PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2560

5วัน12คำสั่ง"ทรัมป์"ป่วนโลก

ประธานาธิบดีทรัมป์เข้าทำงานสัปดาห์แรกและพิสูจน์ให้เห็นว่าเขา “พูดจริงทำจริง” ในสิ่งที่ให้สัญญาไว้ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง ส่วนใหญ่เป็นมาตรการที่ให้คำมั่นไว้ว่าจะลงมือผลักดันให้เกิดขึ้นภายใน 100 วันแรกของการทำงาน
โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา จดปากกาลงนามในหนังสือคำสั่ง หรือคำสั่งฝ่ายบริหาร (Executive Order) ซึ่งเป็นอำนาจโดยชอบธรรมของประธานาธิบดีสหรัฐฯ จำนวนมากกว่า 12 ฉบับแล้ว ครอบคลุมตั้งแต่คำสั่งถอดถอนสหรัฐฯออกจากภาคีข้อตกลงเขตการค้าเสรีทีพีพี คำสั่งชะลอเพื่อนำไปสู่การยกเลิกกฎหมายประกันสุขภาพฉบับเดิมของประธานาธิบดีโอบามา (โอบามาแคร์) คำสั่งอนุมัติเดินหน้าโครงการวางท่อน้ำมัน 2 เส้นที่ถูกยับยั้งไว้ในสมัยรัฐบาลชุดก่อน และคำสั่งเริ่มกระบวนการสร้างกำแพงกั้นเขตแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก เป็นต้น (ดังข้อมูลล้อมกรอบ)
สื่อท้องถิ่นของสหรัฐฯระบุว่า ภายในระยะเวลา 5 วันแรกของการทำงาน ประธานาธิบดีทรัมป์ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารไปแล้ว 12 ฉบับ มากกว่าที่ประธานาธิบดีบารัก โอบามา เคยทำสถิติไว้มากกว่าสองเท่า โดยประธานาธิบดีโอบามาลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเพียง 5 ฉบับเท่านั้น (และโอบามามีคำสั่งฝ่ายบริหารออกมาเพียง 19 ฉบับภายใน 100 วันแรก) คำสั่งเหล่านี้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาทั้งเชิงบวกและลบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำสั่งที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศคู่ค้าและคู่สัญญาของสหรัฐฯ อย่างเม็กซิโก โดยล่าสุดมีรายงานข่าวว่า ประธานาธิบดีเอ็นริเก้ เปญา นิเอโต ของเม็กซิโกที่มีหมายกำหนดการเยือนสหรัฐฯปลายเดือนมกราคมนี้ ได้ออกมาแสดงความผิดหวังต่อคำสั่งของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ให้เร่งแผนสร้างกำแพงกั้นเขตแดนประเทศทั้งสองในทันที
ทั้งนี้ ผู้นำของเม็กซิโกประกาศด้วยว่า เม็กซิโกจะไม่ออกเงินค่าก่อสร้างกำแพงโดยเด็ดขาดแม้ว่าทรัมป์จะเคยพูดไว้ว่าจะให้เม็กซิโกเป็นผู้ออกเงิน ท่าทีดังกล่าวทำให้มีความคาดหมายว่าผู้นำเม็กซิโกอาจจะยกเลิกแผนเยือนสหรัฐฯปลายเดือนนี้ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า นายเอ็นริเก้ควรเดินทางเยือนสหรัฐฯตามกำหนดเดิมเพื่อใช้โอกาสดังกล่าวเจรจาต่อรองกับรัฐบาลทรัมป์เพื่อให้เม็กซิโกได้รับความเสียหายน้อยที่สุดจากนโยบายของทรัมป์ อย่างไรก็ตามความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วกับเม็กซิโกตั้งแต่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง ก็คือค่าเงินเปโซที่ตกดิ่งรุนแรงและโครงการลงทุนขนาดใหญ่หลายโครงการได้ถูกยกเลิกเนื่องจากทรัมป์ขู่เก็บภาษีอัตราสูงจากสินค้าที่ผลิตในเม็กซิโกแล้วถูกนำเข้าข้ามพรมแดนมายังสหรัฐฯ
เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศและกระทรวงเศรษฐกิจของเม็กซิโกเคยออกมาให้ความเห็นก่อนหน้านี้ว่า หากผู้นำสหรัฐฯจะเปิดเจรจารื้อข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟต้า) และผลการเจรจาไม่เป็นที่น่าพอใจ เม็กซิโกก็พร้อมจะถอนตัวออกจากข้อตกลงดังกล่าว แม้จะไม่ใช่ทางเลือกที่อยากจะทำก็ตาม
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,231
วันที่ 29 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ 2560



ไม่มีความคิดเห็น: