PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

งานรำลึกวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ประจำปี 2558

“ เจ็บนานนึกหน่ายนิตย์ มะนะเรื่องบำรุงกาย ส่วนจิตต์บ่มีสบาย ศิระกลุ้มอุราตรึง
แม้หายก็พลันยาก จะลำบากฤทัยพึง ตริแต่จะถูกตรึง อุระรัดและอัตรา
กลัวเป็นทวิราช บตริป้องอยุธยา เสียเมืองจึงนินทา บละเว้นฤวางวาย”

กาพย์ห่อโคลงและลงท้ายคำ อินทรวิเชียรฉันท์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรง พระราชนิพนธ์ แสดงความทุกข์ระทมในพระราชหฤทัย ภายหลังเหตุการณ์ ร.ศ. 112 ซึ่งตรงกับ ปี พ.ศ. 2436 โดยประเทศไทย ได้เสียดินแดนบางส่วนให้แก่ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นหนึ่งในชาติมหาอำนาจที่เข้ามาล่าอาณานิคมในประเทศแถบอินโดจีน 

ในอดีตช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นยุคที่ประเทศมหาอำนาจ ได้เข้ามามีอิทธิพลสำคัญทางแถบเอเชีย โดยจุดประสงค์ที่สำคัญก็คือ การแสวงหาอาณานิคม ประเทศต่างๆ ในแถบอินโดจีน เช่น ญวน เขมร ลาว ได้ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ส่วนพม่าและมลายูตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ในส่วนของประเทศไทยหรือประเทศสยาม ในขณะนั้น แม้จะไม่ได้ตกเป็นอาณานิคมของชาติมหาอำนาจเฉกเช่นประเทศอื่น ๆ ในคาบสมุทรอินโดจีน แต่ต้องยอมเสียดินแดนบางส่วนให้แก่ฝรั่งเศสเพื่อรักษาเอกราชและดินแดนส่วนใหญ่ไว้

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงดำเนินวิเทโศบายเช่นเดียวกับ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ ทรงยอมรับว่าถึงเวลาแล้วที่ไทยจะต้องผูก สัมพันธไมตรี กับพวกฝรั่ง และจากการที่พระองค์ได้เสด็จประพาสต่างประเทศหลายครั้ง จึงทรงนำเอาความเจริญรุ่งเรืองที่ทรงพบเห็นมาปรับปรุงประเทศชาติ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับนับถือของพวกฝรั่ง แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งการรุกรานของพวกฝรั่งชาติตะวันตกได้ โดยเฉพาะชาติอังกฤษและฝรั่งเศส 

ในปี พ.ศ.2427 ทรงเล็งเห็นว่า ชาติมหาอำอาจเหล่านั้น จะเป็นภัยต่อสยามประเทศ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างป้อมปืนขึ้นบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา ในปี พ.ศ.2427 เพื่อป้องกันเรือรบชาติตะวันตกที่จะมารุกรานโดยงบประมาณในการสร้างนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเงินงบประมาณรายได้ของแผ่นดิน และ อีกส่วนหนึ่ง เป็น พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์

ป้อมปืนแห่งใหม่ของสยามได้สร้างเรียบร้อยในต้นปี พ.ศ.2436 (ร.ศ.112) พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินด้วยเรือพระที่นั่งมหาจักรี เพื่อเสด็จทอดพระเนตรป้อม ในวันที่ 10 เมษายน 2436 ด้วยพระองค์เอง และได้ทรงพระราชทานนามป้อมปืนแห่งนี้ว่า “ป้อมพระจุลจอมเกล้าฯ

ในระยะเวลาไล่เลี่ยกันนั้นเอง เมอสิเออร์ เดอลองล์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝรั่งเศส ได้เสนอต่อรัฐสภาฝรั่งเศสเร่งรัดให้ รัฐบาลฝรั่งเศสใช้กำลังกับไทยในปัญหาเขตแดน ซึ่งเคยเป็นของญวนและเขมรจากนั้นฝรั่งเศสก็ได้ยกกำลังทหาร เข้ามาประชิดฝั่งซ้ายของลำแม่น้ำโขง และส่งเรือปืนลูแตง เข้ามายังกรุงเทพฯ เมื่อต้น พ.ศ.2436 โดยอ้างว่าเพื่อคุ้มครอง ผลประโยชน์ของฝรั่งเศสที่มีอยู่ในประเทศไทย รัฐบาลไทยจำต้องยินยอม

เหตุการณ์มิได้ยุติลงเพียงแค่นั้น ในเดือนกรกฎาคม 2436 รัฐบาลฝรั่งเศสได้ขออนุญาตต่อรัฐบาลไทยขอนำเรือปืน 2 ลำ คือ เรือแองคองสตังค์ และเรือโคแมต เข้ามายังประเทศไทย รวมกับเรือลูแตงที่มาประจำอยู่ที่กรุงเทพฯ แล้วรวมเป็น 3 ลำ ซึ่งรัฐบาลไทยได้พิจารณาเห็นว่าการที่ต่างประเทศนำเรือของตน เข้ามาประจำอยู่ในกรุงเทพ เกิน 1 ลำเป็นสิ่งที่ไม่น่าปลอดภัย รัฐบาลไทยจึงตอบปฏิเสธ ไป อย่างไรก็ตามทางฝ่ายไทยก็มิได้นิ่งนอนใจ เพราะการตอบปฏิเสธเช่นนั้น ย่อมเป็นที่ไม่พอใจของฝรั่งเศส 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้มีพระบรมราชโองการให้กองทัพเรือ เตรียมกำลังป้องกันการล่วงล้ำอธิปไตย โดยมี นายพลเรือจัตวาพระยาชลยุทธโยธินทร์ รองผู้บัญชาการกรมทหารเรือ เป็นผู้อำนวยการการป้องกันปากน้ำเจ้าพระยาโดยได้วางแผนปฏิบัติการ ป้องกันการบุกรุกของกองเรือรบฝรั่งเศสที่ปากน้ำเจ้าพระยา ดังนี้คือ

- สั่งให้ป้อมพระจุลจอมเกล้า และป้อมฝีเสื้อสมุทร ซึ่งได้ติดตั้งปืนอาร์มสตรอง ขนาด 6 นิ้ว อันทันสมัยเตรียมพร้อม เพื่อจะหยุดยั้งการบุกรุกของเรือรบฝรั่งเศส อันอาจเกิดขึ้นได้


- สั่งให้เรือรบ 9 ลำ ประกอบด้วย เรือปืนมกุฎราชกุมาร เรือปืนมูรธาวสิตสวัสดิ์ เรือหาญหักศัตรู เรือนฤเบนทร์บุตรี เรือทูลกระหม่อมเรือฝึกและเรือวางทุ่นระเบิด ซึ่งส่วนใหญ่มีชาวต่างชาติเป็นผู้บังคับการเรือ เตรียมพร้อมอยู่ที่ด้านเหนือของป้อมพระจุลจอมเกล้าเล็กน้อย เรือที่วางกำลังป้องกันเหล่านี้ ส่วนมากเป็นเรือล้าสมัย หรือเป็น เรือกลไฟ ประจำในแม่น้ำ มีเรือที่ทันสมัยเพียง 2 ลำ เท่านั้น คือ เรือมกุฎราชกุมาร และเรือมูรธาวสิตสวัสดิ์ รวมทั้งได้วางเครื่องกีดขวางที่ปากน้ำเจ้าพระยา เช่น ตาข่าย สนามทุ่นระเบิด และสนามยิงตอร์ปิโด 

ครั้นในวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2436 เรือรบฝรั่งเศส 2 ลำ คือ เรือสลุปแองคองสตังค์ และเรือปืนโคแมต ได้รุกล้ำสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามายัง กรุงเทพ หมู่ปืนที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า ได้ยิงด้วยนัดดินเปล่าเพื่อเป็นการเตือน เรือรบฝรั่งเศส ไม่ให้ล่วงล้ำเข้ามาแต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งได้ ในที่สุดต่างฝ่ายก็ระดมยิงโต้ตอบกัน เรือรบไทยที่จอดอยู่เหนือ ป้อมพระจุลจอมเกล้า ทั้ง 9 ลำ ต่างก็ระดมยิงไปยังเรือรบฝรั่งเศส การรบได้ดำเนินไปเป็นเวลาครึ่งชั่วโมงเศษก็ยุติลง เพราะความมืด เป็นอุปสรรค เรือแองคองสตังต์ และเรือโคแมต ที่ได้รับความเสียหายบางส่วน สามารถตีฝ่าแนวป้องกันที่ปากน้ำเจ้าพระยาเข้ามาได้จนถึงกรุงเทพฯ และเทียบท่าอยู่ที่หน้าสถานทูตฝรั่งเศส โดยมีทหารประจำเรือเสียชีวิตรวม 3 นาย และเรือนำร่อง ถูกยิงเกยตื้นอยู่ริมฝั่ง ส่วนกองกำลังฝ่ายสยามที่ประจำอยู่บนป้อมพระจุลจอมเกล้าและเรือปืน ที่ได้พยายามต้านทานอย่างกล้าหาญแต่ก็ไม่อาจสกัดกั้นฝ่ายฝรั่งเศสที่มีกำลังเหนือกว่าได้ ต้องสูญเสียทหารไป 8 นาย และอีก 40 นาย ต้องได้รับบาดเจ็บ ซึ่งภายหลังเหตุการณ์ยุติลง ฝรั่งเศสได้บีบบังคับให้มีการลงนามในสนธิสัญญาที่สยามต้องเสียเปรียบในทุกด้าน และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ สยามต้องยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง รวมถึงเกาะทั้งหมด ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของฝรั่งเศส รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 230.000 ตารางกิโลเมตร ยังความเสียพระราชหฤทัยแก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นอันมาก ดังที่ทรงมี พระราชหัตถเลขา ถึงเสนาบดี ที่ประชุมกันอยู่บนเรือพระที่นั่งมหาจักรี ว่า

“ฉันรู้ตัวชัดอยู่ว่า ถ้าความเปนเอกราชของกรุงสยามได้สิ้นสุดไปเมื่อใด ชีวิตรฉันก็คงจะสุดสิ้นไปลงเมื่อนั้น”

จากเหตุการณ์การสู้รบ ร.ศ. 112 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพิจารณา เห็นว่าการว่าจ้างชาวต่างประเทศ เป็นผู้บังคับการเรือ และป้อมนั้นไม่เป็นหลักประกันพอที่จะรักษาประเทศได้ สมควรที่จะต้องบำรุงกำลังทหารเรือ ไว้ป้องกันภัยด้านทะเล และต้องใช้คนไทยทำหน้าที่แทนชาวต่างประเทศทั้งหมด และการที่จะให้คนไทย ทำหน้าที่แทนชาวต่างประเทศ ได้นั้นต้องมีการศึกษาฝึกหัดเป็นอย่างดี จึงจะใช้การได้ จึงทรงส่ง พระเจ้าลูกยาเธอหลายพระองค์ออกไปศึกษา วิชาการ ทั้งใน ด้านการปกครอง การทหารบก ทหารเรือ และอื่น ๆ ในทวีปยุโรป รวมทั้งได้ทำการฝึก นายทหารเรือไทย เพื่อปฏิบัติงาน แทนชาวต่างประเทศ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

นับตั้งแต่ปลายรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศสยาม ได้เสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศส รวม 5 ครั้ง เพื่อรักษาเอกราชและดินแดนส่วนใหญ่ไว้ ดินแดนที่เสียไป ประกอบด้วย แคว้นกัมพูชา ในปี พ.ศ. 2410 ตารางเมตร แคว้นสิบสองจุไทย ในปี พ.ศ. 2431 ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง อันได้แก่ ประเทศลาวปัจจุบัน ในพื้นที่เมืองหลวงพระบาง เมืองเวียงจันทน์ และอาณาเขตนครจำปาศักดิ์ตะวันออก ตลอดจนบรรดาเกาะแก่งต่าง ๆ ในแม่น้ำโขง ในปี พ.ศ. 2436 หรือที่รู้จักกันดีในเหตุการณ์ ร.ศ. 112 รวมเป็นพื้นที่ที่ต้องเสียให้กับฝรั่งเศสทั้งสิ้น 481,600 ตารางกิโลเมตร ทำให้ปัจจุบันพื้นที่ประเทศไทยเหลืออยู่เพียง 513,600 ตารางกิโลเมตร
แม้ว่า วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 จะนำมาซึ่งความสูญเสียอย่างไม่สามารถประเมินค่าได้ แต่ประวัติศาสตร์ ก็ได้บันทึกภาพของความรู้รักสามัคคีของบรรพชนชาวสยาม ที่ได้ร่วมกันต่อสู้เพื่อรักษาผืนแผ่นดินไว้อย่างสุดกำลัง อันเป็นสิ่งที่อนุชนไทยในปัจจุบันต้องเรียนรู้และเจริญรอยตามบรรพบุรุษเพื่อร่วมกันรักษาความเป็นไทยให้ดำรงสืบไป


เพิ่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น กองทัพเรือ จึงได้จัดให้มีการจัดงาน “รำลึกวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ในวันที่ 13 กรกฏาคม 2558 ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ทหารเรือ ป้อมพระจุลจอมเกล้า ระหว่างเวลา 10.00 – 18.00 น. ประกอบด้วย การจัดแสดงนิทรรศการ พิธีวางพานพุ่มถวายราชสักการะ พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พิธีสดุดีวีรชนในเหตุการณ์ ร.ศ.112 ในโอกาสนี้ กองทัพเรือ ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชน ร่วมน้อมรำลึกถึงพระอัจฉริยภาพของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทำให้ประเทศไทย เป็นเอกราชไม่ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศมหาอำนาจ และวีรกรรมอันหาญกล้าของบรรพชนทหารเรือ ในวันเวลา และสถานที่ดังกล่าว โดยภายในอาณาบริเวณของ อุทยานประวัติศาสตร์ทหารเรือ ป้อมพระจุลจอมเกล้า ประกอบด้วยสถานที่เหมาะแก่การศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์ อาทิ พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีขนาดพระบรมรูป ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย พิพิธภัณฑ์ป้อมพระจุลจอมเกล้า ป้อมปืนเสือหมอบ พิพิธภัณฑ์เรือหลวงแม่กลอง ลานจัดแสดงอาวุธกลางแจ้ง และ เส้นทางชมป่าชายเลนอันร่มรื่นและแวดล้อมด้วยสัตว์ประจำถิ่นนานา


ไม่มีความคิดเห็น: