PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2560

รวมพลังคว่ำกฎหมายปิดปากสื่อ! โดย : กาแฟดำ

30012560 • รวมพลังคว่ำกฎหมายปิดปากสื่อ! โดย : กาแฟดำ

ทำไมวงการสื่อซึ่งรวมถึง 6 องค์กรสื่อทั่วประเทศ ต้องลุกขึ้นมาประท้วง ร่างกฎหมายว่าด้วยสื่อ
ทั้ง ๆ ที่มีชื่อฟังดูไพเราะเพราะพริ้งว่า “ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน” ที่กรรมาธิการปฏิรูปประเทศกำลังพิจารณาอยู่?
คำตอบง่าย ๆ ก็คือเพราะร่างกฎหมายนี้เนื้อหาจริง ๆ ไม่ได้ “คุ้มครอง” สิทธิเสรีภาพ และไม่ได้ “ส่งเสริม” จริยธรรมและมาตรฐานสื่อมวลชน
ที่ซ่อนเร้นเอาไว้คือการ “ควบคุม” และ “จองจำ” สื่อให้อยู่ใต้การควบคุมของคนกลุ่มหนึ่ง ที่อาจเป็นตัวแทนของอิทธิพลการเมือง และผลประโยชน์ธุรกิจอย่างชัดเจน
หนึ่งในมาตราที่ลิดรอนสิทธิของคนทำสื่อคือการตั้ง “สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ” ที่มีอำนาจล้นเหลือในการให้หรือไม่ให้ใบอนุญาต ในการประกอบอาชีพสื่อ 

จะมีปลัดกระทรวงอย่างน้อย 4 คนที่จะนั่งอยู่ในสภาแห่งนี้โดยตำแหน่ง
นั่นย่อมเป็นการเปิดทางให้การเมืองและข้าราชการประจำ สามารถแทรกแซงการทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระของสื่อได้โดยตรง
เป็นความพยายามที่จะกำกับ ควบคุมสื่ออย่างเบ็ดเสร็จ ทำลายเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น, ตรวจสอบผู้มีอำนาจและเปิดเวทีการระดมความคิดที่หลากหลายเพื่อการปฏิรูปประเทศชาติอย่างแท้จริง
เพราะคณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจในการให้หรือถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อได้
แปลว่าจะมีคนกลุ่มหนึ่งมีอำนาจล้นเหลือในการกำหนดว่าใครจะทำงานเป็นนักข่าว ช่างภาพ บรรณาธิการ คอลัมนิสต์ นักเขียนการ์ตูน ของสื่อทีวี หนังสือพิมพ์ และวิทยุ... และจะห้ามใครไม่ให้ทำอาชีพนี้ก็ได้ หากไม่เป็นที่พอใจของคณะกรรมการชุดนี้
ทั้งที่ ๆ สื่อคือเสียงสะท้อนของสังคม เป็นกระจกส่องความเป็นไป จึงต้องมีกฎกติกาที่รับรองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของการทำหน้าที่สื่อ
เพราะเสรีภาพของสื่อก็คือเสรีภาพของประชาชน
กลุ่มคนที่ผลักดันเรื่องนี้อ้างว่าอาชีพหมอ วิศวกร สถาปนิกและอื่น ๆ ต่างก็มีกลไกการ “ขอใบอนุญาต” ทำงานเหมือนกัน แต่พวกเขาสับสนกับข้อเท็จจริงที่ว่าคนทำสื่อนั้นไม่จำเป็นต้องจบนิเทศศาสตร์หรือวารสารศาสตร์เหมือนหมอต้องจบแพทย์และวิศวกรต้องเรียนวิศวกรรมศาสตร์ จึงต้องมีการกำกับตาม “มาตรฐานวิชาชีพ”
แต่คนทำสื่อคือ “หูตา” ของสังคม จะเรียนจบอะไรมาก็ได้ หลักสำคัญคือการทำตามจริยธรรมแห่งสื่อที่มีสังคมและกฎหมายแพ่งและอาญากำกับไว้อย่างรอบด้านอยู่แล้ว
อีกทั้งสังคม ผู้อ่าน ผู้ชม ผู้ฟังก็เป็นผู้ตัดสินว่าจะเสพเนื้อหาจากสื่อคนไหนสำนักใด หรือจะ “ลงโทษ” ด้วยการไม่เสพสื่อนั้น ๆ อีกทั้งยังสามารถร้องเรียนความประพฤติที่ไม่ชอบมาพากลของสื่อไปยังองค์กรสื่อทั้งระดับชาติและท้องถิ่นมากมายเพื่อตรวจสอบข้อร้องเรียนของประชาชนได้ตลอดเวลา
ร่างกฎหมายนี้นอกจากจะมุ่งควบคุมและแทรกแซงแล้วก็ยังล้าสมัยเพราะเมื่อเกิด social media ใคร ๆ ก็สามารถเป็นสื่อได้ทั้งสิ้น ด้วยโทรศัพท์มือถือใคร ๆ ก็เป็นนักข่าว ช่างภาพ นักเขียน นักวิเคราะห์ได้
เมื่อเป็นเช่นนี้ ร่างกฎหมายนี้จะสามารถควบคุมและกำกับการทำหน้าที่สื่อของประชาชนกว่า 60 ล้านคนได้อย่างไร?
ผมไม่ได้ปฏิเสธว่าสื่อจะต้องปฏิรูปตัวเองอย่างกว้างขวางและลุ่มลึก แต่การออกกฎหมายเพื่อเปิดทางให้แทรกแซงสื่อโดยผู้มีอำนาจได้เป็นการเดินสวนทางกับการปฏิรูปสื่อแน่นอน
ปรากฏการณ์เมื่อวานนี้ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยที่ต่อต้านคัดค้านร่างกฎหมายนี้จนถึงที่สุดเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการสังคมที่จะสกัดกั้นความพยายามของกลุ่มคนที่ต้องการทำลายพื้นฐานแห่งเสรีภาพของการแสดงออกของประชาชนอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องแน่นอน
เพราะเราไม่สามารถปราบคอร์รัปชัน ไม่สามารถสู้กับ “ทุนสามานย์” ไม่สามารถต้านความไม่ชอบมาพากลในสังคมได้หากยอมให้กฎหมายปิดปากสื่อผ่านความเห็นชอบของสภา
ปิดปากสื่อคือปิดปากประชาชน!

ไม่มีความคิดเห็น: