PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2561

ไทยนิยมคั่นเวลา เดินหน้าเลือกตั้ง

ไทยนิยมคั่นเวลา เดินหน้าเลือกตั้ง



ผ่าเกมอำนาจ"การเมืองแข็งขืน"ตัวแปรโรดแม็ป

ปรากฏการณ์ความศักดิ์สิทธิ์ของ “เงินแผ่นดิน”
ด้านหนึ่งศาลปกครองกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้กรมควบคุมมลพิษชดใช้ค่าเสียหายในโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ จำนวนกว่า 9 พันล้านบาท ให้กับ 6 บริษัทร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี
ทำให้รัฐบาลไม่ต้องเสีย “ค่าโง่” เซ่นโครงการโคตรโกง
พร้อมๆกันกับที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งให้ออกหมายจับอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร หลังไม่ปรากฏตัวที่ศาล ในคดีเปลี่ยนแปลงสัมปทานรัฐเอื้อประโยชน์บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ส่งผลให้รัฐเสียหายมูลค่ารวมกว่า 6.6 หมื่นล้านบาท
2 คดีใหญ่ๆที่สะท้อนบริบทเมืองไทย
ภาพของการเมืองยุคเก่า กลุ่มทุนซิกแซ็กหาประโยชน์จากโครงการรัฐ เอาเงินจากการโกงงบประมาณหลวงไปทุ่มเลือกตั้งเพื่อเข้าสู่อำนาจไปกอบโกย
วัฏจักรของการคอร์รัปชันที่ไม่จบสิ้น
วงจรอุบาทว์ที่ทำให้ประเทศชาติล้าหลัง
ความเลวร้ายด้านมืดของวิถีการเลือกตั้งเมืองไทยที่เงินยังมีอิทธิพลต่อการได้มาซึ่งคะแนนเสียง
ทำให้ประชาธิปไตยไม่บริสุทธิ์
จุดเริ่มของวิกฤติความขัดแย้งในการแย่งชิงอำนาจการเมืองจนเกือบรัฐล่มสลาย
แต่กระนั้นก็ดี ถึงจุดนี้ก็ยังมีคนโหยหาเลือกตั้ง เพื่อไปเสี่ยงลุ้นน้ำบ่อหน้า ตามสไตล์สังคมไทยขี้เบื่อ พอใกล้กำหนดเวลาครบเทอม 4 ปีรัฐบาล
บรรยากาศก็เร้าให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
แรงกดดันผู้นำรัฐบาลอย่าง “นายกฯลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช.ต้องประกาศย้ำความชัดเจน พูดซ้ำแล้วซ้ำอีก 4–5 รอบ
ยังยึดตามกรอบโรดแม็ป เลือกตั้งไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ 2562
สอดคล้องกับสถานการณ์ล่าสุด ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่วม 3 ฝ่าย ปรับปรุงแก้ไข
แนวโน้มล้อตามเงื่อนเวลาที่ผู้นำ คสช.การันตี
เว้นเสียแต่มีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความปมกฎหมายลูกขัดต่อแม่บทรัฐธรรมนูญ
อันนั้นก็อาจต้องชะลอไปตามเงื่อนไขข้อกฎหมายที่เปิดช่องทางไว้
แต่ว่ากันตามภาพรวมกระบวนการเดินหน้าเข้าสู่โหมดเลือกตั้งมาถึงจังหวะที่ คสช.เปิดให้จดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา
กระตุกบรรยากาศการเมืองเริ่มกลับมาคึกคัก
แม้จะยังเป็นพวกพรรคเล็ก พรรคน้อย แห่โหนกระแส แค่สร้างสีสัน เอามันเอาฮาเสียเป็นส่วนใหญ่
ยังไม่มีป้อมค่ายที่น่าจับตาในระดับที่จะสร้างแรงเหวี่ยงทางการเมือง
โดยเฉพาะคิวของพรรคมวลมหาประชาชนฯที่สังคมเฝ้าจับตากระบวนท่าของ “ลุงกำนัน” นาย
สุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิ กปปส.ที่ออกตัวหนุน “ลุงตู่” เบิ้ลเก้าอี้นายกฯ แบบล้อฟรี
แต่เอาเข้าจริงก็ยังยึกๆยักๆ กั๊กการจดทะเบียนพรรค
แกนนำ กปปส.ส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นนายถาวร เสนเนียม นายวิทยา แก้วภราดัย นายอิสสระ สมชัย นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ฯลฯ ไม่มีใครแสดงตัวแสดงตนออกจากพรรคประชาธิปัตย์ไปร่วมพรรค กปปส.
ไม่กล้าเสี่ยงลงสนามสู้กับเสาไฟฟ้าในปักษ์ใต้
ในสถานการณ์กลับกลายเป็นฝ่ายที่หนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ทีมงานสายตรงในคาถาปรมาจารย์ “ชวน หลีกภัย” ได้ทีออกมาไล่บี้ไล่เค้นคอทีม กปปส.
แสดงอาการขึงขัง ถีบหัวส่งพวกกบฏ
แบบที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคภาคใต้ ประกาศเรียกเช็กชื่อสมาชิกที่จะลงสมัครในนามพรรคตั้งแต่หัววัน ขณะที่นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ จอมแสบประจำพรรค ประกาศอาสาลงสมัคร ส.ส.เขตพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี แทนโควตาทีม กปปส.ของนายสุเทพ
โดยสภาพของ “ลุงกำนัน” พอลงจากเวทีม็อบ ก็หมดราคา ไร้น้ำยา
แต่อีกมุมหนึ่งก็มองกันว่า โคตรเซียนเก๋าเกมระดับ “เทพเทือก” มีแผนแสบลึกกว่า
ดึงจังหวะรอเป็น “งูเห่า” ตอนโหวตนายกรัฐมนตรี หรืออาจถึงขั้นแฝงเป็นไส้ศึกรอจังหวะรวมพลังยึดอำนาจหัวหน้าพรรคจากนายอภิสิทธิ์ตอนหลังเลือกตั้ง
ศึกในประชาธิปัตย์ต้องระแวงระวัง “หอกข้างแคร่” ไม่เป็นสุขแน่
ขณะที่สถานการณ์อีกขั้วอำนาจหนึ่งก็ส่อล่อกันนัวไม่แพ้กัน กับศึกชิง “นอมินี” นายใหญ่ในพรรคเพื่อไทยที่เริ่มแรงขึ้นตามสัญญาณความชัดเจนของกำหนดเวลาเลือกตั้ง
จับทางจากแรงกระฉอกออกมาภายนอก ตามกระแสที่มีการปล่อยชื่อ “เฮียเพ้ง” นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล แกนนำสายตรงดูไบ มาเป็นคนถือธงนำทัพ สลับฉากแทนตัวเต็งอย่าง “เจ๊หน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เจ้าแม่เมืองกรุง ที่โดนแรงต้านจากสารพัดกลุ่มก๊วนในพรรค
หักเหลี่ยม เตะสกัดกันเองในหมู่ “ตัวหลอก” ที่ถูกปล่อยออกมาล่อเป้า ล่อบาทา
แต่คำตอบสุดท้าย ตัวเต็งก็ยังอยู่ที่ชื่อของ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” น้องเขย “นายใหญ่”
ตามสไตล์ “ทักษิณ” ไม่ไว้ใจใครมากกว่าคนในแวดวงตระกูลชิน
โดยรูปการณ์ประชาธิปัตย์กับเพื่อไทยต้องเจอโจทย์ยากในการจัดการเกมอำนาจภายในพรรค เพื่อไปสู่ยุทธศาสตร์หลังเลือกตั้ง
เพื่อไทยต้องสู้กับการสกัดจากฝ่ายคุมเกมอำนาจที่ไม่มีวันเปิดทางให้ “ทักษิณ” กลับมาพลิกขั้วอำนาจรัฐไปอยู่ในกำมือ จะลุยสู้แบบทัพหลวง หรือรบแบบจรยุทธ์ แตกเป็นค่ายเล็ก ค่ายน้อย
“ทักษิณ” คิดหนัก ไม่ง่ายเหมือนรอบที่ผ่านๆมา
ในสถานการณ์ที่ตรงกันข้ามกับฝั่งประชาธิปัตย์ที่ทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก จากเงื่อนไขสถานการณ์แค่เทแต้มหนุน “ลุงตู่” เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เป็นแกนหลักพรรคร่วมรัฐบาลแน่ๆ
แต่ก็เป็นนายอภิสิทธิ์ที่ไม่ยอมหลบง่ายๆ โดยมีเจ้าหลักการอย่างนายชวนถือหาง
นั่นก็เลยทำให้เกิดภาวะ “กลวง” ทั้งในประชาธิปัตย์เอง และขั้วอำนาจฝ่ายต้านทักษิณ
ถึงจุดนี้ดูจะมีแค่พรรคขนาดกลางและค่ายขนาดเล็กที่ถือไพ่ในมือสบายๆ
ตามกระแสวงใน พรรคชาติไทยพัฒนายุคของทายาทอดีตนายกฯบรรหาร ศิลปอาชา ผู้ล่วงลับ ที่แตะมือกับค่ายพลังชล ภายใต้การนำของนายสนธยา คุณปลื้ม รวมไปถึงพรรคภูมิใจไทยที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค เดินสายเชื่อมกับทุกขั้ว
พรรคเอสเอ็มอีจองพื้นที่ในรัฐบาลหลังเลือกตั้งชัวร์ๆ
และนั่นก็ล้อไปกับการเดินหมากของรัฐบาล ที่เดินสายจัดประชุม ครม.สัญจร ในพื้นที่ภาคกลางสุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ต่อด้วยภาคตะวันออก ระยอง จันทบุรี ชลบุรี ล่าสุดที่จังหวัดภาคกลางตอนล่าง เพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ประจวบคีรีขันธ์ โปรแกรมต่อไปคือจังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี
ล้วนแต่เป็นพื้นที่เลือกตั้งที่ไม่ล็อกตายตัว ไม่เหมือนภาคอีสาน ภาคเหนือ ที่เป็นฐานของพรรคเพื่อไทย ภาคใต้ถิ่นตีกินของประชาธิปัตย์
ประกอบกับภาพเชิงยุทธศาสตร์ที่รัฐบาล “ลุงตู่” เดินหน้าโครงการ “ไทยนิยมยั่งยืน” ปูพรมทั่วประเทศ สางปมปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง ความมั่นคง
อีกด้านหนึ่งก็ตีธงเดินหน้าสารพัดเมกะโปรเจกต์ในการพัฒนาพื้นที่ภาคกลาง ฝั่งตะวันออก ฝั่งตะวันตก โครงการอีอีซี รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา ต่อเนื่องกับ “ไทยแลนด์ริเวียร่า” การพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลจากจังหวัดสมุทรสาคร เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ล้อไปกับรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หัวหิน
ปั่นเนื้องาน โชว์ฟอร์มบริหาร พร้อมๆกับตีกินคะแนนทางการเมืองไปในที
ณ จุดนี้ คือสถานการณ์ที่ยกระดับความมั่นใจให้ “นายกฯลุงตู่” ประกาศย้ำแล้วย้ำอีก 3–4 รอบ การันตีกำหนดเลือกตั้ง ล็อกปฏิทินกันชัดๆ ไม่เกินกุมภาพันธ์ 2562
ไม่กลัว “ปฏิวัติเสียของ” เหมือนห้วงแรกๆ
ในเมื่อทุกอย่างล้อตามเงื่อนไขที่มีการกำหนดผัง ต่อท่ออำนาจไว้ชัดเจนในบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญที่เปิดทางให้ คสช.คุมเกมอำนาจช่วงเปลี่ยนผ่านอีกอย่างน้อยเป็นเวลา 5 ปี
โดยเงื่อนสถานการณ์ก็เหลือแค่รอให้พรรค การเมืองไม่แข็งขืน ยอมให้ “ไทยนิยม” คั่นเวลา
ไฟเขียวเข้าคูหาเลือกตั้งตามปฏิทิน.

“ทีมการเมือง”

ไม่มีความคิดเห็น: