PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2557

คำถามจาก"รสนา"ภึง"พล.อ.อ.ประจิน"

รสนา โตสิตระกูล :

"พล.อ.อ.ประจิน จั่นตองฝ่ายเศรษฐกิจของคสช. หลังประชุมร่วมกับผู้บริหารของกระทรวงพลังงานและรัฐวิสาหกิจ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2557 แล้วยอมทำตามทิศทางที่ผู้บริหารในกระทรวงพลังงานและรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานต้องการคือ การขึ้นราคาพลังงานทั้งราคาก๊าซ ราคาน้ำมันในวันที่1 มิถุนายน โดยอ้างว่าเป็นไปตาม"กลไกตลาดเสรี"

ราคาพลังงานทุกชนิดในประเทศไทยเวลานี้ไม่ได้ปรับขึ้นตามกลไกตลาดเสรี แต่เกิดจากกลไกการผูกขาด ที่ไม่ให้ความยุติธรรมต่อประชาชน ราคาตามกลไกตลาดเสรี ต้องเกิดจากการแข่งขันของผู้ผลิตและผู้ค้าหลายราย ซึ่งไม่มีอยู่จริงในประเทศไทย ราคาพลังงานทุกชนิดในไทยไม่มีการแข่งขันใดๆ แต่เป็นราคาที่เกิดจากการกำหนดหลักเกณฑ์ในการอิงราคาทั้งสิ้น และแต่ละหลักเกณฑ์ที่อิงราคาล้วนเป็นไปเพื่อสร้างกำไรสูงสุดให้กลุ่มธุรกิจพลังงาน โดยหลักเกณฑ์ที่อ้างอิงถูกกำหนดจากผู้มีอำนาจในกระทรวงพลังงานที่ไปนั่งเป็นกรรมการในบอร์ดรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานทั้งสิ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ขาดความโปร่งใส ขาดธรรมาภิบาล เพราะมีเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนมาเกี่ยวข้อง

คสช.ควรระมัดระวังในเรื่องการอนุมัติใดๆที่มีผลกระทบทำให้ค่าครองชีพ ต้นทุนการผลิต และค่าขนส่งสูงขึ้น การอ้าง"กลไกตลาด" เพื่อสร้างความชอบธรรมในการขึ้นราคาพลังงานนั้น ประชาชนทั่วไปยังมีข้อกังขาว่าเป็นกลไกตลาดที่เกิดจากการแข่งขันเสรี หรือเป็นกลไกผูกขาดตลาดในธุรกิจพลังงานกันแน่

คสช.ควรปฏิบัติหน้าที่ควบคุมอำนาจเพื่อให้เกิดความสงบสุขในสังคมและระงับความเดือดร้อนในเรื่องปากท้องของประชาชน ดังเช่นที่ได้อนุมัติจ่ายเงินจำนำข้าวนั้นนับว่าถูกต้องแล้ว แต่การที่คสช.จะอาศัยอำนาจเบ็ดเสร็จของตัวเองอนุมัติให้ขึ้นราคาพลังงานทั้งระบบโดยไม่ไตร่ตรองให้รอบคอบจะยิ่งซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชนที่หนักอึ้งอยู่แล้วให้หนักยิ่งขึ้นไปอีก ในขณะที่คสช.เองกลับยินยอมปล่อยให้คงการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทขนาดใหญ่ที่ถูกลดลงมาเหลือเพียง 20%ต่อไปนั้นซึ่งเป็นมาตราการที่โอบอุ้มคนร่ำรวยในสังคมยังสามารถทำได้

จึงมีคำถามว่า ในเมื่อคสช.ยังสามารถคงการงดเว้นกลไกการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นกับภาคธุรกิจขนาดใหญ่ได้ แต่เหตุใดกลับเดินหน้าใช้กลไกตลาดแบบผูกขาดขึ้นราคาพลังงานที่ส่งผลกระทบต่อการครองชีพของประชาชนคนหาเช้ากินค่ำทั่วไป
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ควรเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคม ภาคนักวิชาการและอดีตกรรมาธิการวุฒิสภาที่ติดตามตรวจสอบนโยบายการกำหนดราคาพลังงานเข้าให้ข้อมูลว่ามีการใช้กลไกการผูกขาดอย่างไรในการกำหนดราคาพลังงาน ที่ไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็น"กลไกตลาดเสรี มีการกำหนดนโยบายที่ขาดความโปร่งใส และทำลายประโยชน์ของประชาชนอย่างไร ก่อนที่จะมีการอนุมัติการปรับขึ้นราคาพลังงาน จึงจะทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่า คสช. มิได้ใช้โอกาสการควบคุมอำนาจเบ็ดเสร็จเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มที่ได้เปรียบอยู่แล้วในสังคมให้ได้เปรียบมากยิ่งขึ้นในสภาวการณ์ของบ้านเมืองที่อยู่ภายใต้กฎอัยการศึกและการรัฐประหาร!


ไม่มีความคิดเห็น: