PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

เรือดำน้ำจีน "ถูกและดี" แต่มีคำถามเรื่องความจำเป็น?

เรือดำน้ำจีน "ถูกและดี" แต่มีคำถามเรื่องความจำเป็น?

เขียนวันที่
วันอังคาร ที่ 07 กรกฎาคม 2558 เวลา 08:00 น.
เขียนโดย
ทีมข่าวอิศรา
เปิดสมรรถนะเรือดำน้ำจากจีนมูลค่า 36,000 ล้านบาทที่กองทัพเรือมีมติจัดซื้อ และเตรียมเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ชี้เทคโนโลยีทันสมัยสุดๆ อยู่ใต้น้ำได้นานถึง 21 วัน แต่ยังมีคำถามเรื่องความจำเป็นและระดับภัยคุกคามถึงขนาดต้องมีเรือดำน้ำเข้าประจำการหรือไม่ 
submarine
          เรือดำน้ำ 3 ลำที่กองทัพเรือเสนอให้จัดซื้อเข้าประจำการนั้น มีรายงานว่าเป็นรุ่น Yuan Class S-26T มีระวางขับน้ำ 2,600 ตัน ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ติดตั้งระบบ Air Independent Propulsion system หรือ AIP ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด ทำให้อยู่ใต้น้ำได้ต่อเนื่องถึง 21 วันโดยไม่ต้องขึ้นสู่ผิวน้ำเพื่อชาร์จไฟ นับว่าเป็นรุ่นที่อยู่ใต้น้ำได้นานที่สุดของเรือดำน้ำที่ไม่ได้ใช้ระบบนิวเคลียร์เป็นพลังงาน ขณะที่เรือดำน้ำปกติจะดำน้ำได้นาน 7-10 วันเท่านั้น
          ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านยุทโธปกรณ์ ระบุว่า เรือดำน้ำรุ่น รุ่น Yuan Class S-26T พัฒนาเป็นพิเศษขึ้นจากคลาสปกติของ Yuan ซึ่งไม่ได้ติดตั้ง ขีปนาวุธต่อต้านเรือ หรือ ASM (Anti-Ship missile) แต่เรือดำน้ำที่ไทยเตรียมสั่งต่อขึ้นเป็นพิเศษนั้น จะมีระบบ ASM รวมอยู่ด้วย
วัดขุมกำลังเรือดำน้ำเพื่อนบ้านอาเซียน
          เมื่อนำสมรรถนะของเรือดำน้ำที่กองทัพเรือเตรียมจัดซื้อมาศึกษาเปรียบเทียบกับเรือดำน้ำที่มีประจำการของประเทศในกลุ่มอาเซียนรอบบ้านไทย พบว่า เรือดำน้ำที่กองทัพเรือเสนอจัดซื้อ มีสมรรถนะดีที่สุด และราคาอยู่ในระดับยอมรับได้ กล่าวคือ
          มาเลเซีย ใช้เรือดำน้ำรุ่นสกอร์เปี้ยน สามารถยิงขีปนาวุธต่อต้านเรือได้ แต่ไม่มีระบบ AIP 
          อินโดนีเซีย ใช้เรือดำน้ำ Chang Bogo-class รุ่น DW1400 ยิงขีปนาวุธต่อต้านเรือ หรือ ASM ไม่ได้ และยังไม่มีระบบ AIP ด้วย 
          สิงคโปร์ ใช้เรือดำน้ำที่สั่งต่อเอง รุ่น 218 SG ยิง ASM ไม่ได้ แต่มีระบบ AIP
          เวียดนาม ใช้เรือดำน้ำที่ซื้อจากรัสเซีย คลาส Kilo สามารถยิงขีปนาวุธต่อต้านเรือได้ แต่ไม่มีระบบ AIP
          จากข้อมูลดังกล่าว ถือว่าในแง่สมรรถนะและราคา อาจไม่ใช่ปัญหาของการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ แต่ประเด็นที่ถูกตั้งคำถาม คือ ความเหมาะสมและจำเป็นของการจัดหาเรือดำน้ำเข้าประจำการในห้วงเวลานี้
จีนชงขายเรือดำน้ำระหว่างเยือนไทย
          เปิดเส้นทางกว่า 2 ทศวรรษโครงการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือ คาดประสบความสำเร็จได้เสริมเขี้ยวเล็บทางทะเลสมใจในยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบ
          โครงการจัดหาเรือดำน้ำ 3 ลำของกองทัพเรือที่เตรียมขออนุมัติคณะรัฐมนตรีเพื่อจัดซื้อแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี กับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน วงเงิน 36,000 ล้านบาทนั้น แม้กองทัพเรืออ้างว่าได้มีการตั้งคณะกรรมการ 17 คนเพื่อศึกษาเปรียบเทียบเรือดำน้ำของ 5 ประเทศ  คือ จีน เกาหลีใต้ รัสเซีย เยอรมนี และสวีเดน กระทั่งคณะกรรมการเสียงข้างมากมีมติให้จัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน Yaun class รุ่น S-26T และ พลเรือเอกไกรสร จันทร์สุวาณิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้เปิดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมาก็ตาม

          ทว่าจากการตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีย้อนหลัง พบว่าเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 คณะรัฐมนตรีได้รับทราบรายงานผลการเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของมนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 5-7 กุมภาพันธ์ ตามที่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเสนอ
          มติคณะรัฐมนตรีตอนหนึ่ง ได้รับทราบข้อเสนอของมนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างการเข้าเยี่ยมคำนับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยเสนอให้มีการฝึกผสมระหว่างกองทัพอากาศ และเพิ่มการฝึกระหว่างนาวิกโยธินให้มากยิ่งขึ้น โดยเน้นการฝึกทางทะเลและการยกพลขึ้นบก พร้อมเสนอความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเกี่ยวกับโครงการจัดหาเรือดำน้ำชั้น (คลาส) S-26T ให้กับกองทัพเรือ และพร้อมให้การสนับสนุนโครงการจัดหายุทโธปกรณ์ของฝ่ายไทยในราคาที่เหมาะสม เช่น เครื่องบินและรถถัง เป็นต้น
          จากมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ทำให้เห็นว่าโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนนั้น พลเอกประวิตร ทราบเรื่องมาโดยตลอด และยังให้สัมภาษณ์สนับสนุนหลังจากผู้บัญชาการทหารเรือแถลงมติการจัดซื้อด้วย ฉะนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่าเมื่อโครงการนี้ถูกนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี จะได้รับความเห็นชอบอย่างแน่นอน แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณของประเทศบางหน่วยจะทำความเห็นคัดค้าน เพราะเห็นว่าจะเป็นภาระกับงบประมาณในระยะยาว และสถานการณ์ภัยคุกคามทางทะเลของไทยยังไม่มีความจำเป็นถึงขั้นต้องจัดหาเรือดำน้ำเข้าประจำการก็ตาม
ลูกประดู่รอเรือดำน้ำกว่า 2 ทศวรรษ
          สำหรับเส้นทางการจัดหาเรือดำน้ำเข้าประจำการเพื่อเสริมเขี้ยวเล็บทางทะเลของไทยนั้น กองทัพเรือเสนอโครงการจัดหาเรือดำน้ำครั้งแรกตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปัจจุบันนับรวมเวลาถึง 21 ปี ซึ่งตลอดมามีความพยายามจัดหาเรือดำน้ำทั้งจากเยอรมนี สวีเดน และประเทศอื่นๆ จำนวน 1 ลำบ้าง 2 ลำบ้าง แต่ก็ติดปัญหาเรื่องงบประมาณ และกระแสสังคมที่คัดค้านในแง่ของความจำเป็น รวมถึงระดับภัยคุกคามทางทะเลของไทยซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้เรือดำน้ำ
          18 กันยายน 2555 คณะรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีมติให้ชะลอโครงการออกไปอย่างไม่มีกำหนด ทำให้เรื่องเงียบหายไประยะหนึ่ง
          กระทั่งมาถึงยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. มีความพยายามผลักดันโครงการจัดหาเรือดำน้ำอีกครั้ง โดยรัฐบาลจีนเสนอขายเรือดำน้ำ Yuan class รุ่น S-26T ระหว่างที่รัฐมนตรีกลาโหมของจีนเดินทางเยือนไทยระหว่างวันที่ 5-7 กุมภาพันธ์ 2558 จากนั้นคณะรัฐมนตรีได้รับทราบเรื่องนี้เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558
คลังทักท้วง - จีนแถม 1 ลำ?
          ต่อมากระทรวงกลาโหม ได้มีหนังสือลับมาก ด่วนมาก ลงวันที่ 17 มีนาคม 2558 สอบถามความเห็นของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ปรากฏว่ากระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. และสำนักงบประมาณ ได้มีหนังสือลงวันที่ 26 มีนาคม 27 มีนาคม และ 17 เมษายน 2558 ตามลำดับ ตั้งข้อสังเกตถึงความเหมาะสมจำเป็นของโครงการ พร้อมข้อกังวลเรื่องภาระงบประมาณที่ต้องใช้จำนวนมาก และผูกพันนาน 7-10 ปี
          อย่างไรก็ดี ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ และเลขาธิการสภาพัฒน์ ได้เสนอความเห็นต่อที่ประชุมเพิ่มเติมว่า ทั้งกระทรวงการคลังและสภาพัฒน์ไม่ขัดข้องให้กองทัพเรือศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ โดยใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท ทำให้คณะรัฐมนตรีมีมติยกเลิกมติคณะรัฐมนตรียุครัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่สั่งชะลอโครงการ
          จากนั้นวันที่ 29 เมษายน กระทรวงกลาโหมได้ทำหนังสือเรื่องโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ เตรียมเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี โดยแนบความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพร้อมกันด้วย โดยเป็นที่น่าสังเกตว่าโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำที่กระทรวงกลาโหมเสนอเรื่องนั้น เป็นการจัดซื้อเพียง 2 ลำ ไม่ใช่ 3 ลำตามที่กองทัพเรือแถลงในภายหลัง โดยมีรายงานว่ากองทัพเรือชี้แจงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า งบจัดซื้อ 36,000 ล้านบาทนั้น เดิมจัดซื้อได้เพียง 2 ลำ แต่รัฐบาลจีนเสนอให้ 3 ลำโดยใช้งบประมาณเท่าเดิม เท่ากับรัฐบาลจีนลดราคาให้ถึง 12,000 ล้านบาท
          สำหรับการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 เมษายนนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงการคลัง และสภาพัฒน์ ต่างยืนยันว่าที่ประชุมมีมติเพียงให้กองทัพเรือศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเท่านั้น ยังไม่ได้อนุมัติให้จัดซื้อ พร้อมข้อสังเกตเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปะการัง ขณะที่การจัดซื้อเรือดำน้ำ จนถึงขณะนี้ยังไม่มีบรรจุในรายการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 ที่อยู่ระหว่างจัดทำ
          นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐฒนตรีเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2558 มีมติให้กองทัพเรือไปศึกษาความเหมาะสมของโครงการ ยังไม่ได้อนุมัติให้จัดซื้อ หากกองทัพเรือจะจัดซื้อ ก็ต้องเสนอโครงการเข้ามาให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอเรื่องต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ส่วนจะใช้งบกลางในการจัดซื้อหรือไม่ ต้องดูวิธีการจัดซื้อว่าจะใช้วิธีไหน แต่ขณะนี้กองทัพเรือยังไม่ได้เสนอเรื่องเข้ามา
เรือดำน้ำ...จำเป็นจริงหรือ?
          นักวิชาการและหน่วยงานด้านความมั่นคงที่ไม่ใช่ทหาร เห็นตรงกันว่าสถานการณ์รอบบ้านไทยในขณะนี้ ยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องจัดซื้อเรือดำน้ำเข้าประจำการ
          ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับบีบีซีไทย ว่า การมีเรือดำน้ำของไทยไม่ช่วยตอบโจทย์ด้านความมั่นคง เนื่องจากไทยไม่ค่อยมีข้อพิพาททางทะเลโดยตรง เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีเรือดำน้ำอยู่แล้ว ซึ่งเผชิญกับปัญหาหมู่เกาะสแปรดลีย์ ขณะที่บางประเทศมีความจำเป็นด้านภูมิศาสตร์ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือเวียดนาม แต่ไทยไม่มีความจำเป็นในแง่นี้
          ขณะที่หน่วยงานความมั่นคงที่ไม่ใช่ทหาร ประเมินว่าไทยยังไม่มีความจำเป็นต้องจัดหาเรือดำน้ำมาประจำการในขณะนี้ ด้วยเหตุผลคือ 
          1.ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ไม่เกี่ยวกับไทย 
          2.ความจำเป็นด้านความมั่นคงที่กองทัพเรือต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง เป็นเรื่องความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม หรือปัญหาโจรสลัด ขบวนการค้ามนุษย์ ที่มาทางเรือ ซึ่งใช้เรือรบบนผิวน้ำก็เพียงพอ 
          3.ประเทศที่เป็นศัตรูหรืออาจเป็นศัตรูของไทยในอนาคตยังไม่มี หรือถ้ามีก็เป็นประเทศที่ไม่มีศักยภาพทางทะเล 
          4.เขตอธิปไตยไทยมีสองฝั่ง คือ ด้านอ่าวไทยกับอันดามัน ความจำเป็นในการใช้กำลังทางเรือจึงควรเป็นเรือตรวจการณ์ เรือฟริเกตมากกว่า 
          5.ความจำเป็นต้องร่วมกับพันธมิตรในการทำสงครามทางทะเลยังไม่มี เพราะมีนโยบายวางตัวเป็นกลาง 
          และ 6.ในระยะ 5-10 ปีข้างหน้า ยังไม่มีสิ่งบ่งชี้ว่าจะเกิดสงครามทางทะเลในอาเซียน ในทางกลับกันอาเซียนกำลังจะรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ ถือเป็นสถานการณ์เชิงบวกว่าทุกประเทศจะไม่สู้รบกัน
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ขอบคุณภาพเรือดำน้ำ Yuan class จากเฟซบุ๊ค Pat Hemasuk https://www.facebook.com/photo.php?fbid=1054372221273055&set=a.112655038778116.6787.100001008622491&type=1&theater ซึ่งนำมาจากสำนักข่าวชิงหัวของจีน

ไม่มีความคิดเห็น: