PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2558

สถานการณ์ข่าว1เม.ย.58

ม.44

พล.ต.สรรเสริญ แจงใช้ ม.44 ใน 2 ลักษณะ มันใจดูแลความสงบได้ดีกว่าอัยการศึก ขอให้มั่นใจในตัวนายกฯ

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า การใช้จะมี 2 ลักษณะคือการนำมาทดแทนกฎอัยการศึก เพื่อทำให้บรรยากาศมีการผ่อนปรนมากขึ้น แต่เจ้าหน้าที่ก็จะสามารถดูแลความสงบได้ กับใช้เพื่อลดขั้นตอนแก้ไขปัญหา ในการบริหารราชการบางเรื่อง เนื่องจากดำเนินการตามขั้นตอนปกติ อาจจะไม่ทันเวลา เช่น ปัญหาเรื่องมาตรฐานการบิน เป็นต้น

ทั้งนี้ รองโฆษกสำนักนายกฯ ยังกล่าวอีกว่า มีความมั่นใจว่าการใช้ ม.44 จะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดีกว่า การใช้กฎอัยการศึก แม้จะเป็นการผ่อนคลายให้ฝ่ายการเมืองเคลื่อนไหวได้มากขึ้น และจะทำให้ต่างประเทศมีความเข้าใจและมั่นใจมากขึ้นด้วย ส่วนการชี้แจงกับสื่อต่างประเทศนั้น เป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศที่ได้กระทำการมาอย่างต่อเนื่องแล้ว และนายกรัฐมนตรีไม่ได้กำชับให้สำนักนายกฯ ดำเนินการเพิ่มเติมเป็นพิเศษแต่อย่างใด

พร้อมกันนี้ พล.ต.สรรเสริญ ยังฝากถึงประชาชนว่า ขอให้มั่นใจในตัวนายกรัฐมนตรี และ คสช. ว่าจะใช้ ม.44 เพื่อการดูแลความสงบอย่างสร้างสรรค์คำนึงถึงความรู้สึกประชาชน การปฏิรูป และการปรองดอง ตลอดจนเตือนว่าให้ตรวจสอบข่าวอย่างละเอียด อย่าหลงเชื่อข่าวลือในโซเชียลมีเดียมากเกินไปด้วย
-----------------------
ปธ.กรรมาธิการปฏิรูปการเมือง หนุนนายกฯ ใช้ ม.44 แทนอัยการศึก ชี้ทำให้ต่างประเทศคลายกังวล

นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีจะยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึก และใช้อำนาจตาม ม.44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ออกประกาศใหม่ มาดูแลความสงบเรียบร้อย ว่า ขอสนับสนุนแนวทางดังกล่าวของนายกรัฐมนตรี เพราะว่าเรื่องอัยการศึกในสายตาต่างประเทศเป็นเรื่องที่ไม่ดี ซึ่งการยกเลิกถือเป็นเรื่องที่ดี จะทำให้ต่างประเทศคลายความวิตกกังวลไปได้ ส่วนเนื้อหาคาดว่าจะเป็นการทดแทนเนื้อหาในกฎอัยการศึก โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงเท่านั้น
---------------------
พล.อ.อนุพงษ์ บอก นายกฯ ใช้ ม.44 เพราะต่างชาติกังวล มั่นใจใช้เพื่อควบคุมสถานการณ์ ทำให้ประเทศสงบเท่านั้น

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการนำมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2557 (ฉบับชั่วคราว) มาใช้แทนกฎอัยการศึก ว่า เนื่องจากต่างชาติมีความกังวลเกี่ยวกับการใช้กฎอัยการศึกของไทย รัฐบาลจึงตัดสินใจยกเลิกการประกาศใช้ แต่หากไม่มีมาตรการใดมารองรับเกรงว่าจะทำให้ประเทศนั้น กลับสู่ปัญหาความขัดแย้งอีกครั้ง จึงจำเป็นต้องมีการนำกฎหมายมาควบคุม เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งแม้ว่ามาตรา 44 จะให้อำนาจการตัดสินใจแก่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. และ นายกรัฐมนตรี แต่ตนเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะใช้กฎหมายดังกล่าวเพื่อควบคุมสถานการณ์เท่านั้น ดังนั้น หากไม่มีการกระทำความผิด ก็ไม่จำเป็นต้องกังวล ทั้งนี้ ตนอยากให้สังคมตระหนักว่า หากต้องการรักษาความสงบเรียบร้อย ก็จำเป็นต้องแลกกับการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้น ส่วนกำหนดเวลาของการบังคับใช้มาตรา 44 นั้น จะเป็นไปตามโรดแมปของ คสช. คือ จนกว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส่วนมาตรา 44 จะเป็นการเปิดโอกาสให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือไม่นั้น ตนไม่สามารถตอบได้ เพราะส่วนตัวยังไม่เห็นรายละเอียดของกฎหมายดังกล่าว
--------------------------
"เทียนฉาย" ปัดแสดงความคิดเห็น นายกฯ ใช้ ม.44 แทนอัยการศึก นัด สปช. - กมธ. ยกร่างหารือ 6 เม.ย.

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไม่ขอแสดงความเห็นกรณีที่นายกรัฐมนตรี เตรียมยกเลิกประกาศใช้กฎอัยการศึก และเตรียมใช้มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 มาบังคับใช้แทน เนื่องจากเห็นว่าไม่เกี่ยวข้องกับ สปช. เช่นเดียวกันกับกรณีที่นายกรัฐมนตรี ออกมาแสดงความเป็นห่วงว่า ไม่ต้องการให้มีการแสดงความเห็นในร่างรัฐธรรมนูญ เพราะกังวลเรื่องความขัดแย้งนั้น ส่วนตัวมองว่า นายกรัฐมนตรี คงเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญยังไม่แล้วเสร็จ หากมีการวิพากษ์วิจารณ์ออกไป ก็อาจทำให้เกิดความสับสน

ส่วนการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 20-26 เม.ย.นี้นั้น มีรายละเอียดจำนวนมาก ดังนั้น ในวันที่ 6 เม.ย. จึงได้นัดสมาชิก สปช. ทุกคนมาหารือร่วมกัน เพื่อกำหนดกรอบการอภิปราย ทั้งในเรื่องการจัดลำดับความสำคัญของแต่ละภาคในรัฐธรรมนูญ การจัดสรรเวลาเพื่อให้สมาชิกทุกคนมีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นได้อย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม ต้องการให้กระบวนการพิจารณาเป็นไปอย่างรอบคอบและดีที่สุด
--------------------
เทียนฉาย พิจารณายกร่าง 20-26 เม.ย. แจงเปิดให้สมาชิก สปช. เข้ายื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญตามขั้นตอน

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อสภาปฏิรูปแห่งชาติ กับการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้ระบุถึงขั้นตอนของการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญของที่ประชุม สปช. ช่วงวันที่ 20-26 เม.ย.นี้ ว่า ในวันแรกจะให้คณะกรรมาธิการยกร่างชี้แจงเนื้อหาในภาพรวมทั้งหมด 2 ชั่วโมง และแต่ละวันจะกำหนดให้ กมธ.ยกร่างชี้แจงวันละไม่เกิน 2 ชั่วโมง ส่วนสมาชิกทั้งหมด ให้คณะกรรมาธิการสามัญทั้ง 18 คณะอภิปราย 2 ชั่วโมง และจะมีการเปิดโอกาสให้สมาชิก สปช.
เข้าชื่อเพื่อยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญไปตามขั้นตอน และเมื่อสุดท้ายแล้ว หากร่างรัฐธรรมนูญที่มีการยกร่างขึ้นไม่ได้รับการยอมรับ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ก็จะต้องเริ่มกระบวนการขั้นตอนใหม่ทั้งหมด โดยเริ่มที่การสรรหาคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และสมาชิก สปช. ชุดใหม่ทั้งหมด

ส่วนในเรื่องการทำประชามตินั้น ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะพูดถึง และ สปช. ยังไม่มีการหารือกันในเรื่องดังกล่าว หากในอนาคตจะมีการทำประชามติหรือไม่นั้น ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของ สปช.
//////////
เคลื่อนไหวนายกฯ

นายกฯ เป็น ปธ.มอบรางวัล ขรก.ดีเด่น ในวันข้าราชการพลเรือน ขณะช่วงเช้าเกิดเหตุหนุ่มน่านปีนดาดฟ้าทำเนียบ ร้องเรียนขอความช่วยเหลือ 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เป็นประธานในพิธีมอบเกียรติบัตรและเข็มเชิดชูเกียรติข้าราชการพลเรือนดีเด่นพร้อมให้โอวาท เนื่องในวันข้าราชการพลเรือน ประจำปี 2558 ที่ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล โดยมีข้าราชการจากหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมอย่างคึกคัก ท่ามกลางมาตรการรักษาความปลอดภัย
อย่างเข้มงวด

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ในช่วงเช้ามีรายงานว่า ได้มีชายคนหนึ่งอายุ 43 ชาวจังหวัดน่าน ได้ปีนต้นไม้ข้างรั้วทำเนียบรัฐบาล ฝั่งถนนราชดำเนิน และขึ้นไปบนดาดฟ้าตึก กองรักษาการณ์ตำรวจทำเนียบรัฐบาล พร้อมชูป้ายข้อความร้องเรียนให้นายกรัฐมนตรีช่วยเหลือ

ทั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจในทำเนียบรัฐบาล ได้เกลี้ยกล่อมลงมาจากดาดฟ้าตึกโดยไม่มีเหตุความรุนแรงเกิดขึ้น โดยนำตัวไปพูดคุยเพื่อสอบถามถึงข้อร้องเรียนต่าง ๆ
-------------------------
นายกฯ มอบเกียรติบัตรและเข็มเชิดชูเกียรติในวันข้าราชการ ให้โอวาทข้าราชการไม่แบ่งฝ่าย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มอบเกียรติบัตรและเข็มเชิดชูเกียรติ ประจำปี 2558 และให้โอวาทเนื่องในวันข้าราชการพลเรือนว่า ข้าราชการทุกคนปฏิบัติหน้าที่ตามข้อกฎหมาย ทำงานอย่างมีระเบียบวินัย ไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ยึดถือประโยชน์ของชาติและประชาชนพร้อมทั้งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เข้าใจและแยกแยะลำดับความสำคัญ
ของภารกิจได้อย่างชัดเจน และต้องร่วมเดินหน้าทำงานสู่เป้าเดียวกันตามวิสัยทัศน์ ให้ประเทศมั่นคง มั่งคั่งอย่างยั่งยืน ไม่หวังผลประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งประชาชนคาดหวังการทำงานของข้าราชการ โดยข้าราชการต้องมีอุดมการณ์ เพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน พร้อมยึดถือประชาชนเป็นหลัก ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีระบุว่า ส่วนตัวไม่ได้บ้าอำนาจ เพราะไม่เช่นนั้นคงไม่ต้องชี้แจงทำความเข้าใจ
-----------------------------
นายกฯ ยันไม่ใช้อำนาจเกินขอบเขต ขออย่ากังวล ใช้ ม.44 ขอทุกฝ่าช่วยกันแก้ปัญหา ฝาก ขรก. มีความสามัคคี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวย้ำว่า คสช. และรัฐบาลเข้ามาทำหน้าที่โดยไม่มีประโยชน์ส่วนตัว แต่เข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาเดินหน้าประเทศด้วยการปฏิรูปจึงขอฝากให้ทุกคนร่วมมือกัน ขณะเดียวกันยังใช้โอกาสนี้ชี้แจงถึง กรณีการเตรียมใช้ประกาศ คสช. ที่ออกตามมาตรา 44 โดยขออย่าให้กังวล ว่าเป็นการยึดอำนาจจนมากเกินไปเพราะข้อเท็จจริงแล้ว เป็นการให้อำนาจตนเองในการแก้ปัญหาในเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและเป็นเครื่องมือให้เจ้าหน้าที่ใช้ในการปฏิบัติงาน ซึ่งภาพรวมเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ และขับเคลื่อนงานด้านอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรียังฝากถึงข้าราชการว่าขอให้อยู่ร่วมกันด้วยความรักและความสามัคคี อย่าเคารพกันด้วยอำนาจ และอย่าฝากความหวังการแก้ปัญหาประเทศไว้ที่รัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว แต่ทุกฝ่ายต้องเดินหน้าแก้ปัญหาไปพร้อม ๆ กัน
--------------------------------
นายกฯ ยันไม่ท้อ ยังมีแรงใจดี เผยหารือนายกญี่ปุ่นแก้ปัญหา ICAO มีสัญญาณที่ดี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการตรวจสอบกรมการบินพลเรือนไทยขององค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO ทำให้เกิดปัญหาเรื่องเที่ยวบินกับประเทศญี่ปุ่น ว่า ขณะนี้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กำลังพูดคุยกับทางญี่ปุ่น ซึ่งถือว่ามีสัญญาณที่ดีขึ้น

ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวว่า ในการพบเจอกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่สิงคโปร์นั้นได้มีการพูดคุย การแลกเปลี่ยนสินค้า ซึ่งญี่ปุ่นจะมีการซื้อผลไม้ของไทยเพิ่มมากขึ้น และประเทศไทยก็จะซื้อสินค้าของญี่ปุ่นเช่นกัน และยังหารือถึงความร่วมมือการลงทุนรถไฟ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า วันนี้ยังมีแรงใจในการทำงานอยู่และไม่ท้อ
//////////
/
กมธ.ยกร่าง

กมธ.ยกร่าง ปรับแก้ที่มานายกฯ คนนอก ใช้เสียง 2 ใน 3 ของสภาผู้แทนราษฎร พร้อมปรับ ส.ว. มาจาก 3 ทาง ลต. 77 จังหวัด และสรรหา

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงภายหลังการประชุมทบทวนร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ปรับปรุงเนื้อหาที่มานายกรัฐมนตรี โดยใน

กรณีที่ไม่ได้เป็น ส.ส. จะต้องได้รับคะแนนเสียงสนับสนุน 2 ใน 3 ของสภาผู้แทนราษฎร แต่ไม่ได้เปลี่ยนวาระการดำรงตำแหน่งที่กำหนดไว้ 4 ปี พร้อมปรับแก้ที่มา ส.ว. โดยให้คงจำนวน 200 คน

แต่มาจาก 3 กลุ่ม คือ การเลือกตั้งกันเอง จำนวน 65 คน มาจากการสรรหา จำนวน 58 คน และมาจากการเลือกตั้ง 77 จังหวัด

นอกจากนี้ ยังทบทวนวาระการดำรงตำแหน่ง ส.ว. โดยปรับแก้ไขให้ ส.ว. ครึ่งหนึ่ง ต้องพ้นวาระเมื่อทำงานครบ 3 ปี คือ กลุ่มที่เลือกตั้งกันเอง 65 คน และจับสลากในกลุ่มที่มาจากการสรรหา 58 คน

ออก 35 คน รวม 100 คน แต่ยังให้สิทธิผู้ที่พ้นวาระสามารถเข้ารับการสรรหาได้ต่อ
--------------
กมธ.ยกร่างพิจารณาทบทวนข้อเสนอเกี่ยวที่มานายกฯ-ส.ส.-ส.ว.ใหม่ งดสื่อสังเกตการณ์

นายไพบูลย์ นิติตะวัน กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยถึงการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญว่า วันนี้และวันพรุ่งนี้จะพิจารณาในส่วนความความเห็นต่าง ๆ จากการไปรับฟังมา ซึ่งมีหลายประเด็นรวมถึงจะมีการพิจารณาที่มาของนายกรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โดยกรรมาธิการจะพิจารณาเป็นภายใน งดสื่อเข้าร่วมสังเกตการณ์

นอกจากนี้ นายไพบูลย์ ยังกล่าวถึงการจัดเวทีประชาพิจารณ์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แสดงความเป็นห่วงว่าประชาชนจะมีทัศนคติไม่ดีต่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า เป็นข้อทักท้วงมาเพื่อให้มีการปรับรูปแบบการทำงาน ที่ทางกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะต้องรับฟัง ทั้งนี้ จะมีการหารือการต่อไปเพื่อไม่ให้กระทบต่อความ
ทำงานด้านความมั่นคง
-----------
กมธ.ปฏิรูปการเมือง พร้อมอภิปรายรัฐธรรมนูญร่างแรก หนุนยกร่างทบทวนที่มา ส.ว.

นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง กล่าวถึงความพร้อมของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองในการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 20-26 เมษายน นี้ ว่า เนื้อหาหลักของการอภิปรายเบื้องต้นจะเน้นการอภิปรายในร่างรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่เกี่ยวกับระบบการเมือง อาทิ ที่มานายกรัฐมนตรี ที่มา ส.ว. การแจกใบแดง การตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรี

ส่วนกรณีที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะทบทวนประเด็นที่มา ส.ว. หลังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องให้อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตประธานรัฐสภา และอดีตผู้นำเหล่าทัพ เป็น ส.ว.ได้นั้น เป็นเรื่องที่ดี เพราะการร่างรัฐธรรมนูญ ต้องรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชนด้วย ซึ่งหากประชาชนมีเสียงสะท้อนกลับมาอย่างไรนั้น ทางคณะกรรมาธิการ ก็จะต้องรับฟังและนำไปพิจารณาต่อไป
-----------------
เทียนฉาย นัดถกร่วม สปช.-กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 6 เมษายนนี้ วางแนวทางพิจารณาร่างแรก

บรรยากาศการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่มี นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ทำหน้าที่ประธานการประชุม ล่าสุด เข้าสู่การพิจารณาเรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว คือ รายงานการพิจารณาของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยวและบริการ ในวาระที่ 12 การผูกขาดและการแข่งขันที่เป็นธรรมแล้ว โดยก่อนการประชุม นายเทียนฉาย แจ้งวาระเพื่อทราบ พร้อมขอนัดหมายสมาชิก สปช. ประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 6 เมษายน 2558 ที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนอภิปรายรัฐธรรมนูญร่างแรก ในวันที่ 20-26 เมษายนนี้ ซึ่งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะต้องชี้แจงทำความเข้าใจในการพิจารณาด้วย

ทั้งนี้ ในช่วงบ่าย เวลา 12.30 น. นายเทียนฉาย มีภารกิจปาฐกถาพิเศษ เรื่องสภาปฏิรูปแห่งชาติกับการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่โรงแรมเดอะสุโกศล ถ.ศรีอยุธยา กทม.
------------------------
"สมบัติ" ย้ำ กมธ.ปฏิรูปการเมืองเน้นอภิปราย ร่าง รธน.ประเด็น ที่มานายกฯ-ส.ว., การแจกใบแดง

นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง กล่าวถึงความพร้อมของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองในการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 20-26 เม.ย. นี้ ว่า เน้นการอภิปรายในร่างรัฐธรรมนูญประเด็นที่เกี่ยวกับระบบการเมือง อาทิ ที่มาของนายกรัฐมนตรี, ที่มา ส.ว., การแจกใบแดง และการให้ อำนาจ ส.ว.ตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรี โดยเห็นว่าควรให้ลงมติด้วย

ทั้งนี้ นายสมบัติ ยังกล่าวด้วยว่า กรณีที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะทบทวนประเด็นที่มา ส.ว. หลังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องให้อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตประธานรัฐสภา และอดีตผู้นำเหล่าทัพ เป็น ส.ว.ได้ ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะการร่างรัฐธรรมนูญต้องรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชนด้วย ซึ่งหากประชาชนมีเสียงสะท้อนกลับมาอย่างไรนั้นทางคณะกรรมาธิการก็จะต้องรับฟังและนำไปพิจารณาต่อไป
--------------------------
"คำนูณ" เผย "บวรศักดิ์" เตรียมหารือ "วิษณุ" หาข้อสรุปความห่วงใยนายกฯ ปมประชาพิจารณ์ ยันไม่ใช่การแทรกแซง

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ในวันนี้และวันพรุ่งนี้จะเป็นการพิจารณาทบทวนในส่วนของที่มาของนายกรัฐมนตรีและที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งสมาชิกยังมีความเห็นที่หลากหลาย จึงต้องการที่จะหารือร่วมกันอีกครั้ง

ทั้งนี้ นายคำนูณ ยังกล่าวถึงการเปิดเวทีประชาพิจารณ์ ที่นายกรัฐมนตรีแสดงความเป็นห่วงว่า ประชาชนจะมีทัศนคติไม่ดีต่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ทาง นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะเป็นผู้หารือกับ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี หากได้ขัอสรุปอย่างไร จะชี้แจงความคืบหน้าอีกครั้ง แต่ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการแทรกแซงการทำงานของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการเข้ามาทำงานประสานกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน และไม่ให้กระทบต่อความมั่นคง
------------------------
สปช.พิจารณารายการ กมธ.ปฏิรูปการเกษตรฯ วาระ 14 แก้เหลื่อมล้ำ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกร

การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ล่าสุด อยู่ระหว่างการพิจารณารายงานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยวและบริการ วาระที่ 14 การปฏิรูปภาคเกษตร ซึ่งในปัจจุบันเกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยังไม่มีความมั่งคั่ง โดยมีความเหลื่อมล้ำทางรายได้และการพัฒนาระหว่างภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรมและการบริการอื่น ๆ ของประเทศค่อนข้างมาก ดังนั้น การแก้ปัญหาจึงจำเป็นต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกร โดยการจัดทำแผนปฏิรูปโครงสร้างภาคเกษตรทั้งระบบและยุทธศาสตร์การบูรณาการและพัฒนาเกษตรกรรมแห่งชาติ มีกลไกของรัฐในการผลักดันและกำกับให้เป็นไปตามพันธกรณี มีเป้าหมายยกระดับรายได้ของเกษตรกรและเสริมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของเกษตรกร ซึ่งสามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ คืนความสุขให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน
////////////////////
คดีถอดถอน

มติ ป.ป.ช. มอบ "วิชา" พร้อมผู้ช่วยเลขาฯ ทำหน้าที่แถลงเปิดคดีถอดถอน "บุญทรง" กับพวกต่อ สนช.

นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติมอบหมายให้ นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ในระดับผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ช. ทำหน้าที่ในการแถลงเปิดคดีต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการพิจารณาถอดถอน นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าระหว่างประเทศ ที่มีพฤติกรรมส่อว่าทุจริตต่อหน้าที่ และกระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ส่วนในวันที่ 2 เม.ย.นี้ ที่ประชุม สนช.จะพิจารณาคำขอเพิ่มเติมพยานหลักฐาน ซึ่งจะต้องดูว่ามีใครยื่นพยานหลักฐานเพิ่มเติมหรือไม่ และพยานหลักฐานที่ยื่นมีอยู่ในสำนวน ป.ป.ช.หรือไม่ ซึ่งขณะนี้ นายวิชา ก็ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพยานหลักฐานที่มีในสำนวนของ ป.ป.ช. แล้ว

ไม่มีความคิดเห็น: