PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ชัด ๆ ความเห็น ครม.ปมที่มา ส.ส.-ส.ว.-รมต. ไม่แตะ"นายกฯคนนอก"

ชัด ๆ ความเห็น ครม.ปมที่มา ส.ส.-ส.ว.-รมต. ไม่แตะ"นายกฯคนนอก"

เขียนวันที่
วันพุธ ที่ 03 มิถุนายน 2558 เวลา 11:36 น.
เขียนโดย
isranews
หมวดหมู่
เปิดความเห็นคณะรัฐมนตรี ปมทบทวนที่ ส.ส. แบบโอเพ่นลิสต์ ตัดทิ้ง กก.กลั่นกรอง ส.ว.เลือกตั้ง ไม่เอา รมต. แสดงภาษีย้อนหลังต่อ ปธ.วุฒิสภา ตัดทิ้ง ม.181-182 ไม่แตะที่มา “นายกฯคนนอก”
PIC difdieeii 3 6 58 1
ในห้วงสัปดาห์นี้ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ จะเชิญสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะรัฐมนตรี เข้ามาชี้แจง และอธิบายถึงเหตุผลในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “เรือแป๊ะ” 
และอย่างที่ทราบกันไปแล้วว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ต่างถูก สปช. และคณะรัฐมนตรี ขอให้ทบทวนและแก้ไขในหลายมาตรา 
โดยเฉพาะประเด็นที่มาของ ส.ส.-ส.ว.-กลุ่มการเมือง ที่ไม่ใช่แค่ สปช. และคณะรัฐมนตรีเท่านั้น แต่บรรดาพรรคการเมือง ต่างเรียกร้องให้แก้ไข-ทบทวนกันล้นหลาม !
ขณะเดียวกัน สปช. บางส่วนได้ยื่นญัตติขอให้แก้ที่มานายกรัฐมนตรี ยืนยัน “ไม่เอานายกฯคนนอก” อีกด้วย
ซึ่งต่างกันกับความเห็นของคณะรัฐมนตรี ที่ไม่มีการหยิบยกประเด็นนี้เลย ?
แต่กลับมีความเห็นในประเด็นการ “ตรวจสอบ” รัฐมนตรีแทน 
เพื่อขยายความให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำความเห็นคณะรัฐมนตรีในประเด็น ส.ส.-ส.ว. และนายกฯ มานำเสนอ ดังนี้
ประเด็นที่มา ส.ส. 
กมธ.ยกร่างฯ เสนอให้เลือกตั้ง ส.ส. แบบ “โอเพ่นลิสต์” 
คณะรัฐมนตรี เห็นว่า การกำหนดให้มี ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง (250 คน) และแบบบัญชีรายชื่อ (200-220 คน) ซึ่งมีจำนวนใกล้เคียงกัน และให้ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อเป็นระบบภาค (6 ภาค) ทำให้ ส.ส. สองประเภทนี้ไม่มีความแตกต่างกัน เพราะใช้พื้นที่เป็นหลักเหมือนกันทำให้กลายเป็น ส.ส. แบบแบ่งเขตจังหวัดและแบบแบ่งภาค 
ยิ่งการที่มาตรา 112 กำหนดให้การส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อในภาคใดต้องส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในภาคนั้นไม่น้อยกว่าผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อด้วย และมาตรา 105 เปิดโอกาสให้ระบุว่าต้องการให้ผู้ใดที่มีชื่อในบัญชีนั้นหนึ่งคนได้รับเลือกเป็น ส.ส. ก็เท่ากับว่าผู้สมัครแบบัญชีรายชื่อต้องหาเสียงในจังหวัดและในภาคเหมือนผู้สมัครแบบแบ่งเขตนั่นเอง 
ระบบบัญชีรายชื่อได้ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ.2540 แล้ว ประชาชนมีความคุ้นเคยกับระบบนี้และมีความเข้าใจว่าการที่กำหนดให้ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อมีจำนวนน้อยกว่าแบบแบ่งเขต และใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง โดยมีบัชีเดียวก็เพื่อให้พรรคการเมืองสามารถเลือกสรรบุคคลจากบัญชีรายชื่อไปดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเมื่อต้องพ้นจากความเป็น ส.ส. ก็ยังสามารถเลื่อนผู้อยู่ในลำดับถัดมาขึ้นไปเป็น ส.ส. แทนได้โดยไม่ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่
กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ประชาชนเข้าใจว่า ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อจะไปทำหน้าที่รัฐบาล ส่วน ส.ส. แบบแบ่งเขตจะไปทำหน้าที่นิติบัญญัติ 
คณะกรรมาธิการฯ จึงควรทบทวนหลักคิดในเรื่องนี้ว่า เจตนารมณ์ของการมี ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อตามร่างรัฐธรรมนูญนี้ประสงค์อย่างไร และควรใช้ระบบเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2550 จะเหมาะสมกว่าหรือไม่ ส่วนวิธีคิดคะแนนจะใช้วิธีคำนวณแบบใดเป็นอีกรณีหนึ่ง ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้อยู่แล้ว
ประเด็น กลุ่มการเมือง
กมธ.ยกร่างฯ เสนอให้กลุ่มการเมืองสมัครรับเลือกตั้งได้
คณะรัฐมนตรี เห็นว่า การให้มีกลุ่มการเมืองและให้มีฐานะอย่างเดียวกับพรรคการเมืองน่าจะได้ประโยชน์ไม่คุ้มเสีย ในทางตรงกันข้าม การเมืองอาจสับสนอลหม่านมากขึ้น พรรคการเมืองอาจตั้งกลุ่มการเมืองเป็นตัวแทน (Nominee) เหมือนมุ้งเล็กที่แยกออกมาจากมุ้งใหญ่
ถ้าจะกำหนดให้ผู้สมัครไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง (สมัครอิสระ) ก็ยังพอจะสะท้อนหลักการความเป็นอิสระและพอเข้าใจได้ แต่เมื่อไม่ให้สมัครอิสระเสียแล้ว กลุ่มการเมืองก็ไม่ต่างจากพรรคการเมืองนั่นเอง 
ประเด็นที่มา ส.ว.
กมธ.ยกร่างฯ เสนอให้ในส่วนของ ส.ว. เลือกตั้งแต่ละจังหวัด มีคณะกรรมการกลั่นกรองผู้สมัครที่เกิน 10 คน ให้เหลือไม่เกิน 10 คน หลังจากนั้นจึงค่อยเลือกตั้ง
คณะรัฐมนตรี เห็นว่า การให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองผู้สมัครเป็น ส.ว. ในจังหวัดจำนวน 10 คน เพื่อคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ว. ให้เหลือจังหวัดละไม่เกิน 10 8น ในทางปฏิบัติจังหวัดที่มีผู้สมัครเกิน 10 คน มีไม่มากนัก กระบวนการอาจยืดยาวโดยไมจำเป็น เมื่อจะให้มีการเลือกตั้งอยู่แล้วควรให้ผู้สมัครทุกคนไปสู่การเลือกตั้งโดยตรง จึงควรแก้ไขในส่วนนี้
ประเด็น รัฐมนตรี
กมธ.ยกร่างฯ เสนอให้ก่อนนายกรัฐมนตรีจะนำชื่อรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าฯ ต้องส่งให้ประธานวุฒิสภาแต่งตั้ง กมธ. ขึ้นมาตรวจสอบความประพฤติก่อน
คณะรัฐมนตรี ได้ตัดมาตราดังกล่าวทิ้ง โดยให้เหตุผลว่า การกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องส่งรายชื่อรัฐมนตรีให้วุฒิสภาตรวจสอบตามมาตรา 130 วรรคสอง โดยไม่ให้มีมติว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ เรื่องนี้จะทำให้กระบวนการแต่งตั้งรัฐมนตรีหรือปรับคณะรัฐมนตรีล่าช้า และไม่เป็นความลับ ซึ่งจะเป็นปัญหาทางการเมืองในสังคมไทยได้ ยิ่งถ้าอยู่ระหว่างนอกสมัยประชุม แม้จะดำเนินการได้แต่ก็จะล่าช้าออกไป
และถ้าวุฒิสภาตรวจสอบพบว่า รัฐมนตรีคนใดมีความไม่เหมาะสม แต่นายกรัฐมนตรียังคงยืนยันจะแต่งตั้งต่อไป ก็เท่ากับเป็นการผลักภาระให้พระมหากษัตริย์ไม่ว่าจะทรงแต่งตั้งตามที่เสนอหรือไม่ก็ตาม
กมธ.ยกร่างฯ เสนอให้แสดงสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ย้อนหลัง 3 ปี ต่อประธานวุฒิสภา 
คณะรัฐมนตรี ได้ตัดทิ้งข้อความนี้ โดยให้เหตุผลว่า การกำหนดให้รัฐมนตรีต้องแสดงสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ย้อนหลัง 3 ปีต่อประธานวุฒิสภา มีปัญหาว่าแสดงเพื่ออะไร ประธานวุฒิสภาจะทำอย่างไรต่อไป เปิดเผยได้หรือไม่ และเมื่อเสนอให้ตัดบทบัญญัติว่าด้วยการตรวจสอบของวุฒิสภาในมาตรา 174 ออกแล้ว ข้อความนี้จึงไม่จำเป็น เว้นแต่จะกำหนดให้ยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อวัตถุประสงค์อื่น
ขณะที่ประเด็นในส่วนของ “นายกรัฐมนตรี” นั้น
คณะรัฐมนตรี มีความเห็นให้ตัด มาตรา 181-182 ที่ว่า เป็นการป้องกันไม่ให้มีการเปิดอภิปรายนายกฯ หรือนายกฯสามารถไม่มาตอบการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้
ส่วนเรื่อง “ที่มานายกฯคนนอก” คณะรัฐมนตรีไม่ได้หยิบยกขึ้นมากล่าวอ้างแต่อย่างใด ?
ทั้งหมดคือความเห็นแบบ “ชัด ๆ” ในส่วนมาตราสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “เรือแป๊ะ”
ส่วน “36 อรหันต์” จะดำเนินการอย่างไรต่อไป ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด! 

ไม่มีความคิดเห็น: