PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

G77ชื่นชม"บิ๊กตู่"พูดจากหัวใจ-บางชาติอยากได้ไปเป็นนายกฯ


พล.อ.ประยุทธ์ นั่งหัวโต๊ะประชุมG77ชูเศรษฐกิจพอเพียงแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ"ดอน"เผยG77ชมนายกฯพูดจากหัวใจ ทุกเรื่องมีความเชื่อมโยง บอกบางคนอยากให้ไปเป็นนายกฯที่ประเทศเขา
วันนี้(29 ก.พ.) ที่โรงแรมสยามเคมปินสกี้ กรุงเทพฯ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นประธานกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดการประชุม “G-77Bangkok Roundtable on Sufficiency Economy: an Approach to Implementing the Sustainable Development Goals” ตอนหนึ่งว่า นับว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ประเทศไทยได้รับความไว้วางใจให้รับหน้าที่ประธานกลุ่ม 77 ในปี 2559 นี้ เรามีความมุ่งมั่นที่จะทำหน้าให้ดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการนำวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 มาปฏิบัติ เราต่างมีความมุ่งมั่นที่จะเห็นโลกพัฒนาไปอย่างสมดุลและยั่งยืน ในอีก 15 ปีข้างหน้า
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่าวันนี้โลกของเราประสบความท้าทายเร่งด่วนหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความยากจน ความหิวโหย ความเหลื่อมล้ำ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ ระบบการเงินโลกที่อ่อนไหว การแย่งชิงทรัพยากร ความมั่นคงด้านอาหาร พลังงาน และแม้แต่การเข้าถึงน้ำดื่มน้ำใช้ ความขัดแย้ง การสู้รบ ความรุนแรงทางสังคมและการเมือง และการที่ผู้คนจำนวนมากต้องทั้งบ้านเรือนและประเทศชาติของตน อพยพไปยังสังคมอื่นเพื่อความอยู่รอดและชีวิตที่ดีกว่า ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่ายหากเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นสิ่งที่ไกลเกินเอื้อมสำหรับหลายๆ ประเทศ หากเราไม่ช่วยกัน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่าประเทศไทยเองก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ แม้ว่าคนจนในประเทศไทยจะลดลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 57.97 ของประชากรในปี 2533 เหลือร้อยละ 10.53 ในปี 2557 และไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษได้เกือบทั้งหมด แต่ความเหลื่อมล้ำยังคงเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทย ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนกว้างขึ้นทุกที ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ถูกทำลาย สิ่งแวดล้อมถูกกระทบ เป็นความท้าทายที่ประเทศไทยมีเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ และทำให้เราต้องยิ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
"จุดเปลี่ยนสำคัญของไทยคือ วิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี2540 ซึ่งทำให้ไทยตระหนักว่า การพึ่งพาเศรษฐกิจโลก ตลาดส่งออก ตลาดการเงินโลก โดยไม่สร้างความเข้มแข็งและภูมิต้านทานจากภายใน จะทำให้ประเทศไทยอ่อนไหว อ่อนแอ และถูกกระทบได้ง่าย แต่ประเทศไทยโชคดีที่เป็นประเทศที่มีพื้นที่เพาะปลูกกว้างขวาง คนจำนวนมากกลับคืนสู่ชนบทสามารถอยู่ได้อย่างมีความสุขและพอเพียง และไม่ต้องตกเป็นเหยื่อของความไม่แน่นอนของตลาดโลก แต่เราไม่ได้หมายถึงว่าจะปิดประเทศหรือไม่เห็นความสำคัญของตลาดโลก และนี่มักจะเป็นข้อที่คนเข้าใจหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคลาดเคลื่อน"
นายกฯ กล่าวว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้ ความเข้าใจ เป็นความพอดีและพอประมาณบนพื้นฐานของเหตุและผลของแต่ละบุคคลซึ่งแตกต่างกันไปตามสถานะ ต้องทำอย่างรู้เท่าทันและต้องมีคุณธรรม ไม่ทำให้ตัวเองได้ดีแต่ผู้อื่นหรือสังคมเดือดร้อน หรือสิ่งแวดล้อมได้รับผลกระทบ การพัฒนาจะยั่งยืนได้ต้องมาจากรากฐานของความคิด โดยปัจจัยความสำเร็จของการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในระดับบุคคล ชุมชน และประเทศชาติ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การปลูกฝังทัศนคติและพฤติกรรมที่เริ่มตั้งแต่ในระดับบุคคล ทั้งในเรื่องการบริโภค การผลิต การดำเนินธุรกิจ การพัฒนาการเกษตร และอุตสาหกรรมที่คำนึงถึงความยั่งยืน
"ประเทศไทยได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นแนวทางในการพัฒนาโดยมีคนเป็นศูนย์กลางมาอย่างยาวนานกว่า 40 ปี เพราะคนเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาที่สำคัญที่สุด ประชาชนต้องเข้มแข็ง ตั้งแต่ระดับปัจเจกบุคคล ครอบครัวต้องเข้มแข็ง เมื่อสมาชิกในสังคมเข้มแข็ง ชุมชนเข้มแข็ง ประเทศชาติก็ย่อมเข้มแข็งตามไปด้วย" นายกฯระบุ
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เผยภายหลังเข้าร่วมประชุมดังกล่าว ว่า กลุ่มที่เป็นผู้แทนต่างประเทศได้เข้ามาชื่นชมพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ว่า ไม่นึกเลยนายกฯของไทย จะรู้เรื่องทุกอย่าง แบบบายฮาร์ทจากหัวใจ คือพูดออกมาได้หมด ทุกเรื่องราวมีการเชื่อมโยง และยังมีผู้แทนไม่ขอเปิดเผยชื่อจากประเทศตะวันตก บอกว่าอยากให้นายกฯไทย ไปเป็นนายกฯบ้านเขา
“การพูดของนายกฯ ออกนอกสคริปต์ เกือบทั้งหมด ที่เราได้เขียนไว้ให้ แต่ด้วยความที่รู้เรื่องราวเหล่านี้อย่างลึกซึ้ง ประกอบกับเป็นนโยบายรัฐบาล พร้อมทั้งเปิดโอกาสในนานาประเทศได้นำเสนอวิธีการต่างๆด้วย” รมว.ต่างประเทศ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับกลุ่ม 77 ที่สหประชาชาติ เป็นแนวร่วม (coalition) ประเทศกำลังพัฒนาอย่างหลวม ๆ ซึ่งออกแบบเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน และเสริมสมรรถภาพการเจรจาร่วมในสหประชาชาติ องค์การนี้มีสมาชิกก่อตั้ง 77 ประเทศ แต่ในเดือนพฤศจิกายน 2556 องค์การมีสมาชิกเพิ่มเป็น 134 ประเทศ ในปี 2559 ประเทศไทยเป็นประธาน.

ไม่มีความคิดเห็น: