PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ดัชนีความสุขยุค 4.0 ปากหวานอาบพิษ?

ดัชนีความสุขยุค 4.0 ปากหวานอาบพิษ?



เรื่องราวเงื่อนปัญหาขัดแย้งทางข้อมูลเกี่ยวกับ “ข้อเท็จจริง” ทางวิทยาศาสตร์และหลักฐานเชิงประจักษ์ของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด มีผลกระทบต่อ “สุขภาพ” และ “สิ่งแวดล้อม”... พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ดูเหมือนว่าจะยังไม่จบลงง่ายๆเสียแล้ว
“ชั่งแม่งบ้างเหอะ เก็บมาคิดทุกเรื่องก็ตายห่า...กันพอดี” @fordder โพสต์เปิดหัวใน FB Page : สิ่งเล็กๆที่เรียกว่ารัก สะท้อนมุมมองเผยแพร่ ผ่านสื่อสังคมโซเชียลในรูปแบบพรีเซนเทชันเข้าใจง่ายๆ ย้ำชัดเจนว่า...
“คุ้มแล้วหรือ...และ...ไม่มีวิธีอื่นแล้วหรือที่ปลอดภัยกว่าทั้งๆที่รู้ว่ามีอันตรายแฝงอยู่ตลอดมาเกือบ 20 ปี” คนไทยทนทาน...รัฐบาลเพิกเฉย? ข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขให้แบน “สารพิษ”
ข้อมูล BIOTHAI 14/8/2018 สะท้อนว่า “ไกลโฟเซต”...ประเภทสารกำจัดวัชพืช ความเสี่ยงก่อมะเร็ง โรคไต และอื่นๆ ปริมาณนำเข้า 59.85 ล้านกิโลกรัม บริษัทที่ขาย...ไบเออร์-มอนซานโต้ เจียไต๋ ฯลฯ
สถานะ...ศาลแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ตัดสินให้บริษัท มอนซานโต้จ่ายค่าเสียหายแก่ผู้ป่วยมะเร็งจากการฉีดพ่นราวด์อั๊พ (ชื่อการค้า) ยังคงอนุญาตให้มีการใช้ในประเทศไทย
ถัดมา “พาราควอต” ประเภทสารกำจัดวัชพืช ความเสี่ยงพิษเฉียบพลันสูง...มากกว่าคาร์โบฟูราน 43 เท่า ก่อโรคพาร์กินสัน ปริมาณนำเข้า 44.50 ล้านกิโลกรัม บริษัทที่ขาย...ซินเจนทา, เจียไต๋ ฯลฯ สถานะ...แบนและประกาศแบนใน 53 ประเทศ ยังคงอนุญาตให้มีการใช้ในประเทศ
ลำดับที่สาม...“คลอร์ไพริฟอส” ประเภทสารกำจัดแมลง ความเสี่ยงส่งผลกระทบต่อสมองทารก และเด็ก พบตกค้างมากในผัก ผลไม้ ปริมาณนำเข้า 3.32 ล้านกิโลกรัม บริษัทที่ขาย...ดาวเคมีคอล, เจียไต๋ ฯลฯ
สถานะ...ศาลสหรัฐฯสั่งให้ EPA แบนภายใน 60 วัน นับตั้งแต่คำตัดสินเมื่อ 9 สิงหาคม 2561 ประเทศไทยยังคงอนุญาตให้ใช้ต่อได้
พลิกแฟ้มย้อนไปเมื่อปีที่แล้ว...ในวันที่ 5 เมษายน 2560 รัฐมนตรี กระทรวงสาธารณสุขโดยประกาศ มติของกระทรวงสาธารณสุขโดยให้แบน “พาราควอต”...“คลอร์ไพริฟอส”...และจำกัดการใช้ “ไกลโฟเซต”
ต่อมา...วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 มีมติจาก 3 กระทรวง ...กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงอุตสาหกรรมยืนมติในปี 2560
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมีการตั้งอนุกรรมการวัตถุอันตรายและกรรมการวัตถุอันตรายขึ้นมา โดยยืนยันว่าไม่มีหลักฐานชัดเจนถึงสารทั้งสามตัวนี้ว่ามีอันตรายต่อสุขภาพ กระทั่งเกิดเสียงคัดค้านจากประชาชน 700 องค์กรเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และนายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการใหม่เพื่อทบทวนอันตรายจากสารพิษเหล่านี้
โดย....มีการประชุมกันในวันที่ 22 สิงหาคม 2561
เงื่อนสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามมีว่า...ผลต่อเนื่องไปถึงการ “ปฏิรูปประเทศ” ในระบบ “สาธารณสุข” จะไม่สามารถทำได้ในประเด็นการบริโภค ซึ่งเกี่ยวข้องกับ “อาหารปลอดภัย”...“ปลอดสารพิษ” ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2561
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ย้ำว่า สารเคมีอันตราย : พาราควอต (Paraquat) ไกลโฟเซต (Glyphosate) และคลอร์ไพริฟอส (Chlorpyrifos)...มีข้อเท็จจริงทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์และหลักฐานเชิงประจักษ์ชี้ชัด
สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิดมีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ “พาราควอต” ที่มีพิษเฉียบพลันสูงต่อมนุษย์ และมีผลกระทบเรื้อรังต่อสุขภาพ เช่น ก่อโรคพาร์กินสัน สมองเสื่อม แม้ใส่อุปกรณ์ป้องกัน ยังสามารถผ่านเข้าสู่ร่างกายได้โดยการสัมผัสทางผิวหนัง
รวมทั้งบาดแผล แล้วซึมเข้าร่างกาย จนเกิดอันตรายถึงชีวิต ทั้งยังพบตกค้างในอาหาร สิ่งแวดล้อมและมนุษย์ จากข้อมูลการวิจัยของหลายสถาบัน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
สมควรยกเลิก...พาราควอต คลอร์ไพริฟอส ไกลโฟเซต
บันทึกช่วยจำ...เผื่อเอาไว้เล่าสู่ลูกๆหลานๆไทยฟังในวันข้างหน้า การประชุมคณะกรรมการปฏิรูปฯ วันที่ 14 สิงหาคม 2561 ที่ประชุมยืนยันว่า ...ประเด็นเรื่องอาหารปลอดภัย มีความสำคัญโดยเฉพาะการยกเลิกการใช้ สารเคมี 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส ไกลโฟเซต หากจัดการเกี่ยวกับ “อาหารปลอดภัย” และ “สารเคมี” ไม่ได้ การปฏิรูปจะไม่สำเร็จ เพราะยังทำให้เกิดโรคมะเร็ง...โรคเกี่ยวกับสมอง และโรคไต
“การปฏิรูป” ด้านสาธารณสุข จะช่วยให้การเงินการคลัง และหลักประกันสุขภาพของคนไทยดีขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าหลักประกันสุขภาพมีงบประมาณจำกัด ฉะนั้นหากมีคนป่วยมากขึ้นเรื่อยๆและโรครักษาไม่ได้ ต้องใช้ระยะเวลานาน ไม่มีทางทำให้ระบบสาธารณสุขกับคนด้อยโอกาสดีขึ้นได้ หากไม่จัดการสภาพแวดล้อมเหล่านี้
สำหรับ “ไกลโฟเซต” สารเคมี 1 ใน 3 ชนิด มติเดิมของ 3 กระทรวงให้แค่จำกัดการใช้ นพ.เสรี ตู้จินดา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข พูดว่า...ต้องไม่มีการใช้สารพิษเลย
เพราะข้อมูลชัดเจนแล้วว่า พาราควอต คลอร์ไพริฟอส ไกลโฟเซต ส่งผลกระทบต่อคนที่ไม่ได้ทำอาชีพเกษตรกรรมหรืออยู่ในพื้นที่เกษตรกรรมด้วย โดยรับจากการบริโภคผัก...ผลไม้ อีกทั้งจากการศึกษาในไทยและต่างประเทศยังพบสารพิษในหญิงตั้งครรภ์และขี้เทาของเด็ก ทำให้...คณะกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุขได้ลงมติในวันที่ 14 สิงหาคม ให้มีการ “แบน”...สารเคมีพิษทั้ง 3 ตัว เนื่องจากข้อมูลใหม่ที่ได้รับถึงปัจจุบันและในวันที่ 16 สิงหาคม 2561 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็ได้ยืนยันในการ “แบน” สารเคมีพิษทั้ง 3 ตัวนี้
สวนทางตรงกันข้าม...เมื่อมองผลงานสะท้อนใจของคณะกรรมการวัตถุอันตรายในปี 2552 ที่มีแนวคิดขึ้นทะเบียน สะเดา, ขิง, ข่า, พริก, ตะไคร้หอม, ขมิ้นชัน, ดาวเรือง, สาบเสือ, กากเมล็ดชา, ขึ้นฉ่าย, ชุมเห็ด-เทศ, ดองดึง, หนอนตายหยาก...เป็น “วัตถุอันตราย ชนิดที่ 1 บัญชี ข.”
หลังจากประกาศให้ผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนพืชซึ่งไม่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีใน 13 พืชสมุนไพร ตั้งข้อสังเกตกันว่า...การออกกฎหมายดังกล่าวยิ่งเป็นการส่งเสริม “สารเคมี” มาใช้ในงานเกษตรมากขึ้น เจตนาเพื่อต้องการกีดกันการใช้สมุนไพรมาสกัดเป็นสารกำจัดวัชพืช ปล่อยให้มีการใช้สารเคมีทั่วไป
ไม่แน่ใจว่า...สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการผลักดันของ “ผู้เสียประโยชน์” บางส่วนมีอะไรแอบแฝงหรือไม่ แล้วก็ให้อดคิดไม่ได้ว่ากลุ่มบริษัทยาฆ่าแมลงต่างๆจะมีส่วนร่วมด้วยช่วยดันหรือเปล่า
“ปฏิรูปประเทศ”...คืนความสุข เดินหน้าประเทศไทย ต้องไม่คืนแค่ความสุขเพียงลมปาก หากต้องปฏิบัติให้เห็นผลเป็นรูปธรรมกับ “ประชาชน” จริงๆ อย่าเลือกพวกมึง...พวกกู แล้วให้อีกฝ่ายยิ้มมีความสุขคงไม่ได้
เปิดเผยความจริงให้สังคมได้รับรู้...เบื้องหลังมติอัปยศ รายงานอัปลักษณ์ “ไม่แบน 3 สารพิษร้ายแรง” เป็นเพราะอะไรกันแน่?...อะไรที่บอกว่าทั้ง 3 สารไม่มีความเสี่ยงจากการบริโภค? และเหตุไฉนที่ว่าไม่มีสารอื่นทดแทนที่ดีกว่า ความจริงเป็นสิ่งไม่ตายท่านผู้นำ...ท่านนายกฯพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่าให้ใครมาโกหกตาใส
อ้างสาเหตุการตายมาจากการฆ่าตัวตาย อัตราการตาย 52% เมื่อเข้าปาก...จงใจไม่นำรายงานล่าสุด EPA (2017) ที่ระบุว่า มีพิษเฉียบพลันสูง แค่จิบเดียวก็ตายได้ และไม่มียาถอนพิษ ใส่ไว้ในบทสรุป แถมโยนบาปให้ “เกษตรกร” ว่าใช้ไม่ถูกต้อง ทั้งๆที่ผลศึกษาแม้มีเครื่องป้องกันแต่มีโอกาสได้รับสารสูงกว่ามาตรฐานถึง 60 เท่า
วัดชะตากรรม “อนาคตเด็กไทย” กับ “กำไรบริษัทสารพิษ”...ในยุคปากหวานอาบพิษ.

ไม่มีความคิดเห็น: