PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2561

‘อรรถวิชช์’ ขอบคุณนายกฯตู่ ประกาศเลือกตั้งชัด 24 ก.พ. ชี้คนคิดหาวิธียื้อ “เงิบ”

‘อรรถวิชช์’ ขอบคุณนายกฯตู่ ประกาศเลือกตั้งชัด 24 ก.พ. ชี้คนคิดหาวิธียื้อ “เงิบ”



แฟ้มภาพ

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีตสส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความทางเฟสบุ๊ก อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี – ปชป ขอบคุณนายกฯ ตู่ ยืนยันเลือกตั้ง 24 ก.พ. 62 โดยระบุว่า

เมื่อหัวขบวนอย่างท่านนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประสานเสียงเป็นเสียงเดียวกับ กกต. ประกาศกันชัดยิ่งกว่าชัด ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นตามโรดแมปที่วางไว้ วันที่ “24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562” หรืออีกประมาณ 6 เดือน นับจากนี้ และคราวนี้น่าเชื่อว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้น ใครที่คิดจะหาวิธียื้อการเลือกตั้งอยู่ ตอนนี้คงบอกได้เลยว่า “เงิบ” ไปตามๆ กันครับ

ทำไมคราวนี้ ถึงน่าเชื่อว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นวันที่ 24 ก.พ. 2562

เพราะเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีสมาชิก สนช. กลุ่มหนึ่งพยายามแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 โดยอ้างว่าต้องแก้ไขเรื่องการสรรหาผู้ตรวจการเลือกตั้ง แต่สุดท้ายก็ต้องถอนร่างออกไป เพราะกระแสสังคมไม่ยอมให้ยื้อการเลือกตั้งไปจนถึงปลายปี’62
พอมาช่วงนี้ก็มีเรื่อง “ไพรมารีโหวต” อีก ก็มีการถกเถียงกันว่าจะแก้ไขกันหรือไม่ อย่างไรบ้าง และต้องไปแก้ที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 อีก แต่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รวมถึงนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ก็ยอมรับในทำนองว่า หากต้องให้ สนช. กลับมาแก้ร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งอีก คงต้องใช้เวลานาน กระทบต่อโรดแมปเลือกตั้ง

จนในที่สุดเรื่องเหล่านี้ก็ได้รับการไขก๊อกจากท่านนายกรัฐมนตรีว่า พร้อมเซ็นชื่อ หากเสนอใช้อำนาจตามมาตรา 44 แก้ไขกฎหมาย จะได้ไม่กระทบกำหนดการเลือกตั้ง

ต้องจับตาดูพี่ใหญ่คนสำคัญของรัฐบาล พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวันที่ 28 ส.ค.2561 ที่จะพิจารณาคลายล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรม ภายหลัง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ในช่วงกันยายนนี้

อีกทั้ง คสช. จะหารือเพื่อแก้ “วิธีการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ไพรมารีโหวต” (Primary Vote) โดยหลักการของรัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดไว้กว้างๆ แต่เพียงให้ “พรรคการเมืองต้องเปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการกําหนดการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง” รายละเอียดนั้นเป็นไปตามกฎหมายลูกคือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งกฎหมายนี้กำหนดให้ใช้วิธีการไพรมารีโหวตในทุกเขตเลือกตั้งที่จะต้องแบ่งใหม่ 350 เขต หรืออย่างน้อยทุกจังหวัด 77 จังหวัด

แท้จริงแล้ว กฎหมายลูก พ.ร.ป.พรรคการเมือง มีผลใช้บังคับตั้งแต่ปีที่แล้ว 8 ต.ค.2560 แต่กลับมีคำสั่ง คสช. เบรกห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง การแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ 350 เขต จึงทำไม่ได้ การที่สมาชิกจะมาเลือกว่าที่ผู้สมัครของพรรคตนก็ทำไม่ได้เช่นกัน อีกทั้งยังยกเลิกสมาชิกพรรคเก่าทั้งหมด
พรรคการเมืองต้องเริ่มสะสมฐานจำนวนสมาชิกใหม่อีกเพื่อทำตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง

ฉะนั้นแล้ว ผู้ที่เคยผูกสมการให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปก็คือ คสช.นั่นเอง และแม้วันนี้ท่าทีท่านนายกฯ ประยุทธ์ ที่ชัดเจนแล้วว่าจะมีเลือกตั้ง 24 ก.พ.2562 ก็จริง แต่ยังต้องจับตาดูทีมงานท่านอีกด้วย ดังนั้นต้องติดตามการประชุม คสช.ว่า จะปลดล็อกจริง หรือจะหยอดใส่สมการเพิ่มทำให้การเลือกตั้งมีขั้นตอนที่ยุ่งยากออกไปอีก

ไม่มีความคิดเห็น: