PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

2 ข้อเสนอที่ "ยิ่งลักษณ์" ปฏิเสธ กับ 2 คำถามที่ "สุเทพ" ตอบไม่ได้

03 ก.พ. 2557 เวลา 18:02:05 น. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ปรากฏการณ์ หลังการเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 26 ม.ค.อาจทำให้เห็นสมมติฐานความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นในวันเลือกตั้งทั่วไป อย่างเป็นทางการ 2 ก.พ.นี้

เป็นความวุ่นวายหลังจากที่มีการเผชิญหน้าระหว่างประชาชน "ผู้เดินหน้า-ผู้คัดค้าน" การเลือกตั้ง ที่ยังไม่มีใครกล้าคาดเดาสถานการณ์ว่าจะรุนแรง-ดุเดือดเพียงใด อาจไม่ได้มีเพียง 83 เขตทั่วประเทศที่ไม่สามารถดำเนินการจัดการเลือกตั้งได้สำเร็จ อาจไม่ได้มีเพียงประชาชน 2 ล้านคนที่จำต้องตกอยู่ในสภาวะ "สุญญากาศ" หลังลงชื่อใช้สิทธิล่วงหน้า แต่ไม่สามารถฝ่ามวลมหาประชาชนเข้าสู่คูหาเลือกตั้งได้สำเร็จ

และยังไม่นับรวมถึงจำนวนประชาชนที่จะได้รับบาดเจ็บ-เสียชีวิต สืบเนื่องจากผลกระทบความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น

เพราะ เวลานี้แนวทางการต่อสู้ทั้งคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และรัฐบาลที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ไม่มีทางจะยุติลงอย่างสงบ

ไม่เพียงแต่ที่ต่างฝ่ายจะเลือกเดินบนเส้น ทางที่ไม่มีวันบรรจบรวมกัน แต่เส้นทางเดินของ "คู่ขัดแย้ง" เดินถอยห่างจากความสันติ ปราศจากความรุนแรง

แม้ตลอดระยะเวลากว่า 90 วันจะมีผู้ยื่นข้อเสนอ ทางออก แผนถอย ที่นำไปสู่ข้อตกลงแบบ "วิน-วิน" บนโต๊ะเจรจาถึง 2 ครั้ง แต่การเจรจากลับไม่สำเร็จ และนำมาสู่สถานการณ์ความตึงเครียด

หนึ่ง คือ วงเจรจาระหว่างคู่ขัดแย้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาฯ กปปส. ซึ่งเป็นการเจรจาต่อหน้าผู้บัญชาการเหล่าทัพในฐานะคนกลาง

ข้อเสนอให้ กปปส.ยุติการชุมนุม แลกกับการยุบสภา-ลาออกจากตำแหน่งรักษาการของ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" เพื่อสร้างสุญญากาศทางการเมือง และนำไปสู่การจัดตั้ง "รัฐบาลคนกลาง" ส่งผลให้การเจรจาจึงไม่ประสบผลสำเร็จ

สอง ภายหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีเลื่อน-ไม่เลื่อนเลือกตั้ง วันที่ 2 ก.พ. และนำมาสู่การเปิดทางให้ "นายกรัฐมนตรี-คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)" หารือเพื่อข้อยุติถึงกรณีดังกล่าว

แม้ กกต.จะพยายามยกเหตุ-ผล ความจำเป็นเรื่องตรา พ.ร.ฎ.เลือกตั้งฉบับใหม่ แต่ทว่าท้ายที่สุดก็ไม่ได้รับการตอบรับ และนำมาสู่ผลของการเจรจาที่มีลักษณะ "คงเดิม" คือเดินหน้าการเลือกตั้ง 2 ก.พ.

การปฏิเสธข้อเสนอทั้ง 2 ครั้ง โดย "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" ที่เห็นว่าฝ่ายตรงข้ามยื่นทางออกแบบ "ถอยสุดทาง" จึงส่งผลให้มิอาจตอบรับข้อเสนอดังกล่าวได้

ทั้งหมดจึงนำมาสู่สถานการณ์ความตึงเครียดและเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงได้ทุกนาที

ขณะที่ฟาก กปปส.ที่แม้จะต่อสู้มากกว่า 90 วัน และยกระดับการต่อสู้เรื่อยมา จนสร้างแรงกดดันให้ฝ่ายรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง และถึงแม้จะประกาศชัยชนะได้อยู่หลายหน แต่ทุกครั้งไม่มีใครหาญกล้าพอที่จะสรุปเป็นชัยชนะของประชาชนอย่างสมบูรณ์

และในห้วงเวลาที่ผ่านมาก็ใช่ว่าชัยชนะของ กปปส. จะไร้ข้อผิดพลาดเสียทีเดียว

หลายครั้งที่ประเด็นที่ถูกปล่อยข้อมูลจาก "สุเทพ" ในฐานะผู้นำ กลับสร้างทางตันให้กับ กปปส.ที่มิอาจอธิบายความชอบธรรมให้กับสังคม

ทั้งการประกาศจัดตั้ง "สภาประชาชน" และการเดินหน้าเรียกร้องให้รัฐบาล "เลื่อนเลือกตั้ง" เพื่อเปิดทางสู่การปฏิรูปประเทศ

เป็น 2 ข้อเสนอที่ถูกใช้เป็นเพียงวาทกรรมการต่อสู้ โดยไม่สามารถอธิบายที่มา-ที่ไปได้

ข้อ เสนอจัดตั้ง "สภาประชาชน" แม้ผลลัพธ์ทางหนึ่งจะทำให้มวลมหาประชาชนจะเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ของการต่อสู้ ว่าประเทศจะเดินหน้าไปต่ออย่างไร หลังล้มล้าง "ระบอบทักษิณ" ได้สำเร็จ

แต่อีกทางหนึ่งกลับกลายเป็นลิ่มทิ่มอกแกนนำ กปปส. ทุกครั้งที่ถูกถามถึงว่า จะดำเนินการด้วยวิธีการใดให้ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น เดียวกันกับเหตุ-ผลของการ "เลื่อนเลือกตั้ง" ที่ กปปส. ก็ไม่สามารถอธิบายได้ว่า วิธีการทางกฎหมายแบบใดที่จะนำไปสู่การปฏิรูปอย่างจริงจัง

หนึ่งในนัก คิด-ทีมวิชาการ กปปส.เปิดเผยว่า ความสำเร็จในการจัดตั้งสภาประชาชนจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อ ต้องทำให้การเมืองเกิดสุญญากาศ โดยต้องเริ่มจากการที่คณะรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งรักษาการ นำมาสู่การมีรัฐบาลคนกลาง และออกกฎหมายเพื่อตั้งสภาประชาชนในที่สุด

"ถ้ากลัวว่าสภาประชาชนจะถูกใช้เป็นเครื่องมือของคุณสุเทพ ก็กำหนดในกฎหมายให้เขามีสถานะเป็นเพียงสภาที่ปรึกษาและมีหน้าที่จัดทำแผน ปฏิรูป เพื่อนำไปสู่การตัดสินโดยประชาธิปไตยทางตรงอย่างกระบวนการทำประชามติ"

"และ ในช่วงที่ กปปส.เปิดเรื่องสภาประชาชนใหม่ ๆ ก็ทำให้เราเองต้องเพลี่ยงพล้ำ เพราะเราเปิดเรื่องนี้เร็วเกินไป ทำให้เสียเวลาไปกับการอธิบายแนวทางที่จะเกิดขึ้น ซึ่งตอนนี้เรายังล้มระบอบทักษิณไม่สำเร็จเลยด้วยซ้ำ"

และทุกข้อเสนอของ กปปส.ต่างก็จำเป็นที่ต้องเจรจาให้ "ยิ่งลักษณ์" ที่กุมอำนาจฝ่ายบริหารร่วมมือ โดยการลาออกจากตำแหน่งรักษาการเมื่อห้วงเวลากว่า 90 วัน ทั้ง "ยิ่งลักษณ์-สุเทพ" ต่างเจอเส้นทางที่นำไปสู่ทางตันทางการเมือง สถานการณ์ความขัดแย้งจึงเดินหน้าเข้าสู่สถานะ Deadlock อย่างเต็มตัว และประวัติศาสตร์การเมืองจำต้องสลักชื่อผู้แพ้ ผู้ชนะไว้อย่างชัดเจน

แต่ไม่ว่าใครจะเป็นฝ่ายชนะ แต่ผู้ที่แพ้ที่ปรากฏชัดเจนในเวลานี้คือคนไทยทั้งประเทศที่มิอาจหลบหนีความรุนแรงได้อีกต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: