PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2561

ก้าวข้ามกับดักวิกฤติซ้ำซาก : สังคายนาปฏิรูปกฎหมายจุดเปลี่ยนประเทศ

ก้าวข้ามกับดักวิกฤติซ้ำซาก : สังคายนาปฏิรูปกฎหมายจุดเปลี่ยนประเทศ



ที่ผ่านมาได้ยกเลิก แก้ไขและประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เพื่อจัดระเบียบการปกครองให้เหมาะสมหลายครั้ง
แต่การปกครองก็ไม่ได้มีเสถียรภาพหรือราบรื่นเรียบร้อย เพราะยังคงประสบปัญหาและข้อขัดแย้งต่างๆ
บางครั้งเป็นวิกฤติทางรัฐธรรมนูญที่หาทางออกไม่ได้
เหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการที่มีผู้ไม่นำพาหรือไม่นับถือยำเกรงกฎเกณฑ์การปกครองบ้านเมือง ทุจริตฉ้อฉลหรือบิดเบือนอำนาจ หรือขาดความตระหนักสำนึกรับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชน
ทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นผล ซึ่งจำต้องป้องกันและแก้ไขด้วยการปฏิรูปการศึกษา การบังคับใช้กฎหมาย การเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบคุณธรรมและจริยธรรม
แต่อีกส่วนหนึ่งเกิดจากกฎเกณฑ์การเมืองการปกครอง ที่ยังไม่เหมาะสมแก่สภาวการณ์บ้านเมืองและกาลสมัย จึงมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อใช้เป็นหลักในการปกครอง และเป็นแนวทางจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น
โดยกำหนดกลไกเพื่อจัดระเบียบและสร้างความเข้มแข็งแก่การปกครองประเทศ
จะทำให้สามารถขับเคลื่อนประเทศให้พัฒนาไปข้างหน้าได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน
จนเกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในด้านการปกครอง เศรษฐกิจและสังคม ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
นั่นเป็นเนื้อหาบางส่วนในคำปรารภของรัฐธรรมนูญ พอจะเห็นภาพของการสร้างกลไก “ปฏิรูปประเทศ” ในด้านต่างๆเป็นขั้นเป็นตอน ผ่านการ “ปฏิรูปกฎหมาย”
“ปฏิรูปกฎหมาย จุดเปลี่ยนประเทศไทย” เป็นหัวข้อที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษในโอกาสวันสถาปนา “สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย” ครบรอบ 63 ปี ซึ่งตรงกับวันที่ 5 มีนาคม
บ้านเมืองจะเปลี่ยนโฉมไปอย่างไร หลังการปฏิรูปกฎหมาย นายวิษณุ บอกว่า ประเทศ ไทยเหมือนอีกหลายประเทศที่ร่ำรวยกฎหมายเป็นอย่างมาก
เรามีกฎหมายบังคับใช้มากมายมหาศาล 2 หมื่นฉบับ ทั้งในรูปของพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา พระราชกำหนด ประกาศ กฎกระทรวง
กฎหมายบางฉบับอาจจะใหม่เอี่ยม หลายฉบับเป็นกฎหมายเก่าแก่ ซึ่งกฎหมายลักษณะผัวเมียก็ยังบังคับใช้อยู่ มีอายุ 600 ปี ตราขึ้นสมัยพระเจ้าอู่ทอง กฎหมายระบุว่า ใครก็ตามที่สมรสก่อนปี 2475 ยังต้องใช้กฎหมายนี้ต่อไป ไม่เกี่ยวกับรุ่นเรา
ฉบับที่ใหม่กว่านี้คือ กฎหมายการเดินเรือในน่านน้ำไทย ตราขึ้นสมัยรัชกาลที่ 6 ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ใครจะเดินเรือ ถมทะเลต้องใช้กฎหมายนี้ กฎหมายกฎอัยการศึกที่ใช้ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็ยังใช้บังคับอยู่ และยังมีอีกหลายฉบับที่เก่าแก่
แล้วถามว่าไม่ล้าสมัยบ้างหรือ แน่นอนเมื่อพบว่าล้าสมัยก็แก้ ไม่พบว่าล้าสมัยก็ไม่แก้ แก้ยากก็ทิ้งเอาไว้อย่างนั้น แต่เกิดปัญหากับประชาชนแน่
นี่คือโจทย์ใหญ่ของประเทศ จะต้องปฏิรูปกฎหมาย
วันนี้เราพูดถึงการปฏิรูปกัน 3 เวลาหลังอาหาร จะปฏิรูปก่อนหรือหลังการเลือกตั้ง แต่จะทำก่อนหรือทำหลังก็ให้ทำเถอะ ไม่ทำไม่ได้ ไม่ใช่เป็นเพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มวลมหาประชาชน หรือใครอยากทำ
แต่รัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูกสั่งให้ทำ และความจริงคนทั้งประเทศก็อยากได้การปฏิรูปใช่หรือไม่ จึงมีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปด้านต่างๆ เพื่อร่างแผนการปฏิรูป
หนึ่งในนั้นคือ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ซึ่งเป็นการทำแผนให้ 20 กระทรวง 140 กรม 50 รัฐวิสาหกิจ 40 องค์การมหาชน องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล และประชาชนทั้งหลายไปทำเรื่องปฏิรูปการปฏิรูปในภาพรวมใครเป็นคนทำไม่เป็นอะไร
แต่กฎหมาย 2 หมื่นฉบับ ที่เก่า ใหม่ ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง รัฐบาลเข้ามา 3 ปีเศษ ออกกฎหมาย 300 ฉบับ เทียบกับ 5 รัฐบาลที่ผ่านมา รวมเวลา 7 ปี ออกกฎหมายได้รวม 120 ฉบับ เพราะในยุคนั้นสถานการณ์การเมืองไม่ปกติ
การออกกฎหมายต้องมองเรื่องคุณภาพของกฎหมายเป็นอย่างไร ออกมาตอบโจทย์อะไร ประชาชนอยากได้อย่างนั้นหรือไม่ กฎหมายคือกระดาษ เหมือนอาวุธ ดาบ มีด ถ้าวางในฝักไปตัดหัวใครก็ไม่ได้ เพราะมันคือกระดาษในฝัก การหยิบฉวยควักออกมา ที่เราเรียกว่าการบังคับใช้ให้เป็นกฎหมาย ซึ่งสำคัญกว่าตัวเลขการออกกฎหมาย
ขณะที่การปฏิรูปต้องมีวัตถุประสงค์ว่าต้องการเปลี่ยนเพื่ออะไร มีกระบวนการต้องเปลี่ยนอะไรก่อนหรือหลัง ต้องมีชั้นเชิงลีลา ต้องคนมีอำนาจหน้าที่มาทำ และต้องได้ประโยชน์กับสาธารณะ ถึงเรียกว่าเป็นการปฏิรูป
ส่วนการจัดกลุ่มกฎหมายที่ต้องปฏิรูป ประกอบด้วย “กฎหมายเก่า ไม่เป็นธรรม” ซ้ำกัน ขัดแย้งกันเอง หลักฉบับหนึ่ง ข้อปฏิบัติอีกฉบับ ทั้งสองควรอยู่ฉบับเดียวกัน กฎหมายมีจำนวนมากแบบนี้ต้องสังคายนา
“ปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและพันธะระหว่างประเทศ” ซึ่งมีจำนวนมาก ไม่มีใครบอกว่าขัดรัฐธรรมนูญ แต่รู้สึกว่าจะขัด “กฎหมายขาดหลักนิติธรรม สิทธิมนุษยชน เสรีภาพ สร้างความเหลื่อมล้ำ” “กฎหมายเพื่อปราบปรามการทุจริตคดโกง” ที่ผ่านมาออกมาบ้างแล้ว แต่ยังไม่พอ
ที่ออกมาแล้วเป็นการปฏิรูป คือ จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เมื่อมีคดีโกงก็ขึ้นศาลนี้ ตอนนี้มีการสืบพยานทุกวัน ตั้งมาเกือบปีตัดสินคดีจำนวนมาก หากไม่มีศาลนี้ก็จะยังสืบพยานยังไม่เสร็จ
กฎหมายอีกตัวที่กำลังทำเรียกสั้นๆว่ากฎหมายผลประโยชน์ขัดกัน มีสมญานามว่ากฎหมายสี่ชั่วโคตร ความจริงโคตรเดียว เพื่ออุดช่องว่างการคดโกง ตอนนี้อยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผมยังเสียวๆถ้าเขียนไม่ดี ไม่รอบคอบจะเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งกันได้
“กฎหมายเศรษฐกิจ” หรือกฎหมายที่ต้องปรับปรุงแก้ไขเพื่อเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันกับต่างประเทศ วันนี้มีกฎหมายสารพัดที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน เพราะเขียนมาตั้งแต่สมัยโบราณ
วันนี้จะไปสตาร์ตอัพ คือสิ่งที่ต้องแก้ไข พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตทางราชการ ถือว่าเป็นกฎหมายที่สำคัญที่สุดที่ออกมาได้ในรัฐบาลนี้ ส่วนราชการทุกแห่งใช้แทนการขออนุญาตกฎหมาย 4 พันฉบับของแต่ละหน่วยงานที่เราต้องไปขออนุญาต ถ้าบิดพลิ้วไม่เป็นตามนั้นเจอมาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
“กลุ่มนี้เรื่องใหญ่ กฎหมายออกมามีเจตนาอย่างหนึ่ง แต่บังคับใช้อีกอย่าง” จะทำอย่างไรให้การบังคับใช้อยู่ในเจตนารมณ์ของกฎหมาย จะต้องเขียนให้ชัดเจนเพื่อดิ้นไม่หลุด
และ “เรื่องที่ไม่มีกฎหมาย แต่ควรจะมี” ไม่เช่นนั้นจะแย่ เช่น อูเบอร์แท็กซี่ เงินสกุลคริปโตเคอเรนซี หรือบิทคอยน์ ขณะนี้กระทรวงการคลังหวั่นไหว ถามว่าผิดกฎหมายหรือไม่ ก็บอกว่าไม่ผิด แล้วถูกกฎหมายหรือไม่ ก็ไม่ถูก แล้วตกลงอย่างไรกันแน่ เพราะมันไม่มีกฎหมาย
สุดท้ายได้ข้อสรุปว่าควรมีกฎหมายเพื่อควบคุมให้อยู่ในร่องในรอย ใครจะค้าขายต้องขออนุญาต ไม่เช่นนั้นจะเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริต คดโกงหลอกลวง จะเกิดช่องทางให้นำเงินไปค้ามนุษย์และฟอกเงิน
เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่จะต้องมีกฎหมายออกมา คือความจำเป็นที่ต้องเกิดระบบการปฏิรูป โดยมีหลายหน่วยงาน ทั้งคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย มีนายบวรศักดิ์ เป็นประธาน คณะกรรมการกฤษฎีกา แต่อาจจะช้า เพราะมีเรื่องพิจารณาเยอะ และคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน
และยังเตรียมเสนอนายกรัฐมนตรี ตั้ง “สำนักงานปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน” เพื่อสำรวจสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมด แล้วไปล้วงกฎหมายที่ด่วนที่สุดขึ้นมาทำ มีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาเป็นกรรมการ แยกกันทำงาน
ทำได้ตามนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนประเทศไทยได้ครึ่งเดียว
หากเอาจิ๊กซอว์อีกครึ่งมาต่อ คือการบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย
เพราะไม่มีประโยชน์หากสักแต่จะมีกฎหมาย
ต้องหยิบมาบังคับให้จริงจัง เพื่อให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์.
ทีมการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น: