PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2558

"บิ๊กตู่" ไม่ตัดสินทำประชามติ โยน กมธ.ยกร่าง-สปช. ตัดสินใจเอง

"บิ๊กตู่" ไม่ตัดสินทำประชามติ โยน กมธ.ยกร่าง-สปช. ตัดสินใจเอง ชี้ถ้าจะทำประชามตืก็เสนอแก้รธน.ชั่วคราวมา ออกตัวแรงไม่ใช่ชี้นกเป็นนก หวั่นผิดพลาดต้องรับเอง แจงแทน "บวรศักดิ์" ใช้ รธน.5 ปี หวังเป็นช่วงปฏิรูป ชี้อาจไม่ใช่ฉบับถาวร เตือนอะไร แก้ ไม่ใช่แก้ในสิ่งที่ไม่ควรแก้ จะเอาอะไรกันอีก เสรีภาพเอาอย่างไร ไม่ต้องมีแล้วมั้งกฎหมาย อยากจะไปทำอะไรกันก็ทำ ก็เอาตามใจ" แฉในสปช.มีทุกพวกไปดู มีทุกสี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ ภายหลังการประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ทั่วโลก ประจำปี 2558
นายกฯ กล่าวถึงการเดินหน้าตามโรดแมปฝพของรัฐบาลและคสช.ว่า การเดินตามโรดแมพทุกอย่างเป็นไปตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ถ้ายังไม่แก้รัฐธรรมนูญก็เป็นไปตามนั้น อย่าถามอีก
ถามถึงกรณีที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เสนอให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างในขณะนี้เป็นเวลา 5 ปีก่อนแล้วจึงแก้ไขข้อบกพร่องอีกครั้ง แสดงว่ารัฐธรรมนูญนี้ยังไม่มีความสมบูรณ์ใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ผมเข้าใจว่าถ้าเป็นรัฐธรรมนูญปกติไม่ต้องเขียนมาก เปิดสิทธิเสรีภาพเยอะๆ ประชาชนเป็นใหญ่ แต่ทรัพยากรมนุษย์ของต่างประเทศ เหมือนเราไหม เขาเข้าใจบริบทพื้นฐานของเราหรือไม่ คุณคิดเหมือนฝรั่งคิดหรือไม่ ก็ไม่เหมือน
การทำรัฐธรรมนูญถ้าจะให้เหมาะสมกับคนไทยด้วยและคนต่างประเทศด้วย มันเป็นเรื่องยาก
ส่วนเสนอ 5 ปีของนายบวรศักดิ์ นั้นความหมายตามที่ผมเข้าอาจจะหมายถึงช่วงเวลาการปฏิรูปที่อาจจะจบภายใน 5 ปีซึ่งกฎหมายฉบับนี้เท่าที่ผมดู มีความเข้มข้นหลายอย่าง เพื่อจะแก้ปัญหาทั้งหมด ทั้งเรื่องการทุจริต ความไม่โปร่งใส การใช้จ่ายงบประมาณ การเข้าสู่อำนาจ ซึ่งเขาต้องการล้มภาพเก่าไม่ให้เกิดขึ้นอีก
"ผมจึงบอกว่าอาจจะเป็นรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปก็ได้ ซึ่งการปฏิรูปที่ว่า หมายถึงระยะเวลา 5 ปี 10ปี หรือ20 ปีก็แล้วแต่ หากท่านอยากจะแก้ใหม่ก็แก้เถอะ ท่านเลือกตั้งมาแล้ว จะแก้รัฐธรรมนูญก็แก้ได้ เขาเขียนไว้หรือเปล่าว่าห้ามแก้ ก็ต้องแก้ในสิ่งที่ควรจะแก้ ไม่ใช่แก้ในสิ่งที่ไม่ควรแก้ จะเอาอะไรกันอีก เสรีภาพเอาอย่างไร ไม่ต้องมีแล้วมั้งกฎหมาย อยากจะไปทำอะไรกันก็ทำ ก็เอาตามใจ"
เมื่อถามว่า เท่าที่ดู 315 มาตรา เยอะไปหรือไม่ เพราะนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมายระบุว่า จำนวนมาตราเยอะเกินไปสามารถตัดทอนลดลงได้ นายกฯ กล่าวว่า ผมพูดหลายครั้งแล้วว่าคนไทยชอบกฎหมายอยากมีกฎหมายโน่นกฎหมายนี่ แล้วบังคับใช้ไม่ได้ ตนถึงบอกว่าต้องยกระดับความคิดความเข้าใจ ปรับทัศนคติกันใหม่ ตนไม่ได้ว่าบ้านเราไม่ฉลาด คนไทยฉลาดจะตายเข้าใจหมด แต่มองมุมเดียว ทั้งนี้เราต้องเอาผลประโยชน์มาร่วมกัน แล้วสังคายนาดูว่าควรจะถ่วงดุลอย่างไร พวกไหนได้เท่าไร แค่ไหน ไม่มีใครได้ทั้งหมดหรอก
"ในความคิดของผมรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อาจจะไม่ใช่รัฐธรรมนูญถาวรก็ได้หากจะปฏิรูป เพราะถ้าเป็นรัฐธรรมนูญธรรมดาปฏิรูปไม่ได้แน่นอน ทำมากี่รัฐบาลแล้วทำได้หรือไม่ แล้วก็มีเรื่องมีราวกันมา ถ้าไม่ปฏิรูปท่านก็ร่างไปแบบเดิม เผลอๆไม่ต้องร่างก็ได้ ก็รบกันแบบเก่าก็ตามใจ" นายกฯ กล่าว
เมื่อถามว่า เรื่องทำประชามติจะว่าอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ไปดูรัฐธรรมนูญ เขาเขียนว่าอย่างไร เขาไม่ได้เขียนให้ทำประชามติ ถ้าจะทำก็ไปแก้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งคนตัดสินใจไม่ใช่ตน แต่อยู่ที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหรือสปช. ตนบอกแล้วเราไม่ได้มีอำนาจสั่งเขาตรงนั้น รัฐธรรมนูญเขียนไว้อย่างนั้น วันนี้เหมือนมี สองสภา ถ้ามีความเห็นต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ก็ต้องขอมาที่ตน ซึ่งตนจะส่งไปที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปทำเรื่องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว จะทำอะไรก็ทำกันตรงนั้น
"ถ้าเขาคิดว่า ถ้าปล่อยให้ผ่านตอนนี้ก็ตีกัน ผมจะไปสั่งให้ผ่านได้หรือไม่ ถ้ามันจะตีกันมันก็ตี ทำอย่างไรให้ผ่านโดยไม่ต้องตี หรือถ้าไม่ผ่านก็ร่างกันใหม่แค่นั้น" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
เมื่อถามว่า ตกลงจะเป็นช่วงเวลาไหนที่จะตัดสินใจทำประชามติ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันไหนก็วันนั้น เขากำหนดวันสุดท้ายไว้วันไหน แต่ผมไม่ตัดสินใจ เขาต้องตัดสินใจมา เพราะหน้าที่ของเขาคือการร่างรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ เมื่อรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ต้องให้สปช.ทบทวน ถ้าเขาไม่แก้ เขาก็ทูลเกล้าฯ ถวาย เขาก็ต้องรับผิดชอบเอง เข้าใจหรือยัง ไม่ใช่ผมจะชี้นกเป็นนก ถ้าผิดพลาดก็ผมอีกซิ ให้เข้ามาร่างแล้วไง แล้วคุณรู้ไหมสปช.มีกี่พวก ในสปช.มีทุกพวกไปดู มีทุกสี ถ้าตกลงกันไม่ได้ ก็เหมือนเดิม ผมถึงบอก นี่คือส่งที่เขาต้องเรียนรู้จะทำกันอย่างไร ไปทำมา ไม่ใช่ผมต้องมาคอยตัดสิน ผมจะอยู่กับเขาจนแก่เฒ่าหรืออย่างไร ไม่ใช่ เข้าใจหรือยัง "


ไม่มีความคิดเห็น: