PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ที่เห็นและเป็นไป : ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก

ที่เห็นและเป็นไป : ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก



แม้คณะกรรมการการเลือกตั้งจะประกาศให้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 เป็น “วันกาบัตรลงคะแนน”
แต่เมื่อ “พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด” ในฐานะโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาชี้แจงว่านั่นเป็นกำหนดการตามขั้นตอนเท่านั้น ส่วนวันเลือกตั้งจริงต้องดูปัจจัยอื่นประกอบ
เหมือนกับคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศความพร้อมแล้ว แต่ที่สุดเป็นไปตาม “พล.ท.สรรเสริญ” ว่า
แม้สถานการณ์ของบ้านเมืองจะมีเสียงเรียกร้องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ให้กำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจน ด้วยการทำ
เหตุผลต่างๆ นานา อ้างถึงความจำเป็นจะต้องมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง จากเหตุผลการยอมรับจากนานาชาติ มาเป็นเหตุผลทางการเมืองที่ต้องลดแรงกดดันต่างๆ และถึงวันนี้ล่วงมา อ้างถึงปัญหาปากท้องของชาวบ้านที่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าหนักหนาสาหัสขึ้นทุกที
ทว่า “การเลือกตั้ง” ดูจะไม่สามารถจัดการให้เกิดขึ้นง่ายๆ และดูเหมือนยิ่งนับวัน เหตุผลที่จะทำให้เกิดความคิดว่า “น่าจะยังไม่เลือก” จะหนักแน่น ได้รับการพูดถึง และทำให้เชื่อได้มากขึ้น
ก่อนหน้านั้น เหตุผลที่ยังเลือกตั้งไม่ได้ มีเพียงความพร้อมด้านกฎหมาย ที่จะทำให้เกิดขั้นตอนที่จำเป็นต่างๆ ความเปลี่ยนแปลงในวันเวลาที่กฎหมายประกาศใช้ เป็นเหตุผลที่ชี้ถึงความจำเป็นทำให้ต้องเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปครั้งแล้วครั้งเล่า
แต่พอถึงวันนี้ไม่ค่อยจะมีใครมองถึงความไม่พร้อมเรื่องกฎหมายแล้ว เพราะเชื่อกันว่าหากตั้งใจที่จะทำให้ทัน เวลา 4-5 ปีที่ผ่านมามากมายเหลือเฟือที่จะจัดการให้ทัน เหตุผลที่ไม่ชัดน่าจะเป็นเรื่องอื่น โดยอาศัยความพร้อมเรื่องกฎหมายมาเป็นข้ออ้างปิดวาระซ่อนเร้นไว้เท่านั้น
ประเด็นหนึ่งที่กลายเป็นเหตุผลของความไม่พร้อมเลือกตั้ง ที่หยิบยกขึ้นมาชวนให้คิดแล้ว หลายคนเห็นแล้วหายใจด้วยความหนักอกหนักใจตามไปด้วยคือ “การเมืองหลังการเลือกตั้ง”
เชื่อกันว่าหลังเลือกตั้งการเมืองไม่มีทางสงบได้ความยุ่งยากทั้งหมดเกิดขึ้นจาก “การทำให้โครงสร้างอำนาจการบริหารจัดการประเทศมีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากเกินไป”
ขณะที่ “ต้องการให้คนกลุ่มหนึ่ง” มีอำนาจต่อไป โดยจำกัดสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนลง ขณะ
เดียวกับต้องการภาพ “ประชาธิปไตย” เพื่ออาศัยข้ออ้างเรื่องอำนาจโดยประชาชนมาสร้างความชอบธรรม
ลดทอน และวางกลไกตรวจสอบพรรคการเมืองอย่างเข้มข้น ขณะเดียวกันต้องการเสียงสนับสนุนจากพรรคการเมืองมาส่งขึ้นสู่เก้าอี้ผู้นำประเทศ

กลายเป็น “ผู้นำ” ที่ฐานสนับสนุนอยู่ในสภาพอ่อนแอ และเปราะบางด้วยกลไกการตรวจสอบ
แม้จะหวังถึงเสถียรภาพได้บ้างจาก “นักการเมืองที่มาจากการแต่งตั้ง” ที่ให้บทบาทไว้พอสมควร แต่ “รัฐสภา” ที่อย่างไรเสีย “นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งสามารถใช้เป็นเวทีได้อย่างชอบธรรม” จะเปิดโอกาสให้เกิดการตอบโต้ และสามารถสั่นคลอนเสถียรภาพที่คิดว่ามีอยู่นั้นได้ไม่ยาก
และระหว่างเสียงของ “ผู้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” กับของ “ผู้เสวยวาสนาจากการแต่งตั้งของผู้มีอำนาจ” ความเชื่อมั่นและองอาจจะอยู่ที่ฝ่ายใด กระแสประชาชนจะยืนอยู่ข้างใคร เป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ไม่ยาก
กระแสการเมืองจะส่งถึงผลการเลือกตั้งอย่างไร เป็นที่รับรู้กันอยู่ในปัจจุบัน ได้สร้างคำถามว่าจะทำอย่างไรให้ “รัฐประหาร” ต้อง “ไม่เสียของ” ตามความหมายของ คสช.ล้วนมีผลต่อ “การเมืองหลังเลือกตั้ง”
ระหว่าง “เลือกตั้งตามปฏิทินการเมือง” กับ “เลื่อนเลือกตั้งออกไปก่อน”
ทางไหนเสี่ยง “เสียของ” ตามความหมายเช่นนั้นมากกว่า
การถูกบังคับให้ต้องเลือกเดิน ทั้งที่เห็นอนาคตอยู่แล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น
ยอมเป็นแรงกดดันที่ยากจะควบคุม
สุชาติ ศรีสุวรรณ

ไม่มีความคิดเห็น: