เป็นธรรมเนียมทุกช่วงสิ้นปีที่สื่อมวลชนจะมีการตั้งฉายาให้กับรัฐบาล นายกรัฐมนตรี รวมถึงรัฐมนตรีที่ปฏิบัติหน้าที่บริหารประเทศ เพื่อสะท้อนการทำงานของรัฐบาลในรอบปีที่ผ่านมา หากแต่ในปีเก่า พ.ศ.2558 ต่อปีใหม่ พ.ศ.2559 ที่กำลังจะมาถึงนี้ ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล ได้มีแถลงการณ์แจ้งเรื่อง "งดตั้งฉายา ประจำปี 2558 เหตุเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ด้วยวิธีพิเศษ" โดยให้เหตุผลว่า คณะรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ด้วยวิธีพิเศษ ไม่ผ่านกระบวนการเลือกตั้งตามกลไกปกติในระบอบประชาธิปไตย
พร้อมระบุหลักเหตุผลที่ถือปฏิบัติในการไม่ตั้งฉายาไว้ 3 กรณี 1. กรณีรัฐบาลรักษาการ ภายหลังนายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา หรือกรณีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงจนรัฐบาลยังทำงานไม่ครบปี 2.กรณีรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจหรือรัฐประหาร และ 3.กรณีสถานการณ์บ้านเมืองอยู่ในภาวะไม่ปกติ
แต่แม้จะออกตัวด้วยสิ่งที่เรียกว่า "ความเห็นร่วมกัน" ว่า "ไม่ต้องการให้การงดตั้งฉายาของรัฐบาลและรัฐมนตรีประจำปี 2558 ครั้งนี้ ถูกนำไปใช้ขยายความขัดแย้งที่ยังดำรงอยู่ในสังคมไทย หรือถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของกลุ่มบุคคล ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด" กระนั้นก็ยังมีเสียงสะท้อนกลับมาจากบรรดาผู้ติดตามข่าวสาร และเฝ้ารอฉายาที่มอบให้ ดังนั้น เมื่อไม่มีก็เลยทำให้บางคนมองว่าเป็นความกังวลเรื่องท่าทีของ "ท่านผู้นำ" ที่ค่อนข้างจะขึงขังจริงจังกับบางคำถามที่ไม่สบอารมณ์ของผู้สื่อข่าว บางคนถึงขั้นบอกว่าผู้สื่อข่าวกลัวอะไรบางอย่าง จึงเป็นเหตุให้ปีนี้งดที่สะท้อนผลงานรัฐบาลออกมาในรูปแบบฉายา
อย่างไรก็ตามยังมีความเห็นต่อประเด็นนี้เพิ่มเติม และทำหน้าที่ตั้งฉายาไว้อย่างน่าสนใจด้วย
*พระเอกตัวจริง?*
พยายามสอดส่ายสายตามองหาฉายาที่ "ชาวเน็ต" มอบให้กับรัฐบาลชุดนี้ พบว่าหลายฉายาค่อนข้างออกมารุนแรง และออกไปในทางที่เมื่อได้เห็นแล้ว คนที่ได้รับฉายาอาจเปลี่ยนจากหน้าเปื้อนยิ้มช่วงปีใหม่เป็นใบหน้าขมึงตึง โกรธเกรี้ยวแทนได้ ดังนั้น เพื่อเป็นหลักการและบทวิเคราะห์มากยิ่งขึ้น จึงลองสอบถามจากนักวิชาการผู้เกาะติดสถานการณ์บ้านเมืองอย่างใกล้ชิด มาลงไว้เผื่อใครจะคิดฉายาอื่นๆ มอบให้อีกก็ตามสะดวก
เริ่มต้นที่ สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่มองการงดตั้งฉายารัฐบาลว่า อาจมีกฎเขียนไว้ว่าถ้าเป็นรัฐบาลในระยะปฏิวัติจะไม่มีการตั้งฉายา เช่น สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็ไม่มีการตั้งฉายา แต่ตัวเองมองว่า ในระยะหลัง หรืออย่างล่าสุดที่มีการตั้งฉายาดาราออกมานั้น ตั้งกันแบบที่ไม่ใช่การหยิกแกมหยอกเหมือนเมื่อก่อน วันนี้ เหมือนตั้งฉายาไปแล้วทำให้คนที่ได้รับฉายานั้นเสียหาย เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดมีการตั้งฉายาให้รัฐบาลนี้ในแนวนี้ขึ้นมา คิดว่าอาจจะมีเรื่อง เพราะรัฐบาลชุดนี้ห่วงภาพลักษณ์ค่อนข้างสูงในแง่การถูกโจมตี มักจะมองว่าคนที่โจมตีเป็นฝ่ายตรงข้าม นักข่าวคงจะไม่อยากเสี่ยง
"ถ้าให้ตั้งเล่นๆ คงต้องตั้งแบบที่ไม่ใช่การด่าว่าหรือเสียดสี ควรตั้งในลักษณะล้อเลียน หยิกแกมหยอก ไม่ใช่การโจมตี แต่ถ้าจะให้ผมตั้งฉายาให้รัฐบาล ผมคงไม่เล่นด้วย...(หัวเราะ) แต่อาจจะเห็นภาพไม่ชัดมาก เลยยกตัวอย่างเช่น ′บิ๊กป้อม′ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ขอตั้งฉายาว่า ′พระเอกตัวจริง′ เพราะเวลามีปัญหาหรือข้อขัดแย้ง แต่งตั้งคนนั้นคนนี้ คนที่แก้ปัญหา นี่คือตัวจริง" อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง กล่าว
*รัฐบาลขวัญใจใคร?*
อีกคนหนึ่งที่ร่วมวิเคราะห์ถึงธรรมเนียมสื่อที่เคยถือปฏิบัติมากว่า2 ทศวรรษจนสะท้อนออกมาให้เห็นถึงบทบาทของวิชาชีพในช่วงสถานการณ์นี้ กับคำถามว่าการที่สื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลงดตั้งฉายาให้กับรัฐบาลสะท้อนอะไรบ้าง? และถ้าเป็นตัวเองจะให้ฉายาว่าอะไร?
ได้รับคำตอบจาก ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ วิเคราะห์ถึงการงดตั้งฉายารัฐบาลว่า สะท้อนถึง 3 สาเหตุสำคัญคือ 1.ความเกรงใจรัฐบาลของสื่อมวลชนในยุคนี้ที่มีมากพิเศษ อย่างไม่เคยเห็นมาก่อน 2.การทำงานรัฐบาลชุดนี้ ที่มีคนในวงการสื่อมวลชนเข้าร่วมด้วยอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะใน สนช. สปช. หรือที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำ 5 สายที่มาจากการรัฐประหารนั้น ทำให้เครือข่ายผู้สื่อข่าวเกิดความเกรงอกเกรงใจนักข่าวอาวุโส ที่เข้าไปมีส่วนร่วมนั้น อย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จนนำมาสู่สาเหตุข้อที่ 3. คือ สมควรหรือไม่ที่สื่อมวลชนจะเข้าไปเป็นกลไกหนึ่งของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร โดยเฉพาะแบบหลังนั้น เราก็เห็นชัดว่าเมื่อมีการรัฐประหารแล้ว มีการประกาศกฎอัยการศึกควบคุมเสรีภาพสื่อ การที่สื่อเข้าไปแล้วบอกว่าจะไปขับเคลื่อน ปกป้องสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนในประเทศให้ดีขึ้นก็ไม่เห็นทำได้ ทุกวันนี้ยังมีการพูดจาข่มขู่ การที่สื่อทุกคนรู้ว่าต้องเซ็นเซอร์ตัวเองอย่างไรเกิดขึ้นไม่เสื่อมคลาย อย่างนี้ไม่น่าจะเรียกว่าการใช้สิทธิเสรีภาพ
"สำหรับฉายา ถ้าให้ตั้งให้รัฐบาล ขอให้ฉายาว่า ′รัฐบาลขวัญใจนายทุน′ เพราะเป็นรัฐบาลชุดที่แม้ตัวเลขเศรษฐกิจจะไม่ดี การส่งออกจะติดลบต่อเนื่อง การคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจปีหน้าก็ไม่ดีขึ้น แต่รัฐบาลก็ไม่ได้เป็นห่วง ขณะเดียวกันก็เอากลุ่มทุนมานั่งทำงานกับรัฐมนตรี กับรัฐบาล แม้ผ่านมาจะมีบ้างลักษณะนี้ แต่ก็ทำเป็นเรื่องๆ แล้วก็ผ่านไป แต่การทำเป็นแพ็กเกจแบบมานั่งอยู่ในกลุ่มบริหาร มีฉันทานุมัติกำหนดนโยบายรัฐได้ ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญ เราจะเห็นกลุ่มทุนใหญ่เข้าไปร่วมทำงานตรงนี้ ดังนั้น การยืนยันไม่ขึ้นค่าแรงเพราะอ้างเศรษฐกิจไม่ดี ทั้งที่การขึ้นค่าแรงไม่ใช่ใช้เงินรัฐบาล ก็เป็นการเอื้อกับทุนใหญ่เป็นหลัก" ศิโรตม์กล่าว
ขณะที่ถ้าจะให้ตั้งฉายาให้กับรัฐมนตรีในแต่ละกระทรวงนั้น ศิโรตม์บอกว่ายังเห็นภาพไม่ชัด แต่ก็ขอตั้งให้กลุ่ม ′รัฐมนตรีด้านสังคม′ แบบแต่ละกระทรวงรับไปว่า "รัฐมนตรีสังคมโลกลืม" เพราะภาพการทำงานที่ออกมาแทบไม่รู้เลยว่าทำอะไรบ้าง จะเป็นประชาสัมพันธ์ไม่ดีด้วยหรือเปล่านั้นส่วนหนึ่ง แต่ถ้าไปถามประชาชนเชื่อว่าคงไม่มีใครคิดออก
เป็นบทวิเคราะห์และฉายาบางส่วนที่นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ช่วยตั้งให้ในวันที่สื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลที่มีธรรมเนียมถือปฏิบัติกันเป็นประจำงดทำหน้าที่น่าจะพอช่วยฉายภาพสถานการณ์บ้านเมืองในห้วงปีที่ผ่านมาได้บ้าง
หรืออย่างน้อยก็ทำให้ประชาชนคันไม้คันมือคิดอยากให้"ฉายารัฐบาล"แทนสื่อกันแล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น