ย้อนรอย ‘สมชาย นีละไพจิตร’ ผู้ถูกทำให้หายไป
ย้อนรอย
สมชาย นีละไพจิตร ผู้ถูกทำให้หายไป
สมชาย นีละไพจิตร ผู้ถูกทำให้หายไป
……………………..
กรุงเทพฯ, 12 มีนาคม 2547
ฮอนด้า ซีวิค สีเขียวคันหนึ่งวิ่งอยู่บนถนนย่านรามคำแหงมุ่งหน้าสู่ลำสาลี สักพักรถของเขาก็จอดลง พร้อมๆ กับรถเก๋งสีดำอีกคันหนึ่งที่มาจอดต่อท้าย เขาลงจากรถฮอนด้าสีเขียวมาพูดคุยกับเจ้าของรถคันข้างหลัง จากนั้นก็ถูกดึงตัวขึ้นรถไป
เขาขึ้นรถคันนั้นไป แล้วเขาก็ไม่กลับมาอีกเลย
……………………..
เขามีชื่อว่า สมชาย นีละไพจิตร เป็นประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม เป็นรองประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และเป็นคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย สภาทนายความ
ใครที่รู้จักสมชาย นีละไพจิตร ต่างก็รู้ว่าทนายสมชายเป็นคนทำงานจริงจัง รักความเป็นธรรม มีภรรยา อังคณา นีละไพจิตร และลูกๆ อีก 5 คน คือ สุดปรารถนา ประทับจิต กอปร์กุศล ครองธรรม และกอร์ปธรรม เป็นครอบครัวที่อยู่เบื้องหลังการทำงานอย่างเสียสละของสมชาย
สมชาย นีละไพจิตร เป็นทนายความมาตลอดชีวิต แม้ชื่อของเขาอาจไม่เป็นที่คุ้นหูคนส่วนใหญ่ แต่เขาคือเบื้องหลังของคดีสำคัญหลายคดี โดยเฉพาะคดีทางภาคใต้ที่ประชาชนถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับ “การก่อการร้าย” ทนายสมชายสามารถทำความจริงให้ปรากฏจนจำเลยพ้นจากข้อหาได้เกือบทุกคดี เช่น คดีกูเฮงเผาโรงเรียนเมื่อปี ๒๕๓๗ คดีหมอแวพัวพันกลุ่มก่อการร้ายเจไอ
นอกจากคดีทางภาคใต้ที่ทนายสมชายเข้าไปทำงานในฐานะชมรมนักกฎหมายมุสลิมแล้ว ยังมีคดีด้านสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ที่นายสมชายรับผิดชอบ อาทิ คดียัดยาบ้า 1 เม็ดนิสิตจุฬาฯ ฯลฯ เกือบทุกคดี ทนายสมชายต้องเป็นทนายที่ยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลายคดีสำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็นคดีช็อตไข่นายเอกวัต ศรีมันตะ หรือคดีวิสามัญฆาตกรรมโจด่านช้าง
การทำงานของทนายสมชายหลายคดี เปิดโปงพฤติกรรมของตำรวจ หลายฝ่ายเชื่อกันว่าผลงานในอดีตของเขาเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาถูกทำให้หายไป และฟางเส้นสุดท้าย คือการออกมาเปิดโปงเจ้าพนักงานทรมานผู้ต้องหาปล้นปืน-เผาโรงเรียน 5 นายเพื่อให้รับสารภาพ
ตัวอย่างคดีที่ทนายสมชายรับผิดชอบส่วนใหญ่เป็นคดีที่เข้าไปเปิดโปงพฤติกรรมของตำรวจ และเป็นคดีด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งประชาชนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจละเมิดคดีหนึ่งคือ คดีช็อตไข่ เอกวัต ศรีมันตะ ซึ่งถูกตำรวจสภอ.พระนครศรีอยุธยา ใช้ไฟฟ้าช็อตอวัยวะเพศ เพื่อให้รับสารภาพในคดีชิงทรัพย์ เป็นคดีที่มีความโด่งดังเป็นที่สนใจของสังคมอย่างมาก ทั้งยังเป็นกรณีที่ถูกหยิบยกเข้าไปในที่ประชุมของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน แห่งองค์การสหประชาชาติ เมืองเจนีวา เมื่อเดือนมีนาคม 2548
คดีนี้ทนายสมชายเป็นทนายให้ แต่สุดท้ายนายเอกวัตถอนฟ้องด้วยสาเหตุว่า “เข้าใจผิด”อีกคดีหนึ่งคือ คดีวิสามัญฆาตกรรม โจด่านช้าง เจ้าหน้าที่ตำรวจจับคดียาเสพติดที่จังหวัดสุพรรณบุรี มีการจับตัวเอาผู้ต้องหาใส่กุญแจมือเดินออกมาจากบ้าน แต่ตำรวจบอกให้ผู้ต้องหาทั้งหมดเดินกลับเข้าไปใหม่เพื่อทำแผน ไม่กี่นาทีจากนั้น เสียงปืนก็ดังลั่น มีควันตลบบ้าน ปรากฏว่าผู้ต้องหาทั้งหมดเสียชีวิต ทุกคนเสียชีวิตทั้งที่มือยังใส่กุญแจมือ เจ้าหน้าที่บอกว่าผู้ต้องหาพยายามต่อสู้ ก็เลยเป็นการ “วิสามัญฆาตกรรม”นางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาทนายสมชาย เล่าว่า คดีนั้นทนายสมชายเข้าไปเป็นทนายให้ แล้วก็พบว่า บ้านที่เกิดเหตุ…หลังเกิดเหตุ 2-3 วันถูกรื้อไปหมด ไปทำศาลาวัด คุณสมชายต้องไปรื้อศาลาวัดเพื่อมาตรวจวิถีกระสุนและหาหลักฐาน แล้ววันหนึ่งคุณสมชายนั่งดูโทรทัศน์อยู่ มีข่าวว่าญาติผู้เสียหายไปถอนแจ้งความคดีนี้เป็นคดียาเสพติด ซึ่งถ้าได้ตัวผู้ต้องหามาน่าจะมีการสอบ มีการขยายผล เพื่อให้ได้เบาะแสมากขึ้น แต่ทุกคนเสียชีวิตหมด เมื่อญาติมาร้องที่สภาทนายความ คุณสมชายก็ไปเป็นทนายให้ แต่เรื่องก็จบลงเมื่อญาติไปถอนฟ้องหมด พอเขาถอนฟ้อง ทุกอย่างจึงต้องยุติ เพราะทนายไม่ใช่ผู้เสียหาย“แต่เราก็ไม่ไปโทษเขา เพราะวันนี้เราอยู่ตรงนี้เราก็รู้ว่ามีความกดดันมากขนาดไหนในการที่จะออกมาต่อสู้กับอำนาจ คุณเอกวัตฟ้องตำรวจ มีความสุขไหม ก็คงไม่มีความสุข ถูกคุกคามไม่เว้นแต่ละวัน แต่ถ้าคุณเอกวัตรับความช่วยเหลือก็อาจมีชีวิตที่ดีขึ้น” นางอังคณากล่าว
ในปี 2547 เป็นปีที่เกิดความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ขึ้นหลายเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นคดีปล้นปืน เผาโรงเรียน ลอบวางระเบิด โดยเฉพาะเหตุการณ์ในวันที่ 4 มกราคม 2547 ที่มีคนลอบวางระเบิดโรงเรียนกว่า 20 แห่ง และในเวลาเดียวกันก็มีการบุกล้อมกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จ.นราธิวาส ปล้นปืนไปมากกว่า 400 กระบอก
จากคดีดังกล่าว ในเวลาต่อมาได้ตัวผู้ต้องหา 5 นาย โดยทนายสมชายเข้าไปเป็นทนายให้ แต่เมื่อทนายสมชายไปพบผู้ต้องหาทั้ง 5 ที่กองปราบปรามและสถานที่ควบคุมที่ตัวโรงเรียนตำรวจนครบาล จึงพบว่าผู้ต้องหาถูกตำรวจทำร้ายร่างกายอย่างน่าสังเวช ทั้งยังถูกขู่บังคับให้รับสารภาพ
ในฐานะของทนายที่ติดตามคดีทางภาคใต้ และได้เห็นการกระทำที่เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติต่อประชาชน สมชาย นีละไพจิตร จึงออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกกฎอัยการศึก ทั้งยังล่า 50,000 รายชื่อ เพื่อขอแก้ไขกฎหมายนี้ และออกมาเปิดโปงการทรมานผู้ต้องหาในคดีปล้นปืนเผาโรงเรียน ทั้งเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีส่งคณะแพทย์เข้าไปดูอาการของผู้ต้องหา
เขายังขอให้มีการย้ายผู้ต้องหาทั้ง 5 ให้พ้นจากการควบคุมของตำรวจที่ต้องการขยายระยะเวลาการควบคุมออกไป ให้เข้าไปในเรือนจำแทน ซึ่งศาลอาญาเห็นด้วยคำคัดค้านของคณะทนายความ และมีคำสั่งให้นำตัวผู้ต้องหาทั้งหมดไปควบคุมไว้ในเรือนจำ ยังผลให้เจ้าพนักงานสอบสวนคดีนี้และผู้เกี่ยวข้องบางคน แสดงความไม่พอใจ เพราะถือว่าเป็นการเสียหน้า เนื่องจากถูกหักหน้ากลางศาลต่อหน้าสาธารณชน
ระหว่างการออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้ลูกความผู้บริสุทธิ์ซึ่งถูกบังคับให้สารภาพนั้น ทนายสมชายและครอบครัวต้องเผชิญกับภาวะที่ถูกข่มขู่ ทนายสมชายเองยังออกปากเตือนเพื่อนทนายความด้วยกัน ให้ระวังตัวว่าจะถูกเจ้าหน้าที่อุ้ม
ข้อความต่อไปนี้ เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือที่ทนายสมชายเขียนขึ้นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2547 เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจากหน่วยงานต่างๆ ให้แก่ผู้ต้องหาทั้ง 5 คน โดยได้อธิบายสภาพผู้ต้องหาเอาไว้ว่า
“ ผู้ต้องหาที่ 1 ถูกใช้ผ้าผูกตาทั้งสองข้าง และถูกเตะบริเวณปากและใบหน้า ผลักให้ผู้ต้องหาที่ 1 ล้มลงและใช้เท้าเหยียบหน้า และมีคนปัสสาวะใส่หน้าและปาก ใช้ไฟฟ้าช็อตบริเวณลำตัวและบริเวณอวัยวะเพศถึง 3 ครั้ง
ผู้ต้องหาที่ 2 ถูกใช้ผ้าปิดตาทั้งสองข้าง และเตะบริเวณลำตัว ใช้รองเท้าตบหน้าและบังคับให้นอนแล้วให้คนปัสสาวะรดหน้า
ผู้ต้องหาที่ 3 ถูกใช้ผ้าปิดตาทั้งสองข้าง ถูกเตะบริเวณลำตัวหลายแห่ง ใช้มือตบบริเวณกกหูทั้งสองข้าง ใส่กุญแจมือไพล่หลัง ใช้เชือกมัดข้อเท้าทั้งสองข้าง และใช้ไฟฟ้าช็อตตามลำตัวและหลัง
ผู้ต้องหาที่ 4 ถูกใช้ผ้าปิดตาทั้งสองข้าง บีบคอ ใส่กุญแจมือไพล่หลัง และใช้ไม้ตีด้านหลังจนศีรษะแตก ได้ใช้เชือกแขวนคอกับประตูห้องขัง ใช้มือทุบบริเวณลำตัวและได้ใช้ไฟฟ้าช็อตด้านหลัง
ผู้ต้องหาที่ 5 ถูกใช้ผ้าปิดตาทั้งสองข้าง และถูกตบด้วยเท้าบริเวณหน้าและปาก ตบบริเวณกกหู ต่อยท้อง และใช้ไฟฟ้าช็อตหลายครั้ง”
จากนั้น วันที่ 12 มีนาคม ทนายสมชายเดินทางไปทำธุระที่ศาลล้มละลายกลางและศาลแพ่งกรุงเทพฯ ใต้ ในเวลากลางวัน และเข้าไปทำงานที่สำนักงานย่านรัชดาในเวลาเย็น จากนั้นทนายสมชายได้นัดเพื่อนทนายที่ร้านอาหารย่านรามคำแหงในช่วงค่ำ ก่อนจะแยกย้ายกันในเวลาประมาณ 2 ทุ่ม โดยทนายสมชายขับรถจากถนนรามคำแหงมุ่งไปทางลำสาลี
หลังจากนั้นก็ไม่มีใครได้ติดต่อกับทนายสมชายอีก ในวันที่ 13 มีนาคม 2547 ทนายสมชายไม่ได้ร่วมประชุมชมรมนักกฎหมายมุสลิม และในวันที่ 14 ทนายสมชายขาดนัดว่าความให้จำเลยที่ศาลจังหวัดนราธิวาส ซึ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้น ผิดกับนิสัยของทนายสมชายซึ่งรับผิดชอบและเอาจริงเอาจังกับเรื่องงาน
“เข้าใจว่านายสมชายยังไม่หายไปและอยู่ในกทม. เพราะนายสมชายทะเลาะกับครอบครัว และหนีมาโดยไม่บอกใคร” (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร, ไทยโพสต์ 17 มี.ค.47)
“จากการสืบสวนและหาข่าวเบื้องต้น รับรองว่าไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง ต้องขอสื่อมวลชนว่า ต้องให้ความเป็นธรรมกับภาพพจน์ประเทศ อย่าด่วนสรุป เพราะเท่าที่สืบสวนเบื้องต้นมันยังไม่ปรากฏชัดเลยว่ามีเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้อง อย่าลืมว่ามีเจ้าหน้าที่ถูกฆ่า ประชาชนบริสุทธิ์ถูกฆ่าเยอะแยะไปหมด เรายังไม่ได้ให้ความเป็นธรรมกับคนเหล่านั้นเลย เป็นเพราะคนเหล่านั้นไม่เท่หรืออย่างไร” (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร, ไทยรัฐ 19 มี.ค.47)
“เรื่องนี้เท่าที่ทราบนายสมชายถูกอุ้มแน่ แต่ไม่รู้ว่าใครอุ้ม และนำไปไหน มีชีวิตอยู่หรือไม่ ยังไม่ทราบ ไม่กล้ายืนยัน เจ้าหน้าที่กำลังสืบสวน ขอเวลาหน่อย ที่ว่าเหมือนกับการจัดฉากนั้นมองได้หลายทาง อย่าเพิ่งสรุป เพราะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญและทราบเพียงรายงานเบื้องต้น ได้ให้เจ้าหน้าที่ทำงานอย่างเต็มที่ ตรงไปตรงมา ไม่ต้องปิดบังอะไรทั้งหมด สิ่งใดคือความจริงให้นำออกมา” (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร, ไทยโพสต์ 27 มี.ค.47)
“เท่าที่ได้รับทราบข่าวในทางลับว่า มีเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งนำตัวนายสมชายไปดำเนินการบางอย่างที่ จ.แม่ฮ่องสอน แล้วเงียบหายไป” (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร, ไทยรัฐ 29 มี.ค.47)
“ยอมรับว่านายสมชาย มีชายฉกรรจ์ อุ้มตัวหายไปจริง ส่วนจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่นั้นยังไม่สามารถบอกได้ ถ้าหากพูดว่าใครจะกลายเป็นการปรักปรำ ส่วนมีกรณีที่มีข่าวลือว่านายสมชายหายตัวไปอยู่กับเจ้ายอดศึกประเทศพม่านั้น ไม่เป็นความจริง เป็นการลือกันไปเรื่อยเปื่อย” (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร, สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น 30 มี.ค.47)
“ในขั้นนี้พิสูจน์ได้ว่ามีบุคคลพานายสมชายหายไป ขณะนี้พูดได้แค่นี้ เป็นชายฉกรรจ์อุ้มนายสมชายไป ไม่ใช่ผู้หญิงแน่นอน แต่ไม่รู้ว่าเป็นใคร พูดไม่ได้ ถ้าพูดมากกว่านี้จะปรักปรำคนอื่น อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องที่พูดยากมากว่านายสมชายยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ เพราะไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นอย่างไร” (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร, กรุงเทพธุรกิจ 31 มี.ค.47)
“ก็ฟ้องซิ ฟ้องให้องค์การต่างประเทศมาช่วยกันจับหน่อย มาหน่อยเร็ว ใครเป็นคนอุ้ม ผมกำลังหาตัวอยู่ว่าใครเป็นคนอุ้ม มาช่วยผมสืบหน่อย กำลังทำงานอยู่ มาช่วยกันสืบหน่อย อย่าเท่คนเดียว” (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร, กรุงเทพธุรกิจ 31 มี.ค.47)
“ได้พบกับตำรวจ เขายืนยันว่าน่าจะจบเร็วๆ นี้ ซึ่งมีการพาดพิงถึงตำรวจด้วย ขณะนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษกำลังสอบสวน แต่อย่าเพิ่งไปสรุปว่ามีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่เข้าไปเกี่ยวข้อง วันนี้ข้อมูลค่อนข้างจะตรงกัน ซึ่งอาจจะต้องนำไปสู่การออกหมายจับ เพราะข้อมูลเบื้องต้นจากที่ได้รับรายงานก็น่าเชื่อถือ ทราบว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอ แต่ผมไม่ได้ถามรายละเอียดว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไหนอย่างไรเกี่ยวข้อง แต่คิดว่าน่าจะเป็นจากส่วนกลาง” (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร, แนวหน้า 8 เม.ย.47)
“ใจเย็นๆ จำได้หรือไม่ เวลาคดีฆ่าคนตายเขาต้องจับมือปืนก่อนถึงจะจับผู้จ้างวาน หากพยานหลักฐานถึงแค่ไหน ก็แค่นั้น ถ้าไม่ถึงก็ไม่รู้จะทำอย่างไร วันนี้ต้องใจเย็นๆ” (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร, ไทยโพสต์ 9 เม.ย. 47)
“ตากใบวันนี้กลับทิ่มแทงหัวใจ ทุกวันมีแต่พูดเรื่องกรือเซะ เรื่องตากใบ เรื่องทนายความสมชาย (นีละไพจิตร) เรื่องดีๆ ไม่พูด คนที่ผิดก็ว่าไปตามกฎหมาย คนหลงผิดก็ช่วยกันตักเตือน” (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร, ไทยโพสต์ 15 ส.ค. 48)
จากเหตุการณ์ในวันที่ 12 มีนาคม 2547 มีประจักษ์พยานเห็นเหตุการณ์ในช่วงเวลาสองทุ่มครึ่ง บริเวณถนนรามคำแหง 65 หน้าร้านแม่ลาปลาเผาว่า เห็นรถของทนายสมชาย นีละไพจิตรมาจอด และมีรถเก๋งสีดำอีกคันมาจอดต่อท้าย ทนายสมชาย นีละไพจิตร เดินลงจากรถมาพูดคุยกับ พ.ต.ต.เงิน ทองสุก และพรรคพวกอีกรวม 3 – 5 คน และพยานเห็นพ.ต.ต.เงิน ทองสุก ผลักนายสมชายขึ้นรถแล้วขับออกไป ส่วนรถที่ทนายสมชายขับมานั้น ถูกพรรคพวกของ พ.ต.ต.เงิน ทองสุก อีกคนหนึ่งขับออกไปจอดทิ้งไว้บริเวณใกล้สถานีขนส่งหมอชิต
ในกระบวนการสืบสวนคดีนี้ มีเพียงประจักษ์พยานที่เห็นเหตุการณ์ และบันทึกการโทรศัพท์เข้าออกของพ.ต.ต. เงิน และพรรคพวกในคืนเกิดเหตุ จนได้ตัวพ.ต.ต.เงินและพรรคพวกรวม 5 นาย มาเป็นจำเลย แต่การสืบสวนคดีดังกล่าวก็พบอุปสรรคไม่น้อย
ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2549 ศาลอาญาพิพากษาตัดสินจำคุก พ.ต.ต.เงิน ทองสุก สารวัตรทำหน้าที่นายตำรวจปฏิบัติการพิเศษ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน สำนักการกำลังพล สว.(ทนท.นรพ.กอ.รมน.) สกพ. ช่วยราชการกองปราบปราม ให้จำคุก 3 ปี ในข้อหาข่มขืนใจให้กระทำการใดหรือไม่กระทำการใด
“ทราบว่าเสียชีวิตแล้ว เพราะพบร่องรอยหลักฐาน แต่ยังพูดอะไรไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องทางคดีให้ดีเอสไอ เขาสรุปสำนวนเพื่อดำเนินการเสียก่อน” (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร, ผู้จัดการ 13 ม.ค. 49 – – 1 ปี 10 เดือน หลังจากทนายสมชายหายตัวไป และ 1 วันหลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลย)
แม้สมชาย นีละไพจิตร จะเป็นทนายความเล็กๆ มีวิถีชีวิตเรียบง่าย สมถะ มิได้มีตำแหน่งใหญ่โต แต่ความมุ่งมั่น มานะ และซื่อสัตย์ ในวิชาชีพของเขา มีความหมายยิ่งต่อคนเล็กๆ มากมาย ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม และยังถือเป็นประวัติศาสตร์ด้านสิทธิมนุษยชนอีกหน้าหนึ่งของประเทศไทยด้วย
ที่มา : จากหนังสือ “สมชาย นีละไพจิตร ผู้เชื่อมั่นในระบบยุติธรรม” เนื่องในโอกาสครบรอบสองปีที่ถูกทำให้หายตัว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น