PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2557

เพลงเพื่อชีวิตสิ้นมนต์ขลัง

เพลงเพื่อชีวิตสิ้นมนต์ขลัง

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีประกาศจากเพจสมุทรปราการทูเดย์ว่า ตามกำหนดเดิมจะมีงานแสดงคอนเสิร์ตสองขุนพลเพลงคือคาราบาวพบพงษ์เทพ กระโดนชำนาญ ในวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ณ สนามฟุตบอลสมุทรปราการยูไนเต็ด นั้น ปรากฏว่าทางผู้จัดประกาศยกเลิกการจัดงานแล้ว เนื่องจากติดขัดด้วยเหตุผลบางประการ รายละเอียดในใบโฆษณาอธิบายว่า บัตรคอนเสิร์ตนี้มีจำนวนเพียง ๒,๐๐๐ ใบ ผู้จัดขอให้จองล่วงหน้าเพราะจะไม่มีบัตรขายหน้างาน แต่คำประกาศขอยกเลิกการจัดงานมีรายละเอียดแต่เพียงว่า “เนื่องจากติดประกาศกฎอัยการศึก ทำให้ไม่สามารถจัดงานตามกำหนดได้”
เหตุผลเบื้องหลังการล้มเลิกการจัดงานนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการขายบัตรได้น้อยกว่าที่คาดหมาย ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนกระแสที่มีการกล่าวกันมาหลายปีแล้วว่า เพลงเพื่อชีวิตนั้นตายแล้ว ความตายของเพลงเพื่อชีวิตนั้น ไม่เพียงมาจากความนิยมของประชาชนที่ลดลงอย่างมาก แต่ยังมาจากการที่เพลงเพื่อชีวิตที่ร้องกันอยู่ในขณะนี้ได้หมดบทบาททางการเมืองและสังคมไปแล้ว เพราะขณะนี้นักร้องเพลงเพื่อชีวิตคนสำคัญหลายคนกลายเป็นพวกไร้อุดมการณ์ รับใช้กระแสหลัก ต่อต้านประชาธิปไตย และต่อต้านขบวนการประชาชน
โดยประวัติศาสตร์ความเป็นมา เพลงเพื่อชีวิตได้เริ่มพัฒนามาจากกระแสของขบวนการนักศึกษาเมื่อสมัย ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖ อันนำมาซึ่งการเกิดเพลงที่รับใช้การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของขบวนการนักศึกษา เพลงแรกที่ถูกแต่งขึ้นมาตั้งแต่ก่อน ๑๔ ตุลา คือ เพลงสานแสนทอง โดย สุรชัย จันทิมาทร ภายใต้ได้แรงบันดาลใจจากเพลงโฟล์กตะวันตกที่ต่อต้านสงครามเรียกร้องสันติภาพ ต่อมา หลังกรณี ๑๔ ตุลา เมื่อได้รับอิทธิพลแนวคิดแบบสังคมนิยม เพลงเพื่อชีวิตได้มีความหมายชัดเจนขึ้นในลักษณะที่ว่า จะต้องเป็นเพลงที่มีเนื้อหาสะท้อนชีวิตและความทุกข์ยากของประชาชนระดับล่าง และต้องมีลักษณะต่อสู้เพื่อสังคมที่ดีงามกว่า เพลงเพื่อชีวิตที่โด่งดังมากในยุคแรก เช่น เพลงคนกับควายที่แต่งโดย สมคิด สิงสง และ เพลงเปิบข้าว ที่นำมาจากบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์
ภายใต้กระแสสูงของการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษา ได้มีวงดนตรีเพื่อชีวิตเกิดขึ้นมาหลายวง ที่มีชื่อเสียงคือ วงคาราวาน นำโดย สุรชัย จันทิมาธร เพลงที่โด่งดังในสมัยนั้น เช่น ข้าวคอยฝน นกสีเหลือง อเมริกันอันตราย ตาคำ เป็นต้น วงกรรมาชน ของนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีชื่อเสียงจากเพลง เพื่อมวลชน และการนำเอาเพลงของจิตร ภูมิศักดิ์ มาร้องเป็นส่วนใหญ่ นักร้องคนสำคัญคือ กุลศักดิ์(จิ้น) เรืองคงเกียรติ วงอื่นก็เช่น กงล้อ ของ นักศึกษาธรรมศาสตร์ คุรุชน ของกลุ่มนักศึกษาวิทยาลัยครู โคมฉาย ของ กลุ่มนักศึกษารามคำแหง วงรุ่งอรุณ ของกลุ่มนิสิตวิศวกรรม จุฬาลงกรณ์ และ ที่น่าสนใจมากคือ วงต้นกล้า ซึ่งนำเอาดนตรีไทยมาเล่นเป็นดนตรีเพื่อชีวิต เพลงที่สำคัญ คือ เพลง เจ้าการะเกด คนทำทาง เป็นต้น ด้วยความวิตกของชนชั้นปกครองขณะนั้น จึงได้ห้ามเพลงเพื่อชีวิตทั้งหมดออกเผยแพร่ทางวิทยุและโทรทัศน์ เพลงเพื่อชีวิตจึงจำกัดวงอยู่ในขบวนการนักศึกษา
เมื่อเกิดการปราบปรามประชาชนและรัฐประหารในกรณี ๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๙ นักดนตรีเพื่อชีวิตแทบทั้งหมด ได้เดินทางเข้าสู่เขตป่าเขา เพลงเพื่อชีวิตที่ขับขานเปลี่ยนเป็นเพลงปฏิวัติ ด้วยความมุ่งหวังปฏิวัติประเทศไทยไปสู่สังคมใหม่ เพลงปฏิวัติเหล่านี้ได้เผยแพร่ผ่านวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย มีเพลงที่น่าประทับใจที่เป็นที่ร้องกันต่อมา เช่น บินหลา คำสัญญา จากลานโพธิ์ถึงภูพาน ถั่งโถมโหมแรงไฟ อรุโณทัย เป็นต้น สำหรับในเขตเมือง เพลงเพื่อชีวิตยังเป็นสิ่งต้องห้ามตลอดสมัยปฏิรูปของธานินทร์ กรัยวิเชียร จนกระทั่งต่อมา เมื่อเกิดรัฐประหาร ๒๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๐ บรรยากาศทางการเมืองผ่อนคลายลง เพลงเพื่อชีวิตฟื้นคืนในขบวนการนักศึกษาก็เกิดวงเพื่อชีวิตขนาดเล็ก เช่น พลังเพลง ฟ้าสาง เพลงที่น่าสนใจ เช่น ศรัทธาเมื่อมาค่าย น้องใหม่ เป็นต้น ด้วยเนื้อหาที่ลดความรุนแรงลง จึงสามารถเผยแพร่ออกสื่อมวลชนได้ และวงแฮมเมอร์กลายเป็นวงเพื่อชีวิตแรกสุดที่มีชื่อเสียง โดยการนำเพลงบินหลาซึ่งเป็นเพลงในเขตป่าเขามาดัดแปลงเนื้อเพลงจนกลายเป็นที่นิยม และต่อมา ก็ได้ออกชุดเพลงปักษ์ใต้บ้านเราเป็นที่โด่งดังเป็นชุดที่สอง
ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๓ การต่อสู้ในเขตป่าเขาเริ่มสลายตัว นักดนตรีเพื่อชีวิตต้องกลับมาประกอบอาชีพในสังคม สุรชัย จันทิมาทร กลับมาฟื้นวงคาราวาน และโด่งดังจากเพลง คืนรัง ต่อมา ก็มีวงเพื่อชีวิตอื่นเกิดขึ้นมา เช่น คนด่านเกวียน โฮป คีตาญชลี เป็นต้น แต่วงดนตรีเพื่อชีวิตยุคใหม่ที่โด่งดังที่สุดกลายเป็นวงคาราบาว โดย ยืนยง โอภากุล(แอ๊ด คาราบาว) ที่เริ่มเป็นที่รู้จักจากเพลง แป๊ะขายขวด วณิพก ท.ทหารอดทน และมีชื่อเสียงขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของประเทศเมื่อออกเพลงชุด เมดอินไทยแลนด์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๗
การที่การปฏิวัติลดกระแสลงนับตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๔ เป็นต้นมา ทำให้เพลงเพื่อชีวิตปรับเปลี่ยนเนื้อหา กลายเป็นเพลงเล่าเรื่องชีวิตในสังคม โดยไม่ต้องเกี่ยวข้องกับการต่อสู้เปลี่ยนแปลงสังคม สถานะก็กลายเป็นเพลงที่ร้องกันในสถานบันเทิง และเพลงเพื่อชีวิตก็กลายเป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่นและประชาชนทั่วไป ทำให้ยอดขายตลับเทปสูงอย่างมาก นอกจากนี้ ยังเกิดธุรกิจผับเพื่อชีวิต ซึ่งก็คือร้านขายสุราและอาหารที่ร้องเพลงเพื่อชีวิต ทำให้เรื่องเพลงเพื่อชีวิตกลายเป็นธุรกิจสำคัญ และแม้จะมีนักร้องเพื่อชีวิตรุ่นใหม่เข้ามาสู่ตลาดมากขึ้น ก็ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับสังคม หรืออุดมการณ์ทางการเมืองอะไรอีก ในขณะที่นักร้องเพื่อชีวิตชั้นนำกลายเป็นคนร่ำรวยที่ห่างจากชีวิตประชาชนชนชั้นล่างมากยิ่งขึ้น
จุดเปลี่ยนทางการเมืองสำคัญก็คือเมื่อเกิดขบวนการต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักร้องเพื่อชีวิตแทบทั้งหมดต่างเข้าร่วมสนับสนุนฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่นำโดย สนธิ ลิ้มทองกุล ต่อมา นักร้องเพลงเพื่อชีวิตเหล่านี้ ทั้ง ซูซู มาลีฮวนนา คีตาญชลี ประทีป ขจัดพาล ยงยุทธ ด้ามขวาน เศก ศักดิ์สิทธิ์ โฟล์กเหน่อ ฯลฯ ก็พัฒนากลายเป็นนักร้องประจำการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อเหลือง เป็นฝ่ายสนับสนุนกระแสหลัก แต่งเพลงสนับสนุนชนชั้นนำ ต่อต้านประชาชนคนยากจน และคัดค้านประชาธิปไตย แม้กระทั่งหลังกรณีกวาดล้างปราบปรามประชาชนคนเสื้อแดง เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๓ นักร้องเพลงเพื่อชีวิตที่ถือว่าเป็นระดับครูอย่าง สุรชัย จันทิมาทร กลับแสดงออกถึงทัศนคติรังเกียจเหยียดหยามคนเสื้อแดงอย่างชัดเจนเสมอมา จากนั้น เมื่อเกิดการรัฐประหาร ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๗ แอ๊ด คาราบาว ก็สร้างปรากฎการณ์โดยแต่งเพลง “นาวารัฐบุรุษ”มอบให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร
จึงกลายเป็นว่า นักร้องเพลงเพื่อชีวิตเพียงส่วนน้อยที่อยู่ฝ่ายคนเสื้อแดง จน อาเลก โชคร่มพฤกษ์ แต่งหนังสือชื่อ เพลงเพื่อชีวิตตายแล้ว และกลุ่มนักร้องเพื่อชีวิตที่อยู่ฝ่ายคนเสื้อแดง ยินดีมากกว่าที่จะเรียกเพลงของพวกเขาว่า "เพลงไพร่” หรือ “เพลงคนเสื้อแดง” เพื่อจะได้ไม่ปะปนกับพวกเพลงเพื่อชีวิตของนักร้องฝ่ายเหลืองเหล่านั้น
ผลกระทบที่สำคัญอย่างหนึ่งต่อกลุ่มเพลงเพื่อชีวิตเอง คือ ความนิยมเพลงเพื่อชีวิตก็ตกต่ำลงอย่างมาก ภาพยนตร์เรื่อง “ยังบาว” หรือ”คาราบาวเดอะมูฟวี” ที่สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๖ ที่ต้องการเล่าความเป็นมาของวงดนตรีคาราบาวสมัยแรก ก็มีคนดูน้อยจนน่าใจหาย และคอนเสิร์ตเพื่อชีวิตหลายครั้งที่จัดขึ้นก็ล้มในลักษณะนี้
คงต้องสรุปว่า บทเพลงเพื่อชีวิตทั้งมวล สิ้นบทบาททางประวัติศาสตร์แล้ว
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ ๔๙๓วันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๕๗

ไม่มีความคิดเห็น: