PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ข้อเสนอ เพื่อหาทางออกประเทศไทย: ระยะสั้นเจรจายุติความวุ่นวาย-ระยะยาวสร้างกติกาใหม่

การบริหารงานของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในช่วงย่างเข้าขวบปีที่สาม ประสบปัญหาความขัดแย้งในประเด็นใหญ่ๆ 2 ประการ

นโยบายที่ผิดพลาด โดยเฉพาะความพยายามของพรรคเพื่อไทยในการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ที่แตกต่างออกไปจากร่างฉบับแรกที่เสนอเข้ามายังสภาผู้แทนราษฎร จนมีประชาชนชุมนุม
คัดค้านเป็นจำนวนมาก ถึงแม้ว่าในบั้นปลาย พรรคเพื่อไทยจะยอมถอยและวุฒิสภาจะโหวตให้ร่างฉบับนี้ตกไป แต่วิกฤตศรัทธาต่อการบริหารงานของพรรคเพื่อไทยก็ยังคงอยู่

วิกฤตรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญ 2550 นั้นมีปัญหามากมายทั้งในประเด็นเนื้อหาและที่มา ซึ่งรัฐสภาที่นำโดยพรรคเพื่อไทยพยายามแก้รัฐธรรมนูญในส่วนของเนื้อหา แต่ก็ประสบปัญหาโดนคัดค้าน และถูกยื่นตีความโดยศาลรัฐธรรมนูญ ส่งผลกระทบให้เกิด “วิกฤตอำนาจตามรัฐธรรมนูญ” ตามมาว่าตกลงแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจยับยั้งการแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ และจนกระทั่งบัดนี้สังคมไทยก็ยังไม่ได้ข้อยุติที่ชัดเจน

ปัญหาทั้งสองประการส่งผลให้มวลชนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเพื่อไทยออกมาเคลื่อนไหวทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ล้อมสถานที่ราชการหลายแห่งจนเกิดผลกระทบต่อการทำงานของข้าราชการในการบริหารประเทศ ในขณะที่มวลชนฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลก็ประกาศตัวชัดเจนว่าจะปกป้องรัฐบาลอย่างเต็มที่ ซึ่งทำให้สถานการณ์สุ่มเสี่ยงว่ามวลชนทั้งสองฝ่ายอาจปะทะจนถึงขั้นบาดเจ็บและเสียชีวิต

SIU ขอร่วมเสนอทางออกประเทศไทยโดยแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นแรก พาประเทศไทยกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายควรหันหน้ามาเจรจาเพื่อยุติความวุ่นวายเฉพาะหน้า โดยมีบุคคลหรือหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับจากสังคมทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการประสานงานและเจรจา ฝ่ายรัฐบาลอาจพิจารณาเงื่อนไขของการยุบสภาเข้าร่วมในการเจรจา และถ้าเกิดข้อตกลงว่าจะยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้งใหม่ พรรคการเมืองทุกแห่งควรทำสัตยาบันว่าจะส่งตัวแทนลงเลือกตั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะสุญญากาศในการบริหารประเทศแบบที่เคยเกิดขึ้นในปี 2549

ขั้นที่สอง สร้างกติกาใหม่ที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เมื่อประเทศเข้าสู่ความสงบเรียบร้อยแล้ว รัฐบาลในขณะนั้นจะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างกติกาใหม่ที่คนไทยทั้งประเทศเห็นชอบร่วมกัน
โดยมีความเป็นประชาธิปไตยทั้งในแง่กระบวนการ (เช่น กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขั้นตอนในการลงประชามติ) และเนื้อหา (เช่น ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา การมีส่วนร่วมทางการเมือง
ของประชาชนในทางตรง)

กระบวนการคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศไทยเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ต้องเข้าถึงประชาชนทุกระดับ และสุดท้ายแล้วอาจต้องใช้เวลาอีกหลายปีจึงจะสำเร็จ อย่างไรก็ตาม เราขอ
เรียกร้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรวมถึงมวลชนทุกฝ่ายอดทนต่อกระบวนการเหล่านี้ หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงโดยคำนึงถึงชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกคน  และร่วมกันมองไปถึงผลลัพธ์สุดท้ายในระยะยาวนั่นคือประเทศไทยที่สงบ สันติ และเดินหน้าต่อได้ตามวิถีทางของประชาธิปไตย

Siam Intelligence Unit

28 พฤศจิกายน 2556

ไม่มีความคิดเห็น: