PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2558

'ชวน'ชี้ใช้ร่างรธน.นี้อดเป็นส.ส.

'ชวน'ชี้ใช้ร่างรธน.นี้อดเป็นส.ส.

'ชวน'ชี้ใช้ร่างรธน.นี้อดเป็นส.ส.

'ชวน' ชี้หากเมื่อก่อนใช้ ร่างรธน.ฉบับนี้ อดเป็น ส.ส.แน่ ขณะที่ รองประธานศาลฎีกา ระบุ ไม่อยากให้ตั้งองค์กรอิสระมากเกินจำเป็น จะกลายเป็นงูกินหาง สร้างภาระมากมาย

 
                           29 เม.ย. 58  เมื่อเวลา 11.20 น.  ในงานศาลรัฐธรรมนูญ ครบรอบ 17 ปี เป็นการอภิปรายของนักศึกษาหลักสูตรหลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย (นธป.) รุ่นที่ 3 ศาลรัฐธรรมนูญ เรื่อง แนวทางการปฏิรูปประเทศ 
 
                           โดยนายปิยะ ปะตังทา ปฏิบัติหน้าที่ประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวถึงแนวทางการปฏิรูปด้านสังคม ว่า หากเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญ 2540 2550 และร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จะเห็นว่า ผู้ยกร่างล้วนอยู่ในกลุ่มเดียวกัน จำนวนมาตรามีความใกล้เคียงกัน เนื้อหาส่วนใหญ่ไม่แตกต่างกันมาก โดยรัฐธรรมนูญ 2540 มีจุดเด่น คือ ลดจุดบกพร่องของฝ่ายบริหารที่มีความอ่อนแอ มีการจัดตั้งองค์กรตรวจสอบขึ้นมาทำหน้าที่คอยตรวจสอบฝ่ายต่างๆ มีบทบัญญัติที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2550 มีจุดเด่น คือ กำหนดให้ตุลาการมีบทบาทที่สูงมาก สามารถเข้าไปมีส่วนคัดเลือกบุคคลในองค์กรต่างๆ ได้ สำหรับการปฏิรูปครั้งนี้ ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้จัดตั้ง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ขึ้นมาดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งมีจุดเด่น คือ เพิ่มอำนาจประชาชนในการตรวจสอบ เกิดสมัชชาพลเมือง รวมทั้งองค์กรใหม่หลายองค์กรขึ้นมาทำหน้าที่ มีการคุ้มครองสิทธิ์ประชาชนขั้นพื้นฐานไว้มากขึ้น
 
                           นายปิยะ กล่าวอีกว่า อยากเสนอให้เน้นเรื่องสามัญและจิตสำนึกให้กับเด็กและเยาวชน เพราะแม้จะมีตัวกฎหมายที่ดี หากไม่ได้สร้างจิตสำนึก ก็จะทำให้การบังคับใช้กฎหมายบกพร่องได้ ควรเน้นหลักธรรมาภิบาลและคุณธรรม ทำให้ประชาชนเห็นประโยชน์ส่วนร่วมมากกว่าส่วนตน ยึดประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก เน้นการใฝ่รู้และจิตอาสา เพิ่มพูนหลักนิติธรรม สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนทุกระดับ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม กำหนดแผนดูแลผู้สูงวัยที่ครบวงจรรับกับอาเซียน มีหลักประกันสาธารณสุข ส่วนการปฏิรูปนั้นมองว่า ควรกำหนดหลักสำคัญไว้ให้ชัดเจนว่าจะปฏิรูปเรื่องใดไว้ในรัฐธรรมนูญ และอยากให้รับฟังความเห็นจากหน่วยงานต่างๆ ให้ครบถ้วน เพื่อทำให้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับ
 
                           ด้านนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. กล่าวถึงแนวทางการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ ว่า ประเทศชาติจะก้าวหน้าได้ต้องมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เพราะปัญหาเศรษฐกิจเป็นห่วงโซ่สำคัญหากเศรษฐกิจไม่ดี ประชาชนก็จะดิ้นรนเพื่อให้ได้เงินมาเลี้ยงชีพ ทำให้เป็นต้นตอของการทุจริตการเลือกตั้งได้ ดังนั้น ถ้ารัฐบาลบริหารประเทศได้ดี ปัญหาการทุจริต การซื้อสิทธิ์ขายเสียงก็จะลดน้อยลง ขณะเดียวกันพบว่าปัจจุบันนี้ประเทศไทยถูกกดดันทางเศรษฐกิจจากต่างประเทศ คือ 1. สหรัฐอเมริกา ในการลดระดับประเทศไทยเรื่องการค้ามนุษย์ 2. องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ เตือนประเทศไทยให้แก้ปัญหามาตรฐานความปลอดภัยทางการบิน สาเหตุเกิดจากการปล่อยปละละเลยไม่เอาใจใส่เรื่องการบินพลเรือน และ 3. สหภาพยุโรป (อียู) ได้แจกใบเหลืองแก่ประเทศไทยเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย โดยให้เวลาปรับแก้ไข ก่อนที่จะมีมาตรการคว่ำบาตรไม่รับซื้ออาหารทะเลจากประเทศไทย
 
                           นายศุภชัย กล่าวอีกว่า จากการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดที่ผ่านๆ มา พบว่า เกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจหลายประการ อาทิ ปัญหาการผูกขาดทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเน้นภาคอุตสาหกรรมจนเกินความพอดี ปัญหาการละเว้นการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อม มีการระบายทิ้งขยะ จับสัตว์น้ำอย่างผิดกฎหมาย ปัญหาทุนนิยมผูกขาด ปัญหาระบบการศึกษาที่สร้างคนเก่งมากกว่าคนดี และการบังคับใช้กฎหมายขาดประสิทธิภาพ ขาดการพัฒนา จึงขอเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหา คือ กรณีระยะสั้น ควรนำมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 มาใช้บังคับกับกรณีที่อียูเตือนให้ไทยเข้มงวดกับเรือประมงที่ผิดกฎหมาย และปัญหาสลากกินแบ่งรัฐบาล ส่วนระยะปานกลางและระยะยาว ควรเสนอร่างกฎหมายเฉพาะทางให้สภานิติบัญญัติ (สนช.) พิจารณากฎหมาย ทรัพยากรงบประมาณแผ่นดินต้องได้รับการจัดสรรอย่างเป็นธรรม และปฏิรูประบบภาษีให้สอดคล้องกับประเทศ
 
                           ส่วนนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงแนวทางการปฏิรูปด้านการเมือง ว่า ไม่ได้ประสงค์ที่จะพูดถึงรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ได้ผ่านมือ แต่เห็นความหวังดีในบางเรื่อง เช่น รูปแบบการเลือกตั้ง ถ้าเอาการเลือกตั้งตามร่างรัฐธรรมนูญนี้ไปใช้ตอนสมัครเป็นผู้แทนราษฎรครั้งแรก คงไม่ได้รับเลือก
 
                           นายชวน กล่าวต่อว่า สัจธรรมความจริงบ้านเมืองมีทั้งคนดีและไม่ดี การทำให้บ้านเมืองปกติเรียบร้อย ไม่ได้แปลว่าทุกคนเป็นคนดี เพียงแต่ให้คนดีมาปกครอง การปฏิรูปประเทศ คือ การปรับปรุงให้เหมาะสม ที่ผ่านมาไม่ดีอย่างไร มีจุดอ่อนอย่างไร ก็ให้ไปดูการยึดอำนาจแต่ละครั้ง ที่มักจะมีเหตุผลว่า ฝ่ายการเมืองทุจริต ประพฤติไม่ชอบ แทรกแซงองค์กรอิสระ แตกแยกอย่างรุนแรง และหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่ทั้งหมดนี้จริงตามนั้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่พวกเราต้องร่วมกันพิจารณา ส่วนคำถามว่า ทำไมต้องยึดอำนาจ เป็นเพราะพฤติกรรมของผู้ใช้อำนาจ ผู้ใช้รัฐธรรมนูญ พฤติกรรมของผู้ปกครอง คือ ฝ่ายการเมือง เราจึงต้องกำหนดให้กฎหลักนั้นมีความเหมาะสมกับคนไทยและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล คือ เป็นประชาธิปไตย
 
                           นายชวน กล่าวอีกว่า มองบ้านเมืองของเราไปในทางบวก หากยึดเอาตั้งแต่ 24 มิ.ย. 2475 ตลอด 82 ปีที่ผ่านมา บ้านเมืองเราเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีมากหากเมื่อมองในภาพรวม แต่ถ้ามองย่อย ระบอบประชาธิปไตยของเรามีอุปสรรคมาก คือ การที่ทหารยึดอำนาจ แต่ในวันที่มีการเผาบ้านเผาเมืองพอทหารไม่ได้ออกมายึดอำนาจ จึงคิดว่าทหารไม่เป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตยอีกแล้ว เมื่อเราคิดว่าการยึดอำนาจไม่เป็นอุปสรรคแล้ว แต่เราลืมนึกไปว่ามีโรคใหม่ทางการเมือง คือ โรคธุรกิจทางการเมือง ไม่ได้ซื้อแต่นักการเมือง แต่ซื้อทั้งพรรค ซื้อวุฒิสภา แม้จะไม่ปฏิเสธที่สภามีเสียงข้างมาก เพราะเป็นสิ่งจำเป็น ระบบนี้ คุณสมบัติของนักการเมืองควรที่จะต้องมีวินัย การให้ ส.ส.เป็นอิสระไม่ต้องสังกัดพรรค จะทำให้พรรคการเมืองไม่มีวินัย แต่การเมืองไทยที่มักจะมีการซื้อ ส.ส.เพื่อให้โหวตตามมติหัวหน้า หรือนายทุนพรรค ซึ่งพรรคการเมืองประเภทนั้นไม่อาจเอามาเป็นมาตรฐาน ฉันใดที่เราพูดว่าคนดีมีมากคนไม่ดีก็มีอยู่ ฉันนั้นพรรคการเมืองที่ไม่เป็นหลักก็มีให้เห็น
 
                           นายชวน กล่าวต่อว่า เห็นการพัฒนาทางของบ้านเมืองในทางที่ดี แม้มีความเลวร้ายในบางเรื่อง ความเหมาะสมในการกำหนดแนวทางการปฏิรูปจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ การคิดออกนอกกรอบไม่ผิด แต่ถ้าออกนอกกรอบกฎหมายเมื่อไหร่ปัญหาจะเกิดขึ้น การยึดมั่นในหลักนิติธรรมภายใต้ประชาธิปไตยไม่เคยสร้างปัญหาให้ประเทศ แต่ปัญหาที่เกิดเพราะคนไม่ยึดหลักนี้ ภูมิใจที่เป็นคนหนึ่งที่ยึดมาตลอด แต่การใช้นโยบายนอกหลักนิติธรรม เช่น การที่ปราบผู้ก่อความไม่สงบ เตือนเสมอว่าบ้านเมืองไม่ใช่ของทดลองนโยบาย ภาคใต้เห็นได้ชัดที่สุด ปัญหาที่เรากำลังเผชิญหน้าต่อแนวทางการปฏิรูป คือ ทำอย่างไรที่จะหันกลับมายึดหลักนิติธรรม อย่างการนิรโทษกรรมไม่ต้องคิด ใครผิดก็ควรต้องรับโทษ
 
                           "มูลเหตุของการชุมนุม ผมชื่นชมที่คนเหล่านั้นกล้าออกมา ไม่ใช่ช่างหัวมัน หรือไม่สนใจ เคยมีคนกล่าวว่า บ้านเมืองนี้ดีทุกอย่าง ยกเว้นคนไทย แต่ผมเห็นว่าบ้านเมืองนี้ดีทุกอย่าง ดีที่สุด คือ มีคนไทย เพียงแต่คนไทยบางส่วนยังไม่ได้ลึกซึ้ง ทำไมยังมีคนโกง เพราะมีแต่คนพูดไม่ปฏิบัติ เราจึงต้องทำให้หลักนิติธรรมเป็นภาคปฏิบัติ ถ้าใช้หลักนิติธรรมปกครอง ป่านนี้ไฟใต้ดับหมดแล้ว" นายชวน กล่าวและว่า วันที่บ้านเมืองจะสงบ ไม่ได้อยู่ที่รัฐธรรมนูญ แต่อยู่ที่การยึดหลักนิติธรรม เพราะถ้ายึดหลักนี้คงไม่มีการยึดอำนาจ ไม่มีเงื่อนไขให้ทหารเข้ามา แนวทางข้างหน้า เมื่อมีการเลือกตั้งในปี 2559 ทหารต้องถอนออกไป ไปไล่จับคนรุกป่า ยาเสพติด ไม่ได้เป็นหน้าที่ของตำรวจ ทำไมวันนี้ทหารทำหน้าที่นี้ เป็นเพราะความบกพร่องของตำรวจไม่สามารถทำหน้าที่ได้ เพราะติดบุญคุณผู้ที่แต่งตั้ง ดังนั้นเมื่อทหารออกไป ตำรวจก็ต้องเตรียมพร้อม
 
                           นายวีระพล ตั้งสุวรรณ รองประธานศาลฎีกา กล่าวถึงแนวทางการปฏิรูปด้านรัฐธรรมนูญ ว่า การที่เราบัญญัติกฎหมาย หลักนิติธรรมในการใช้อำนาจสามฝ่าย นอกจากนี้เอกชนและภาคธุรกิจ หรือทุกภาคส่วนต้องมีหลักนิติธรรม ตั้งแต่เรามีรัฐธรรมนูญ เราหวังว่าจะมีหลักนิติธรรม แต่ตลอดระยะเวลา 82 ปี เราไม่เคยได้ มีการเปลี่ยนแปลงสั่นคลอนตลอดเวลา การที่เรามาร่างรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของคนใช้ทั้งนั้น ถ้าเราปฏิรูปคนปัญหาบ้านเมืองไม่เกิด ระยะแรกเป็นระยะเฉพาะหน้า ที่ชัดเจนว่าเราต้องสร้างกฎเกณฑ์ให้คนที่เข้ามามีอำนาจใช้หลักนิติธรรม สิ่งที่อยากเห็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ยืดเยื้อ เขียนด้วยภาษาง่ายๆ ไม่อยากเห็นการตั้งองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเยอะจนเกินความจำเป็น เพราะจะกลายเป็นการตรวจสอบแบบงูกินหาง องค์กรโน้นมาองค์กรนี้ ยิ่งสร้างเยอะจะสร้างภาระมากมาย ไม่อยากเห็นรัฐธรรมนูญ บังคับ เสนอแนะ หรือสั่งสอนให้คนเป็นคนดี อย่าเขียนรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายภายในที่แก้ปัญหาเรื่องคน เพราะจะแก้ไปไม่มีสิ้นสุด อย่าคิดว่าเขียนทีเดียวจะแก้ได้ กฎหมายภายใน ประมวล หรือ พ.ร.บ.เขียนชัดเจนอยู่แล้ว จำเป็นหรือไม่ที่ต้องมาใส่ในรัฐธรรมนูญ เพราะกฎหมายลูกไม่เคยถูกยกเลิก แต่รัฐธรรมนูญถูกยกเลิกได้ง่ายกว่า

ไม่มีความคิดเห็น: