PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2559

กษ.ตั้งจุดรับซื้อยางทั่วปท.เริ่ม25ม.ค.-ใต้แห่ขายยางคึก


ข่าวเศรษฐกิจ วันศุกร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ.2559 16:20 น.
671950
กระทรวงเกษตรฯ เตรียมตั้งจุดรับซื้อยางพาราทั่วประเทศ 3,000 จุด รายละไม่เกิน 150 กิโลกรัม แก้ปัญหาราคาตกต่ำเริ่ม 25 มกราคมนี้ ขณะที่ สงขลาแห่ขายยาง คึกคัก หลังปรับขึ้นราคา
นายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึง ผลการหารือร่วมกับแกนนำชาวสวนยางภาคเหนือและภาคอีสาน หลังเข้ารับฟังแนวนโยบายการรับซื้อยางพาราของรัฐบาล ว่า ทางกระทรวงเกษตรฯ จะร่วมกับองค์การคลังสินค้า หรือ อคส. จัดตั้งจุดรับซื้อยางพาราปริมาณ 100,000 ตัน จากเกษตรกรรายย่อยโดยตรง ในพื้นที่ภาคใต้จำนวน 2,000 แห่ง ภาคเหนือ และภาคอีสานอีกจำนวน 1,000 แห่ง โดยจะรับซื้อรายละไม่เกิน 150 กิโลกรัม ซึ่งจะเริ่มเปิดให้รับซื้อตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม นี้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่มีรายได้นอกเหนือจากยางพารา ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีมาตรการผ่านทั้ง 15 โครงการ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรองรับปัญหาดังกล่าวแล้ว

เกษตรกรยอมรับรัฐซื้อยางราคา45บ./กก.
นายสาย อิ่นคำ คณะกรรมการบอร์ดการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เกษตรกรจำใจยอมรับราคาที่รัฐบาลกำหนดให้ราคาการซื้อยางพาราแผ่นดิบชั้น 3 ที่ราคา 45 บาท แต่เข้าใจถึงภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังถดถอยและเข้าใจถึงภาวะการรับซื้อของภาครัฐบาลว่า หากรับซื้อในขณะนี้และไม่สามารถระบายออกได้ก็จะทำให้เกิดผลกระทบในระยะยาว แต่สิ่งที่อยากฝากให้รัฐบาลแก้ไข คือ การเข้าไปดูแลเรื่องสินค้าอุปโภคบริโภคที่ไม่มีแนวโน้มลดลง เช่น ราคาปลากระป๋องและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เป็นอาหารหลักของเกษตรกร และหากเศรษฐกิจดีขึ้นก็อยากให้ภาครัฐบาลเพิ่มสัดส่วนการรับซื้อยางพาราเพื่อใช้ในประเทศ เป็นร้อยละ 40 จากปัจจุบันอยู่ร้อยละ 14 ของปริมาณการผลิตรวมทั้งปี เพราะเชื่อว่าตลาดโลกยังต้องการยางธรรมชาติในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม
ขณะที่ปริมาณยางพาราภาคเหนือและภาคอีสานขณะนี้มีอยู่ประมาณร้อยละ 80 ที่สามารถจำหน่ายให้รัฐบาลได้ในโครงการนี้ จึงอยากเสนอให้รัฐบาลเปิดรับซื้อในภาคเหนือและภาคอีสานก่อนวันที่ 25 มกราคม เนื่องด้วยสภาพอากาศของพื้นที่ปลูกยางภาคเหนือและภาคอีสาน ส่งผลต่อการกรีดยางของเกษตรกรที่สามารถกรีดยางและน่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดเพียงในช่วงวันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้เท่านั้น

สงขลาแห่ขายยางคึกคักหลังปรับขึ้นราคา
สถานการณ์ราคายางพารา ยังคงมีการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องเล็กน้อย หลังรัฐบาลประกาศช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง โดยที่สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ราคายางพาราวันนี้ได้มีการขยับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยทั้งยางแผ่นดิบ ยางแผ่นร่มควัน และน้ำยางสด สูงขึ้นกว่าเมื่อวานนี้ โดยราคายางแผ่นดิบขยับขึ้นจากเดิม 36.05 บาท เป็น 37.05 บาท ราคายางแผ่นรมควันจากเดิม 39.39 บาท ขยับขึ้นเป็น 41.15 บาท น้ำยางสดจากเดิม 33.50 บาท ขยับขึ้นเป็น 34.00 บาท ซึ่งบรรยากาศการรับซื้อยางที่สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เริ่มคึกคักตั้งแต่เช้ามีเกษตรกรชาวสวนยางทยอยนำยางแผ่นบรรทุกรถยนต์มาเทขายกันจำนวนมาก เนื่องจากเกษตรกรเริ่มมีกำลังใจ หลังราคายางพาราปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกวัน 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สวนยางพาราส่วนใหญ่ทางภาคใต้เริ่มผลัดใบทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยกว่าปกติ ทั้งนี้ ยังมีเกษตรกรชาวสวนยางบางส่วนที่ยังไม่พอใจในราคาที่ขยับตัวขึ้นเพียงเล็กน้อย จึงไม่ยอมนำยางพาราออกมาขายในตอนนี้  และรอให้มีการปรับราคายางสูงขึ้นกว่านี้ถึงจะนำผลผลิตออกมาขาย

คสช.พร้อมสนับสนุนมาตรการช่วยเหลือสวนยาง
พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ในฐานะโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า หลังจากที่รัฐบาลมีมติที่จะช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรชาวสวนยางนั้น ในส่วนแรก คสช. โดยหน่วยในพื้นที่ได้เริ่มเตรียมความพร้อมที่จะให้การสนับสนุนในทุกรูปแบบ เพื่อให้กระบวนการรับซื้อเป็นไปตามวัตถุประสงค์ตรงตามเจตนารมณ์ และประโยชน์ต้องตรงไปที่เกษตรกรชาวสวนยางโดยตรงเป็นหลัก
ทั้งนี้ สำหรับการสนับสนุนการนำยางพารามาใช้ในกิจการ เพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศตามนโยบายรัฐบาลนั้น  ผู้บัญชาการทหารบก ได้สั่งการให้หน่วยงานในกองทัพบก พิจารณานำยางพารามาใช้ผลิตสิ่งอุปกรณ์ประเภทต่าง ๆ โดยเร็วที่สุด พร้อมให้พิจารณาปรับเปลี่ยนสิ่งอุปกรณ์เครื่องใช้ที่มีอยู่ ให้มีส่วนประกอบที่ใช้วัตถุดิบพื้นฐานมาจากยางพาราก่อนวัตถุดิบประเภทอื่น โดยล่าสุดในส่วนการใช้ยางพาราในหน่วยงานของกองทัพบก มีแนวทางเบื้องต้นว่า จะเพิ่มการใช้ยางพารากับผลิตภัณฑ์ สิ่งอุปกรณ์ทางทหาร เครื่องช่วยฝึก รถยนต์ทหาร  อุปกรณ์ทางการแพทย์ในโรงพยาบาลกองทัพบก โดยนำไปดำเนินการได้ในหลายลักษณะ อาทิ ใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมในงานก่อสร้างซ่อมแซมถนนและเป็นวัสดุสำหรับงานฉนวนกันซึมในงานก่อสร้างของทหารช่าง, ใช้ยางพาราในการผลิต สิ่งอุปกรณ์ทางทหาร เช่น ที่นอนทหาร ที่นอนผู้ป่วยในโรงพยาบาลทหาร  หมอน รองเท้าผ้าใบ รองเท้าทรงสูงครึ่งน่อง (รองเท้าฝึก) ถุงมือยาง ผลิตยางรถยนต์ทหาร เป็นต้น ซึ่งกองทัพบกกำลังเร่งดำเนินการให้เกิดผลสัมฤทธิ์โดยเร็วที่สุด เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยาง ให้คลี่คลายตามแนวทางที่รัฐบาลและ คสช. กำหนดไว้

ไม่มีความคิดเห็น: