PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2562

ถึงเวลา “คืนความสุข” เลือกตั้งกติกาใหม่ : รู้เท่าทัน โหวตเปลี่ยนผ่าน


ถึงเวลา “คืนความสุข” เลือกตั้งกติกาใหม่ : รู้เท่าทัน โหวตเปลี่ยนผ่าน
ลมหนาวพัดโชย ช่วยภาวะฝุ่น PM 2.5 เบาบางลง
แต่ยังไม่พ้นจุดวิกฤติ
ตามสถานการณ์หมอโรงพยาบาลรัฐบางแห่งต้องโพสต์โซเชียลฯ รับคนป่วยจากภาวะฝุ่นจนล้น มีเสียงเรียกร้องให้โรงเรียนในกรุงเทพฯปิดการเรียนการสอนชั่วคราว เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของเด็กในพื้นที่ค่าฝุ่นอยู่ในระดับอันตรายต่อปอดและระบบทางเดินหายใจ
ทำได้แค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่สำคัญกว่าก็คือวิกฤติเรื้อรังระยะยาว
เพราะถึงแม้สถานการณ์จะเกิดตามสภาพอากาศในฤดูหนาว แต่ต้นเหตุแท้จริงหลักๆเลยมันเป็นกรณีฝุ่นที่มาจากรถยนต์จำนวนมากในเมืองใหญ่ปล่อยควันไอเสีย สภาพการจราจรใน กทม.ที่คับคั่ง
ถ้ายังไม่เคลียร์ปัญหาตรงนี้ วิกฤติฝุ่นก็ยังจะวนเวียนทุกปี
มันจึงอยู่ที่ทุกฝ่ายจะยอมเสียสละกันแค่ไหนในการให้ความร่วมมือกับมาตรการลดเลิกใช้รถยนต์ส่วนตัว รวมถึงในส่วนของรัฐบาลก็ต้องเร่งโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ
เน้นขนส่งมวลชนระบบรางรองรับคนเดินทางในเมือง
เรื่องของเรื่องในห้วงวิกฤติฝุ่นปกคลุมเมืองยังอึมครึม แต่สถานการณ์ฝุ่นควันการเมืองเริ่มเคลียร์ชัด
ภายหลังการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2562 ให้ไว้ ณ วันที่ 23 มกราคม พ.ศ.2562
และต่อเนื่องในวันเดียวกันเลย นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เรียกประชุมด่วน “7 อรหันต์ กกต.” ก่อนแถลงอย่างเป็นทางการ
เคาะโต๊ะวันหย่อนบัตรเลือกตั้ง อาทิตย์ที่ 24 มีนาคม
อารมณ์แบบที่ตลาดหุ้นไทย ณ วันที่ 23 มกราคม ดีดขึ้นทันที 15 จุด สวนกระแสตลาดหุ้นทั่วโลก นักลงทุนตอบรับข่าวดี ความชัดเจนวันเลือกตั้ง
ไม่ต้องพูดถึงเสียงร้องไชโยดังลั่นของนักการเมืองอาชีพที่รอมานานกว่า 5 ปี
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ขอให้ทุกฝ่ายเคารพและเดินหน้าสู่การเลือกตั้งโดยความเรียบร้อยเพื่อความสงบสุขของประเทศ
ที่น่าสังเกตก็คือแถลงการณ์สำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการเลือกตั้งทั่วไป
สรุปใจความสำคัญตอนท้าย ขอให้ประชาชนช่วยรักษาบรรยากาศความสงบเรียบร้อย สามัคคีปรองดอง ดังที่ปรากฏตลอดเวลา 4 ปีเศษที่ผ่านมา ให้ยั่งยืนต่อไปจนผ่านพ้นการเลือกตั้งและการจัดพระราชพิธี ความขัดแย้ง ข้อพิพาทความบาดหมางไม่ควรกลับมาหลอกหลอนเราอีก
และขอให้พี่น้องประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งช่วยกันออกไปใช้สิทธิให้มากที่สุดสมกับที่รอคอย ขอให้รู้เท่าทันผู้สมัคร และมีความเข้าใจถึงวิธีการเลือกตั้งแบบใหม่
เป็นอะไรที่สะท้อนความพิเศษของการเลือกตั้งหลังอั้นมานาน
แต่นั่นก็แฝงไปด้วยเงื่อนไขสถานการณ์ “อ่อนไหว”
ก่อนอื่นใดเลยก็คือ สถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้นำรัฐบาลที่มาด้วยวิธีพิเศษ จะดำรงสถานะทางอำนาจอย่างไร ในห้วงเวลาภายใต้พระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งมีผลบังคับใช้
ตามจังหวะแบบที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯฝ่ายกฎหมายรัฐบาล ต้องชิงออกมาการันตี ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ รัฐบาลนี้จะไม่อยู่ในสถานะรัฐบาลรักษาการ แต่ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไป
จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่
ไม่เหมือนรัฐธรรมนูญในอดีตที่กำหนดให้มีรัฐบาลรักษา การก่อนมีรัฐบาลชุดใหม่ ดังนั้น รัฐบาลนี้จึงมีอำนาจเต็มต่อไป ส่วนจะทำเรื่องใดมากหรือน้อยนั้น ก็อยู่ที่ความเหมาะสม
นั่นหมายถึงการอนุมัติงบประมาณ โยกย้ายข้าราชการรัฐบาล “ลุงตู่” ยังทำได้เต็มที่
แถม “กระบองยักษ์” มาตรา 44 ก็ยังอยู่ในกำมือ
แต่นั่นก็ห้ามไม่ได้กับฟอร์มของนักเลือกตั้งอาชีพจะฉวย จังหวะได้คืบเอาศอก รุกไล่ต่อ
รีบดักคอตีกันแฝงเหลี่ยมตีกิน ตามเกมแห่กระแส ทั้งพรรคเพื่อไทย ไทยรักษาชาติ เพื่อชาติ ทีมงานยี่ห้อ “ทักษิณ” รวมถึงแนวร่วมต้าน คสช.อย่างพรรคอนาคตใหม่ ไม่เว้นพลพรรคประชาธิปัตย์ แท็กทีมโห่ไล่ ดาหน้ากดดัน อ้างโยงเป้าหมายการตีตั๋วต่ออำนาจของ “นายกฯลุงตู่”
ถือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการใช้อำนาจ
ต้องไขก๊อกจากเก้าอี้นายกฯและหัวหน้า คสช.
โดยเฉพาะทีมรัฐมนตรี “4 กุมารพรรคพลังประชารัฐ” ประกอบด้วยนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกฯ ต้องทิ้งเก้าอี้รัฐมนตรี ไม่ให้เอาเปรียบคู่แข่ง
รุมด่ากันแรงๆราวกับแห่ไล่คนโกงเมือง เขย่ากันหัวสั่นหัวคลอน
แน่นอน ตามรูปการณ์ที่ฝ่ายหนุน “นายกฯลุงตู่” ก็รู้เกมดี จับอาการ 4 รัฐมนตรีพลังประชารัฐก็ส่งสัญญาณจ่อลาออกจากตำแหน่งในไม่กี่อึดใจข้างหน้า
ตื๊ออยู่ไปรังแต่จะเสียคะแนนมากกว่าได้
และยังรวมไปถึงการปรับแผนเดินสายตรวจราชการ ประชุม ครม.สัญจรในต่างจังหวัดทั่วประเทศ แม้แต่การจัดรายการทางโทรทัศน์ทุกวันศุกร์ของ พล.อ.ประยุทธ์ก็ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อความเหมาะสม
เลี่ยงปมหมิ่นเหม่ข้อกฎหมายเลือกตั้ง ไม่เปิดคางให้นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามถล่มโจมตี
เหนืออื่นใด ภายใต้กฎกติการัฐธรรมนูญใหม่ที่ค่อนข้าง “เข้ม” กว่าทุกยุคที่ผ่านมา
ไม่ว่าเส้นใหญ่ เส้นเล็ก มีโอกาสพลาดตายน้ำตื้นทั้งนั้น
ปรากฏการณ์แบบที่ไม่ทันไรก็เป็นปมให้วิจารณ์กันวุ่นวาย กับการติดป้ายหาเสียงของว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่กรุงเทพฯ ทันทีที่ประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง
ตามเหลี่ยมเคยชินแบบเดิมๆ “จองทำเลทอง” ก่อนใคร
แต่บังเอิญกติกาใหม่ กกต.ได้ออกหลักเกณฑ์การติดแผ่นป้ายหาเสียง จะต้องรอให้ผู้บริหารท้องถิ่นกำหนดสถานที่หรือจัดสถานที่ให้ก่อนจึงจะติดตั้งป้ายหาเสียงได้
เลยต้องรีบเก็บป้ายกันจ้าละหวั่น เสียววาบไปตามๆกัน
นั่นก็ไม่ต้องพูดถึงประเด็นการหาเสียงผ่านสื่อโซเชียลมีเดียที่เป็น “ธงหลัก” ของ กกต.งัดกฎคุมเข้มที่สุด ตามความอ่อนไหวของโลกออนไลน์ ใช้เป็นเครื่องมือโจมตีให้ร้าย
ง่ายต่อการสร้างความเข้าใจผิดในเกมหาเสียงเลือกตั้ง
ในทางตรงกันข้าม ก็ไม่ยากที่จะถูกคู่ต่อสู้ “แฮ็ก” ข้อมูล สร้างเรื่องให้เข้าเงี่ยงกฎหมาย
จึงไม่แปลกที่แกนนำคนดังๆของพรรคต่างๆ รวมทั้งว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ต่างรีบประกาศพักการสื่อสารผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ยุติการโพสต์ข้อมูลผ่านโซเชียลฯทุกแพลตฟอร์ม
แสดงความบริสุทธิ์ใจ ปลอดภัยไว้ก่อน
พรรคการเมือง นักเลือกตั้งอาชีพ ต้องทำการบ้านกันละเอียดยิบ
ขณะเดียวกัน ก็เป็นบรรยากาศของการโหมโรง ไฮไลต์สำคัญสุดนั่นคือ “นายกฯบัญชีพรรค”
เปิดไพ่กันออกมาแล้ว แนวโน้มอย่างที่เป็นข่าวลากยาวข้ามปี
โฟกัสจับจ้องไปที่ยี่ห้อพลังประชารัฐ แน่นอนเบอร์หนึ่งพันเปอร์เซ็นต์จะเป็นใครไม่ได้ นอกจากตัวเอกตามท้องเรื่องอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ แต่จุดที่น่าสนใจคือการใส่ชื่อของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯกัปตันทีมเศรษฐกิจ โผล่ติดเป็น 1 ใน 3 ตามโควตา
โชว์จุดขายความมั่นคง บ้านเมืองสงบ เน้นความต่อเนื่องในการพัฒนาเศรษฐกิจที่วางฐานมา 3–4 ปี
ขณะที่แชมป์เก่าพรรคเพื่อไทย ล็อก พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ หัวหน้าพรรค เป็นเบอร์หนึ่งในบัญชี แต่โฟกัส “ตัวจริง” ต้องไปวัดกันระหว่าง “เจ๊หน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เจ้าแม่เมืองกรุง กับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เจ้าของฉายา “รัฐมนตรีแกร่งสุดในปฐพี”
ใครจะได้สิทธิถือธงนำทีมขายสินค้ายี่ห้อ “ทักษิณ” ที่ยังติดอกติดใจชาวบ้าน
แต่ที่ง่ายเลยก็คือพรรคประชาธิปัตย์ที่วางตัวนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ชูโรงสู้เดี่ยว เช่นเดียวกับอีกหลายพรรคที่ไม่ได้ลุ้นเดิมพันชิงเป็นหัวขั้วจัดตั้งรัฐบาล ไม่เน้นขาย “นายกฯบัญชีพรรค”
โฟกัสผู้แข่งขันหน้าเดิมๆ เพิ่มเติมคือกติกาใหม่ที่ซับซ้อน
แน่นอน ในจังหวะที่อำนาจกลับมาอยู่ในกำมือปวงชนชาวไทย
กับไฟต์เดิมพันสำคัญ “เลือกตั้งเปลี่ยนผ่านประเทศ”
จะเดินหน้าต่อไปสู่แสงสว่างปลายอุโมงค์ หรือถอยหลังลงเหว
มันเป็นหน้าที่ของประชาชนเจ้าของ 1 สิทธิ 1 เสียง จำเป็นต้องศึกษาข้อมูลของการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม การตัดสินใจเลือกคนและเลือกพรรคการเมือง
กาได้ครั้งเดียว บัตรเดียวเท่านั้น
ต้อง “รู้เท่าทัน” ก่อนโหวตเลือกชะตาตัวเอง.
“ทีมการเมือง”

ไม่มีความคิดเห็น: