PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

"วินธัย"โต้รายวัน "นปช."ยัน ไม่มีแผนส่ง นักศึกษารด. ไปหน้าคูหา


"วินธัย"โต้รายวัน "นปช."ยัน ไม่มีแผนส่ง นักศึกษารด. ไปหน้าคูหา บอกให้คนโหวตผ่านประชามติ ร่างรธน. ยัน รด.จิตอาสา แค่ช่วยสร้างการรับรู้ ติง นปช.อย่าบิดเบือน เนื้อหาร่างรธน. หรือสร้างสมมุติฐานเชิงหวาดระแวง แบบขาดข้อพิสูจน์

จากกรณี แกนนำ นปช. ให้ข้อมูลว่ารัฐบาลใช้ทุกกลไก กระทั่งนักศึกษารักษาดินแดนที่ต้องไปยืน
โฆษณาหน้าหน่วยในวันลงคะแนนเพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ นั้น พันเอก วินธัย สุวารี โฆษก คสช. ชี้แจงว่า เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนมาก ด้วยทบ. มีนโยบายสนับสนุน ให้. นศท.ซึ่งอยู่ในวัยการศึกษา ได้เข้ามามีส่วนช่วยเหลือสังคมในลักษณะจิตอาสาในกิจกรรมต่างๆ มาก่อนหน้าแล้ว ทั้งงานช่วยสังคม และงานสร้างความเข้าใจ ให้กับกลุ่มเพื่อนเยาวชนด้วยกันเอง หรือในกลุ่มครอบครัวและสังคมรอบข้าง เพราะเป็นเรื่องของ รธน.ก็ควรเป็นสิ่งที่ ปชช.ทุกคนควรรู้และทำเข้าใจ

ส่วนการขยายผลการสร้างการรับรู้ ก็สามารถที่จะเป็นงานจิตอาสาที่กลุ่มเยาวชนจะเป็น นศท.หรือไม่ใช่ นศท.ก็ตาม ก็น่าจะพึงกระทำได้. ภายใต้กรอบการดำเนินชีวิตส่วนตัวของบุคคลคนนั้นๆ ไม่ใช่การไปเฝ้าหน้าคูหาแล้วคอยบอกใครให้เลือกอย่างนั้นอย่างนี้

ส่วนการแสดงความเห็นภายใต้กรอบก็ไม่ได้มีสัญญาณที่จะไปปิดกั้นอะไร นอกจากการทำความเข้าใจ โต้ความเห็นที่บิดเบือน หรือมีเจตนาแอบแฝง

"มั่นใจว่า ยังไม่มีเรื่องไหนที่จะดูไปขัดกับหลักการพื้นฐานของการทำประชามติ และประชาชนยังคงได้รับโอกาสร่วมและตัดสินใจได้โดยอิสระภายใต้กรอบและวิธีการที่เหมาะสม"

สำหรับที่กล่าวว่ามีการบรรจุเนื้อหาทุกเรื่องที่ต้องการไว้ใน รธน.นั้น ขณะนี้ เข้าใจว่า กรธ.อยู่ระหว่างการรับฟัง เพื่อที่จะอธิบายตอบให้ด้วยเหตุด้วยผล มีในหลายๆประเด็น สามารถสร้างความกระจ่างสังคมได้เป็นอย่างดี

ส่วนข้อสังเกตจากสังคมในสมมุติฐาน และความกังวลของกลุ่มการเมืองบางกลุ่ม ที่มีต่อ ร่าง รธน.เหมือนจะเน้นเฉพาะการเข้าสู่อำนาจและการรักษาหรืออยู่ในอำนาจ เป็นหลัก จึงเป็นไปได้ที่พยายามไม่เห็นด้วยในแนวคิดการสร้างความเข็มแข็งให้องค์กรอิสระอื่นๆ ทั้งๆที่องค์กรอิสระนั่นๆ เป็นกลไกที่มีประชาชนมีส่วนร่วมได้โดยตรง และเสมือนเป็นคนร่วมขับเคลื่อนด้วย
เช่นบางกรณีประชาชนอาจสงสัยก็สามารถขอยื่นเรื่องให้ตรวจสอบในเรื่องทุจริตหรือเรื่องที่ผิดปกติเองได้ด้วย

สำหรับที่กล่าวว่าหากร่างรัฐธรรมนูญนี้บังคับใช้ ผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดคือเครือข่ายอำนาจของ คสช.เชื่อว่ายังเป็นเพียงสมมุติฐานเชิงหวาดระแวง แบบขาดข้อพิสูจน์ ที่สามารถจับต้องได้

และที่กล่าวว่าปัญหาที่ผ่านมาคือความไม่เป็นประชาธิปไตย นั้นก็คงไม่ใช่ เพราะอีกส่วนของสังคมเริ่มมองเห็นตรงกันว่า ปัญหาเกิดจากมีบางกลุ่มพยายามดึงเอาคำว่าประชาธิปไตยไปอ้างใช้ในมุมตนเองและพวกพ้องจะได้ประโยชน์เท่านั้นโดยเฉพาะการอ้างไว้เพื่อเป็นเกราะกำบังในการจะทำอะไรในเรื่องที่บางสถานการณ์อาจไม่เหมาะกับประเทศ หรืออ้างใช้กรณีคิดเห็นไม่ตรงกับกลุ่มคนที่เหลืออื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่คิดว่าอาจขัดขวางผลประโยชน์

สำหรับที่พูดถึงกรณีรัฐบาลกำลังร่างกติกาที่เห็นชัดว่า อำนาจสูงสุดไม่ได้อยู่ในมือประชาชนนั้น ก็ค่อนข้างบิดเบือนอีกเช่นกัน เพราะเท่าที่ได้รับข้อมูลมาในร่าง รธน.นี้ ได้เขียนเพิ่มเพื่อให้อำนาจ ปชช.ไว้มากกว่าเดิม ยืนยันว่าไม่ใช่แค่อำนาจสูงสุดจะอยู่กับประชาชนที่ได้รับเลือกเท่านั้น แต่ยังจะอยู่กับประชาชนในส่วนที่เหลืออีกด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการใช้เพื่อการตรวจสอบถ่วงดุล และการรักษาผลประโยชน์ประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น: