PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2559

′ถาวร′ลั่น อย่ากลัวทหาร ปชช.จะอดตายหมดเเล้ว จี้ ′บิ๊กตู่′แก้ปัญหาราคายางตก

วันที่ 06 มกราคม พ.ศ. 2559 เวลา 18:14:46 น มติชน

  
http://www.matichon.co.th/online/2016/01/14520784491452078497l.jpg

เมื่อวันที่ 6 มกราคม นายถาวร เสนเนียม อดีตแกนนำ กปปส. และอดีตส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำของรัฐบาลว่า ขณะนี้ความโชคร้ายของเกษตรกรชาวสวนยางที่ฝันร้ายเมื่อ 20 ปีที่แล้วกลับมาหลอกหลอนอีกครั้ง ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายกว่าเดิม และแตกต่างอย่างสิ้นเชิงในเรื่องของค่าครองชีพที่ปรับขึ้นมาสูงมาก

วันนี้รายได้จากยางพาราซึ่งเป็นรายได้หลักเพียงอย่างเดียวของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง เมื่อราคาตกต่ำลงมาก ขณะนี้ยางแผ่นดิบราคาเหลือเพียงประมาณ 30 บาท ต่อกิโลกรัม น้ำยางสด ประมาณ 25 บาท ต่อกิโลกรัม และมีแนวโน้มจะปรับต่ำลงไปอีก แม้ว่ารัฐจะอ้างเหตุผล เศรษฐกิจโลกที่ยังซบเซา ราคาน้ำมันที่ตกต่ำ อัตราการเจริญเติบโตของจีนมีปัญหา ผลผลิตยางพารามากกว่าการใช้หรือสารพัดเหตุผลเพื่อพูดให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางรู้สึกร่วมคล้อยตามและจะได้ไม่โวยวายก็ตาม

นายถาวร กล่าวต่อว่า หน้าที่ของรัฐบาลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ รวมถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง จะต้องใช้ความรู้ความสามารถให้มากกว่าในช่วงปกติ ไม่ใช่ไปโทษเหตุการณ์ต่างๆ โดยหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่รัฐไม่เคยคิดจะนำมาใช้อย่างจริงจัง คือ การอาศัยความร่วมมือของประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่ 3 ประเทศ ซึ่งมีผลผลิตรวมกันมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ของผลผลิตยางทั้งโลก

โดยผลักดันให้ปัญหาราคายางตกต่ำเป็นปัญหาระดับภูมิภาคถือเป็นความเดือดร้อนร่วมกันของเกษตรกรชาวสวนยางทั้ง 3 ประเทศ คือ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งจะต้องแก้ไขปัญหาผ่านบริษัทร่วมทุนไทย มาเลเซียและอินโดนีเซีย (IRCo) ที่ดูแลโดยคณะกรรมการอำนวยการ (BoDs:Boards of Directors ) และคณะกรรมการกำหนดกลยุทธ์ (CSMO) ที่มีตัวแทนทั้งสามประเทศเป็นกรรมการโดยการควบคุมด้านนโยบายจากคณะกรรมการร่วมสภาไตรภาคียางพารา (ITRC)

นอกจากนี้ รัฐมนตรีร่วมของ 3ประเทศ ได้ตกลงร่วมกันที่บาหลีเรียกว่าข้อตกลงบาหลี(Bali Declaration 2001) ที่ได้รับการรับรองถูกต้องตามกฎหมายผ่านทางรัฐสภาของทั้ง 3 ประเทศเรียบร้อยแล้ว ในสัดส่วนการร่วมทุน IRCo 4:3:2 (ไทย:อินโดนีเซีย:มาเลเซีย) มีสำนักงานอยู่ในกรุงเทพฯ และทราบกันอยู่แล้วว่าการตั้งบริษัทร่วมทุนนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นองค์กรบริหารจัดการราคายางพาราในตลาดโลกให้อยู่ในระดับที่เกษตรกรผู้ผลิตได้รับผลตอบแทนคุ้มการลงทุน ราคามีเสถียรภาพ

นายถาวร กล่าวว่า หากมีปัญหาราคายางตกต่ำ ทางบริษัทร่วมทุนฯ จะเข้าไปป้องกันแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำทันทีและไม่ผิดกฎ WTO โดยใช้ 3 มาตรการสำคัญ คือ 1.มาตรการการบริหารจัดการการผลิต 2.มาตรการการบริหารจัดการการส่งออก และ 3.กลยุทธ์ด้านการตลาด ดังนั้นไทยในฐานะเป็นผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ที่สุดของโลกควรจะเป็นผู้เริ่มต้นหาความร่วมมือโดยทันทีเพื่อเรียกประชุมฉุกเฉิน และเสนอให้มีการระดมทุนนำเงินเข้ามาซื้อยางดูดซับออกจากระบบตามมาตรการกลยุทธ์ด้านการตลาดโดยทันที ซึ่งช่วงนี้กำลังเข้าสู่ปลายฤดูการกรีดยางและกำลังจะปิดกรีดอีกไม่กี่วันข้างหน้า ดังนั้น โอกาสที่จะผลักดันให้ราคาขยับขึ้นได้แน่นอน หากใช้มาตรการนี้ ราคายางจะปรับตัวสูงขึ้นเป็นผลดีต่อชาวสวนยาง เป็นการรับผิดชอบร่วมกันของ 3 ประเทศ เกิดความโปร่งใสในการดำเนินการ ประหยัดงบประมาณ และการดำเนินการภายใต้บริษัทร่วมทุนฯ

“ผมขอร้องรัฐบาลอีกครั้งว่าจะมัวแต่โทษสถานการณ์ไม่ได้อีกแล้ว นั่งอยู่เฉยๆ ก็ไม่ได้เพราะเป็นเรื่องของคนจนที่มีจำนวน 20 ล้านคน รัฐบาลกลับวางเฉย แต่ได้ช่วยคนรวยและคนชั้นกลางในโครงการช้อปช่วยชาติไปหยกๆ ทั้งที่โครงการนี้คนจนไม่ได้รับประโยชน์อะไร

ผมขอกราบวิงวอนท่านนายกฯ อีกครั้งหนึ่งอย่าปล่อยให้ชาวสวนยางทั่วประเทศทนไม่ได้ เพราะถ้าประชาชนทนไม่ไหว ก็จะถูกบังคับให้มาเคลื่อนไหว เช่น นัดประชุม ยื่นหนังสือเรียกร้อง ขึ้นมาประชุมกับรัฐบาล หรือ ปิดการกรีดยาง เอาน้ำยางมาราดถนน ซึ่งผมไม่กลัวจะโดนคดีอีกสัก 2-3 คดีก็ไม่เป็นไร เพราะเป็นเรื่องของปากท้อง อย่าไปกลัวทหาร เพราะพี่น้องจะอดตายอยู่แล้ว”นายถาวร กล่าว 

ไม่มีความคิดเห็น: