอบและรวบรวม ข้อเท็จจริงทั้งหมด กระทั่ง 7 เมษายน 2547 พนักงาน สอบสวนได้มีการขออนุมัติหมายจับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปราม จำนวน 5
นายต่อศาลอาญา เพื่อนำตัวมาสอบสวน โดยพนักงาน สอบสวนและพนักงานอัยการ มีความเห็นสั่งฟ้อง คดีผู้ต้องหาทั้ง 5 คน โดยอัยการได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญาเป็นคดีอาญาหมายเลข
ดำที่ 1952/2547 ระหว่าง พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงาน อัยการพิเศษคดีอาญา 6 สำนักงาน คดีอาญา) โจทก์ โดย พ.ต.ต.เงิน ทองสุข ที่ 1, พ.ต.ท.สินชัย นิ่งปุญญกำพงษ์ ที่ 2,
จ.ส.ต.ชัยแวง พาด้วง ที่ 3, ส.ต.อ.รันดร สิทธิเขต ที่ 4 และ พ.ต.ท.ชัดชัย เลี่ยมสงวน ที่ 5 จำเลย ในข้อหาฐานความผิดร่วมกันปล้นทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ และข่มขืนใจผู้อื่น ซึ่งจำเลยทั้ง 5 คน ได้ให้การปฏิเสธต่อสู้คดี โดยศาลได้สั่งยกฟ้องจำเลยทั้งหมด

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2547 สภาทนายความจึงได้มีหนังสือถึงคณะกรรมการสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อขอให้พิจารณารับโอนสำนวนคดีที่ นายสมชาย ถูกประทุษร้าย และสูญหายเป็นคดีพิเศษ และมีหนังสือลงวันที่ 14 มีนาคม 2548 ถึง นายกรัฐมนตรี ขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริง กรณีการหายสาบสูญของนายสมชาย ซึ่ง พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิต รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้พิจารณาเห็นชอบให้ส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณา

อย่างไรก็ตาม การติดตามการสูญหายของนายสมชายนั้นยังคงเป็นปริศนามาจนบัดนี้...
/////////////
(ย้อนข่าวเก่า)

นัดอ่านคำพิพากษาอุทธรณ์ คดีทนายสมชาย นีละไพจิตร 24 ก.ย.นี้

หมวดหมู่: ข่าว | รายงานโดย  เมื่อ 13 Oct 2010 - 17:36
วันที่ 24 ก.ย.2553 เวลา 9.30 น.ศาลอุทธรณ์ นัดอ่านคำพิพากษาอุทธรณ์ คดีนายสมชาย นีละไพจิตร กรณีถูกลักพาตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในคดีความผิดต่อเสรีภาพ และปล้นทรัพย์ ความเป็นมา นายสมชาย นีละไพจิตร ถูกบังคับให้สูญหาย เมื่อเวลาประมาณ 20.30 น.วันที่ 12 มีนาคม 2547 บนถนนรามคำแหง เยื้องกับสถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก กรุงเทพมหานคร โดยเชื่อว่ามีมูลเหตุที่นายสมชายได้ร้องเรียนเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของ เจ้าหน้าที่ตำรวจในการซ้อมทรมานผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นประชาชนในจังหวัด นราธิวาสในคดีปล้นปืน เผาโรงเรียน 
ทั้งนี้ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาในคดีความผิดต่อเสรีภาพ และปล้นทรัพย์ โดยมีพนักงานอัยการเป็นโจทก์ พ.ต.ต.เงิน ทองสุก จำเลยที่ 1 กับพวก คดีหมายเลขดำที่ 1952 / 2547 คดีหมายเลขแดงที่ อ. 48 / 2549 เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2549 โดยมีความสรุปว่า “.. ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว โจทก์มีพยานเป็นพนักงานสอบสวน เบิกความสอดคล้องตรงกัน ทั้งเวลาและสถานที่ ทำให้เชื่อโดยปราศจากข้อสงสัยว่านายสมชายหายตัวไปจริง ส่วนการที่โจทก์นำข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยทั้ง 5 ที่ติดต่อกันหลายครั้งในสถานที่ต่างๆ ในช่วงวันเวลาก่อนเกิดเหตุและในวันเกิดเหตุที่นายสมชายหายตัวไป ศาลเห็นว่ายังมีข้อสงสัยในเอกสารหลักฐานการใช้โทรศัพท์ เนื่องจากโจทก์ไม่ได้นำ ผู้ช่วยผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผช.ผบ.ตร.) และ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบ.บชน.)ที่อ้างว่าเป็นผู้ประสานขอเอกสารดังกล่าว จากบริษัทโทรศัพท์เคลื่อนที่มาเบิกความยืนยันในชั้นศาล” “... ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้โดยยุติและปราศจากข้อสงสัยว่า ตามวัน เวลา และสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 กับพวกรวม 3-5 คนได้ร่วมกันจับตัวนายสมชาย นีละไพจิตร เข้าไปในรถที่จำเลยที่ 1 กับพวกเตรียมมา โดยที่นายสมชาย นีละไพจิตร ไม่ยินยอมแล้วขับออกไปจากที่เกิดเหตุ...” 
“ .. ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พ.ต.ต.เงินกระทำผิด ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรค 1 และร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น ให้กระทำการใด หรือไม่กระทำการใด โดยใช้กำลังประทุษร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรค 2 ให้ลงโทษในบทหนักสุด ฐานกักขังหน่วงเหนี่ยวเป็นเวลา 3 ปี ส่วนจำเลยที่ 2-5 ให้ยกฟ้อง เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐาน ในการกระทำผิดตามฟ้อง” 
ความไม่เต็มใจของรัฐในการอำนวยความยุติธรรม นายสมชาย นีละไพจิตร ถูกบังคับให้สูญหายในขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชิณวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แม้ดูเหมือนว่ารัฐบาลขณะนั้นพยายามคลี่คลายคดี โดยการตั้งข้อกล่าวหาเจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นาย ข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยว และปล้นทรัพย์ แต่เมื่อคดีถูกนำขึ้นสู่การพิจารณาของศาล กลับพบข้อเท็จจริงที่ปรากฎว่า พยานหลักฐานต่างๆในคดีถูกทำลายจนไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะสามารถนำมาใช้ เพื่อประกอบในการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ อีกทั้งการที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับการประกันตัวระหว่างการ พิจารณาคดี เป็นสาเหตุที่ทำให้พยานเกิดความหวาดกลัวจากการถูกคุกคาม และพยานบางคนกลับคำให้การในชั้นศาล  
พบว่าที่ผ่านมารัฐบาลไม่มีความเต็มใจ ในการคลี่คลายคดีการสูญหายของนายสมชาย นีละไพจิตร อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงการแทรกแซงการสืบสวน สอบสวนจากฝ่ายการเมืองมาโดยตลอด 
แม้ปัจจุบันคดีการเสียชีวิตของนายสมชาย อยู่ในความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ และตามพระราชบัญญัติกรมสอบสวนคดีพิเศษ จะให้อิสระและให้อำนาจแก่พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในการทำหน้าที่กรณีประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการปฏิบัติของเจ้า หน้าที่รัฐ และผู้มีอิทธิพล แต่ที่ผ่านมาจนปัจจุบันกรมสอบสวนคดีพิเศษก็ประสบความล้มเหลวในการคลี่คลาย คดีการฆาตกรรมนายสมชาย นีละไพจิตร และพิสูจน์ให้เห็นว่าไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามที่สังคมคาดหวัง  ในส่วนการ พิจารณาของ ปปช.เป็นไปอย่างล่าช้าอย่างยิ่ง เมื่อเทียบกับคดีอื่นที่ ปปช. รับไว้พิจารณา ซึ่งบางคดีมีการตัดสินชี้มูลอย่างรวดเร็ว 
ความล่าช้าของ ปปช. จึงส่งผลกระทบอย่างสูงต่อความปลอดภัยของพยานทุกคนในคดี โดยเฉพาะการที่พยานสำคัญคนหนึ่งได้หายตัวไปภายใต้การคุ้มครองพยานของกรมสอบ สวนคดีพิเศษ ระหว่างรอการให้การในชั้นศาล เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2552 ระหว่างการกลับไปเยี่ยมบ้านที่จังหวัดนราธิวาส 
ในขณะที่พยานอีกคนหนึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงฟ้องร้องต่อศาลอาญา กรุงเทพฯ ในข้อหาให้การเท็จเรื่องการถูกซ้อมทรมานต่อ ปปช. 
นอกจากการสูญหายของพยานสำคัญในคดีแล้ว ยังปรากฏการสูญหายของจำเลยที่ 1 คือ พ.ต.ต.เงิน ทองสุก ดังปรากฏตามข่าวสารตามสื่อมวลชน ว่า พ.ต.ต.เงิน ได้พลัดตกน้ำหายไปเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2551


ไม่มีความคิดเห็น: